CITY CRACKER

Modern Architecture Heritage สถาปัตยกรรมสมัยใหม่ ในทะเบียนมรดกโลก

เวลานึกถึงคำว่ามรดกโลก โดยเฉพาะมรดกทางวัฒนธรรม แน่นอนว่าเราจะนึกถึงผลงานอลังการจากยุคโบราณ นึกถึงพีระมิด ทัชมาฮาล เมืองไทยก็คงนึกถึงมรดกเก่าแก่เช่นบ้านเชียง อยุธยา แต่การตัดสินครั้งล่าสุดที่แก่งกระจานของเราพลาดและถูกเลื่อนพิจารณาการขึ้นทะเบียนมรดกโลกไปอีกสามปี ก็ได้มีงานสถาปัตยกรรมร่วมสมัยของ Frank Lloyd Wright ได้รับการขึ้นทะเบียนไปถึง 8 งานด้วยกัน งานของลอยด์ถือเป็นผลงานที่เป็นทั้งไอคอนสำคัญของงานสถาปัตยกรรมอเมริกันที่ส่งอิทธิพลต่องานสถาปัตยกรรมร่วมสมัยในระดับโลก


ถ้ามองในมิติของยุคสมัย เราเองอยู่ในยุคสมัยใหม่ ผลงานร่วมสมัยทั้งศิลปะและสถาปัตยกรรมในยุคสมัยใหม่เป็นต้นมาก็ดูจะค่อยๆ พัฒนาจนมีความเข้มแข็งและมีคุณค่าแสดงถึงความคิดและสื่อสารความหมายได้ ตัวผลงานและศิลปินในตำนานทั้งหลายเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางงานสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ที่กำลังก้าวไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง ดังนั้นในหลายประเทศก็มองว่างานร่วมสมัยเหล่านี้ถือเป็นผลงานสำคัญของมวลมนุษยชาติ เป็นมรดกของโลกสมัยใหม่ (modern art)

ในแง่เกณฑ์การพิจารณาว่าอะไรเป็นมรดกโลก งานร่วมสมัยเองก็ได้รับการพิจารณาว่าเข้าเกณฑ์การเป็นมรดกทางวัฒนธรรมเรียบร้อย เช่น งานชิ้นเอกที่แสดงถึงอิจฉริยภาพทางการสร้างสรรค์และมีความสำคัญทางวัฒนธรรม เป็นตัวอย่างสำคัญของการเป็นงานต้นแบบที่เป็นส่วนหนึ่งในประวัติศาสตร์ของมวลมนุษย์

ดังนั้น จึงไม่แปลกที่ในหลายประเทศจะเริ่มเห็นความสำคัญของงานร่วมสมัย และเสนอให้ยูเนสโกขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก และในทำนองเดียวกัน ยูเนสโกก็เห็นพ้องและรับว่างานสถาปัตยกรรมไปจนถึงงานออกแบบร่วมสมัยจำนวนหนึ่งเข้าสู่รายชื่อว่าเป็นหมุดหมายสำคัญในการสร้างสรรค์ของเรา การขึ้นทะเบียนผลงานร่วมสมัยนอกจากผลงานของลอยด์ในปีล่าสุดแล้ว ก่อนหน้านี้ในช่วงปี 2016 มีการขึ้นทะเบียนผลงานของ Le Corbusier ถึง 17 ชิ้นในนาม Outstanding Contribution to the Modern Movement

City Cracker พาไปดูผลงานสถาปัตยกรรมร่วมสมัยที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ที่ไม่ได้หยุดแค่งานสถาปัตยกรรมระดับปรมาจารย์ที่อิทธิพลต่องานยุคต่อมา แต่ยังรวมถึงการวางผังเมืองใหม่ในบราซิล กลุ่มอาคารสมัยใหม่ที่อิสราเอล ไปจนถึงเมืองร่วมสมัยที่เต็มไปด้วยตึกรามคลาสสิกลูกผสมในแอฟริกา

