CITY CRACKER

การอนุรักษ์อาคารเรียนรวมแห่งแรกของม. เกษตร ด้วยเทคนิค Reconstruction และประเด็นด้านคุณค่าสถาปัตยกรรมเก่าในพื้นที่มหาวิทยาลัย

อาคารโครงสร้างไม้ผสมคอนกรีตขนาดเล็กความสูง 2 ชั้น และรูปทรงหลังคาที่แปลกตาโดดเด่นยื่นออกมาจากตัวอาคาร เสาคอนกรีตและหน้าต่างบานไม้ที่เรียงรายอยู่ชั้นสอง คืออาคารสุวรรณวาจกกสิกิจ หนึ่งในอาคารเก่าแก่ที่สร้างมานานกว่า 60 ปี ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาลัยเขตบางเขน ซึ่งกำลังจะได้รับการปรับให้เป็นหอประวัติคณะวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัย และร้านกาแฟสตาร์บัคอีกสาขาหนึ่งในอนาคต  

หลังจากถูกทิ้งร้างไว้กว่านาน 3 ปี อาคารได้ถูก ‘รื้อและสร้างใหม่’ ตามแนวความคิดการอนุรักษ์อาคารเก่าที่ใช้กระบวนการศึกษาเก็บข้อมูลของอาคารและประเมินสภาพทางโครงสร้างและการใช้งานในอนาคต ก่อนจะถูกรื้อและสร้างใหม่ตามรูปแบบเดิมทั้งเทคนิควิธีการก่อสร้างรวมทั้งการเสริมความแข็งแรง และออกแบบอาคารให้เป็นอาคารประหยัดพลังงานให้เหมาะสมต่อการใช้งานในอนาคต โดยผู้ช่วยศาสตรจารย์ ฐิติวุฒิ ชัยสวัสดิ์อารี อาจารย์ประจำภาควิชาสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถาปนิกอนุรักษ์ที่สามารถยังคงเก็บรักษาคุณค่าของสถาปัตยกรรมเก่าเอาไว้อย่างครบถ้วน

ช่วงวันหยุดที่ผ่านมา City Cracker ได้มีโอกาสไปเดินเยี่ยมชมอาคารเก่าของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รวมถึงอาคารสุวรรณสาจกกสิกิจ พร้อมทั้งพูดคุยกับผู้ช่วยศาสตรจารย์ ฐิติวุฒิ ชัยสวัสดิ์อารี ถึงประวัติศาสตร์ทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นของอาคารเรียนรวมรุ่นแรกหลังนี้ เพื่อเข้าใจถึงการเก็บและอนุรักษ์อาคารเก่าในบริบทพื้นที่เดิม

 

ความสำคัญและประวัติเดิมของอาคาร

อาคารสุวรรณวาจกกสิกิจ เป็นผลงานออกแบบของสถาปนิก ผู้ช่วยศาสตรจารย์ทองพันธุ์ พูนสุวรรณ ในปีพ.ศ.2506 ตั้งอยู่เลียบถนนสุวรรณวาจกกสิกิจ ที่เข้ามาจากประตูงามวงศ์งาน 1 ซึ่งเป็นถนนที่แบ่งการใช้ประโยชน์ที่ดินระหว่างพื้นที่ของกระทรวงเกษตรและพื้นที่ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทำให้ตำแหน่งอาคารในปัจจุบันตั้งอยู่บริเวณพื้นที่ส่วนกลางของมหาวิทยาลัยที่เชื่อมโยงกับพื้นที่หอสมุดกลางและพื้นที่ของคณะวิทยาศาสตร์

นอกจากเรื่องของตั้งที่ที่สำคัญแล้ว การใช้งานเดิมของอาคารก็สำคัญไม่แพ้กัน เดิมทีอาคารหลังนี้เคยเป็นกลุ่มอาคารเรียนหลังแรกและมีขนาดใหญ่ที่สุดของมหาวิทยาลัยในขณะนั้น พื้นที่ชั้นหนึ่งเป็นลักษณะใต้ถุนเปิดโล่ง และชั้นสองเป็นห้องเรียนที่สามารถจุนิสิตนักศึกษาได้ถึง 300 คน ก่อนจะถูกปรับเปลี่ยนการใช้งานหลายครั้ง โดยปี พ.ศ.2526 มีการปรับเปลี่ยนใต้ถุนเปิดโล่งให้เป็นที่ทำการไปรษณีย์ และในปี พ.ศ. 2535 พื้นที่ชั้นสองถูกปรับเป็นพื้นที่ทำการสาขาของธนาคารทหารไทยมาจนกระทั่งอาคารถูกหยุดใช้งานในช่วงปี พ.ศ. 2554  โดยอาคารหลังนี้ถูกจัดให้เป็นอาคารที่ควรอนุรักษ์ลำดับที่ 3 ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 

