CITY CRACKER

โรงเรียนต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัย สถาปนิกใช้งานออกแบบลดความรุนแรงห้องเรียน

ปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก โดยเฉพาะความรุนแรงในพื้นที่โรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นการกลั่นแกล้งกันเองของเด็กๆ หรือร้ายแรงกว่านั้นคือความรุนแรงที่ครูกระทำต่อเด็ก ไม่ว่าเด็กๆ ในระดับไหน ก็ไม่ควรเกี่ยวข้องกับความรุนแรงแทบทั้งสิ้น ในที่สุดปัญหาเช่นนี้อาจไม่ใช่แค่ปัญหาของผู้เกี่ยวข้องอย่างสถานศึกษาและผู้ปกครองโดยตรง ปัญหาความรุนแรงย่อมเกี่ยวข้องไปสู่ภาคส่วนอื่นๆ กระทั่งเกี่ยวข้องกับเราไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

ด้วยความที่ความรุนแรงต่อเด็ก โดยเฉพาะความรุนแรงในพื้นที่โรงเรียนที่ควรจะเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้เด็กๆ ได้เติบโตขึ้นอย่างแข็งแรง กลับกลายเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วไป ดังนั้นนักคิดรวมถึงสถาปนิกเองจึงทบทวนว่า ทำไม ‘พื้นที่’ โดยเฉพาะพื้นที่ทางกายภาพ เช่นห้องเรียนและโรงเรียนกลับนำไปสู่ความรุนแรง และพิจารณาว่าสถาปัตกรรมและการออกแบบโรงเรียนอาจเป็นตัวส่งเสริมให้เกิดความรุนแรงหนึ่ง ดังนั้น การสร้างโรงเรียนที่ปลอดภัยจึงเป็นภาระที่สถาปนิกต้องรับมา และขบคิดหาทางแก้ปัญหากันต่อไป

แน่นอนว่า โมเดลของโรงเรียนและห้องเรียน ในมิติของการออกแบบปลีกย่อยต่างๆ ตั้งแต่ห้องโถง ล็อกเกอร์ ตัวห้องเรียนที่ปิดและมองเห็นได้ยากจากภายนอก การมีมุมอับ แสงน้อย และอีกสารพัดหน้าตาอันเป็นองค์ประกอบของโรงเรียนและห้องเรียนที่เรารู้จักดี นักออกแบบก็พบว่า องค์ประกอบของเหล่านี้เอื้อต่อการใช้อำนาจ การกลั่นแกล้ง รวมถึงความรุนแรงต่างๆ โดยรวมพื้นที่โรงเรียนแบบเดิมส่งเสริมพฤติการณ์แบบ Peer Pressure (อิทธิพลจากคนรอบข้าง) ทำนองพวกมากลากไป

 

bullyingfake.blogspot.com

โรงเรียนไม่ปลอดภัย กับคำสัญญาและการรับเป็นหน้าที่ของสถาปนิก

ความรุนแรง การใช้อำนาจ การกลั่นแกล้งของผู้ใหญ่ต่อผู้น้อย และผู้ตัวใหญ่ต่อผู้ตัวน้อยดังที่เรามักเห็นตามโรงเรียน แน่ล่ะบางส่วนเป็นมิติทางวัฒนธรรม เป็นเรื่องของความคิด แต่เมื่อโลกดำเนินมาจนถึงปัจจุบัน เราก็พบว่าสิ่งแวดล้อม หรือพื้นที่ที่เราอาศัยอยู่นั้น ส่งผลกับความคิดหรือพฤติกรรมของเราได้อย่างคาดไม่ถึง แน่นอนว่าพื้นที่โรงเรียนและห้องเรียน อันเป็นลักษณะหน้าตาที่เราคุ้นเคยพร้อมๆ กับการเกิดขึ้นในยุคสมัยใหม่ ตัวงานออกแบบห้องเรียนในรูปแบบเดิม ตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19-20 นี้ เป็นสิ่งแวดล้อมหนึ่งที่ทำให้เราหลับตา และรับรู้ถึงความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้ในแทบทุกจุดของโรงเรียน ภาพของโรงเรียนกลายเป็นดินแดนแห่งการเอาตัวรอด ซึ่งความรุนแรงจากการตกเป็นเหยื่ออาจกลายเป็นบาดแผลฝังใจทั้งชีวิตสำหรับหลายคน