 

Brasilia – Oscar Niemeyer and Lucio Costa, 1987

ไม่ต้องเป็นเมืองเก่า แต่นี่คือเมืองหลวงใหม่ของบราซิลที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากงานออกแบบผังเมืองของโลกสมัยใหม่ ตั้งแต่ช่วงต้นศตวรรษที่ 20 กรุงริโอ เดอ จาเนโรเมืองหลวงเดิมของบราซิลเต็มไปด้วยความแออัดและแสนจะไม่สะดวกในการเป็นเมืองหลวงและการบริหารประเทศ

ในปี 1956 ทางบราซิลจึงเริ่มสร้าง Brasilia ขึ้นในฐานะเมืองหลวงใหม่ โดยได้ Lucio Costa นักวางผังเมือง ร่วมกับ Oscar Niemeyer ลงมือใช้องค์ความรู้ร่วมสมัยเพื่อเนรมิตรเมืองใหม่ที่ฟังก์ชั่นและกลมกลืนทั้งในแง่การบริหารจัดการและการบริหารทรัพยากร ด้วยการวางผังเมืองของโลกสมัยใหม่ ทำให้ Brasilia ได้รับการบันทึกไว้เป็นมรดกโลกในฐานะส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์การวางผังเมืองและเมืองสมัยใหม่ของมนุษยชาติ

 

Dessau Bauhaus – Walter Gropius, Germany (1996)

พูดถึงงานสถาปัตยกรรมแบบคลาสสิกก็ต้องมีตึก Bauhaus ของโรงเรียนศิลปะและการออกแบบ Bauhaus ประเทศเยอรมนี โรงเรียนออกแบบนี้เป็นส่วนสำคัญในการวางรากฐานงานออกแบบสมัยใหม่ในระดับโลก โดยเฉพาะงานออกแบบทางสถาปัตยกรรม อาคาร Bauhaus กลายเป็นอาคารต้นแบบของตึกสมัยใหม่ที่เน้นการฉาบเรียบและความสัมพันธ์ของรูปทรงเลขาคณิต เป็นการรวมกันระหว่างความงามแบบใหม่ การคำนึงถึงประโยชน์ใช้สอยและการดูแลรักษา เมื่อตึกแห่งนี้สร้างเสร็จก็กลายเป็นกระแสสนใจในยุโรป จนในที่สุดเกิดเป็นต้นแบบอาคาร Bauhaus ที่เกิดขึ้นเป็นกลุ่มอาคาร ก่อตัวขึ้นพร้อมๆ กับเป็นส่วนหนึ่งของเมืองใหญ่และโลกอันทันสมัยในอีกหลายประเทศทั่วโลก

 

Rietveld Schröder House,Netherlands – Gerrit Rietveld, 2000

บ้านทรงโมเดิร์นหลังนี้เป็นงานออกแบบในปี 1924 ผลงานของ Gerrit Rietveld สถาปนิกชาวดัชต์ ตัวบ้านนี้ถึงเป็นไอค่อนสำคัญของสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ หนึ่งในไอเดียที่เป็นแกนของงานออกแบบคือความเปิดกว้าง (openess) ถ้าเรามองว่าบ้านสมัยใหม่เกิดขึ้นพร้อมๆ ชนชั้นกลางหรือกลุ่มคนใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นพร้อมกับเมือง

สถาปัตยกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเปิดพื้นที่มากกว่าการปิดกั้น แปลนของบ้านจึงเน้นการเชื่อมต่อกันตั้งแต่ภายในและภายนอกอาคาร ไปจนถึงปฏิสัมพันธ์ภายในตึกที่ผู้ว่าจ้างเน้นให้มีกำแพงน้อยที่สุด เป็นปรัชญาแบบใหม่แตกต่างจากชนชั้นเดิมที่เน้นระบบเบียบและลำดับชั้น ตัวอาคารนี้เป็นผลงานส่วนหนึ่งของ De Stijl movement กระแสทางการออกแบบและใช้พื้นที่ในกรอบความคิดแบบสมัยใหม่ของเนเธอร์แลนด์ที่ต่อมาส่งอิทธิพลกับแนวคิดทางสถาปัตยกรรมโดยรวม

