CITY CRACKER

Post-war Brutalism อาคารขึงขังของยุโรปตะวันออก จากการฟื้นฟูเมืองหลังสงครามโลก

ยุโรปตะวันออกเป็นดินแดนแห่งความโรแมนติกที่ไม่แพ้ยุโรปตะวันตก แต่ทว่าสถาปัตยกรรมและกลิ่นอายของเมืองก็ค่อนข้างแตกต่างจากยุโรปตะวันตกอยู่พอสมควร

คงด้วยความที่หลายประเทศเคยอยู่หลังม่านเหล็กไม่ว่าเป็นส่วนหนึ่งสหภาพโซเวียตหรือรัสเซียเอง บรรยากาศของเมืองโดยเฉพาะอาคารมักมีความใหญ่โตแต่ในขณะเดียวกันก็เต็มไปด้วยความขึงขัง ถ้าเป็นพื้นที่สาธารณะหรืออาคารขนาดใหญ่ก็มักเป็นตึกคอนกรีดที่เป็นรูปทรงเรขาคณิต รูปร่างของอาคารประกอบขึ้นด้วยเส้นสายที่แข็งแรง มีจังหวะของส่วนประกอบเช่นหน้าตา เสา หรือเปลือกอาคารที่ซ้ำกันเป็นแพทเทิร์น ยิ่งถ้าเป็นอาคารพักอาศัยก็มักจะเป็นอาคารขนาดมหึมา หลายเมืองเช่นเคียฟได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมของโซเวียต ในความยิ่งใหญ่และความ ‘โมเดิร์น’ ของอาคารนั้นหลายครั้งล้ำไปยังนิยามของคำว่า ‘อาวอง-การ์’ ได้

 

Za Żelazną Bramą in Śródmieście, 1965 -1972 (archdaily.com)

 

ถ้าเรานิยามอาคารปูนเป็นส่วนหนึ่งของกระแสสถาปัตยกรรม เราเองก็พอจะจัดให้กลุ่มอาคารที่กลายเป็นกลิ่นอายหนึ่งของยุโรปตะวันออกว่าเป็นอาคารในกระแส ‘โมเดิร์น (modernism)’ ถ้าเจาะจงลงไปกว่านั้นอาจนิยามได้ว่าเป็นสถาปัตยกรรมกลุ่มบรูทัลลิซึมหลังสงคราม (Post-war Brutalism) ถ้าเรามองย้อนไปตัวกระแสสถาปัตยกรรมแบบโมเดิร์นรวมถึงบรูทัลลิซึมโดยเฉพาะอาคารขนาดใหญ่เฟื่องฟูขึ้นในช่วงยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ส่วนหนึ่งสัมพันธ์ทั้งกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่นคอนกรีต เหล็ก และนวัตกรรมการก่อสร้าง ที่เน้นประสิทธิภาพทำให้เกิดอาคารเพื่อการใช้งาน มีขนาดใหญ่ ประหยัดต้นทุน และอีกส่วนคือสัมพันธ์กับการสร้างอาคารขึ้นใหม่ในยุคหลังสงครามโลกซึ่งต่อเนื่องมาจนถึงยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

 

Hotel Salute 1976-1984 (archdaily.com)

 

ในยุคหลังสงครามโลกนั้น ยุโรปตะวันออกอยู่ภายใต้ระบอบคอมมิวนิสต์โดยมีสหภาพโซเวียตเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาและที่สำคัญคือการฟื้นฟูเมืองทั้งหลายที่เสียหายจากสงคราม ในตอนนั้นเองพรรคคอมมิวนิสต์ต้องการสถาปนาเศรษฐกิจของตัวเองขึ้นใหม่ รวมถึงรูปแบบการทำงานของสถาปนิกในระบคอมมูนิสต์ก็มีลักษณะเฉพาะคือทำงานโดยตรงกับรัฐ ในการออกแบบอาคารจึงต้องเน้นการประเมินความคุ้มค่าทั้งต้นทุนและการใช้แรงงานในการก่อสร้าง ดังนั้นอาคารที่ได้รับอิทธิพลจากโซเวียตจึงมักเป็นอาคารขนาดใหญ่ เน้นความคุ้มค่าและความขึงขังยิ่งใหญ่ เป็นสถาปัตยกรรมแบบบรูทัลลิสที่มีลักษณะเฉพาะตัว

