CITY CRACKER

หัวลำโพงเตรียมย้าย ย้อนดู Musée d’Orsay สถานีเก่ากลางปารีส สู่มิวเซียมชั้นนำของโลกศิลปะ

หัวลำโพงยังคงเป็นประเด็นการพัฒนาที่น่าจับตา ตัวสถานีหัวลำโพงเองมีประวัติศาสตร์ การเป็นส่วนหนึ่งของโครงข่ายการเดินทาง เป็นพื้นที่สำคัญของกรุงเทพฯ ที่ต้อนรับการเดินทางของผู้คนมาอย่างยาวนานรวมถึงคุณค่าทางสถาปัตยกรรมของตัวสถานีเอง

แต่ด้วยเงื่อนไขและกาลเวลา หัวลำโพงในฐานะสถานีหลักของกรุงเทพกำลังก้าวเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ซึ่งการพัฒนานั้นยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูลโดยก่อนหน้านี้ก็มีข้อเสนอและการศึกษาเพื่อให้หัวลำโพงเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต

ล่าสุด การค่อยๆ โอนถ่ายความสำคัญและการให้บริการของหัวลำโพงก็กำลังถูกถ่ายโอนไปสู่สถานีกลางบางซื่อหรือสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ โดยการรถไฟระบุว่าหลังเทศกาลปีใหม่ปี 2566 รถไฟทางไกลทั้ง 66 สาย จะยุติการการให้บริการสถานีปลายทางหัวลำโพง (สถานีกรุงเทพ) ไปสิ้นสุดสายที่บางซื่อแทน ตรงนี้เองเป็นการปรับเปลี่ยนการให้บริการและยกระดับให้สถานีกลางบางซื่อเป็นศูนย์กลางการขนส่งระบบรางตามแผน ในการปรับเปลี่ยนระยะแรกนี้ ทางการรถไฟยังคงมีการเดินรถที่ใช้สถานีรถไฟหัวลำโพงเป็นสถานีต้นทางและปลายทางอยู่ เช่น ขบวนรถชานเมือง ขบวนรถไฟธรรมดาและขบวนรถไฟนำเที่ยว

ในโอกาสที่สถานีหัวลำโพงค่อยๆ ก้าวเข้าสู่ศักราชใหม่และภาพของหัวลำโพงที่กำลังจะถูกพัฒนาต่อไปยังไม่ชัดเจน City Cracker จึงชวนย้อนดูการพัฒนาสถานีรถไฟเก่าที่ปัจจุบันมีชื่อว่า Musée d’Orsay สถานีรถไฟใจกลางปารีสริมแม่น้ำแซน ที่ตัวสถานีเก่าแห่งนี้อยู่คู่กับประวัติศาสตร์กรุงปารีสมาอย่างยาวนาน ตัวสถานีเองเคยมีความสำคัญและค่อยๆ ลดความสำคัญลงในฐานะสถานีรถไฟ แต่ทว่าด้วยสถาปัตยกรรมและความสำคัญของอาคารนั้น ทำให้สถานีรถไฟเก่าแห่งนี้ถูกปรับเปลี่ยนการใช้งานจากยุคที่ตัวมันเองเป็นสถานีรับส่งผู้คนเข้ากลางปารีส สู่ยุคสงคราม และสุดท้ายได้รับการอนุรักษ์จนกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะที่สำคัญที่สุดอีกแห่งของปารีส เป็นพื้นที่จัดแสดงงานอิมเพรสชั่นนิสม์ที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก จากสถาปัตยกรรมของศตวรรษที่ 19 สู่พื้นที่ที่เชี่ยวชาญศิลปะของศตวรรษที่ 19 ในปัจจุบัน

mymodernmet.com

 

Musée d’Orsay ความภูมิใจของศตวรรษที่ 19

พิพิธภัณฑ์ศิลปะ Musée d’Orsay เป็นอีกหนึ่งการรักษาอาคารและใช้ประโยชน์จากประวัติศาสตร์ของพื้นที่สถานีรถไฟเก่าได้อย่างน่าสนใจ อย่างแรกที่สุด ปัจจุบันมิวเซียมแห่งนี้เป็นพิพิธภัณฑ์ที่ได้รับการปรับปรุงเพื่อให้เป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะของศตวรรษที่ 19 โดยตัวอาคารเองก็เป็นผลผลิตของสถาปัตยกรรมและประวัติศาสตร์ชั้นเยี่ยมของปารีสในศตวรรษที่ 19

