CITY CRACKER

Osaka Expo 2025 ตำนานใหม่ของญี่ปุ่นบนเกาะเทียมกลางแม่น้ำ

เวลาเราพูดถึงงานเอ็กซ์โป งานแสดงนวัตกรรมและอุตสาหกรรมของมนุษยชาติ

หนึ่งในงานครั้งสำคัญของเอเชียคืองานเอ็กซ์โปที่เมืองโอซาก้า จัดขึ้นในปี 1970 เป็นสุดยอดมหกรรมที่เปิดให้เอเชียเข้าสู่โลกอุตสาหกรรม เข้าสู่การเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมทางเศรษฐกิจโลกอย่างเป็นรูปธรรม เรามักนึกถึงรูปปั้นหน้าตาประหลาดขนาดใหญ่ การปรับปรุงระบบขนส่งมวลชน ไปจนถึงป้ายรถเมล์รูปผลไม้ งานเอ็กซ์โปเป็นงานที่ส่งผลต่อมุมมองของผู้คน กลายเป็นการ์ตูนเรื่อง 20th Century Boy อันโด่งดัง

งานเอ็กซ์โปที่โอซาก้านับเป็นงานครั้งแรกที่จัดที่ญี่ปุ่น ล่าสุดโอซาก้ากำลังจะมีงานเอ็กซ์โปอีกครั้งในปี 2025 นับเป็นอีกหนึ่งความน่าตื่นเต้นที่งานเอ็กซ์โปอันเป็นตัวแทนของการใช้ชีวิตในปัจจุบันและเป็นการมองไปยังอนาคต โดยงานเอ็กซ์โปจะเป็นงานที่ชาติต่างๆ เข้าร่วมจัดแสดงตัวตนในรูปแบบพาวิเลียนชั่วคราว ถือเป็นงานสำคัญในระดับนานาชาติ เป็นพื้นที่ที่นำไปสู่การร่วมมือของภาคส่วนต่างๆ ในระดับโลก เป็นที่ๆ เราจะไปบอกคนอื่นว่าเราเป็นใคร สำหรับงานที่จะถึงมีหัวข้อหลักคือการร่วมออกแบบสังคมในอนาคตเพื่อชีวิตของพวกเรา (Designing Future Society for Our Lives)

แม้ว่างานโอซาก้าเอ็กซ์โปยังไม่จัด แต่ด้วยความที่เป็นงานใหญ่ ล่าสุดทางงานก็เริ่มมีการวางรูปแบบและหน้าตาของพื้นที่จัดงาน รวมถึงชาติต่างๆ ก็เริ่มตอบรับและส่งภาพนำเสนอพาวิเลียนของตัวเองและเผยแพร่ในสื่อต่อสาธารณชนบ้างแล้ว งานเอ็กซ์โปครั้งนี้น่าจะเป็นอีกงานที่ทั่วโลกจับตา ซึ่งตัวงานจะจัดบนเกาะเทียมที่สร้างขึ้นจากการถมทะเลและได้ฉายาเป็นเกาะแห่งความฝัน งานนี้ออกแบบโดย Sou Fujimoto ที่วางให้มาสเตอร์แพลนเป็นการออกแบบโครงสร้างไม้ขนาดใหญ่พร้อมด้วยหลังคาสีเขียวที่ได้รับแรงบันดาลใจจากงานช่างไม้ประเพณีอย่างที่เราได้เห็นกันในวัดสำคัญ เช่น วัดคิโยมิซุของกรุงเกียวโต และนี่คือวงแหวนไม้ขนาดใหญ่ของโอซาก้าเอ็กซ์โป และพาวิเลียนของบางประเทศที่เริ่มเปิดเผยมาบ้างแล้ว

 

Sou Fujimoto’s Masterplan

ความน่าตื่นเต้นแรกของงานโอซาก้าเอ็กซ์โปคืองานจะจัดบนเกาะที่มีชื่อว่าเกาะยูเมะชิมะ (Yumeshima) เป็นเกาะเทียมที่เกิดจากการถมพื้นที่ให้กลายเป็นเกาะบริเวณปากแม่น้ำโยโดะในเมืองโอซาก้า เกาะแห่งนี้เริ่มสร้างตั้งแต่ปี 1977 นอกจากกำลังจะได้เปิดความยิ่งใหญ่ของเกาะจำลองอันเป็นหนึ่งในนวัตกรรมและงานถนัดซึ่งคล้ายกับสนามบินคันไซที่เกิดจากการถมทะเลเหมือนกันแล้ว ในอนาคตเกาะแห่งนี้จะเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ทางธุรกิจและกิจกรรมที่สำคัญ สำหรับการรับการจัดงานทางเกาะก็เตรียมที่จะเชื่อมต่อเข้ากับโครงข่ายขนส่งสาธารณะระบบรางของเมือง

