CITY CRACKER

‘จักรยาน’ พาหนะทางเลือกในยามวิกฤตที่กำลังกลับมามีบทบาทอีกครั้ง

ทุกวิกฤติต้องมีปลายทาง ถ้ามองเส้นทางวิกฤติโควิด-19 ของเราและของโลก เราก็หวังใจว่าเราน่าจะอยู่กลางๆ ค่อนทางไปทางอุโมงค์กันบ้างแล้ว ตัวเลขผู้ติดเชื้อน้อยลง ผู้คนเริ่มปรับตัวกับวิถีชีวิตรูปแบบใหม่ เว้นระยะห่างทางสังคม เราอยู่บ้านกันมากขึ้น ลดกิจกรรมต่างๆ เช่น การเดินทางและการบริโภคถูกลดทอนลงเหลือเพียงเท่าที่จำเป็น

 

เราเริ่มพบว่า เราใช้ชีวิตในระยะที่แคบลง เริ่มลดทอนและเปลี่ยนรูปแบบการบริโภคลง การเดินทางที่ไม่ค่อยสะดวก การขนส่งสาธารณะ ไปจนถึงการบริโภค เช่นการกิน-ดื่มชมภาพยนตร์ถูกระงับ วิถีชีวิตของเราที่เริ่มช้าลงเรื่อยๆ ในเมืองที่อาจจะซึมเซาลงหน่อยก็เริ่มทำให้เราเห็นว่า การเดินทางขนส่งหรือการใช้ชีวิตในเมืองที่ผ่านมา เราเสียเวลาไปกับการเดินทางและความฉับไวมากไปสักนิด

สำหรับบ้านเราอาจไม่ค่อยชัดเจนด้วยสภาพบ้านเมือง แต่ในหลายเมืองใหญ่ท่ามกลางความซึมเซาของเมือง และการเว้นระยะห่างทางสังคม เมื่อการใช้รถสาธารณะเริ่มได้รับความนิยมน้อยลง ผู้คนก็หันมาปั่นจักรยานและใช้ชีวิตอยู่ในย่าน ในพื้นที่ระยะเดินและระยะปั่นกันมากขึ้น ในหลายประเทศจึงเริ่มมองว่าจักรยานนี่แหละดูจะเป็นทางออกทั้งระยะสั้นและระยะยาว ทั้งในการรับมือและปฏิบัติการทิ้งระยะห่างทางสังคม ส่งเสริมสุขภาพ และการนำไปสู่ชีวิตในเมืองที่ดี หลายเมืองใหญ่ถึงขนาดใช้วิกฤติโคโรน่าไวรัส หันไปสู่การปฏิวัติเมืองโดยใช้จักรยานนี่แหละ ปรับไปสู่เมืองแห่งอนาคตให้เร็วขึ้น

 

ecf.com

 

จักรยาน- เทรนด์ใหม่รับมือไวรัสจากทั่วโลก

บ้านเราเองอยู่ในภาวะล็อกดาวน์มาพักหนึ่ง เรามีกระแสปลูกต้นไม้ ดองเหล้าบ๊วย ทำอาหารจากหม้อทอดมีน้ำมันบ้างไร้น้ำมันบ้าง ตอนนี้ในหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่อากาศไม่ร้อนเท่าเรา มีเมืองที่ออกแบบดีหน่อย มีย่าน มีถนนหนทาง และหลายที่มีบริการจักรยานสาธารณะ ผู้คนจึงหันมาขับจักรยานกันจนเป็นเทรนด์ในหลายแห่งทั่วโลก

แน่นอนว่าส่วนหนึ่ง หลายประเทศใช้จักรยานกันเป็นนิจอยู่แล้ว พอรถสาธารณะวิ่งน้อยลง รถยนต์ก็น้อยลงตามกิจกรรมที่ลดลง ประกอบกับผู้คนเองเมื่อต้องรับมือกับโรคภัย แถมนั่งๆ นอนๆ ก็อยากจะออกกำลังกาย ดังนั้น จักรยานจึงกลายเป็นกระแสใหม่ได้ไม่ยาก ผู้คนหันมาใช้จักรยานเพื่อไปซื้อข้าวของใกล้ๆ ในหลายเมืองใหญ่เช่นนิวยอร์กก็ใช้จักรยานในการส่งอาหาร สินค้าและเวชภัณฑ์ ถือเป็นการใช้โอกาสพิเศษขี่รถสบายๆ โดยไม่ต้องรีบร้อน ไม่ต้องฝ่าฝุ่นควัน แถมยังรักษาระยะห่างทางสังคมได้ไปพร้อมๆ กัน

