CITY CRACKER

‘พื้นที่สาธารณะใหม่ในสายตาเยาวชน’ ความเป็นไปได้ของเมืองในฝันที่ทั่วถึงและเท่าเทียม

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา พื้นที่สาธารณะเชิงธุรกิจนั้นเติบโตและเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างก้าวกระโดด ไม่ว่าจะเป็น ห้างสรรพสินค้า ตลาด คาเฟ่ ร้านกาแฟต่างๆ โดยเฉพาะเด็กๆ และเยาวชนที่เข้ามาจับจองใช้พื้นที่เหล่านี้แทบจะทุกมิติในชีวิต ตั้งแต่การจับจ่ายซื้อของทั่วไป การใช้เวลาว่างร่วมกับเพื่อนฝูง การอ่านหนังสือเตรียมสอบ หรือแม้แต่การทำงานทางไกลแบบผ่านระบบอินเทอร์เน็ต น่าเสียดายที่การเข้ามาใช้พื้นที่เหล่านี้มักมีค่าใช้จ่าย ทำให้ไม่ใช่ทุกคนที่สามารถเข้ามาใช้งานพื้นที่เหล่านี้ได้ นำไปสู่คำถามที่ว่าเยาวชนมองเรื่องนี้อย่างไร พื้นที่สาธารณะเหล่านี้ตอบโจทย์พวกเขามากน้อยแค่ไหน และถ้าไม่ เรามีวิธีการอะไรในการปรับปรุงพื้นที่สาธารณะของเมืองได้บ้าง

สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) เคยทำแบบสำรวจมุมมองความคิดเห็นของเยาวชนจำนวน 463 คนจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ เรื่องการรับรู้ในประเด็นพื้นที่สาธารณะในประเด็นต่าง ๆ ทั้งการให้นิยาม การใช้ประโยชน์ และคุณลักษณะของพื้นที่สาธารณะที่พึงมี พบว่า เยาวชนนั้นใช้ชีวิตส่วนมากที่สถานศึกษา และมีการทำกิจกรรมนอกบ้านเป็นปกติ เช่น การออกไปซื้อของกับผู้ปกครอง การออกกำลังกาย การทำงานอดิเรกต่างๆ หรือแม้แต่การรวมกลุ่มนั่งทำการบ้านและอ่านหนังสือกับเพื่อน พวกเขาเหล่านั้นมีความต้องการที่จะใช้พื้นที่เพื่อการทำกิจกรรมบางอย่างเป็นกลุ่มก้อนตามช่วงเวลาที่สอดคล้องกับชีวิตของตน โดยมีหลักเกณฑ์เรื่องความสะอาด สิ่งอำนวยความสะดวก และความปลอดภัย เป็นปัจจัยหลักในการตัดสินใจเลือกพื้นที่ที่จะเข้าไปใช้งาน แม้ว่าพื้นที่ดังกล่าวจะมีค่าใช้จ่ายในการใช้พื้นที่ก็ตาม

เมื่อเราย้อนกลับมามองพื้นที่สาธารณะพื้นฐานที่รัฐจัดหาไว้ให้อย่างสวนสาธารณะหรือห้องสมุด ก็พบปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้เยาวชนไม่เข้าไปใช้งาน เช่น พื้นที่เหล่านี้มีน้อยและอยู่ไกลจากบ้านของตนเอง จึงลำบากในการเดินทางไปใช้พื้นที่ รวมถึง พื้นที่ดังกล่าวรองรับการใช้งานแค่บางประเภทซึ่งไม่ตอบโจทย์การใช้งานของตน พวกเขาอาจต้องการนั่งพูดคุยถกเถียงเพื่อทำรายงานกับกลุ่มเพื่อน ซึ่งห้องสมุดส่วนมากมีห้องประชุมที่ใช้เสียงได้ในจำนวนจำกัด หรือพวกเขาอาจต้องการเล่นกีฬาบางชนิดซึ่งสวนสาธารณะไม่ได้มีการจัดเตรียมพื้นที่ไว้ให้