ในปี 2012 มีงานศึกษาตีพิมพ์ที่มหาวิทยาลัยซินซินแนติ (University of Cincinnati) สหรัฐอเมริกา หนึ่งในดินแดนแห่งการกลั่นแกล้งในโรงเรียน เป็นงานศึกษาอย่างตรงไปตรงมาว่าตัวสถาปัตยกรรม หรือพื้นที่กายภาพของโรงเรียนนั้นส่งเสริมให้เกิดการกลั่นแกล้งทำร้าย และพฤติกรรมพวกมากลากไปอย่างไร แน่นอนว่ารายงานนั้นพบความเชื่อมโยงกัน และพยายามเสนอว่างานออกแบบเชิงพื้นที่จะช่วยลดปัญหาการกลั่นแกล้งลงได้

 

hmcarchitects.com

 

สำหรับสหรัฐฯ หลังกรณีกราดยิงโดยเฉพาะที่โรงเรียนแซนดี้ฮุก (Sandy Hook) ประเด็นโรงเรียนปลอดภัยได้กลายมาเป็นเรื่องน่าสนใจ และเป็นพื้นที่ของการแก้ปัญหา ซึ่งต่อมาคำว่า ‘โรงเรียนปลอดภัย’ ได้กินความกว้างขึ้น ทางสถาปนิกจึงเริ่มขยับและมองว่าการสร้างโรงเรียนปลอดภัยนั้นเป็นภาระหน้าที่ และเป็นจุดยืนสำคัญ ในราวปี 2018 ทางสภาสถาปนิกอเมริกัน (The American Institute of Architects หรือ AIA) ก็เริ่มเคลื่อนไหว โดยให้ความเห็นและออกแนวทางการออกแบบโรงเรียนปลอดภัย จนล่าสุดในคำประกาศจุดยืดของสภาวิชาชีพก็ได้บรรจุความปลอดภัยในโรงเรียนไว้เป็นจุดยืนสำคัญ (Stand) ควบคู่ไปกับภาวะความเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ ความเสมอภาค ความหลากหลาย และการออกแบบสำหรับคนทุกคน

บทบาทของสภาสถาปนิกตามที่ได้ประกาศจุดยืนไว้ คือการมีจุดยืนว่าพื้นที่โรงเรียนเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญ ซึ่งทางสภามีหน้าที่ใช้ความรู้ทางวิชาชีพปรับปรุงและแก้ไขปัญหาต่างๆ และอัพเดตให้พื้นที่โรงเรียนมีความสัมพันธ์กับยุคสมัย ทั้งในแง่ความปลอดภัย และมิติอื่นๆ ข้างต้น ทำหน้าร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ไปจนถึงร่วมออกแนวทางในการออกแบบ และแนวนโยบายอื่นๆ ที่สัมพันธ์ทั้งกับภาครัฐและภาคเอกชน

 

aia.org

  

มองเห็นปัญหาและหาแนวทางออกแบบจากสตูดิโอนักออกแบบ

ในสหรัฐฯ เอง ทั้งครูและนักการศึกษาต่างกระหนักถึงปัญหาความรุนแรงและการกลั่นแกล้ง สตูดิโอสถาปัตยกรรม HMC Architects เป็นหนึ่งสตูดิโอที่ทำงานร่วมกับสถานศึกษา ร่วมค้นคว้าและออกแบบให้โรงเรียน และนักการศึกษาระดับก่อนการศึกษาพื้นฐานของสหรัฐฯ ได้ออกแนวทาง และให้ความรู้ว่าด้วยโรงเรียนลดการกลั่นแกล้ง- ที่นอกจากโจทย์การออกแบบคือการสร้างโรงเรียนที่สวยงามแล้ว ยังปลอดภัยและดีกับนักเรียนทุกคน ตัวกลยุทธ์การออกแบบก็เริ่มตั้งแต่การเรื่องการจัดการแสดงสว่างเพื่อลดมุมอับ เพิ่มการมองเห็น ไปจนถึงการออกแบบพื้นที่ที่เหมาะกับเด็กทุกกลุ่ม