ความยิ่งใหญ่และน่าจับตาอีกประการคือผังหลักของงานเป็นผลงานออกแบบของ Sou Fujimoto สถาปนิกญี่ปุ่นที่ขึ้นชื่อเรื่องความร่วมสมัยแต่ก็เชื่อมต่อเข้ากับความเป็นธรรมชาติทั้งรูปทรง การออกแบบฟังก์ชั่นที่เชื่อมต่อกับธรรมชาติ ไปจนถึงการใช้วัสดุ ผังหลักหรือมาสเตอร์แพลนที่เปิดเผยออกมา โอซาก้าเอ็กซ์โปจะสร้างวงแหวนโครงสร้างไม้ขนาดมหึมาล้อมรอบพื้นที่จัดงานทั้งหมดไว้ ตัววงแหวนจะทำหน้าที่ทั้งให้ร่มเงาและพื้นที่ในร่มกับพื้นที่จัดงาน ทั้งนี้พื้นที่หลังคาของวงแหวนยังถูกเปิดเป็นพื้นที่สาธารณะและพื้นที่สีเขียว เป็นพื้นที่ที่ใช้หย่อนใจและเชื่อมต่อกับธรรมชาติ เป็นทุ่งดอกไม้และพื้นที่สันทนาการอื่นๆ เป็นพื้นที่ธรรมชาติทั้งตัวหลังคาเองและเป็นพื้นที่ที่เชื่อมต่อภูมิทัศน์คือทะเลอันเป็นหัวใจสำคัญหนึ่งของเมืองโอซาก้า ทั้งนี้โครงสร้างไม้ที่ใช้จะเป็นรูปแบบจากงานไม้ดั้งเดิมอย่างที่ปรากฏในพื้นที่วัดและศาลเจ้า เช่น วัดสำคัญของกรุงเกียวโตคือวัดน้ำใสหรือวัดคิโยมึสึ

 

The Czech Republic Pavilion

พาวิเลียนของสาธารณรัฐเช็กเป็นหนึ่งในพาวิเลียนที่เปิดตัวและเป็นที่จับตา ตัวอาคารเป็นการตีความอุปมาของชีวิตผ่านสถาปัตยกรรม ชื่อของอาคารเรียกว่า Sculpting Vitality เป็นอาคารที่เหมือนประติมากรรมโปร่งแสงทรงก้นหอย ยืนหยัดอยู่บนพื้นที่ชายฝั่งของเมือง แนวคิดหลักของพาวิเลียนคือการเล่นกับความมีชีวิตชีวาและการเคลื่อนไหวไปด้านบน บันไดทรงก้นหลอนจะวนรอบพื้นที่หลัก เป็นตัวแทนของเส้นทางการเติบโตของชีวิต ลักษณะพิเศษของอาคารคือวัสดุโปร่งแสงที่ทำให้เรามองเห็นความเคลื่อนไหวของผู้คนที่กำลังเดินขึ้นไปตามบันได โดยความโปร่งแสงนี้ทำจากแก้ว เป็นตัวแทนหนึ่งของประวัติศาสตร์งานช่างแก้วของประเทศเจ้าของพาวิเลียนเอง

 

Netherlands Pavilion

จากภาพที่ปล่อยออกมา พาวิเลียนของเนเธอแลนด์น่าจะเป็นอีกหนึ่งพาวินเลียนที่สร้างความตะลึงงันให้กับผู้มาเยี่ยมชมได้อย่างแน่นอน สำหรับพาวินเลียนที่ดูเหมือนดวงจันทร์ที่ลอยอยู่กลางน้ำนี้ ทางเนเธอแลนด์เสนอคอนเซปเป็นพื้นที่ร่วมกัน เป็นพื้นที่เพื่อสร้างรุ่งอรุณใหม่ด้วยกัน (Common Ground: creating a new dawn together) ภายในภาพพาวินเลียนที่งดงาม เนเธอร์แลนด์กำลังเสนอนวัตกรรมแห่งอนาคตคือการใช้พลังงานน้ำในฐานะแกนของพลังงานใหม่แห่งอนาคต ส่วนทรงกลมที่ดูเหมือนดวงจันทร์คือดวงอาทิตย์ที่กำลังพาเราก้าวไปสู่รุ่งอรุณใหม่ที่ยั่งยืนด้วยกัน

