CITY CRACKER

ลุมพินีสถาน อาคารเก่าจากยุคสงครามเย็น จากลานเต้นลีลาศสู่แนวทางการพัฒนาพื้นที่สาธารณะสำหรับผู้สูงวัยในอนาคต 

ลุมพินีสถานคืออาคารในสวนลุมพินี สวนสาธารณะใหญ่ใจกลางเมืองกรุงเทพฯ ที่ทุกคนอาจเคยแวะเข้าไปแต่ไม่ได้รู้ว่ามีหนึ่งอาคารสำคัญแอบซ่อนอยู่

อาคารหลังนี้ถูกสร้างขึ้นราวปี 2495 และถูกใช้งานเป็นโรงเต้นลีลาศของหนุ่มสาวในยุคนั้น เป็นพื้นที่สาธารณะ พื้นที่พบปะของผู้คน มีการใช้งานอย่างหลากหลาย รวมถึงมีการปรับเปลี่ยนฟังก์ชั่นการใช้งานไปตามบริบทเมืองที่เปลี่ยนไป แต่ปัจจุบันอาคารหลังนี้ได้ถูกปิดสนิทไม่มีการใช้งานมาเกือบ 10 ปี จนงาน ลุมพินีสถาน : วัฒนธรรมบันเทิงยุค 50s – 60s เมื่อวันเสาร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดย Revitalizing Bangkok ได้เปิดโอกาสให้เราเข้าไปเยือนอาคารเก่าหลังนี้อีกครั้ง

 

เมื่อเราได้กลับไปเยี่ยมเยือนอาคารนี้อีกครั้งและมองย้อนกลับไปในช่วงแรกเริ่มที่อาคารยังเปิดใช้งานตามปกติ ก็ได้ทำหน้าที่เป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับการสังสรรค์และพักผ่อนสำหรับกลุ่มคนรักเพลงแจ๊สและการเต้นลีลาศ ซึ่งเป็นกิจกรรมสำคัญอย่างหนึ่งที่ประเทศไทยรับเข้ามาและเป็นที่นิยม ตลอดจนอิทธิพลของการออกแบบที่สะท้อนมาจากยุคสงครามเย็นได้อย่างชัดเจนผ่านฟังก์ชั่นและความเรียบง่ายตั้งแต่แรกเห็น และสะท้อนภาพแนวทางการพัฒนาเมืองในช่วงขณะหนึ่งให้เราเห็นชัดเจนมากขึ้น อาคารหลังนี้จึงเป็นอีกหนึ่งอาคารที่มีเรื่องราวมากมายแอบซ่อนไว้

City Cracker ชวนย้อนดูภาพเก่าของอาคารลุมพินีสถาน ย้อนความสำคัญของกลุ่มอาคารใจกลางสวนลุม ถึงที่มาที่ไป อิทธิพลของการออกแบบอาคาร รวมถึงการมองภาพอนาคตของอาคารร้างที่อาจเปลี่ยนแปลงสู่พื้นที่สาธารณะเพื่อรองรับการใช้ชีวิตของกลุ่มผู้สูงวัยในอนาคตต่อไป

 

©Nakrob Saithep

 

ลุมพินีสถาน โรงเต้นลีลาศสำหรับหนุ่มสาวยุค 50-60s

อาคารคอนกรีตใจกลางสวนลุมพินีนี้มีขนาด 2 ชั้น พื้นที่ประมาณ 5,500 ตารางเมตร คาดว่าสร้างขึ้นตั้งแต่ช่วงปี 2495 แล้วเสร็จในช่วง 3 ปีหลังจากนั้น โดยตัวอาคารตั้งอยู่กึ่งกลางของสวนลุมที่ลากผ่านจากถนนพระราม 4  โดยแรกเริ่มบริเวณพื้นที่นี้เคยถูกวางแผนไว้หลากหลายโปรเจกต์ ไม่ว่าจะสวนสาธารณะ สวนสัตว์ หรือสวนพฤกษศาสตร์ หรือแม้กระทั่งอาคารสันทนาการ อย่างไรก็ตามโปรเจกต์เดียวที่เกิดขึ้นต่อมาหลังจากนั้นคือการสร้างอาคารลุมพินีสถาน เพื่อใช้สำหรับโรงเต้นลีลาศ โดยตัวอาคารแบ่งออกเป็น 2 ชั้น คือชั้นหนึ่งสำหรับเป็นฟลอร์เต้นรำ และจัดกิจกรรม ส่วนชั้น 2 เป็นชั้นลอยที่ถูกกั้นเป็น 6 ห้องใหญ่เพื่อจัดนิทรรศการต่างๆ และได้เริ่มต้นมีกิจกรรมการเต้นลีลาศในทุกๆ อาทิตย์หลังจากนั้น ส่งผลให้กลุ่มวัยรุ่นจำนวนมากในขณะนั้นเข้ามาใช้อาคาร เป็นอีกหนึ่งพื้นที่พบปะของผู้คนในช่วงนั้น