ก่อนอื่นขอชวนทำความรู้จักอดีตของพิพิธภัณฑ์ศิลปะสำคัญของปารีสก่อน Musée d’Orsay แต่เดิมถูกสร้างขึ้นเป็นสถานีรถไฟในชื่อ Gare d’Orsay ตั้งอยู่บริเวณทางซ้ายของแม่น้ำแซน โดยตัวสถานีตั้งประจันหน้ากับลูฟวร์และพระราชวังตุยเลอรี (Tuileries Palace) ในอดีตตัวสถานีแห่งนี้นับเป็นสถานีศูนย์กลางของโครงข่ายรถไฟฝรั่งเศสฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ นับเป็นหนึ่งในความภูมิใจของยุคสมัยใหม่ ตัวอาคารสร้างเสร็จในปี 1900 เป็นความยิ่งใหญ่สู่ศตวรรษที่ 20 โดยสถานีห่งนี้มีสถาปัตยกรรมที่ยิ่งใหญ่สวยงาม โถงหลักของสถานีเป็นซุ้มโค้งที่ใช้วัสดุกระจกคลุมเป็นหลังคา ตัวอาคารจึงมีความโปร่งโล่งและบางเบาอันสะท้อนถึงเทคโนโลยีทั้งวัสดุและเทคนิกการสร้างอาคารในยุคนั้น ด้วยโครงสร้างเหล็กกล้าและกระจกใส

สถานีหลักแห่งนี้นับเป็นชัยชนะของยุคสมัยในหลายระดับ เช่น สถานีแห่งนี้เป็นสถานีแรกของโลกที่ติดตั้งระบบไฟฟ้า และตัวรถไฟที่เข้าจอดเทียบในสถานีก็เป็นขบวนรถรุ่นใหม่ที่ใช้ไฟฟ้าด้วย ดังนั้นตัวสถานีจึงสามารถคลุมอาคารทั้งหมดได้เพราะไม่มีควันและไอน้ำ สถานีแห่งนี้จึงมีความโปร่งโล่งด้วยโครงสร้างเหล็ก มีแสงส่องสว่างจากกระจกใสที่ถูกกรุเป็นหลังคาทรงโค้ง

ระบบไฟฟ้าและโครงสร้างทรงโค้งที่บางเบา รวมถึงการมาถึงของรถไฟในฐานะพื้นที่สาธารณะและการเดินทางรูปแบบใหม่นับเป็นนวัตกรรมแห่งยุคสมัยที่กำลังเข้ามาเปลี่ยนภูมิทัศน์และวิถีชีวิตของผู้คน แต่สถาปัตยกรรมของสถานีแห่งนี้ก็ยังมีความน่าสนใจ คือแม้ว่าตัวอาคารจะเป็นตัวแทนของอนาคต แต่สถาปัตยกรรมหลักโดยเฉพาะภายนอกอาคารนั้นก็มีการใช้หินและคลุมอาคารด้วยสถาปัตยกรรมแบบ  Beaux Arts คือมีการใช้เสาและซุ้มโค้งแบบกรีกที่ได้รับอิทธิพลจากยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยา ซึ่งการออกแบบภายนอกอาคารด้วยสถาปัตยกรรมคลาสสิกนี้ก็เพื่อให้สอดคล้องกับกลุ่มอาคารกลางเมืองรอบๆ ดังนั้นตึกแห่งนี้จึงมีความย้อนแย้งคือเมื่อมองจากด้านนอกก็จะเป็นอาคารโอ่อ่าแบบคลาสสิก แต่ภายในกลับซ่อนเอานวัตกรรมล้ำยุคของศตวรรษต่อไปเอาไว้ มีระบบรางรถที่ใช้ไฟฟ้า ลิฟต์และสายพานขนกระเป๋า

นอกจากนี้ อาคารสถานีอันสวยงามล้ำสมัยนี้ยังมีหลายส่วนที่เป็นต้นแบบให้กับสถานีในยุคหลังรวมถึงหัวลำโพงด้วย คือภายในสถานีจะมีการสร้างโรงแรมหรูไว้ให้บริการด้วย

mymodernmet.com

 