 

Csepel Water Tower, 1980 – 1984 (archdaily.com)

 

อย่างแรก อาคารของยุโรปตะวันออกภายใต้อิทธิพลของโซเวียตมักมีลักษณะที่เรียกว่าเป็นโครงสร้างขนาดยักษ์(superstructure) อาคารยักษ์ใหญ่ที่มักเป็นเหมือนอาคารของรัฐและมวลชนนี้สัมพันธ์ทั้งกับการแสดงความยิ่งใหญ่ของสหภาพ ในขณะเดียวกันสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ก็สะท้อนอุดมการณ์ เช่น การเป็นอาคารของมวลชน เป็นตัวแทนโลกปัจจุบัน ความมั่นคง อำนาจและการก้าวไปสู่อนาคต บางส่วนสัมพันธ์กับการแสดงตัวตนเพื่อแข่งขันในยุคสงครามเย็น เช่น การแข่งขันด้านอวกาศ ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เป็นต้น

 

Torwar Estate (mickhartley.typepad.com)

 

นอกจากอาคารขนาดใหญ่แล้ว อาคารพพักอาศัยก็เป็นอีกหนึ่งมรดกจากยุคหลังสงคราม ในตอนนั้นสิ่งที่เมืองพยายามสร้างกลับขึ้นมาคืออาคารพักอาศัยที่เพียงพอกับผู้คน ประกอบกับแนวคิดแบบคอมมิวนิสต์ที่มอบปัจจัยพื้นฐานให้กับมวลชนตามความต้องการ อาคารพักอาศัยในยุโรปตะวันออกมักเป็นโครงการพักอาศํยขนาดยักษ์ ตัวอาคารมักเป็นอาคารสูงที่ประกอบขึ้นด้วยยูนิตพักอาศัยจำนวนมากที่ประกอบจากบล็อกเล็กๆ เป็นอาคารขนาดมหึมา ตัวอาคารมักเป็นรูปทรงที่เรียบง่ายเช่นสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ บ้างก็สร้างขึ้นเป็นเหมือนหอคอยที่ดูขึงขัง อาคารพักอาศัยในทำนองเดียวกันคือมักประกอบขึ้นด้วยห้องพักขนาด 2-3 ห้องนอน ในห้องพักมีห้องน้ำในตัวและระบบทำความร้อนจากส่วนกลางและลิฟต์ อาคารพักอาศัยในทำนองเดียวกันนี้ถูกสร้างขึ้นในพื้นที่ของโซเวียตโดยทั่วไปทั้งเยอรมันตะวันออก ฮังการี่ ไปจนถึงเมืองสำคัญๆ เช่น เคียฟ วอร์ซอว์และเซนต์ ปีสเตอร์เบิร์กที่ในตอนนั้นล้วนอยู่ในสหภาพโซเวียตอันใหญ่โต

ถือเป็นเรื่องน่าเศร้าที่อาคารขนาดใหญ่ที่กลายมาเป็นกลิ่นอายของเมืองโดยเฉพาะในเคียฟ และเมืองอื่นๆ ของยูเครนที่หลายส่วนสัมพันธ์กับความหวังและการก่อร่างสร้างตัวขึ้นใหม่จากสงครามโลก ปัจจุบันฉากของเมืองอันขึงขังแต่โรแมนติกและเป็นอีกหนึ่งดินแดนในฝันของใครหลายคนกำลังตกอยู่ในภาวะสงครามและกลายเป็นซากปรักหักพักอีกครั้ง

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

archdaily.com

archdaily.com

core.ac.uk

architecture-history.org

 

ภาพบางส่วนจาก หนังสือ Eastern Blocks สำนักพิมพ์ Zupagrafika

zupagrafika.com

Share :