CITY CRACKER

Urban Green Network เพิ่มทางเลือกในการสัญจรพร้อมคืนชีวิตชีวาให้เมืองด้วยโครงข่ายสีเขียว

เวลาจะออกจากบ้านไปไหนแต่ละครั้งต้องมาคิดหาวิธีเดินทางกันเนิ่นนาน จะขับรถไปเองก็หาที่จอดรถยากแถมรถติด จะขึ้นรถเมล์ก็มาไม่ตรงเวลา รถไฟฟ้าก็แพงแสนแพง มอเตอร์ไซค์วินก็ขับซิกแซกซอกแซกจนต้องนั่งเกร็งพร้อมสวดภาวนาทุกครั้ง ไหนจะความลำบากระหว่างการเดินทางจากบ้านไปยังจุดขึ้นรถอีก ฝุ่นควันก็เยอะ แดดก็ร้อน ออกจากบ้านแต่ละครั้งทำไมลำบากขนาดนี้

แนวความคิดส่งเสริมการเดินหรือจักรยานแทนการการใช้รถส่วนตัวเป็นแนวความคิดที่มีการพูดถึงเป็นอย่างมากในปัจจุบัน หรือหากจะไปไหนไกลหน่อยก็เลือกใช้ระบบขนส่งสารธารณะแทนรถยนต์ส่วนตัว เพราะนอกจากจะช่วยลดความหนาแน่นบนท้องถนนแล้ว ยังช่วยลดมลพิษที่เกิดจากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์อีกด้วย แต่การจะสนับสนุนให้คนใช้การสัญจรทางเลือกได้นั้นคงหนีไม่พ้นการออกแบบเมืองที่มีความเหมาะสมและเอื้อต่อการใช้ชีวิตของคน

การมีทางเดินเท้าที่ดีและทั่วถึงเป็นปัจจัยหลักที่จะช่วยส่งเสริมการเดินรวมถึงการปั่นจักรยานของคน เมื่อพูดถึงทางเท้าที่ดีไม่ได้ความหมายถึงแค่เพียงทางเท้าที่กว้างและเรียบไม่มีน้ำขังหรือเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุขาพลิกเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงการไม่มีสิ่งกีดขวางระหว่างทาง มีไฟส่องสว่าง มีความปลอดภัย มีความน่าใช้งาน และเป็นการออกแบบที่คนทุกเพศทุกวัยสามารถใช้งานได้

 

การออกแบบเส้นทางสัญจรทางเลือกในเมือง

ย้อนกลับไปในช่วงทศวรรษที่ 1870 หลังเฟรเดอริก ลอว์ ออล์มสเตด (Frederick Law Olmsted) ประสบความสำเร็จจากการออกแบบสวนให้ชาวนิวยอร์กจนเกิดเป็น นิวยอร์ก เซนทรัล พาร์ค (New York’s central park) เขาได้รับการทาบทามให้ไปช่วยออกแบบพื้นที่สีเขียวแก่เมืองบอสตันบ้าง โดยการออกแบบครั้งนี้ไม่ใช่การออกแบบสวนเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่เป็นการออกแบบระบบโครงข่ายพื้นที่สีเขียวให้แก่เมือง จนเกิดเป็น เอเมอรัลด์ เน็กเลส (Emerald necklace) เรื่องนี้เป็นกรณีศึกษาสุดคลาสสิกในการสร้างเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างพื้นที่

กว่า 20 ปีในการออกแบบและการดำเนินการพัฒนาพื้นที่ ในที่สุดออล์มสเตดก็ได้ร้อยเรียงพื้นที่ในบอสตันเข้าหากันด้วยเส้นทางสาธารณะที่มีทั้งพื้นที่สีเขียวและน้ำเป็นองค์ประกอบ (Greenway and Waterway) เส้นทางนี้พาดผ่านเมืองและสวนในเมืองทั้งหมด 5 สวน ระยะทางที่เป็นเส้นทางเชื่อมต่อมีความยาวรวมทั้งหมด 11.27 กิโลเมตร (7 ไมล์) และเกิดเป็นพื้นที่สาธารณะสีเขียวครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 4.5 ตารางกิโลเมตร พืชพรรณพื้นถิ่นถูกนำเข้ามาใช้ในการปรับปรุงพื้นที่เกิดเป็นระบบนิเวศทางธรรมชาติซ้อนทับลงในพื้นที่เมือง ซึ่งนอกจากจะมีคุณค่าทางระบบนิเวศแล้ว ยังเป็นพื้นที่ที่มีคุณค่าเชิงสังคมโดยการทำหน้าที่เป็นพื้นที่แห่งการพักผ่อนขนาดใหญ่ของคนเมืองรวมทั้งสามารถใช้เป็นเส้นทางในการสัญจรได้ด้วย

