CITY CRACKER

กรุงเทพฯ เมืองจักรยาน ? ผังและแผนพัฒนาทางจักรยานของปารีส ที่ทำให้ผู้คนใช้และสร้างวัฒนธรรมการปั่นได้จริง

นึกภาพการออกจากบ้าน ถ้าเราแค่ไปห้างใกล้ๆ ไปทำงานหรือไปโรงเรียนในย่านระยะไม่กี่กิโลเมตร​ได้ด้วยการปั่นจักรยานไป ชีวิตก็คงจะง่ายขึ้น​ รถอาจจะติดน้อยลง ประหยัดค่าน้ำมันและรายจ่ายอื่นๆ ได้​ แถมได้ลดน้ำหนักเป็นของแถม​ ในบางเมืองต่อให้จะไปใกลหน่อยก็เอาจักรยานไปจอดไว้ใกล้ๆ สถานีแล้วเดินทางไปไหนต่อไหนได้ต่อได้อย่างสบายใจ

แต่การขี่จักรยานในกรุงเทพฯ​ คงเป็นเรื่องที่แสนจะเกินนึกฝัน​ การจะใช้จักรยานจึงหยุดอยู่แค่เป็นกิจกรรมสันทนาการมากกว่าจะเป็นอีกพาหนะสำคัญในชีวิตประจำวัน ในเมืองสำคัญ​ทั่วโลก​ดูจะมีทิศทางที่ตรงกันข้ามกัน คือด้วยกระแสการลดมลพิษ การพัฒนาที่ลดควมสำคัญของรถยนต์ ไปจนถึงประเด็นสุขภาพกายใจของผู้คน​ สิ่งที่หลายเมืองทำคือการคืนผิวถนนไปสู่การเดินและการขับขี่ จักรยานกลายเป็นการคมนาคมหลักในละแวกบ้าน หรือจะไกลหน่อยก็พอปั่นได้ไม่มีปัญหา หลายเมืองเริ่มสร้างจุดจอดจักรยานที่ทันสมัยไว้ที่สถานีสำคัญของระบบขนส่งสาธารณะ ให้จักรยานเป็นเหมือนตัวเชื่อมหลักจากบ้านสู่ระบบหลักของเมือง พร้อมกันนั้นเมืองก็ได้ทำการส่งเสริมให้เกิดวัฒนธรรมจักรยานในหลายรูปแบบ

ภาพโครงข่ายข้างต้นเป็นแผนการพัฒนาโครงข่ายทางจักรยานของกรุงปารีส หนึ่งในเมืองดาวรุ่งด้านการพัฒนาเมืองที่ปารีสก็มีจักรยานเป็นหนึ่งในกลยุทธ์หลักในการปรับปรุงเมืองไปสู่เมืองสีเขียว และเมือง 15​ นาที​ เมื่อปลายปีที่แล้ว (2021​) ปารีสได้ประกาศว่า ตัวเองจะเป็นหนึ่งในเมืองที่เป็นมิตรกับจักรยานที่สุดแห่งหนึ่งของโลกและประกาศแผนการลงทุน​มูลค่า 250 ล้านยูโรเพื่อให้กรุงปารีสเป็นเมืองที่ปั่นจักรยานได้ 100%

ในแผนการพัฒนาระยะ 5​ นับจากปัจจุบันก็คือการที่เมืองจะมอบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่อำนวยความสะดวกและความปลอดภัยให้กับการขับจักรยาน การพัฒนาสำคัญคือการวางโครงข่ายทางจักรยานให้ครอบคลุมทั้งปารีส โดยเพิ่มระยะทางจักรยานอีก 180 กิโลเมตร เพิ่มจุดจอดจักรยานขึ้นสามเท่าจาก 60,000 จุด เป็น 180,000 จุด และเมืองก็จะลงทุนสาธารณูปโภคบริเวณจุดเชื่อมต่อต่างๆ เช่น จุดเชื่อมต่อระหว่างกลางเมือง และชานเมือง เพื่อเชื่อมต่อการขับจักรยานเข้ากับระบบรถไฟฟ้าใต้ดิน

ภาพโครงข่ายทางจักรยานจึงเป็นอีกหนึ่งการสร้างความเป็นไปได้ที่เอื้อให้ผู้คนมองเห็นการใช้การเดินทางทางเลือกให้กลายเป็นการเดินทางหลักได้ ภาพของโครงข่ายจักรยานที่ครอบคลุมและเชื่อมต่อกันถือเป็นหัวใจสำคัญหนึ่งของการส่งเสริมการใช้จักรยาน ครั้งหนึ่งกรุงอัมสเตอร์ดัม ในช่วงที่เริ่มลงทุนเพื่อส่งเสริมจักรยานในเมือง เมืองเองก็พบว่าการลงทุนปรับปรุงทางจักรยานให้ดีเยี่ยมแค่ไหน แต่ถ้าดีแค่เพียงถนนบางเส้นก็ไม่ทำให้ผู้คนออกมาใช้จักรยานกันมากขึ้น

แผนพัฒนาที่ฟังดูทะเยอทะยานของปารีส ด้านหนึ่งก็นับว่าเป็นแผนพัฒนาต่อเนื่องได้โดยที่ปารีสเองมีความพยายามในการส่งเสริมจักรยาน และพัฒนาสาธารณูปโภคมาตั้งแต่ปี 2015​ มีการตัดทางจักรยานเป็นทางหลักข้ามปารีสจากเหนือลงใต้และตะวันออกไปตะวันตกล้อกับถนนหลักของเมือง​ ทั้งยังมีการสร้างจุดจอดและอาคารจอดที่ทันสมัย รวมถึงมีการส่งเสริมในมิติทางวัฒนธรรมและความร่วมมือ เช่น การสนับสนุนค่าซ่อมจักรยานจากรัฐ 50 ยูโร (สิ้นสุดโครงการไปแล้ว)​ ไปจนถึงการปิดช็องเซลีเซในหนึ่งวันอาทิตย์ในหนึ่งเดือน เป็นวันที่จัตุรัสที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลกจะไร้รถยนต์ และมีจักรยานขับเต็มถนนแทน​

การขับจักรยานถือความสนุกอย่างหนึ่งที่เราเองก็ชื่นชอบ ในระดับเมือง​ จักรยานกลายเป็นทางเลือกหลักของการเดินทางที่เมืองสนับสนุน​ สำหรับกรุงเทพฯ เอง ถ้าจักรยานจะกลายเป็นพาหนะหลัก เป็นกิจกรรมยามว่าง กรุงเทพฯ กลายเป็นเมืองที่ร่มรื่น มีการพัฒนาที่ให้ความสำคัญกับรถยนต์น้อยลง คืนผิวถนนให้คนเดินและพาหนะที่ดีกับผู้คน​ มีจุดจอด มีการส่งเสริมในหลายๆ ด้าน​ ก็อาจจะทำให้กรุงเทพฯ มีโฉมและมีสุขภาวะของผู้คนที่แตกต่างออกไป

อ้างอิงข้อมูลจาก

bloomberg.com

archdaily.com

francetoday.com

Graphic Design by Warunya Rujeewong
Share :