 

 

การจัดเก็บข้อมูลเพื่ออนุรักษ์อาคาร

การอนุรักษ์อาคารหลังนี้จึงต้องเริ่มจากการเก็บข้อมูล ทั้งจากการลงพื้นที่ ไปจนถึงการพูดคุยกับสถาปนิกผู้ออกแบบอาคารหลังนี้ไว้เมื่อ 60 ปีก่อน เพื่อให้ทราบถึงวัตถุประสงค์เดิมในการใช้อาคาร เนื่องจากตัวอาคารหลังนี้ที่มีความเสียหายและชำรุดหลายส่วนจากระยะเวลาในการใช้งานและการปรับเปลี่ยนการใช้งานที่หลากหลายรูปแบบ ทั้งการเป็นอาคารเรียน ไปรษณีย์ และธนาคาร รวมถึงผ่านเหตุการณ์น้ำท่วมสูงถึง 1 เมตร ในช่วงปี พ.ศ. 2554 ก่อนจะถูกปล่อยทิ้งร้างไว้เป็นระยะเวลากว่า 3 ปี 

จากการสำรวจและเก็บข้อมูล พบว่าโครงสร้างของอาคารที่เป็นโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กผสมโครงสร้างไม้ มีความยาว 28 เมตร ความกว้าง 10 เมตร สูง 2 ชั้น โดยระบบโครงสร้างหลังคาเป็นไม้ประกอบช่วงกว้าง หรือ long span wooden truss ที่มีระยะยื่นของหลังคาที่ไม่สมมาตรเพื่อเพิ่มพื้นที่ใช้สอยด้านบนให้มากขึ้น โดยระหว่างการเก็บข้อมูลและทำแบบก่อสร้างและอนุรักษ์ปรับปรุง พื้นที่ด้านหลังอาคารได้มีการก่อสร้างอาคารสูง 12 ชั้น ของคณะวิทยาศาสตร์ ทำให้ต้องมีการออกแบบผังบริเวณรวมให้สอดคล้องกัน กระบวนการอนุรักษ์อาคารด้วยวิธีการ ‘รื้อและสร้างใหม่’ หรือ Reconstruction จึงเป็นวิธีการอนุรักษ์ที่เหมาะสมในการเก็บรักษาคุณค่าของสถาปัตยกรรมและการใช้งานที่เข้ากับบริบทโดยรวมของพื้นที่

 

 

Reconstruction รื้อและสร้างใหม่ 

วิธีการอนุรักษ์และปรับปรุงอาคารเก่าด้วยวิธีการรื้อและสร้างใหม่นี้ เป็นวิธีที่อาจไม่เห็นได้บ่อยนักในการอนุรักษ์อาคารเก่าในประเทศไทย แต่จากการประเมินคุณค่าอาคารในด้านของการใช้งานในอดีต เทคนิควิธีการก่อสร้างและวัสดุก่อสร้างเดิมที่สามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่ เป็นเหตุผลสำคัญที่อาคารเก่าสามารถรื้อและก่อสร้างกลับมาใหม่ให้มีลักษณะเดิมแต่มีความแข็งแรงมากขึ้นรวมทั้งยังมีความสอดคล้องของตำแหน่งอาคารที่เหมาะสมกับบริบทใหม่ในพื้นที่อีกด้วย 

โดยวิธีการอนุรักษ์รื้อและสร้างใหม่ จะต้องมีการสำรวจและเก็บข้อมูลอาคารอย่างละเอียดเพื่อคงรักษารูปแบบและวิธีการก่อสร้างแบบเดิมให้มากที่สุด โดยเฉพาะอาคารหลังนี้มีการใช้ระบบโครงสร้างหลังคาที่เป็นระบบโครงไม้ประกอบ wooden truss ซึ่งเป็นเทคนิคของโครงสร้างแบบเก่าที่เห็นได้ยากในปัจจุบัน การถอดยกโครงสร้างเป็นชุดในช่วงการรื้อถอนและการประกอบกลับโครงสร้างหลังคาจึงเป็นงานที่ต้องใช้ช่างที่มีความชำนาญและมีความละเอียดประณีตมาก ในส่วนองค์ประกอบอื่นๆ ที่เป็นวัสดุโครงสร้างไม้ เช่น บานหน้าต่าง บันได และพื้นไม้ ที่ได้นำมาซ่อมแซมและกลับมาใช้ใหม่ในอาคารหลังใหม่ เพื่อรักษาประวัติและคุณค่าของอาคารหลังนี้ไว้อย่างครบถ้วน 