 

ผังแสดงเส้นทางของเอเมอรัลด์ เน็กเลส ที่มา : emeraldnecklace.org

 

ขยับมาตรงกลางค่อนไปทางทิศตะวันออกของประเทศสหรัฐอเมริกา ด้วยระยะทางกว่า 4.35 กิโลเมตร (2.7 ไมล์) ทางรถไฟยกระดับเดิมในเมืองชิคาโกที่เคยเป็นเส้นทางที่มีความสำคัญในยุคอุตสาหกรรมและเป็นเส้นทางหลักที่ใช้ในการขนส่งสินค้าจากทางทิศตะวันตกเข้าสู่ใจกลางเมือง ปัจจุบันถูกเปลี่ยนให้เป็นพื้นที่สาธารณะภายใต้ชื่อ The 606 เดิมทีการมีทางรถไฟตัดผ่านทำให้เป็นตัวแบ่งแยกพื้นที่ย่านออกเป็นสองฝั่ง การออกแบบพื้นที่ใหม่ให้เป็นสาธารณะ เป็นการเชื่อมพื้นที่ 4 ย่าน ได้แก่ วิคเกอร์ พาร์ค (Wicker Park) บัคทาวน์ (Bucktown) โลแกน สแควร์ (Logan Square) และฮัมโบลดต์ พาร์ค (Humboldt Park) โดยพื้นที่นี้เปิดให้คนทั่วไปเข้ามาใช้เป็นเส้นทางเดินหรือปั่นจักรยานเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจและการสัญจร รวมทั้งมีการเพิ่มความน่าดึงดูดของพื้นที่โดยการจัดนิทรรศการศิลปะ จากพื้นที่ถูกทิ้งร้างจึงเปลี่ยนเป็นพื้นที่ที่มีชีวิตชีวารองรับกิจกรรมหลากหลายชนิด การเปลี่ยนทางรถไฟเก่าให้เป็นพื้นที่สาธารณะนี้นอกจากจะทำให้ชาวเมืองมีพื้นที่แห่งใหม่สำหรับการทำกิจกรรมยังทำให้มูลค่าที่ดินโดยรอบเพิ่มสูงขึ้น และดึงดูดการเข้ามาของนักลงทุน

ผังแสดงเส้นทางของ The 606 ที่มา the606.org

 

การพัฒนาที่เป็นมากกว่าการสร้างเส้นทางสัญจรทางเลือกในเมือง

การเชื่อมต่อพื้นที่ต่าง ๆ ในเมืองเข้าหากันด้วยการเปลี่ยนเส้นทางปกติเป็นเส้นทางสีเขียว (Green Corridor) ที่เต็มไปด้วยพืชพรรณนานาชนิด ช่วยเปลี่ยนบรรยากาศการเดินเท้าให้น่าเดินมากยิ่งขึ้น เพราะไม่ต้องเดินตากแดดหน้าแห้งหน้าดำ แถมหากเลือกพรรณไม้ให้น่าสนใจ ผู้คนก็สามารถชื่นชมบรรยากาศความงามรายทางได้อีกด้วย ไดนามิกของพืชพรรณที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วงฤดูกาลจะช่วยสร้างบรรยากาศและความทรงจำเกี่ยวกับพื้นที่ให้เปลี่ยนไปตามแต่ละช่วงทำให้พื้นที่มีกลิ่นอายที่เป็นเอกลักษณ์และตราตรึงอยู่ในความทรงจำได้นานยิ่งขึ้น เมื่อเมืองมีเส้นทางที่เอื้อต่อการเป็นเส้นทางสัญจรทางเลือก การเลือกเดินหรือปั่นจักรยานก็ไม่ใช่เรื่องน่าเบื่ออีกต่อไป แถมระหว่างการเดินทางก็เป็นการออกกำลังกายในรูปแบบหนึ่งจึงถือเป็นการส่งเสริมสุขภาพให้แก่คนเมืองด้วย

ในเชิงเศรษฐกิจ การพัฒนาพื้นที่ทำให้มูลค่าของที่ดินโดยรอบสูงขึ้น ดึงดูดการเข้ามาของนักลงทุน ในขณะเดียวกันผู้อาศัยในย่านก็ได้พื้นที่ในการพักผ่อนและการออกกำลังกายทั้งยังช่วยให้มีอากาศที่ดีมากยิ่งขึ้น ช่วยให้สุขภาพของคนในย่าน (และเมือง) ดีขึ้น ถือเป็นการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลและโอกาสที่ต้องสูญเสียไปจากการเจ็บป่วย

