CITY CRACKER

เมื่อรถยนต์ทำให้ถนนกลายเป็นพื้นที่ของผู้ใหญ่ ว่าด้วยกระแสคืนถนนเป็นพื้นที่เล่นของเด็กๆ

นึกย้อนไป ในยุคที่ถนนยังไม่เป็นพื้นที่เพื่อรถยนต์โดยเฉพาะ เมื่อพิจารณาถนนในฐานะพื้นที่สาธารณูปโภคแบบหนึ่ง ถนนเคยเป็นพื้นที่เล่นของเด็กๆ หนึ่งในงานศึกษาของอัมสเตอร์ดัม ได้ศึกษาลักษณะการใช้งานพื้นที่ถนน ระบุว่าถนนที่เคยเป็นของเด็กๆ ในช่วงทศวรรษ 1950-1960 ค่อยๆ กลายเป็นพื้นที่ของผู้ใหญ่ งานศึกษานี้ได้เผยให้เห็นมิติของเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป

ความเปลี่ยนแปลงนี้สัมพันธ์กับมิติทางสังคมที่ซับซ้อนขึ้น เช่น การใช้งานพื้นที่ภายนอกของเด็กๆ ที่ลดน้อยลง ต้องการการดูแลของผู้ใหญ่ที่เพิ่มมากขึ้น โดยการเข้าถึงพื้นที่และกิจกรรมนอกบ้านของเด็กๆ ได้ถ่างขยายความไม่เท่าเทียมให้กว้างขึ้น เด็กที่สามารถเข้าถึงกิจกรรมกลางแจ้งได้ รวมถึงศักยภาพในการดูแลเด็กๆ ของผู้ปกครองนั้นสัมพันธ์กับเวลาว่างและภาระการทำงาน

คำกล่าวที่น่าใคร่ครวญคือ รถยนต์ทำให้ถนนกลายเป็นพื้นที่ของผู้ใหญ่ ทำให้เราพอจะเห็นภาพของถนนที่แต่เดิมเคยเป็นพื้นที่ของการเดิน หรือกระทั่งการวิ่งเล่นของเด็กๆ แต่ด้วยทิศทางการพัฒนา ถนนทำให้เมืองไม่ปลอดภัยสำหรับเด็กและการเล่นอีกต่อไป กลายเป็นพื้นที่ของความเป็นระเบียบเรียบร้อยและความระมัดระวัง ในความตระหนักนี้จึงไม่แปลกที่หลายเมืองใหญ่ทั่วโลกมองเห็นปัญหาและคุณภาพชีวิตจากการขาดพื้นที่เล่น

กระแสร่วมสมัยหนึ่งคือการ ‘คืน’ พื้นที่ถนนให้กับเด็กๆ ให้กลายเป็นพื้นที่ปลอดรถยนต์ เป็นพื้นที่สาธารณะและพื้นที่เล่นรูปแบบหนึ่ง การคืนพื้นที่เล่นและการปรับถนนไปสู่พื้นที่เล่นนี้ นับเป็นกระแสสำคัญที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก อย่างน้อยที่สุดคือกระแส School Street คือการปรับและปิดถนนรอบๆ โรงเรียน เพื่อคืนถนนเหล่านั้นให้กับเด็กๆ

 

 