ในแบบสอบถามมีคำตอบหนึ่งที่น่าสนใจว่า เยาวชนบางส่วนมองว่าโลกออนไลน์อย่าง ทวิตเตอร์ เป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับพวกเขา เนื่องจากเยาวชนในปัจจุบันนั้นเติบโตมากับการใช้อินเทอร์เน็ตในการเรียนรู้ประกอบสร้างตนเอง ทำให้พวกเขานั้นมีมุมมอง วิธีคิด และความคาดหวังกับพื้นที่สาธารณะในรูปแบบที่ทุกคนควรจะมีส่วนร่วมอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกันในการตัดสินใจ มีอิสระในการสื่อสาร อภิปราย โต้แย้งด้วยการใช้เหตุและผลเพื่อตัดสินใจหาคำตอบร่วมกัน และมีพื้นที่ส่วนตัวที่ตนเองรู้สึกปลอดภัยในพื้นที่สาธารณะนี้ด้วย โดยอาจกล่าวได้ว่า เยาวชนนั้นไม่ได้มองพื้นที่สาธารณะในฐานะสถานที่ทางกายภาพอย่างสวน โรงเรียน หรือวัด แต่มี “ความรู้สึกเป็นส่วนรวม” (sense of public and belonging) เป็นสิ่งสำคัญ

ส่วนรวมที่มีส่วนร่วม

เมื่อเราถอยหลังออกมาอีก 1 ก้าวเพื่อมองภาพใหญ่ในเชิงโครงสร้าง เราจะเห็นชัดขึ้นว่าพื้นที่สาธารณะที่ใช้กันอยู่ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่สาธารณะที่รัฐจัดหาไว้ให้หรือพื้นที่สาธารณะเชิงธุรกิจของภาคเอกชน ก็อาจจะไม่ใช่พื้นที่สาธารณะที่แท้จริง เนื่องจากเกิดจากอำนาจการตัดสินใจของส่วนกลางในรูปแบบต่างๆ เช่น ข้อกำหนดผังเมืองที่ทำให้ย่านนั้นๆ เติบโตไปในทิศทางที่อาจไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้คน กฎเกณฑ์ในการใช้พื้นที่ซึ่งประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ หรือการกีดกันคนบางกลุ่มไม่ให้ใช้งานพื้นที่สาธารณะ ซึ่งอาจมาในรูปของการออกแบบอย่างเก้าอี้ในสวนที่ป้องกันไม่ให้คนไร้บ้านใช้นอนได้ เป็นต้น

ด้วยกระบวนการสร้างพื้นที่สาธารณะของรัฐที่ขาดการมีส่วนร่วม ทำให้การสร้างพื้นที่สาธารณะนั้นเปลี่ยนมือไปอยู่ในกลุ่มทุนแทน เช่น การสร้างพื้นที่ส่วนกลางไว้สำหรับเป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจเพื่อกระตุ้นการขาย การสอดแทรกพื้นที่ขายไปกับพื้นที่กิจกรรมกึ่งสาธารณะที่มีกลุ่มทุนหนุนหลังเป็นวิธีการโฆษณา แม้ว่าการเพิ่มพื้นที่สาธารณะให้กับเมืองจะเป็นจุดเล็กๆ ของการตอบแทนให้สังคมของภาคธุรกิจ แต่การออกแบบพื้นที่ลักษณะนี้ ล้วนแต่มีเหตุผลทางการตลาดรองรับ จึงไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นพื้นที่สาธารณะที่แท้จริงเช่นเดียวกัน

อีกกรณีหนึ่งที่ยังเป็นข้อถกเถียงอยู่ในสังคมนั้นคือการเวนคืนที่ดิน ไล่ที่ชุมชน เพื่อสร้างเป็นพื้นที่สำหรับส่วนรวมต่างๆ เช่น สวนสาธารณะ เขื่อน หรือระบบขนส่งมวลชนต่างๆ นั้นเป็นที่ยอมรับมากน้อยแค่ไหน คนที่ต้องถูกไล่ที่ ต้องย้ายบ้านออกไปเพื่อเปลี่ยนพื้นที่ดังกล่าวให้เป็นพื้นที่ส่วนรวมนั้น มีส่วนร่วมในกระบวนการและได้รับการรับฟังอย่างเพียงพอหรือไม่ ซึ่งประเด็นนี้จะนำเราไปสู่คำถามที่ว่า การสร้าง ‘พื้นที่สาธารณะอันเป็นสวัสดิการของรัฐ’ หรือ ‘สาธารณูปโภคพื้นฐาน’ ที่ไม่มีค่าใช้จ่ายในการใช้พื้นที่ เป็นพื้นที่เพื่อสาธารณประโยชน์ที่ทุกคนเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม ทั่วถึง ไม่เบียดเบียนหรือขับไล่คนส่วนน้อยออกจากเมือง และเป็นพื้นที่ส่วนรวมที่มีส่วนร่วม นั้นจะเกิดขึ้นจริงได้อย่างไร