 

Italy Pavilion

สำหรับอิตาลี จากภาพในปีนี้น่าจะเป็นอีกหนึ่งการผสมผสานที่น่าสนใจ พาวิเลียนของอิตาลีจะเป็นการตีความเมืองในอุดมคติขึ้นใหม่ในชื่อว่า La Città Ideale สิ่งที่น่าสนใจนอกจากการผสมผสานสถาปัตยกรรมจากยุคเรเนซองส์ที่สัมพันธ์กับแกนความคิดเรื่องเมืองในอุดมคติแล้ว หน้าตาของพาวิเลียนยังผสมผสานหลักคิดสำคัญคือการสร้างพื้นที่ทางสังคมที่มีแกนของสังคมสมัยใหม่ในการร่วมมือกัน การรับรวมและการพบปะในพื้นที่พื้นที่จริง ความงอกงามที่เกิดจากความสัมพันธ์และปฏิสัมพันธ์ของผู้คน ตัวพาวิเลียนจะสะท้อนองค์ประกอบดั้งเดิมของวัฒนธรรมอิตาเลียนคือ จัตุรัส (piazza) โรงละคร (teatro) และสวน (giardino)

 

The China Pavilion

ทุกปี พาวิเลียนของจีนจะมีทั้งความยิ่งใหญ่และการตีความมรดกวัฒนธรรมออกมาในเชิงสถาปัตยกรรมและการประยุกต์ปรัชญาของตนเข้าสู่บริบทหรือโจทย์ร่วมสมัย พาวิเลียนสำหรับโอซาก้าในปี 2025 จีนได้เลือกนำแรงบันดาลใจม้วนหนังสือไม้ไผ่โบราณ ตัวอาคารจะเล่นกับการม้วนของหนังสือและตัวอักษรจีน งานออกแบบนี้เป็นตัวแทนของการผสมผสานกันระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ การผสมผสานกันนี้สัมพันธ์กับคำมั่นของจีนในการพัฒนาโดยมีความยั่งยืนเป็นหัวใจสำคัญต่อไป

 

Signature Pavilion

นอกจากพาวิเลียนประจำชาติแล้ว ทางโอซาก้ายังมีการอนุมัติให้มีพาวิเลียนพิเศษที่เรียกว่า Signature Pavilion เป็นเหมือนพื้นที่ประสบการณ์ที่จะมีทีมออกแบบเฉพาะอีก 6 พาวิเลียน เป็นการใช้พื้นที่ในเชิงประสบการณ์เพื่อตอบกับโจทย์หลักเรื่องการออกแบบการใช้ชีวิตหรือกระทั่งการตีความการใช้ชีวิตและชีวิตขึ้นใหม่ ภาพรวมจะเป็นการสำรวจและท้าทายประสบการณ์ในความหมายของชีวิตที่สัมพันธ์ทั้งกับพื้นที่กายภาพและโลกเสมือน ตัวพาวิเลียนจะมีทั้งหมด 8 พาวิเลียนกระจายตัวอยู่รอบๆ พื้นที่เอ็กซ์โป โดยพาวินเลียน มีศิลปิน นักออกแบบมาร่วมออกแบบในพื้นที่ต่างๆ เช่น Playground of Life – Jellyfish Pavilion  พาวิเลียนที่ว่าด้วยการเล่นและการเรียนรู้โดย Sachiko Nakajima นักออกแบบหนังสือและนักคิดศาสตร์ หรือตัวอาคารที่แปลกประหลาดในชื่อ null² โดย Yoichi Ochiai นักวิชาการและศิลปินดิจิตัล

 

 

อ้างอิงข้อมูลจาก 

bie-paris.org

designboom.com

archdaily.com

expo2025.or.jp

 

Share :