 

Villa Tugendhat –Ludwig Mies Van Der Rohe, 2001


มากันที่สาธารณะเชคกันบ้าง Villa Tugendhat เป็นวิลล่าหรูที่ถูกสร้างขึ้นในช่วงปี 1928 ออกแบบโดยสถาปนิกชาวเยอรมัน อเมริกัน Mies Van Der Rohe ต้วงานออกแบบนี้เน้นการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีของยุคอุตสาหกรรม เป็นงานออกแบบที่ให้ความสวยงามของยุคสมัยใหม่จากวัสดุและความต่อเนื่องของพื้นที่ หลักๆ แล้วตัววิลล่านี้กลายไปเป็นต้นแบบของบ้านพักอาศัยในระดับนานาชาติของยุโรปและกลายเป็นไอค่อนของศิลปะสมัยใหม่ วิลล่านี้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในปี 2001

 

White City of Tel-Aviv – the Modern Movement, 2003

White City of Tel-Aviv คือกลุ่มอาคารและพื้นที่เมืองที่ Tel-Aviv ในอิสราเอล ภาพของหมู่ตึกสีขาว เมืองที่เป็นระบบนี้เริ่มขึ้นในราวทศวรรษ 1930-1950 ภายใต้การควบคุมของสหราชอาณาจักร ตัวเทล-อาวี เป็นเมืองสมัยใหม่ที่ได้รับการออกแบบและวางผังเมืองโดย Sir Patrick Geddes เมืองสีขาวนี้จึงเป็นมรดกทางการวางผังเมืองสมัยใหม่ ตัวกลุ่มอาคารของเมืองได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมแบบ Bauhaus

 

Unité d’habitation, France – Le Corbusier, 2016

จากวิลล่าบ้านร่วมสมัย มาที่อาคารต้นแบบสถาปัตยกรรม brutalism และได้กลายเป็นต้นแบบของอาคารพักอาศัยในยุคปัจจุบัน Unité d’habitation หรือ Housing Unit เป็นอาคารพักอาศัยรวมที่ถูกพัฒนาและสร้างขึ้นในช่วงปี 1952 เป็นรูปแบบทางสถาปัตยกรรมและการใช้งานของตึกพักอาศัยประเภทอพาร์ตเมนต์ที่เรารู้จักกันดีในปัจจุบัน กลายเป็นอาคารและไลฟ์สไตล์แบบใหม่ของศตวรรษที่ 20

 

Villa Savoye, France – Le Corbusier, 2016

ภาพของบ้านสมัยใหม่ที่เรียบง่าย ฉาบด้วยผนังสีขาว มีแนวหน้าต่าง และลานสนามหญ้าหน้าบ้าน Villa Savoye เป็นเหมือนงานต้นแบบของบ้านสมัยใหม่ที่สะท้อนหลักการรากฐานของสถาปัตยกรรมร่วมสมัยแบบ Le Corbusier โดยเฉพาะหลักห้าประการ เช่น เสาลอยที่ยกพื้นสูง(pilotis) ผังห้องที่เชื่อมต่อกัน(free plan) หน้าต่างบานใหญ่แนวนอน(horizontal windows) หรือสวนดาดฟ้าซึ่งถือเป็นก้าวใหม่ในงานออกแบบทางสถาปัตยกรรมในขณะนั้นและกลายเป็นหลักการในการออกแบบ และเป็นต้นแบบของบ้านสมัยใหม่ในยุคต่อๆ มา

 

