CITY CRACKER

สระกลางแม่น้ำ โปรเจกต์ในฝันครั้งใหม่และการทวงคืนแม่น้ำเป็นพื้นที่สาธารณะ

เราอยู่ในช่วงเวลาที่การพัฒนาเมืองได้กลับไปทบทวนและปรับทิศทาง

เริ่มมองเห็นพื้นที่ริมน้ำหรือตัวแม่น้ำเป็นพื้นที่สำคัญของการฟื้นฟูที่ส่งผลต่อระบบนิเวศและบรรยากาศของเมือง รวมไปถึงเป็นพื้นที่ที่ผู้คนควรเข้าถึงได้ และเป็นพื้นที่สาธารณะอย่างหนึ่ง

ทว่าแม่น้ำเองมักเป็นพื้นที่ที่เสื่อมโทรมลงจากการพัฒนาที่มีถนนและรถยนต์ หลายครั้งพื้นที่ริมน้ำสัมพันธ์กับการเป็นพื้นที่ที่มีราคาสูง เข้าถึงไม่ได้ กรุงเทพฯเป็นหนึ่งในเมืองใหญ่ที่เต็มไปด้วยแม่น้ำและคูคลอง ซึ่งดูเหมือนว่าเราเองก็เจอปัญหาในทำนองเดียวกัน เช่น คุ้งเจ้าพระยาที่งดงามกลับเข้าถึงไม่ได้ ไม่มีพื้นที่และกิจกรรมที่เปิดให้เราสัมผัสและใช้เวลากับต้นทุนที่รุ่มรวยของเราได้

ในทิศทางการพัฒนาที่สำคัญและเป็นต้นแบบให้กับโลกจากเมืองสำคัญๆ การพัฒนาจำนวนมากมักเป็นการฟื้นฟูพื้นที่ริมน้ำจากการปรับปรุงอู่เรือเก่าเป็นสระว่ายน้ำและพื้นที่เล่นน้ำของชาวสแกนดิเนเวีย การพัฒนาคลองชองกเยชอนไปจนถึงกลุ่มสวนริมแม่น้ำฮันของโซล เรื่อยไปจนถึงการปรับโรงงาน โกดังและพื้นที่อู่ซ่อมเรือเก่าเป็นพื้นที่สาธารณะที่เกิดขึ้นทั้งในอังกฤษและจีน เหล่านี้ต่างก็เป็นการทวงคืนแม่น้ำลำคลองกลับสู่ความเป็นสาธารณะอีกครั้ง

ในบรรดาการพัฒนาที่เกี่ยวกับแม่น้ำ หลายเมืองนึกฝันและทำให้แม่น้ำกลับมาเป็นพื้นที่สาธารณะได้ หนึ่งในความฝันที่กำลังผลักดันอยู่มาจากเมืองนิวยอร์กกับโปรเจกต์ที่ชื่อว่า +Pool ซึ่งเป็นการสร้างสระว่ายน้ำพร้อมระบบกรอง เป็นสระว่ายน้ำที่ลอยอยู่กลางแม่น้ำอีสต์ริเวอร์ มีสะพานบรูกลินเป็นฉากหลัง ในการผลักดันและจินตนาการใหม่ของเมือง ซึ่งพื้นที่สาธารณะนี้อาจกลายเป็นอีกหนึ่งต้นแบบต่อจาก High Line ซึ่งกลุ่มผลักดันสระว่ายน้ำในแม่น้ำใช้ชื่อล้อกับกลุ่มเพื่อนไฮด์ไลน์ คือเป็นกลุ่มเพื่อนพลัสพูล( Friends of +Pool)

 

timeout.com

 

รู้จัก +Pool โปรเจกต์ที่เคยถูกมองว่าฝันเฟื่อง

ด้วยนิยามเจ้าโปรเจกต์พลัสพูล์ก็เป็นอีกหนึ่งความฝันใหม่ๆ ของเมืองจริงๆ ตัวโปรเจกต์คือการสร้างนวัตกรรมสระว่ายน้ำขึ้นมา โดยสระนั้นลอยอยู่ในแม่น้ำ ตัวมันเองจะมีระบบกรองที่สามารถกรองน้ำของแม่น้ำเข้ามาเป็นน้ำในสระ ตัวสระจะกรองน้ำประมาณ 500,000 แกลลอนต่อวัน และในทางกลับกัน น้ำในแม่น้ำรอบๆ สระประมาณ 250,000 แกลลอน ที่ถูกนำไปใช้ในสระก็จะทำให้น้ำในแม่น้ำสะอาดปลอดภัยขึ้นด้วย