 

ความพิเศษในรายละเอียด

สำหรับองค์ประกอบอาคารที่สำคัญของอาคารหลังนี้คือระบบหน้าต่างและวงกบที่ทำหน้าที่เป็นโครงสร้างรับน้ำหนักของโครงสร้างหลังคาที่ยื่นยาวออกจากเสาประมาณ 4 เมตร แทนการใช้เสาเพื่อความประหยัดของโครงสร้าง ซึ่งเทคนิคการก่อสร้างในส่วนนี้ถือเป็นสาระสำคัญที่ต้องเก็บรักษาไว้เพื่อการเรียนรู้ในอนาคต

เนื่องจากอาคารมีความจำเป็นต้องติดระบบปรับอากาศเพื่อใช้งานในอนาคต การออกแบบเพื่อคงความโปร่งโล่งของใต้ถุนและองค์ประกอบของการระบายอากาศโดยวิธีธรรมชาติเดิมไว้ ผู้ออกแบบจึงใช้กระจกใสเพื่อกั้นพื้นที่ใต้ถุนให้สามารถเป็นพื้นที่ปรับอากาศและปิดทับกระจกใสบริเวณช่องระบายอากาศเดิมโดยไม่ให้เสียรูปแบบของลักษณะและเทคนิคของการใช้งานในอดีต และสามารถสอดรับกับกิจกรรมรูปแบบใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นของอาคารหลังนี้อีกเช่นกัน

อีกหนึ่งความพิเศษ คือบันไดไม้ทางขึ้นชั้นสองของตัวอาคารที่ถือว่าเป็นนางเอกของอาคาหลังนี้ เพราะเป็นบันไดที่มีขนาดความกว้างและความสูงของลูกตั้งลูกนอนที่มีสัดส่วนพอดีที่เดินสบายและใช้ไม้เพียงชิ้นเดียว รวมถึงมีรายละเอียดการออกแบบช่องลมระหว่างชานพักบันได เพื่อให้เกิดการไหลเวียนของอากาศได้อย่างสะดวกอีกด้วย 

 

 

บริบทใหม่ของอาคารหลังเดิม 

หลังจากการรื้อและสร้างเสร็จเรียบร้อย หน้าที่เดิมของอาคารก็ถูกเปลี่ยนไป โดยในปัจจุบันได้กำหนดให้เป็นชั้นสองที่เคยเป็น พื้นที่ห้องเรียนรวมเปลี่ยนเป็นอาคารหอประวัติของคณะวิทยาศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และพื้นที่ใต้ถุนที่เคยเปิดโล่งที่มีการเปลี่ยนแปลงการใช้งานหลายครั้ง ในอนาคตเองก็กำลังจะเป็นร้านกาแฟสตาร์บัค สาขาที่ 2 ของมหาวิทยาลัย 

จากการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมเดิมผ่านการรื้อและสร้างใหม่โดยมีตัวอย่างคืออาคารสุวรรณวาจกกิสิกิจหลังนี้ ทำให้เราเห็นและเข้าใจถึงการออกแบบสถาปัตยกรรมในยุคก่อน และยังแสดงให้เห็นถึงการเก็บรักษาคุณค่าและประวัติศาสตร์ของอาคารเดิม ผ่านการจัดเก็บรักษาข้อมูลและออกแบบเพื่อปรับเปลี่ยนการใช้งานเพื่อให้เข้ากับยุคสมัย และบริบทที่จะเกิดขึ้นในอนาคต สอดคล้องกับแผนการพัฒนาทางกายภาพและกิจกรรมใหม่ๆของมหาวิทยาลัยได้อย่างเหมาะสม ดังนั้นแล้วการอนุรักษ์ครั้งนี้จึงไม่ใช่เพียงแค่เป็นการรักษาคุณค่าเดิมของอาคารเก่าไว้ แต่ยังเป็นการเพิ่มคุณค่าและการใช้งานให้แก่อาคารมากขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย 

 

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

sci.ku.ac.th

drive.google.com

drive.google.com

 

Photo by Thitiwoot Chaisawataree
Share :