เด็กๆ สมัยนี้จะไปเล่นนอกบ้านที่ไหน

ทุกวันนี้เราเข้าใจว่าถนนเป็นที่ของรถยนต์ และเด็กๆ จำเป็นต้องมีผู้ปกครองดูแล และอันที่จริงเด็กๆ ไม่ควรอยู่ใกล้กับพื้นที่ริมถนน เพราะทุกวันนี้ไม่ว่าจะถนนใหญ่หรือตรอกซอกซอยแทบไม่มีพื้นที่ที่ปลอดจากรถยนต์ อันที่จริงก่อนที่ถนนและย่านจะกลายเป็นพื้นที่ของรถยนต์ ย่าน โดยเฉพาะย่านพักอาศัย ถนน เคยเป็นพื้นที่ของการเล่นและเป็นพื้นที่ของเด็กๆ มาก่อน ถนนเองเพิ่งจะกลายเป็นพื้นที่ของรถยนต์หลังทศวรรษ 1950 และค่อยๆ กลายเป็นพื้นที่อันตราย คนรุ่นพ่อแม่อาจมีความทรงจำของการวิ่งเล่นโดยไม่ต้องมีผู้ปกครองดูแลได้อิสระกว่าเด็กในยุคต่อมา คนวัย 30 ก็มีประสบการณ์กับตรอกซอกซอยและการวิ่งเล่นหรือขี่จักรยานกับเพื่อนในละแวกมากกว่าเด็กยุคปัจจุบัน

นอกจากการสังเกตประสบการณ์ของคนแต่ละวัยแล้ว งานศึกษาจากหลายประเทศที่ให้ความสำคัญกับเด็กๆ และการใช้พื้นที่เมืองอย่างเท่าเทียมก็เริ่มรายงานตัวเลขไปในทำนองเดียวกัน เช่น ที่ออสเตรเลียมีรายงานการเล่นบนถนนหรือ Street Play ที่ลดต่ำลงอย่างมีนัยสำคัญ จากการศึกษาพบว่าผู้ใหญ่ราว 73% ระบุว่าตัวเองเคยเล่นบนถนนเป็นเรื่องธรรมดาแต่ในปัจจุบันมีเด็กๆ เพียง 24% เท่านั้น สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการที่ผู้ปกครองไม่สามารถปล่อยให้เด็กๆ ออกไปเล่นตามลำพังได้ เนื่องจากกังวลเรื่องความปลอดภัย นอกจากนี้ในภาพรวมมีรายงานว่าเด็กๆ ในยุคปัจจุบันกำลังเผชิญกับวิกฤตสุขภาพ มีการใช้พื้นที่กลางแจ้งน้อยลง ที่อังกฤษเองในปี 2007 มีรายงานว่ามีเด็กๆ เพียง 2 จาก 10 คนเท่านั้นที่ออกไปเล่นบนนถนนรวมถึงสวนในละแวกบ้าน ซึ่งการลดลงของการเล่นในละแวกบ้านทำให้เด็กใช้เวลากลางแจ้งน้อยลง ส่วนหนึ่งสัมพันธ์กับการจราจรและความกังวลด้านความปลอดภัย สำหรับอังกฤษตัวเลขนี้นับว่าต่ำจนน่าตกใจและนับเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข

ourstreetsdobbsferry.com

 

คำถามคือ แล้วเด็กๆ จะไปเล่นที่ไหน แม้แต่ในประเทศที่มีอัตราการเข้าถึงสวน มีสาธารณูปโภคที่ส่งเสริมสุขภาพแล้วก็ยังมองเห็นว่า ความปลอดภัยของถนนที่เคยและไม่ได้เป็นพื้นที่ของเด็กๆ อีกต่อไป เป็นส่วนหนึ่งที่กำลังบั่นทอนและทำให้เมืองไม่ใช่พื้นที่เพื่อทุกคน ถนนควรเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยโดยเฉพาะกับเด็กๆ ควรเป็นพื้นที่ที่เด็กจะใช้วิ่งเล่นได้อย่างปลอดภัย ประเด็นต่อเนื่องคือการพลิกผันของพื้นที่เล่นที่เด็กๆ เคยเล่นบนนถนนได้อย่างอิสระ กลายเป็นสิทธิพิเศษของเด็กๆ ที่มีฐานะ มีพื้นที่กลางแจ้งในพื้นที่บ้าน หรือละแวกบ้านที่มีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น กระทั่งศักยภาพในการมีผู้ดูแล คือจะเล่นได้ต้องมีคนดูแลก็ทำให้การเล่นของเด็กถูกจำกัดด้วยสถานะทางเศรษฐกิจ

