CITY CRACKER

เมื่อถนนปลอดภัยแค่บางเวลา: พื้นที่สาธารณะกับการคุกคามทางเพศ

คำว่าปลอดภัย ส่วนหนึ่งน่าจะหมายถึงการที่เราสามารถเดินเหินไปที่ไหนๆ ได้อย่างสบายใจ ทุกวันนี้เราอยู่ในยุคที่พูดเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ แต่ในบางประเด็น เช่นความรู้สึกปลอดภัยในเมือง ผู้ชายและผู้หญิงดูจะมีความรู้สึกปลอดภัยไม่เท่ากัน แม้เราจะอยู่ในยุคดิจิทัล มีไฟฟ้าและระบบตรวจสอบทันสมัย แต่เมืองส่วนใหญ่ก็ยังไม่ได้ให้ความรู้สึกปลอดภัยกับผู้หญิงได้ดีเท่าไหร่

 

จากการสำรวจในปี 2559 พบว่าผู้หญิงไทย 1 ใน 3 เคยถูกคุกคามทางเพศไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง กลุ่มตัวอย่างระบุสถานการณ์ที่ทำให้รู้สึกไม่ปลอดภัยในเมืองก็เป็นเหตุการณ์ปกติในชีวิตประจำวันเช่น การเดินเข้าซอยคนเดียว ขณะที่เดินทางบนรถตู้ รถเมล์ รวมถึงรถมอเตอร์ไซค์-สรุปง่ายๆ ว่าตังแต่ก้าวเท้าออกจากบ้าน ก็เสี่ยงภัยกันเลยทีเดียว

จริงๆ ไม่ใช่แค่ผู้หญิง สำหรับกรุงเทพเมืองฟ้าอมร พื้นที่นอกบ้านของเราดูจะไม่ค่อยปลอดภัยเท่าไหร่ เชื่อว่าอาการเดินเข้าซอยบ้านแล้วมืดผิดปกติ เปลี่ยว ไฟเสีย เดินๆ อยู่ก็เจอตรอกมืดๆ  ขึ้นสะพานลอยก็เจอคนแปลกๆ เรียกได้ว่า ขนาดชายอกสามศอกเดินในกรุงยามค่ำคืนก็มีลำบากใจ มีกำพระ กำโทรศัพท์มือถือกันบ้าง

แต่ประเด็นเรื่องการคุมคามทางเพศเป็นประเด็นที่ซับซ้อน การมีพื้นทีนอกบ้าน มีถนนหนทางที่ช่วยกันลดโอกาส ปิดช่องทางการล่วงเกินก็เป็นส่วนสำคัญหนึ่ง ในขณะอีกส่วนคือประเด็นเรื่องความคิด การที่คนในสังคมมองเห็นว่าการคุกคามทางเพศเป็นเรื่องใหญ่ คอยเป็นหูเป็นตา ไม่มีคำว่ายุ่งอะไรเรื่องชาวบ้านอีกต่อไป

 

 

จากจุดใหญ่ถึงจุดเล็กๆ เมืองที่ปลอดภัยตลอดคืน

ในหลายประเทศ รวมถึงบ้านเราเองก็เริ่มมีความเคลื่อนไหวเพื่อการออกแบบเมืองที่ดีกับทุกคน วิธีการสำคัญของงานออกแบบคือฟังเสียงของผู้ใช้ ประสบการณ์ของผู้หญิงในเมืองเป็นสิ่งที่นักออกแบบและนักพัฒนาเมืองต้องฟัง ผู้หญิงที่เดินในถนนหนทางรู้สึกอย่างไร จุดไหนไม่ปลอดภัย จุดไหนเปิดโอกาสให้การคุกคามเกิดขึ้น บ้านเราจึงมีโครงการปักหมุดจุดเผือก คือเป็นการรวบรวมข้อมูลจากผู้ใช้งานทั่วไป ร่วมกันระบุว่าจุดไหนของเมืองที่อันตราย การปักหมุดนี้เป็นทั้งการเตือนภัยกันเอง และอาจเป็นการส่งเสียงไปสู่ผู้รับผิดชอบเพื่อการพัฒนาต่อไป

จากการสำรวจประสบการณ์ของผู้หญิง ก็อาจทำให้ได้ผลลัพธ์และความเข้าใจพิเศษที่ส่งผลกับการออกแบบ จากการสำรวจในเมลเบิร์น พบความเห็นน่าสนใจของผู้หญิงในเมืองเรื่อง ‘แสงไฟ’ จากเสียงสาวๆ พบว่าแนวคิดเรื่องยิ่งสว่างยิ่งดี อาจไม่ใช่วิธีคิดที่ถูกต้องอีกต่อไป สาวๆ บอกว่าพื้นที่ที่สว่างมากๆ ไม่ได้ทำให้รู้สึกปลอดภัยมากขึ้น นึกถึงฉากในหนังสยอง แสงจ้าๆ ที่ทอดลงอย่างไม่เหมาะสมทำให้เกิดเงา และเกิดปัญหากับการมองเห็น สาวๆ บอกว่าเธอมองไม่เห็นว่ามีคนตามมาไหม