นอกจากนี้การมีเส้นทางสีเขียวที่ประกอบด้วยพืชพรรณหลากหลายในเมือง ยังช่วยให้สัตว์ในเมืองมาร่วมใช้ทางเดินได้ รวมทั้งเป็นแหล่งอาหารและแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ ช่วยรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ นอกจากนี้พืชพรรณยังช่วยควบคุมอุณหภูมิและความชื้นให้แก่เมือง ช่วยกรองมลพิษและคายออกซิเจน ลดปรากฏการณ์เกาะความร้อน (Urban heat islands) และส่งผลต่อการบริหารจัดการระบบน้ำฝนภายในเมือง (Stormwater) โดยการช่วยกักเก็บ ชะลอ และดูดซึมน้ำ ทำให้ปริมาณน้ำไหลผิวดิน (Runoff) น้อยลง และลดปัญหาน้ำท่วมขังจากฝนตกหนัก

 

Greening the city

หากในเมืองมีเส้นทางสีเขียวนี้กระจายอยู่ทั่วเมืองและเชื่อมต่อกับสวนสาธารณะในเมืองก็จะทำให้เกิดเป็นโครงข่ายสีเขียวของเมืองขึ้น (Urban Green Network) โครงข่ายสีเขียวของเมืองไม่ได้เป็นเพียงการมีแนวต้นไม้ที่ช่วยส่งเสริมการสัญจรทางเลือกเท่านั้น แต่ยังเป็นการพัฒนาพื้นที่อันจะส่งผลต่อเมืองในมิติต่างๆ ทั้งในเชิงสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันหลายประเทศให้ความสำคัญกับการสร้างพื้นที่สีเขียวในเมือง เป็นผลสืบเนื่องมาจากความเข้าใจว่าธรรมชาติเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิตของมนุษย์ และช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตของมนุษย์ในหลายด้าน ทั้งยังเป็นการเตรียมความพร้อมในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ

เมืองฮัมบูร์ก (Hamburg) ประเทศเยอรมนีมีการออกแบบผังเมืองที่สะท้อนแนวความคิดการสร้างโครงข่ายสีเขียว แผนการพัฒนาเมืองที่มีการดึงเอาธรรมชาติเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่เมืองเริ่มมีมาตั้งแต่ปี 1919 โดยฟริทซ์ ชูมาเชอร์ (Fritz Schumacher) และมีการพัฒนามาเรื่อย ๆ ให้โครงข่ายพื้นที่สีเขียวของเมืองช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนมากขึ้น รูปแบบผังของฮัมบูร์กมีการออกแบบแกนของพื้นที่สีเขียวเป็นรัศมีพุ่งออกจากใจกลางเมืองเกาะเรียบขนานไปตามริมเส้นทางน้ำสายต่างๆ ของเมืองและร้อยเรียงพื้นที่สาธารณะต่าง ๆ ภายในเมืองเข้าหากัน และเป็นแกนที่ช่วยเชื่อมต่อระหว่างใจกลางเมืองกับพื้นที่ชนบท

ภายในเมืองมีวงแหวนของเส้นทางสีเขียวสองชั้นวางตัวรอบศาลากลาง (City Hall) วงแหวนรอบแรกมีรัศมีห่างจากศาลากลาง 1 กิโลเมตร ซึ่งเป็นพื้นที่ทางธรรมชาติที่ผสมผสานเข้ากับพื้นที่ทางประวัติศาสตร์วัฒนธรรม ส่วนวงแหวนรอบที่สองจะมีรัศมีจากศาลากลาง 8 กิโลเมตร เป็นเส้นทางที่จะช่วยเชื่อมผสานสวนต่าง ๆ ในเมืองเข้าหากัน รวมระยะทางความยาวเส้นทางสีเขียวของวงแหวนรอบนอกทั้งหมด 100 กิโลเมตร ด้วยเส้นทางนี้ผู้คนจะสามารถเพลิดเพลินไปกับภูมินิเวศที่หลากหลาย ทั้งทะเลสาบ ทุ่งหญ้า พื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่ชุ่มน้ำ ป่า การดึงเอาพื้นที่สีเขียวเข้ามาในเมืองนี้เป็นการสร้างสมดุลระหว่างธรรมชาติกับเมือง ซึ่งโครงข่ายสีเขียวจะช่วยควบคุมอุณหภูมิภายในเมือง เป็นพื้นที่นันทนาการสำหรับคนเมือง ช่วยรักษาธรรมชาติ และปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนย้อนกลับมาส่งเสริมชีวิตของคนเมืองให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น

 

ผังแสดงโครงสร้างสีเขียวของเมืองฮัมบูร์ก ที่มา : hamburg.com

 