คำถามและข้อมูลต่างๆ ข้างต้นมาจากประเทศที่ค่อนข้างมีพื้นที่สีเขียว มีการพัฒนาด้านขนส่งสาธารณะ โครงข่ายทางเท้าที่ปลอดภัย สำหรับประเทศไทย สำหรับกรุงเทพฯ แล้ว เป็นคำถามที่น่าคิดว่าแล้วเด็กๆ ของเราจะสามารถไปเล่นที่ไหนอย่างปลอดภัยได้บ้าง จะเข้าถึงพื้นที่กลางแจ้ง ได้วิ่งเล่นอยู่ท่ามกลางแสงแดดและสายลมอย่างง่ายๆ ใกล้บ้านได้ที่ตรงไหนบ้าง

 

 

ถนนเพื่อการเล่น และการคืนถนนรอบโรงเรียน

การที่เด็กๆ เล่นนอกบ้านน้อยลงก็มีหลายปัจจัย ทั้งการมาถึงของความสนุกบนหน้าจอ และการที่ถนนรวมถึงพื้นที่สาธารณะเข้าถึงได้ยากและปลอดภัยน้อยลง หลายเมืองเริ่มมองเห็นว่าการเล่นของเด็กๆ ที่หายไปนี้กำลังเป็นปัญหา ทั้งปัญหาด้านสุขภาพ และปัญหาการพัฒนาเมืองที่ไม่ครอบคลุมคนทุกวัย ในหลายเมืองใหญ่จึงเริ่มเกิดกระแสการ ‘คืน’ ถนน ให้กับการเล่นและให้กับเด็กๆ อีกครั้ง ทำให้พื้นที่นอกบ้านปลอดภัยและการเล่นนอกบ้านสนุกมากขึ้น

กระบวนการสำคัญของการทวงคืนถนนให้ชุมชนคือการ ‘ปิดถนน’ ห้ามรถยนต์เข้าหรือ Car-free โดยการยึดถนนนี้เป็นการทวงคืนเล็กๆ ที่เกิดขึ้นในหลายเมืองน้อยใหญ่ทั้งในอังกฤษและออสเตรเลีย ส่วนใหญ่เป็นการออกมาปิดถนนในย่าน ในชุมชน เปิดเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับกิจกรรมกลางแจ้ง ให้เด็กๆ ออกมาวิ่งเล่น รวมถึงผู้ใหญ่ได้มาใช้เวลาร่วมกัน

ในระดับนโยบาย ความเคลื่อนไหวสำคัญที่สอดคล้องทั้งกับกระแสการพัฒนาเพื่อผลักดันรถยนต์ เปิดพื้นที่ปลอดภัยและไร้มลพิษ คือนโยบายที่เรียกว่าถนนรอบโรงเรียนหรือ School Street การระบุและจัดการพื้นที่ถนนที่แบนรถยนต์ในพื้นที่รอบๆ โรงเรียนเพื่อปกป้องเด็กๆ ทั้งจากอุบัติเหตุและมลพิษในทุกๆ ด้าน นโยบายการจำกัดพื้นที่รถยนต์หรือ School Street เป็นสิ่งที่เมืองสำคัญเริ่มใช้และกำลังขยายพื้นที่ปลอดภัยให้กับเด็กๆ มีรายงานว่าเมืองต่างๆ เช่น ลอนดอนมีพื้นที่ปลอดรถยนต์ 1,200 โซนรอบๆ โรงเรียนเพิ่มขึ้นจาก 90 แห่งเมื่อปี 2019 ปารีสมี 160 โซนเริ่มสร้างในปี 2019 เช่นเดียวกัน