 

timeout.com

 

มีรายงานว่าที่นิวยอร์กมีรายงานการใช้จักรยานเพิ่มขึ้นถึง 52% วัดจากปริมาณรถขับข้ามสะพานของเมือง ที่ชิคาโกตัวเลขการเช่ายืมจักรยานก็เพิ่มสูงขึ้นเท่าตัวในช่วงต้นเดือนมีนาคม ในขณะเดียวกันที่เกาะอังกฤษทั้งลอนดอนและดับลินเองก็มีกระแสส่งเสริมการใช้จักรยานจากภาครัฐแทนการใช้รถส่วนตัวและรถสาธารณะ

แถมท้ายด้วยรายงานจากออสเตรเลียที่หลังจากติดบ้าน และตุ๊มต่อมกับเรื่องสุขภาพกันมาพักใหญ่ ชาวออสซี่ก็เริ่มแห่กันออกไปซื้อจักรยานจนทำให้เกิดภาวะเกือบจะขาดแคลน ห้างจักรยานใหญ่ๆ ขายดีเป็นเทน้ำเทท่าจนเกิดมุกว่าจักรยานกลายเป็นกระดาษทิชชูใหม่ที่ผู้คนไปซื้อหาติดบ้าน เสียงของคนออสซี่บอกว่า หยุดอยู่บ้าน ลูกหลานก็อยู่ เดินจนเบื่อแล้ว ไม่มีอะไรทำ ไปวิ่งเล่นเตะบอลก็ไม่ได้ ดังนั้นการได้จักรยานไปขี่อย่างน้อยก็ไม่ต้องเดิน ได้ออกกำลัง และรักษาระยะห่างไปอีก เวรี่คุ้ม

 

จักยานในห้วงเวลาแห่งวิกฤติ และโอกาสของการเปลี่ยนแปลง

จริงๆ แล้วจักรยานถือเป็นพาหนะนวัตกรรมที่มีบทบาทในภาวะวิกฤติมาหลายครั้ง ด้วยความที่จักรยานนั้นคล่องตัว ไม่ต้องพึ่งพาพลังงานใดใด ไวกว่าเดิน ขับง่าย เงียบ ใครๆ ก็ขับได้ ถ้าเรานึกภาพยุคเช่นสงครามโลกครั้งที่ 2 เราก็จะพอเห็นภาพการใช้จักรยานในการขนส่งระยะใกล้ๆ ทั้งขนคน ขนของได้หมด นอกจากสงครามโลกแล้ว ในยุคหลังเช่นในวิกฤติภัยธรรมชาติ อย่างแผ่นดินไหวที่เมืองเม็กซิโกซิตี้ในปี 2017 หรือที่โตเกียวในปี 2011 จักรยานมีบทบาทในการบรรเทาสาธารณภัยโดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เส้นทางและการจราจรเป็นอัมพาต

ในหลายประเทศใช้วิธีพลิกวิกฤติเป็นโอกาส คือเมื่อมองเห็นว่าจักรยานดูเป็นการขนส่งที่ดีใช่มั้ย ประเทศเนเธอร์แลนด์เองที่กลายเป็นสวรรค์ของจักรยานนั้น ส่วนหนึ่งก็เกิดจากการปรับตัวจากภาวะวิกฤติ คือในช่วงปี 1973 ดินแดนสมัยใหม่ที่ขับเคลื่อนโดยรถยนต์และน้ำมันนั้นกลับเผชิญวิกฤติพลังงาน จากการวิกฤติและการขาดแคลนน้ำมันของกลุ่ม OPEC ทำให้ชีวิตประจำวันในเมืองใหญ่ทั่วโลกสะดุดลง