ฟังดูเป็นจินตนาการแสนไกลที่ไม่น่าเป็นไปได้ แต่พลัสพูล์เป็นอีกหนึ่งความฝันที่มีผู้ร่วมฝันและผลักดันจนใกล้จะกลายเป็นจริง เจ้าพลัสพูล์เริ่มต้นต้นขึ้นมาในปี 2010 จากโปรเจกต์ระดมทุนใน Kickstarter ของสองบริษัทคือ Family New York และ PlayLab

การระดมทุนครั้งแรกมีคนร่วมฝันและลงขันเป็นจำนวนถึง 41,000 เหรียญ (ประมาณ 1 ล้าน 4 แสน บาทไทย) เงินก้อนถูกนำไปพัฒนาระบบกรองและทดลองกรองแม่น้ำอีสต์ริเวอร์

สิ่งที่น่าสนใจคือจากฝันและการระดมทุนบนแพลตฟอร์ม ในปี 2013 ทางโปรเจกต์ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย (Columbia University) ทำการลงทุนสร้างเพื่อทดลองสระต้นแบบขนาด 35 ตารางเมตรขึ้น ว่าแนวคิดสระพร้อมระบบกรองและบริบทแม่น้ำจะเป็นไปได้ไหม

nytimes.com

จากห้องทดลองสู่แม่น้ำ และโครงการของกรุงนิวยอร์ก

ในระยะเวลากว่า 30 ปี พลัสพูล์มีผู้สนใจ และมีบริษัทเข้ามาร่วมผลักดัน จนถึงการได้รับรางวัล หนึ่งในความเคลื่อนไหวสำคัญคือการที่บริษัทไฮเนเก้นเข้ามาเป็นพาร์ทเนอร์สนับสนุนอย่างเป็นทางการ หนึ่งในโปรเจกต์ร่วมที่เกี่ยวข้องคือการติดตั้งสระจำลองเป็นแท่งไฟ โดยแท่งไฟนั้นได้ความร่วมมือต่อเนื่องกับนักวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ไฟจะเปลี่ยนสีตามคุณภาพของน้ำ งานศิลปะนี้แสดงความร่วมมือสำคัญทั้งจากภาครัฐคือกองทุนสนับสนุนศิลปะ ไฮเนเก้นและบริษัท Howard Hughes Corporation รวมถึงความร่วมมือของภาคอุดมศึกษาด้วย

ความก้าวหน้าล่าสุด คือการที่เมืองนิวยอร์กเข้ามามีส่วนร่วม การรับรู้ของเมืองทำให้สระน้ำใหม่เป็นจริงตั้งแต่การอนุญาตให้สร้างโปรเจกต์บริเวณทางตอนเหนือของสะพานแมนฮัตตัน ซึ่งการได้ไฟเขียวถือเป็นการได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการและทางทีมก็เริ่มพัฒนาต่อ

ล่าสุดเมื่อวันที่ 5 มกราคมที่ผ่านมา ทางเมืองนิวยอร์กประกาศสนับสนุนและร่วมลงทุนเป็นจำนวน 16 ล้านเหรียญโดยถือเป็นส่วนหนึ่งของโปรเจกต์ NY SWIMS initiative ทำให้สระว่ายน้ำกลางน้ำมีไทม์ไลน์อย่างเป็นทางการ คือสระจะปรากฏโ​ฉมในฤดูร้อนของปี 2024 และถ้าการทดลองระบบเสร็จเรียบร้อย สระก็จะเปิดใช้ได้ในปี 2025

Emma Howells/The New York Times

บริบทของแม่น้ำ และความสำคัญของสระว่ายน้ำ

ความเคลื่อนไหวและการลงทุนของนิวยอร์กต่อทั้งกรณี +Pool รวมถึงโปรเจกต์ NY SWIMS initiative มีความน่าสนใจหลายด้าน อย่างแรกนิวยอร์กเป็นเมืองที่มีพื้นที่ริมน้ำและพื้นที่แม่น้ำ นิวยอร์กมีพื้นที่ริมน้ำยาวรวมถึง 520 ไมล์ ลักษณะของพื้นที่ริมน้ำมีความหลากหลายและจำนวนมากเป็นพื้นที่สาธารณะ ความหลากหลายของพื้นที่สาธารณะริมน้ำไม่ว่าจะเป็นหาด ทางเดิน ทางเดินป่า สนามหญ้า ท่าเรือ พื้นที่เล่นกีฬา พื้นที่ที่หลากหลายนี้ทำให้เมืองและผู้คนมีกิจกรรมที่หลากหลายขึ้น