สถานีที่ตกยุค จากยุคสมัยที่เปลี่ยนอย่างรวดเร็ว

ระบบรถไฟของยุโรปนับว่ามีความเปลี่ยนแปลงเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว รวมถึงประวัติศาสตร์ปารีสที่เป็นฉากหลังเองก็เช่นกัน แน่นอนว่าสถานี Gare d’Orsay หลังจากเปิดให้บริการในปี 1900 สถานีแห่งนี้ก็ถูกใช้เป็นสถานีหลักของโครงข่ายรถไฟฝรั่งเศสมาเป็นเวลา 39 ปี ในปี 1939 สถานีรถไฟสำคัญนี้มีชานชลาที่สั้นเกินไปทำให้ใช้เทียบรถไฟสายหลักไม่ได้ต่อไป แต่ในช่วงปี 1939 สถานีแห่งนี้จึงถูกใช้เป็นสถานีของรถไฟชานเมืองและเป็นศูนย์การไปรษณีย์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

หลังจากตัวสถานีไม่ได้ถูกใช้งานตามจุดประสงค์เดิม ก็มีข้อเสนอหลายประการ เช่น ทศวรรษ 1970 มีการขุดเส้นทางรถไฟใต้ดินและสร้างสถานีใต้ตัวสถานีรถไฟเดิม ก็มีข้อเสนอว่าให้รื้อสถานีเก่าทิ้งและสร้างเป็นคอมเพล็กซ์และโรงแรม ก่อนที่ข้อเสนอนี้จะถูกยกเลิกไปโดยมีความคิดเรื่องการอนุรักษ์ จนในปี 1978 สถานีสำคัญแห่งนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นอาคารประวัติศาสตร์ (Monument Historique) อย่างเป็นทางการ

ในห้วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลง อาคารสถานีที่สวยงามและเคยเป็นศูนย์กลางการเดินทางก็ผ่านช่วงเวลาและการใช้งานที่หลากหลายมาอย่างโชกโชน เป็นพื้นที่กระจายพัสดุและใช้เป็นที่ส่งตัวนักโทษในสงคราม เป็นพื้นที่ถ่ายทำภาพยนตร์ และเคยถูกเสนอให้เป็นพื้นที่สำนักงานของสายการบินแอร์ฟรานซ์จนมาสู่แผนรื้อทำโรงแรมก่อนจะมีข้อโต้แย้งและกลายเป็นอาคารมรดกของชาติในท้ายที่สุด

musee-orsay.fr/en/collections

 

การรีโนเวตครั้งใหญ่สู่พื้นที่ทางวัฒนธรรม

ข้อเสนอเรื่องการเปลี่ยนอาคารสถานีเก่าไปสู่พิพิธภัณฑ์เป็นข้อเสนอจากสำนักพิพิธภัณฑ์แห่งฝรั่งเศส โดยมองว่าการปรับสถานีเป็นพิพิธภัณฑ์นั้นจะเป็นการเติมช่องว่างทางยุคสมัย เป็นสะพานที่เชื่อมทั้งในพื้นที่เชิงกายภาพและในเชิงความหมาย คือเชื่อมต่อระหว่างลูฟวร์ กับพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ (National Museum of Modern Art) ที่ปงปีดู (Georges Pompidou Centre) ดังนั้นพิพิธภัณฑ์แห่งนี้จึงถูกวางและรีโนเวตเพื่อเป็นพื้นที่จัดแสดงสำคัญของยุคศตวรรษที่ 19 โดยที่ตัวอาคารเองก็เป็นหมุดหมายสำคัญของยุคสมัยเดียวกันนั่นเอง

การรีโนเวตสู่อาคารจัดแสดงและพื้นที่ทางวัฒนธรรมใหม่นับเป็นอีกงานใหญ่ของปารีสในยุคนั้น มีการประกวดแบบซึ่งการปรับปรุงครั้งแรกในปี 1978 มีทีมสถาปนิกหนุ่มสามคนที่มาในนาม ACT Architecture ในการปรับปรุงใหญ่ครั้งแรกนั้นทีมสถาปนิกได้เปลี่ยนสถานีเก่าให้กลายเป็นพื้นที่จัดแสดงใหม่กว่า 20,000 ตารางเมตร และในปี 1981 สถาปนิกหญิงชาวอิตาเลียน Gae Aulenti เข้ามารับหน้าที่ดูแลการออกแบบภายใน โดยในการออกแบบของเธอมีการปรับใช้โครงสร้างหินของชานชลาเดิมและเปิดพื้นที่จัดแสดงภาพวาดและประติมากรรม