Asmara: A Modernist African City, 2017


Asmara หน้าตาเหมือนอยู่ในหนัง ‘เวส แอนเดอสัน’ เมืองหลวงแห่ง Eritrea ประเทศในแอฟริกานี้เคยตกอยู่ในอิทธิพลของอิตาลี ตัวเมืองแรกเริ่มและอาคารสมัยใหม่ค่อยๆ ถูกวางผังและสร้างตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 จนถึงช่วง 1940s ดังนั้นเมืองและตึกรามในพื้นที่จึงเป็นตึกรามแบบสมัยใหม่หน้าตาเท่ๆ แปลกๆ มีโรงหนังหน้าตาเหมือนโรงหนังเก่าที่เราคุ้นเคยไปจนถึงตึกหน้าตาเหมือนเครื่องบิน เมืองนี้จึงมีความผสมผสานระหว่างตึกแบบเมืองๆ ที่ถูกพัฒนาขึ้นในบริบทแบบแอฟริกัน

 

Fallingwater house- Frank Lloyd Wright, 2019

อีกหนึ่งบ้านระดับไอคอนที่ดูกี่ครั้งก็รู้สึกฉ่ำเย็นและสวยงามไม่ว่าจะอยู่ในยุคสมัยไหน Fallingwater house เป็นผลงานออกแบบในปี 1935 ภาพบ้านทรงสี่เหลี่ยมที่ทอดตัวเหนือน้ำตกนี้สะท้อนปรัชญางานออกแบบแบบ organic ของลอยด์ ที่ไม่ได้มองสิ่งแวดล้อมเป็นเพียงบริบท แต่หมายถึงการออกแบบที่ผสานและหลอมรวมสถาปัตยกรรมเข้ากับสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ

Fallingwater ออกแบบโดยคำนึงถึงความรู้สึกของผู้ใช้งานที่สามารถรับรู้ถึงธรรมชาติแม้จะอยู่ภายในตัวบ้าน ผ่านการใช้วัสดุ เช่นกระจก ไปจนถึงการวางอาคารข้ามผิวน้ำ นิตยสาร TIME ได้นิยามบ้านหลังนี้ว่าผลงานที่สวยงามที่สุดของไรท์ เป็นหนึ่งใน 28 ที่ที่ควรไปเยือนก่อนตายของSmithsonian

 

Guggenheim Museum- Frank Lloyd Wright, 2019

 

จากงานออกแบบบ้านพักอาศัย มาสู่อาคารสาธารณะ พิพิธภัณฑ์ Guggenheim Museum เป็นอีกหนึ่งสถานที่สำคัญและแน่นอนว่าตัวอาคารที่ดูนุ่มนวล ความโค้งที่สวยงามก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ตัวอาคารแห่งนี้มีความเป็นศิลปะพอๆ กับงานจัดแสดงภายใน ไรท์ได้รับการว่าจ้างในปี 1943 โดยต้องการสร้างที่จัดแสดงงานศิลปะแบบใหม่ที่ไม่เน้นวัตถุจัดแสดง แต่เป็นภาพเขียนร่วมสมัย ดังนั้นไรท์จึงตั้งใจจะสร้างพื้นที่ที่สร้างบรรยากาศในการชมภาพเขียนและฟังดนตรีดีๆ พร้อมกับแก้ปัญหาของนิวยอร์กที่แออัดไปทั้งผู้คนและตึกอาคารที่ไม่มีความโดดเด่น ผลคือไรท์พยายามดึงเอาแนวคิดงานออกแบบแบบออร์แกนิกเข้าสู่การสร้างพิพิธภัณฑ์ร่วมสมัยแห่งนี้ ตัวอาคารเน้นพาผู้ชมไปตามทางโค้งไปสู่แกลลอรี่ส่วนต่างๆ ที่ถูกแบ่งเหมือนกับเซลล์ของผลไม้ที่มีความเป็นอิสระแต่ก็เชื่อมต่อกัน
Illustration by Thitaporn Waiudomwut

 

Share :