ประเด็นเรื่องการฟื้นฟูแม่น้ำและคุณภาพน้ำ แม่น้ำของนิวยอร์กเองในระยะสามสิบปีที่ผ่านมาก็มีฟื้นฟูขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เช่น แบคทีเรียกลุ่มที่เกี่ยวกับการติดเชื้อหรือมาจากของเสีย เช่น โคลิฟอม (coliform)และ เอนเทอโรคอคคัส (Enterococcus) มีจำนวนลดลงจากการควบคุมการทิ้งของเสียและปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำ

ประเด็นที่น่าสนใจคือการเข้ามามีส่วนร่วมในการลงทุนของเมืองนิวยอร์ก และโปรเจกต์ NY SWIMS initiative โปรเจกต์ว่ายน้ำของเมืองทางผู้ว่า Kathy Hochul ประกาศลงทุนในสาธารณูปโภคและการจ้างงานที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมการว่ายน้ำ เช่น ไลฟ์การ์ด เมืองนิวยอร์กล้อมรอบด้วยน้ำ การเสริมสร้างทักษะเกี่ยวกับการว่ายน้ำ การมีสระว่ายน้ำเพิ่มขึ้นจะช่วยลดอัตราการสูญเสียจากการจมน้ำลงได้

Kathy Hochul (Don Pollard/Office of Governor Hochul)

การลงทุนของเมืองจะเป็นการเพิ่มจำนวนสระว่ายน้ำให้กับเมืองโดยเฉพาะในพื้นที่ชุมชนที่ด้อยโอกาส ความน่าสนใจของการร่วมทุนในสระว่ายน้ำลอยน้ำคือสระว่ายน้ำลอยน้ำแบบ +Pool เป็นสระว่ายน้ำที่เคลื่อนย้ายได้ มีความยืดหยุ่น และเป็นนวัตกรรมที่อาจนำไปสนับสนุนโอกาสและป้องกันการสูญเสียจากการจมน้ำได้ในอนาคต

การมาถึงของสระน้ำของเมือง สระน้ำชั่วคราว การมองเห็นเรื่องทักษะและสันทนาการจากการว่ายน้ำและทักษะการว่ายน้ำในฐานะพื้นฐานจึงสัมพันธ์กับหลายบริบททั้งบริบทเมืองที่สัมพันธ์กับแม่น้ำและความปลอดภัย รวมไปถึงการปรับตัวของเมืองที่เริ่มได้รับผลกระทบจากคลื่นความร้อนและการเปลี่ยนแปลงเชิงภูมิอากาศ ไปจนถึงการเพิ่มสันทนาการ การทวงคืนน้ำและพื้นที่แม่น้ำเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของผู้คน

สำหรับประเทศไทยโดยเฉพาะกรุงเทพฯ เรามีแม่น้ำเป็นหัวใจของเมือง มีพื้นที่ริมน้ำ เช่น คุ้งน้ำพร้อมพระปรางค์ที่น่าตะลึง การเปิดพื้นที่ริมน้ำ การทบทวนเรื่องสาธารณูปโภค พื้นที่สาธารณะริมแม่น้ำ ไปจนถึงนวัตกรรมที่เกี่ยวกับแม่น้ำที่จะช่วยทั้งฟื้นฟู เปิดมุมมองและกิจกรรมบนแม่น้ำ การสนับสนุนและการทำงานร่วมกัน ไปจนถึงการขยายความฝันของเมืองจึงอาจเป็นอีกหนึ่งจุดเริ่มของมิติเมืองในมุมใหม่ๆ ซึ่งกรุงเทพฯ เองในงานเทศกาลออกแบบก็เคยมีทั้งสวนที่ล่องลอยอยู่กลางแม่น้ำเจ้าพระยา สวนริมน้ำที่ทดลองผลิตไฟฟ้าและร่วมกักกรองน้ำจากทางฉมา หนึ่งในภูมิสถาปนิกที่สนใจและใช้นวัตกรรมร่วมทวงคืนแม่น้ำกลับสู่ผู้คน

โปรเจกต์เช่น +Pool เป็นอีกหนึ่งความฝัน เป็นความฝันที่ดูเป็นไปไม่ได้ แต่เจ้าสระว่ายน้ำกลางน้ำ สระที่เป็นพื้นที่ที่ทำให้ชาวนิวยอร์กได้ลงว่ายกลางน้ำในแม่น้ำ โปรเจกต์ที่จะร่วมกรองน้ำให้แม่น้ำราวล้านแกลลอนต่อวัน

ในปีนี้เราเองได้เห็นและปีหน้า ผู้คนอาจได้ลงว่ายจริง หลังจากจุดเริ่มต้นของฝันเฟื่องเมื่อสามทศวรรษก่อน

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

storymaps.arcgis.com

apnews.com

timeout.com

designboom.com

cntraveler.com

cbsnews.com

 

Share :