งานสำรวจนี้ทำนักออกแบบแสงสว่างต้องคิดใหม่ว่าแสงทีเหมาะสมและส่งผลกับความรู้สึกปลอดภัยของผู้หญิงไม่ได้หยุดแค่เอาใส่สว่างจัดๆ ไว้ก่อน แต่นักออกแบบอาจต้องพิจารณาการจัดวางแสง การเลือกใช้ขนาดและปริมาณของแสงไฟ ไปจนถึงการทอดของเงาและการสะท้อนของวัสดุพื้นผิว ที่จะทำให้เกิดความรู้สึกปลอดภัยมากที่สุด จากความเข้าใจทีถี่ถ้วนขึ้นนี้นำไปสู่การคิดกระทั่งว่าไฟถนน ไฟทางเท้าควรจะเป็นสีอะไร สายตาคนเราแยกแยะรูปทรงได้ดีในความเข้มของแสงแบบไหน

การที่เมืองไม่ปลอดภัย ในที่สุดส่งผลกับความเป็นอยู่ที่ดี กระทั่งกับความก้าวหน้าของผู้หญิง ความปลอดภัยของเมืองเป็นส่วนสำคัญที่กำหนดว่าผู้หญิงจะสามารถอยู่นอกบ้าน ไปทำงาน หรือมีอิสระในการใช้ชีวิตได้แค่ไหน

 

rd.com

 

ความรุนแรงเป็นเรื่องของเรา

นอกจากงานออกแบบแล้ว แน่นอนว่าการคุกคามทางเพศเป็นเรื่องของวัฒนธรรม มีข้อสังเกตว่าผู้ชายและผู้หญิงที่ปรากฏตัวในพื้นที่สาธารณะมีสถานะที่แตกต่างกัน ผู้หญิงมักตกเป็นจุดสนใจ เป็นเป้าหมายของการถูกมองหรือถูกแซวด้วยคำพูด ในบางงานศึกษาระบุว่า สังคมที่มีความเท่าเทียมทางเพศสูง ยิ่งมีอัตราการคุกคามและอัตราการข่มขืนลดน้อยลง คือถ้าให้เกียรติกัน ไม่มองว่าเพศใดเพศหนึ่งเป็นวัตถุทางเพศก็เป็นเรื่องธรรมดาที่การคุกคามทางเพศจะลดน้อยลง

อีกหนึ่งวิธีที่ผู้ใช้งานจะช่วยให้งานออกแบบทำงานได้ดียิ่งขึ้น คืองานออกแบบพื้นที่เพื่อความปลอดภัยส่วนใหญ่จะเน้นเรื่องการมองเห็น การปิดจุดอับ และการส่งเสริมให้พื้นที่นั้นๆ เกิดความเคลื่อนไหวและเกิดกิจกรรมต่างๆ ทีนี้เราๆ ท่านๆ เองก็เลยมีหน้าที่เป็นหูเป็นตา มองเห็นว่าการคุกคามทางเพศไม่ใช่เรื่องปกติ เรามีหน้าที่ช่วยเหลือเหยื่อ ไม่ใช่ซ้ำเติมผู้ถูกกระทำ

straitstimes.com

 

ในภาพใหญ่ การคุกคามทางเพศเป็นเรื่องใหญ่ เป็นสิ่งที่ส่งผลกับความรู้สึกของเราที่มีต่อเมือง มีต่อการใช้ชีวิต กระทั่งมีผลกับทัศนคติการมองโลก และการให้เกียรติกันระหว่างเพศ ทุกวันนี้การคุกคามทางเพศอาจไม่ได้หยุดที่เหยื่อผู้หญิงเท่านั้น ไม่ว่าเพศไหนก็ล้วนตกเป็นเหยื่อการคุกคามได้เสมอกัน ในยุคที่เมืองควรไม่เคยหลับ เมืองที่ดีจึงน่าจะส่งเสริมให้เราได้ใช้ชีวิตอย่างมีอิสระ ไม่ถูกจำกัดโดยกรอบของสถานที่และเวลา

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

sbs.com.au

theconversation.com

link.springer.com

 

Illustration by Thitaporn Waiudomwut

 

Share :