กระแสการเปลี่ยนแปลงสัมพันธ์กับการระบาดของไวรัสโคโรน่า ความเข้าใจเรื่องความสำคัญของพื้นที่กลางแจ้งของเด็กๆ ดังนั้นการปรับเปลี่ยนดังกล่าวจึงสัมพันธ์กับหลายภาคส่วน ซึ่งรวมถึงการลงทุน การออกแบบถนนใหม่ และการบังคับใช้กฏหมายเพื่อควบคุมถนนโดยมีความปลอดภัยของเด็กๆ เช่น ที่ลอนดอนมีการออกแบบตัวถนนใหม่ที่เน้นความปลอดภัย มีการติดตั้งกล้องในพื้นที่ถนนของโรงเรียน สำหรับปารีสที่เพิ่งเริ่มมีการปรับเปลี่ยน แต่ในนโยบาย ปารีสมีความพยายามปรับถนนให้เป็นพื้นที่เพื่อการเล่นอย่างเป็นรูปธรรม คือเป็นถนนออกแบบใหม่ที่มีความร่มรื่น มีพื้นที่เล่น มีสีสันน่ารักที่ทั้งปกป้องเด็กๆ จากอุบัติเหตุและเชิญชวนให้เด็กๆ ได้เล่นบนถนนรอบๆ โรงเรียน (ซึ่งมักอยู่ใกล้กับย่านพักอาศัย) ได้ใช้เวลากลางแจ้งมากขึ้น

นอกจากปารีสแล้ว การเปลี่ยนถนนไปสู่พื้นที่การเล่น พื้นที่ปลอดรถยนต์เป็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในเมืองน้อยใหญ่ทั่วโลกทั้งออสเตรเลีย หรือเมืองขนาดเล็ก เช่น ทีราน่า หรือกระทั่งประเทศในแอฟริกาอย่างรวันดา การออกแบบเมืองที่ปกป้องเด็กๆ หรือมีเด็กๆ เป็นศูนย์กลางในหลายเมืองเป็นกระแสการพัฒนาหลักมานานแล้ว เช่น อัมสเตอร์ดัมที่กลายเป็นเมืองจักรยานก็เกิดจากประวัติศาสตร์การต่อต้านถนนเพื่อรถยนต์มาอย่างยาวนาน หรือที่ญี่ปุ่นที่เด็กๆ เดินในเมืองและเดินไปโรงเรียนเป็นกิจวัตรสำคัญมาอย่างยาวนานแล้ว

 

เด็กๆ ของเราจะไปวิ่งเล่นที่ไหน

 

คำถามง่ายๆ ที่เราไม่เคยสงสัย เมื่อมองออกไปนอกถนน และลืมไปว่าไม่กี่สิบปีก่อน ถนนเคยเป็นพื้นที่ที่เด็กๆ เคยวิ่งเล่นได้อย่างอิสระ บ้านเราเองก็มีตัวเลขการเสียชีวิตของเด็ก โดยมีสาเหตุหลักมาจากการจราจรติดสามอันดับการเสียชีวิตสูงสุด ข้อสังเกตที่น่าสนใจที่เราอาจเรียนรู้ได้ เช่น ความเปลี่ยนแปลงของถนน พื้นที่ย่าน เมืองและถนนหนทางเป็นพื้นที่ของใคร

ถนนเพื่อรถยนต์ทำให้เมืองกลายเป็นพื้นที่ของผู้ใหญ่ เมืองกลายเป็นดินแดนอันตราย เด็กๆ ส่วนใหญ่ไม่สามารถใช้ชีวิตหรือวิ่งเล่นกลางแจ้งได้อีกต่อไป ถนนสามารถเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่สาธารณะได้ไหม เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่สีเขียวได้ไหม

 

ถนนควรมีสาธารณูปโภคแบบไหนที่จะทำให้เมืองและเด็กๆ ปลอดภัย เป็นเมืองที่มีความสดใส  ไม่ใช่เมืองที่เต็มไปด้วยความชืดชาที่ต้องเดินทำตัวเล็กๆ อย่างระมัดระวังเสมอ

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

tandfonline.com

playaustralia.org.au

bycs.org

ft.com

theguardian.com

childinthecity.org

wearepossible.org

nyc.streetsblog.org

he02.tci-thaijo.org

 

Share :