Placemaking และพื้นที่สาธารณะโดยเยาวชน

ตอนนี้ ในประเทศไทยกำลังมีการดำเนินโครงการริทัศน์ มองเมืองมุมใหม่ ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสหภาพยุโรปเพื่อสร้างสรรค์เมืองที่นับรวมทุกคน (inclusive cities) โดยมุ่งเน้นการสร้างการมีส่วนร่วมกับเยาวชนในกระบวนการพัฒนาเมืองในรูปแบบต่างๆ โดยมี Placemaking หรือ เทศะรังสรรค์ เป็นเครื่องมือสำคัญ

Project for Public Spaces ซึ่งเป็นองค์กรที่ใช้ Placemaking เป็นเครื่องมือหลักในการทำงานมากว่า 40 ปีได้อธิบายเครื่องมือนี้ว่า เป็นกระบวนการพัฒนาเมืองที่ขับเคลื่อนด้วยความเป็นชุมชน โดยการให้ผู้คนที่อยู่ในละแวกนั้น ผู้คนที่ใช้พื้นที่นั้นๆ เป็นประจำ ได้มาแลกเปลี่ยน พูดคุย ออกแบบพื้นที่ในชุมชนของตนเองให้ตอบโจทย์การใช้งานของพวกเขาเอง สร้างความรู้สึกปลอดภัยและเป็นเจ้าของ ทำให้พื้นที่นั้นๆ เปลี่ยนจาก ‘พื้นที่’ กลายเป็น ‘สถานที่’ ที่คนในย่านนั้นอยากจะแวะเวียนไปใช้งาน และดูแลรักษา โดยในต่างประเทศ ได้มีการใช้วิธีคิดและเครื่องมือ Placemaking ในการสร้างพื้นที่สาธารณะหลายแห่งที่ไม่ใช่แค่ทำให้เยาวชนมีส่วนร่วมหรือตอบโจทย์การใช้งาน แต่ยังเป็นมิตรกับผู้ใช้ และกลายมาเป็นพื้นที่สาธารณะที่ทำให้คนรู้สึกสนิทใจ 

FREMANTLE ESPLANADE YOUTH PLAZA (WESTERN AUSTRALIA)

สถานที่ทำกิจกรรมสำหรับเยาวชนประจำเมือง Fremantle ซึ่งเกิดจากการจัดกิจกรรม workshop กับนักสเก็ตรุ่นเยาว์ในชุมชนเพื่อรับฟังความคิดเห็น ความต้องการ และข้อเสนอแนะต่างๆ ในการพัฒนาพื้นที่ ทำให้สถานที่นี้ นอกจากจะมีลานสเก็ตพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนทุกเพศทุกวัย ยังมีพื้นที่สำหรับกิจกรรมปาร์กัวร์ มีการเปลี่ยนตู้คอนเทนเนอร์ให้กลายเป็นกำแพงปีนเขาขนาดเล็ก โต๊ะปิงปอง มีเวทีสาธารณะสำหรับการแสดงดนตรีและการแสดงต่างๆ มีที่นั่งพักในร่มพร้อมปลั๊กไฟ และมีแสงไฟที่เพียงพอในเวลากลางคืน แน่นอนว่าส่วนกลางของเมือง Fremantle ยังมีหน้า Facebook เพื่อให้ผู้คนได้เข้ามาพูดคุย ติดต่อ เพื่อพัฒนาสถานที่ตามทิศทางความต้องการของผู้มาใช้งานอย่างสม่ำเสมอด้วย

FACTORIA JOVEN “YOUTH FACTORY” (MERIDA, SPAIN)

สถานที่สำหรับการทำกิจกรรมทั้ง indoor และ outdoor ของเยาวชนนี้สร้างขึ้นจากวัสดุรีไซเคิล โดยรองรับกิจกรรมหลายแบบ ตั้งแต่กำแพงกราฟฟิตีสำหรับ workshop ทางศิลปะ ลานสำหรับเล่นจักรยานผาดโผนหรือโบลิ่ง เวทีการแสดงดนตรีและการเต้นรำ ชุดอุปกรณ์ไต่เชือก พร้อมทั้งเจ้าหน้าที่สำหรับให้คำปรึกษาในการทำกิจกรรมต่างๆ พื้นที่สาธารณะแห่งนี้เกิดขึ้นจากกระบวนการมีส่วนร่วมของเยาวชนที่ต้องการทำกิจกรรมบางอย่างแต่ขาดทั้งพื้นที่และประสบการณ์ และเมื่อเมืองเข้าใจความต้องการนี้ จึงสามารถออกแบบลานกิจกรรมและการให้บริการได้อย่างเหมาะสมนั่นเอง