ขั้นกว่าของการพัฒนาเพียงกายภาพของเมือง คือการวางระบบโครงข่ายที่เกี่ยวข้องกับเมืองทั้งหมด ด้วยแผนการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนโดยส่งเสริมการดำรงชีวิตของคนไปพร้อมกับการรักษาธรรมชาติ โคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก คือเมืองที่ได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่เขียวที่สุดในโลก ซึ่งคำว่าเมืองเขียวในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงแต่เพียงความเขียวของพื้นที่ แต่รวมไปถึงการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย

โคเปนเฮเกนตั้งเป้าว่าภายในปี 2025 จะเป็นกลางทางคาร์บอน ซึ่งหากประสบความสำเร็จก็จะเป็นเมืองแรกของโลกที่เป็นกลางทางคาร์บอน โดยสิ่งที่จะทำให้โคเปนเฮเกนประสบความสำเร็จตามเป้าได้ คือ การเปลี่ยนมาใช้รูปแบบการสัญจรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การปรับตัวให้พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ การวางแผนการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน และการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า และเพื่อที่จะกระตุ้นประชาชนให้ปรับตัวได้ตามเป้าที่วางไว้ ภาครัฐต้องมีการเตรียมนโยบายและโครงสร้างเมืองที่ช่วยส่งเสริมการดำรงชีวิตรูปแบบใหม่ เมื่อมีรัฐกำหนดทิศทางและผลักดันอย่างชัดเจน จะทำให้การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมคนเป็นไปได้ง่ายขึ้น ผลการสำรวจในปี 2006 พบว่าประชาชนร้อยละ 54 เลือกใช้การสัญจรโดยการปั่นจักรยานเนื่องจากความสะดวกสบาย ในขณะที่ร้อยละ 1 เลือกปั่นจักรยานเนื่องจากเหตุผลทางสิ่งแวดล้อม จากผลการสำรวจนี้ทำให้เห็นว่าการที่เมืองมีโครงสร้างพร้อมและรองรับต่อการใช้งานจะเป็นสิ่งที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากกว่าการผลักดันโดยการโน้มน้าวเพียงอย่างเดียว จากการส่งเสริมให้คนหันมาปั่นจักรยานแทนทำให้โคเปนเฮเกนสามารถลดการใช้พลังงานฟอสซิลลงไปได้ 1 ใน 3 ของปริมาณการใช้เดิม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงไปได้ 90,000 ตันต่อปี และส่งผลให้เมืองมีสภาพอากาศดีขึ้น

 

ภาพบรรยากาศเส้นทางจักรยานในเมืองโคเปนเฮเกน

 

สำหรับการปรับตัวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศที่อาจทำให้เมืองต้องเผชิญกับน้ำฝนปริมาณมากขึ้น เมืองมีการเตรียมการโดยการลดพื้นที่ดาดแข็งและเพิ่มพื้นที่ที่สามารถซึมน้ำได้ รวมทั้งมีการยกระยะทางเดินเท้าขึ้นให้สูงกว่าระดับถนนเพื่อให้ถนนทำหน้าที่เป็นพื้นที่รับน้ำชั่วคราวในวันที่ฝนตกลงมาในปริมาณที่มากเกินกว่าศักยภาพที่พื้นที่รองรับได้ ในขณะเดียวกันก็มีนโยบายให้เก็บรักษาพื้นที่สีเขียวควบคู่ไปกับการพัฒนา เนื่องจากพื้นที่สีเขียวในเมืองมีบทบาทต่อการจัดการน้ำไหลผิวดินภายในเมือง (Sustainable Urban Drainage Systems: SUDS) ทั้งยังเป็นการเก็บรักษาความหลากหลายทางชีวภาพและมีผลต่อสภาพจิตใจและสุขภาพร่างกายของคนเมือง

 

ผังแสดงโครงสร้างสีเขียวและเส้นทางจักรยานของเมืองโคเปนเฮเกน ที่มา diva-portal.org

 

การตั้งคำถามกับสิ่งเล็ก ๆ ใกล้ตัว อาจเป็นเส้นทางนำไปสู่คำตอบสำหรับการแก้ปัญหาทั้งในสิ่งที่เป็นโจทย์ตั้งแต่แรก และส่งผลต่อการพัฒนาในภาพกว้างที่ช่วยแก้ปัญหาระดับเมืองได้ รวมทั้งเป็นทางออกสำหรับการปรับตัวให้คนยังสามารถอยู่อาศัยได้อย่างมีคุณภาพภายใต้ความท้าทายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

emeraldnecklace.org

bostonmagazine.com

the606.org

choosechicago.com

architecture.org

researchgate.net

hamburg.com/green-network

hamburg.com/flyer-green-network.pdf

hamburg.com/map-green-network.pdf

enviropaul.wordpress.com

urbanlifecopenhagen.weebly.com

diva-portal.org

 

Graphic Designed by Nattawat Narkchaeng
Share :