การจัดการแสงที่ทางสตูดิโอเสนอ เริ่มตั้งแต่การออกแบบช่องแสงที่เน้นการวางแนวแสงสว่าง เป็นการออกแบบที่คำนึงว่าโรงเรียรูปแบบเดิมเต็มไปด้วยมุมอับและมุมมืด เช่น โถง ทางเดิน ใต้บันได ทีนี้ก็ใช้ช่องแสงหรือแนวแสงธรรมชาติ เพื่อการมองเห็นของครู หรือคนอื่นๆ จากจุุดอับแสงที่เคยมืดก็สว่างขึ้น และสามารถมองเห็นได้

นึกภาพห้องเรียนแบบเดิมที่มักเป็นกระจกเล็กๆ มองเห็นได้ไม่ตลอด การใช้กระจกบานใหญ่นอกจากจะเชื่อมภายในและภายนอกอาคารเข้าหากัน และส่งผลดีในแง่ความสว่างปลอดโปร่งแล้ว ยังเพิ่มการมองเห็น โดยเฉพาะการมองออกจากภายในอาคารสู่ลานกว้างอย่างพื้นที่สนาม หรือสวนด้านนอก

แน่นอนว่าแสงไฟในอาคารก็สำคัญ การออกแบบให้แสงไฟอบอุ่นและครอบคลุม เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เด็กรู้สึกปลอดภัย และแสงที่สว่างเหมาะสมก็ช่วยทำให้พฤติกรรมทั้งดีและไม่ดีถูกพบเห็นได้ง่ายกว่า

 

hmcarchitects.com

 

ที่สำคัญที่สุดคือการนับรวมทุกคนเข้าสู่การออกแบบ แง่นี้คือภาคปฏิบัติที่จริงจังของการออกแบบเพื่อทุกคน เพื่อความหลากหลาย และเพื่อนักเรียนค คือการคำนึงว่านักเรียนไม่ได้มีประเภทเดียว หรือบุคลิกเดียว แต่การออกแบบโรงเรียนต้องเป็นไปเพื่อให้ทุกคนมีพื้นที่ปลอดภัยเฉพาะของตัวเอง อันจะนำไปสู่การเป็นโรงเรียนของนักเรียนทุกคนอย่างแท้จริง กลยุทธ์การออกแบบก็เช่นกัน การจัดพื้นที่สำหรับนักเรียนที่อาจจะไม่ชอบสังคมนัก สัมพันธ์กันอย่างซับซ้อนกับวิธี หรือกิจกรรมที่เฉพาะตัว อันเป็นกระบวนการให้การศึกษาอีกช่องทางหนึ่ง ที่พื้นที่โรงเรียนจะช่วยส่งเสริมการเรียนรู้และการเติบโตต่อไป

หน้าตาของโรงเรียน กระทั้งพื้นที่การใช้งานและการออกแบบ ย่อมส่งผลกับความรู้สึกของครู เด็ก และผู้ปกครองโดยตรง และพื้นที่ทางกายภาพย่อมส่งเสริม หรือลดทอนปัญหาต่างๆ เช่นเรื่องการใช้อำนาจและความรุนแรง อย่างกรณีร่วมสมัยที่เรากำลังเผชิญและถกเถียงอยู่ การมองเห็นได้จึงกลายมาเป็นประเด็น เพราะภาพของโรงเรียนที่เกิดการทำร้ายกันได้มักเกิดขึ้นในมุมอับนั่นเอง

hmcarchitects.com

 

แต่ในทึ่สุดก็คล้ายกับการถกเถียงว่าเราจะเปิดกล้องวงจรปิดดีไหม แต่การเปิดกล้องให้ผู้ปกครองอาจไม่ใช่ทางออกเสียทีเดียว แต่การลดทอนวัฒนธรรมการใช้อำนาจและความรุนแรง ไปจนถึงการส่งเสริมความเป็นพื้นที่ปลอดภัยของโรงเรียนอันนำไปสู่ความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน น่าจะเป็นหนทางและหัวใจสำคัญของพื้นที่ และความสัมพันธ์อันสำคัญระหว่างสถาบันครอบครัวและสถาบันการศึกษา ซึ่งสุดท้ายตัวสถาปัตยกรรมก็เป็นส่วนส่งเสริมทัศนคติ และลดทอนความรุนแรงได้ส่วนหนึ่ง

อ้างอิงข้อมูลจาก

jstor.org

aia.org

aia.org

hmcarchitects.com

Illlustration by Montree Sommut

 

 

Share :