THE ALLEY PROJECT (DETROIT, MICHIGAN)

โครงการ Alley Project (TAP) เป็นสตูดิโอในโรงรถและแกลเลอรีประจำซอยในพื้นที่ที่มีอัตราการก่ออาชญากรรมสูงของเมือง โครงการนี้เข้าใจเยาวชนที่มีความสนใจจะแสดงออกทางตัวตนและทำกิจกรรมทางศิลปะแนวกราฟฟิตี ซึ่งเป็นการพ่นสีลงบนกำแพง โดยทางโครงการได้จัดเตรียมพื้นที่สำหรับกราฟฟิตีแบบถูกกฎหมาย และมีคนหนุ่มสาวเข้าร่วมมากกว่า 120 คน จนเกิดเป็นความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเยาวชนกับคนในชุมชน ซึ่งทำให้การพ่นสีบนผนังแบบผิดกฎหมายนั้นลดลงอย่างมาก ในขณะเดียวกัน การนำงานของเยาวชนเหล่านี้ไปจัดแสดงในงาน Venice Biennale และเทศกาลศิลปะอื่นๆ ในยุโรปก็ช่วยสร้างแรงบันดาลใจทางบวกให้กับทั้งชุมชนเช่นกัน

ในบริบทของประเทศไทยเอง ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ เยาวชนไทยได้ทำการแสดงออกในรูปแบบต่างๆ ที่บ่งบอกถึงการถูกละเลย การไม่มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์และออกแบบสังคมที่พวกเขาอยู่อาศัย ซึ่งเป็นสิทธิ์ที่ทุกคนพึงมีในฐานะของประชาชนคนหนึ่งเช่นกัน ทำให้โครงการริทัศน์นั้นเป็นอีกโครงการด้านการพัฒนาเมืองที่น่าจับตามองเป็นอย่างมาก มีเยาวชนจาก 5 เมือง ได้แก่ เชียงใหม่ ขอนแก่น กาญจนบุรี หาดใหญ่และกรุงเทพฯ รวมมากกว่า 80 คน เข้าร่วมโครงการนี้ เพื่อพูดคุย แลกเปลี่ยน และร่วมกันรังสรรค์พื้นที่สาธารณะอย่างมีส่วนร่วมขึ้นในเมืองของตนเอง โดยผลจากการทำ Placemaking นั้นจะแตกต่างกันไปตามบริบทของสถานที่ ผู้คนและความต้องการทางสังคม แต่ส่วนที่มีความสำคัญที่สุด ยังคงเป็นการมีส่วนร่วมของผู้คนในการร่วมสร้างสรรค์สถานที่ สร้างความรู้สึกร่วมในการเป็นเจ้าของ โดยเฉพาะกับเด็กๆ และเยาวชนซึ่งมีช่องทางในการเสนอแนะ ออกความคิดเห็น ตลอดจนร่วมตัดสินใจน้อยกว่าผู้ใหญ่ในเรื่องการพัฒนาเมือง

ไม่ว่าผลลัพธ์จะออกมาเป็นอย่างไร เราเชื่อมั่นว่า พื้นที่นี้และกระบวนการระหว่างทางจะกลายเป็นพื้นที่สำหรับการตามหาตัวตน การรวมกลุ่มทางสังคม การพูดคุย แลกเปลี่ยนกัน ซึ่งจะนำผู้คนในสังคมไปสู่การเข้าใจว่าตัวเองเป็นใคร อยากอยู่ในเมืองแบบไหน ทำให้เกิดพื้นที่อิสระที่รองรับคนทุกคนโดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องเม็ดเงิน เปิดกว้างต่อการลองผิดลองถูก ทดลองทำสิ่งต่างๆ เพื่อสนับสนุนเยาวชนไปสู่ความฝันและอนาคตในแบบของพวกเขาเอง

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

https://www.pps.org/article/young-people-and-placemaking-engaging-youth-to-create-community-places

https://www.pps.org/article/youth-public-spaces-place-making-future

https://www.pps.org/article/the-movement-for-youth-led-placemaking-is-growing-up

http://placemaking.mml.org/how-to/the-alley-project/

https://www.pps.org/places/the-alley-projecthttps://www.pps.org/article/what-is-placemaking

https://irasanyal.medium.com/child-centric-cities-for-a-better-future-1a470811a7f6

 

Share :