งานรีโนเวตครั้งนี้ถือเป็นอีกหนึ่งงานรีโนเวตครั้งมหึมาของโลกที่เป็นการเปลี่ยนอาคารจากยุคอุตสาหกรรมไปสู่พื้นที่สาธารณะทางวัฒนธรรมสำคัญของโลก การบูรณะมีทั้งการปรับพื้นที่ไปสู่ฟังก์ชั่นใหม่ การเพิ่มพื้นที่เดิม รวมถึงมีการอนุรักษ์ เช่น การรักษาพื้นผิวของหลังคาโค้งเดิม แต่ทว่าก็มีการฝังระบบปรับอากาศและอุปกรณ์ลดเสียงสะท้อนในพื้นที่อาคาร

การปรับปรุงอาคารไปสู่พื้นที่พิพิธภัณฑ์แล้วเสร็จในปี 1986 โดยในปีนั้น ตัวพิพิธภัณฑ์ใช้เวลาราว 6 เดือนในการติดตั้งงานศิลปะร่วม 3,000 ชิ้น โดยงานทั้งหมดแล้วเสร็จและตัวพิพิธภัณฑ์ได้เปิดให้เข้าชมอย่างเป็นทางการในเดือนธันวาคมของปีเดียวกัน

musee-orsay.fr

 

หลังจากเปิดให้บริการ สถานีเก่าที่เกือบถูกทุบ อยู่รอดยุคสงครามและเคยถูกใช้งานในหลายฟังก์ชั่นนั้นกลายเป็นหนึ่งในพิพิธภัณฑ์ศิลปะที่มีผู้เข้าชมมากที่สุดแห่งหนึ่งในปารีส แน่นอนว่าศิลปะที่ถูกจัดแสดงอยู่คืองานยุคศตวรรษที่ 19 คอลเล็กชั่นสำคัญที่ถูกจัดแสดงอยู่คืองานกลุ่มอิมเพรสชั่นนิซึม ผลงานที่ถูกจัดแสดงนับเป็นผลงานสำคัญลำดับต้นๆ ของโลกเช่นงานของโมเนต์ (Claude Monet) มาเน่ต์ (Édouard Manet) เรอนัวร์ (Renoir) และเซซานต์(Cézanne)

mymodernmet.com

อย่างไรก็ตาม นอกจากงานศิลปะอันล้ำค่าแล้ว ตัวอาคารและบรรยากาศที่ด้านหนึ่ง พิพิธภัณฑ์ศิลปะศตวรรษที่ 19 กลับได้อยู่ในบรรยากาศของอาคารสำคัญของปีสุดท้ายของศตวรรษที่ 19 คือสถานีที่กลายเป็นพิพิธภัณฑ์นั้น เมื่อหงายหน้ามองหลังคากระจกใสโค้งและนาฬิกาโบราณที่เคยบอกเวลาพาผู้คนเดินทางไปทั่วภูมิภาคของศตวรรษที่ 20 นั้น นับว่าการรักษาพื้นที่เป็นอีกหนึ่งการรักษาหน้าประวัติศาสตร์ของยุคสมัยเอาไว้ มีคำกล่าวว่า นาฬิกากลางสถานีที่ยังคอยู่นั้นเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ล้ำค่าที่สุด เป็นมรดก และตัวแทนของช่วงเวลาและประวัติศาสตร์ที่ถูกรักษาและตกทอดมาสู่ปัจจุบัน เป็นสิ่งล้ำค่าอันประเมินค่าไม่ได้เช่นเดียวกับเหล่าภาพวาดและเรื่องราวที่ถูกจัดแสดงอยู่ในอาคารแห่งนี้

mymodernmet.com

ในช่วงก่อนโควิด พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ขึ้นอันดับเป็นสถานที่ที่มีผู้เข้าเยี่ยมชมสูงสุดติดอันดับร่วมกับลูฟวร์และหอไอเฟล ในช่วงปี 2007-2019 มีตัวเลขผู้เข้าชมเกิน 3 ล้านคนต่อปี

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

britannica.com

mymodernmet.com

us.france.fr

artsandculture.google.com

designbuild-network.com

statista.com

dailynews.co.th

 

Share :