ในตอนนั้นเองเนเธอร์แลนด์อันเป็นหนึ่งในประเทศที่ปรีดากับรถรา แต่ในขณะเดียวกันก็เริ่มมีการประท้วงต่อต้านการพึ่งพารถยต์พร้อมกับตัวเลขอุบัติเหตุบนท้องถนนที่พุ่งสูงขึ้น วิกฤติน้ำมันนั้นเองทำให้จักรยานฉายแสง และรัฐบาลเนเธอร์แลนด์จึงขยับตัวและปฏิวัติการขนส่งของประเทศในห้วงวิกฤติซะเลย มีการออกโครงการจำนวนมากในการสร้างทางจักรยานและโครงการข้างเคียง ทำให้การเดินทางในระดับชาติมีจักรยานเป็นศูนย์กลาง และจากวิกฤติพลังงานช่วงปลายทศวรรษ 1970 ก็ทำให้เนเธอแลนด์เป็นสวรรค์ของจักรยาน และเป็นเมืองที่ดีติดอันดับโลกอยู่ทุกวันนี้

inbo.com

 

ในทำนองเดียวกัน อิตาลี ประเทศที่กำลังเผชิญกับไวรัสอย่างหนัก และเมื่อเทียบสเกลความเป็นเมืองที่ดีนั้นก็อาจจะน้อยหน้าประเทศกลุ่มสแกนดิเนเวียนหรือเมืองใหญ่อยู่บ้าง ท่ามกลางวิกฤติโคโรน่า ชาวอิตาเลียนก็หันมาขี่จักรยานเพิ่มขึ้น ในเมืองใหญ่เช่นมิลานเองก็ถือโอกาสออกแผน ปรับรีเซ็ตการจราจรในศูนย์กลางของเมืองซะเลย มีการเปลี่ยนถนนหนทางช่วงใจกลางเมืองให้ดีกับการขับจักรยาน ขยายทางเท้าให้กว้างขึ้น เป็นทางเลือกในทางการเดินที่จะถูกผลักดันเป็นวิธีการหลักต่อไป

ที่อังกฤษเอง ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่อังกฤษก็พยายามปรับปรุงเมือง เปลี่ยนทัศนวิสัยทั้งเพื่อรับมือวิกฤติสิ่งแวดล้อมและผลักเมืองไปสู่การเป็นเมืองที่ดี Chris Boardman นักปั่นจักรยานระดับโอลิมปิกกล่าวเสนอแนวทางในการแก้ปัญหา- ในช่วงนั้นคือภาวะโลกร้อน และโคโนร่าไวรัสที่เริ่มก่อตัวว่า วิกฤติที่เรากำลังเผชิญอยู่นั้น การใช้จักรยานอาจจะเป็นทางแก้ปัญหาก็ได้

 

Photo by MIGUEL MEDINA / AFP

 

สำหรับบ้านเราเอง จริงๆ วัฒนธรรมจักรยานก็อาจจะไม่ใช่ของแปลกหรือเรื่องไกลตัวนัก เราต่างรักการปั่นจักรยาน มีภาพความทรงจำที่สวยงามและโรแมนติกนิดๆ ในการขี่จักรยานในรั้วมหาวิทยาลัย ในจังหวะที่เนิบช้า แต่เมื่อเราโตขึ้น จังหวะ และสภาพของเมือง ทั้เมืองที่ร้อนเกินไป ห่างไกลเกินไปก็ทำให้การปั่นจักรยานที่เคยใกล้ตัวเป็นไปได้ยากขึ้นเรื่อยๆ

 

ไม่แน่ใจว่าเราเอง ด้วยไลฟ์สไตล์ในห้วงเวลาล็อกดาวน์ เมื่อเราใช้ชีวิตใกล้ขึ้น ช้าลง การปั่นจักรยานอาจจะเริ่มเป็นช่องทางสำคัญ และทำให้กรุงเทพของเราร่มรื่นขึ้น ถนนหนทางราบเรียบขึ้น อันจะเป็นมิตรกับพาหนะสองล้อที่อาจจะกลับมากลายเป็นวิธีการเดินทางสำคัญของพวกเราอีกครั้ง

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

citylab.com

archdaily.com

theguardian.com

wri.org

 

Illustration by Montree Sommut
Share :