 

©Nakrob Saithep

 

อิทธิพลของงานออกแบบช่วงสงครามเย็น

นอกจากการเต้นลีลาศที่เป็นอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากอเมริกาแล้ว เมื่อมองถึงสถาปัตยกรรมอาคารหลังนี้ได้รับอิทธิพลของการออกแบบกันจากกลุ่มอาคารที่เกิดขึ้นในช่วงเดียวกันด้วย โดยคาดว่ามีหนึ่งในต้นแบบหลักมาจาก Royal Festival Hall อาคารระดับเวิลด์คลาสตั้งอยู่บริเวณ South Bank ริมแม่น้ำเทมส์ เมืองลอนดอน โดยอาคารหลังนี้ถูกสร้างขึ้นในปี 2494 ช่วงเวลาใกล้เคียงกับลุมพินีสถาน ซึ่งสิ่งหนึ่งที่เห็นได้ถึงความคล้ายคลึงกันของ 2 อาคารนี้คือการออกแบบหลังคา สำหรับอาคารจากลอนดอนเลือกใช้เป็นหลังคาโค้งซึ่งค่อนข้างใกล้เคียงกับหลังคา Parapet ของลุมพินีสถาน นอกจากนี้อาคาร Royal Festival Hall ยังถูกสร้างขึ้นด้วยจุดประสงค์ที่ใกล้เคียงกันคือทำหน้าที่เป็นอาคารจัดแสดง งานเต้น และงานสังสรรค์ในสเกลที่ใหญ่และหลากหลายกว่าอาคารลุมพินีสถาน

ในงานออกแบบอาคารให้คล้ายคลึงกับต่างประเทศนี้นอกจากจะเป็นการหยิบยืมสถาปัตยกรรมมาแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึงนัยยะของการเมือง ณ ขณะนั้น จากบริบทของช่วงสงครามเย็นที่ไทยต้องการแสดงออกถึงจุดยืนทางการเมืองของตน จึงได้เลือกที่จะหยิบยืมสถาปัตยกรรมจากกลุ่มประเทศที่มีความเห็นใกล้เคียงกัน ดังนั้นแล้ว นอกจากการทำหน้าที่เป็นพื้นที่สังสรรค์ของกลุ่มวัยรุ่นในขณะนั้น ยังทำหน้าที่เพื่อแสดงออกทางการเมืองที่สอดคล้องไปกับความนิยมและวัฒนธรรมของสากลโลกในขณะนั้นอีกด้วย

 

©Nakrob Saithep

 

พื้นที่ภายในและฟังก์ชั่นที่ปรับเปลี่ยนไปตามช่วงเวลา

นอกจากรูปแบบของอาคารภายนอกและนัยยะที่แฝงไว้แล้ว สถาปัตยกรรมภายในของอาคารเองก็น่าสนใจ คือพื้นที่ด้านในค่อนข้างมีความเรียบง่าย คือมีลานตรงกลาง ชั้นลอยล้อมรอบ และเวทีที่มีความพิเศษคือตัวเวทีสามารถหมุนกลับได้เพื่อให้จังหวะของการบรรเลงเพลงไม่ขาดหาย ถึงแม้ว่าจะออกแบบอย่างเรียบง่ายแต่สถาปัตยกรรมนี้กลับส่งผลต่อพฤติกรรมผู้ใช้งานด้วย คือเมื่อพื้นที่ตรงกลางเป็นที่ว่างรายล้อมไปด้วยชั้นลอยที่ทำให้ผู้มาเยือนสามารถมองลงไปยันฟลอร์เต้นรำด้านล่างได้ ผู้ที่เข้ามาเต้นรำและสนุกไปกับเสียงเพลงส่วนใหญ่จึงแต่งตัวมาอย่างสวยงาม เพื่อให้เกิดเป็นภาพประทับใจยามเมื่อคนด้านบนมองลงมา

ในแง่ของการใข้งาน พื้นที่ของอาคารหลังนี้ได้มีการปรับเปลี่ยนอยู่เรื่อยๆ ตามช่วงเวลาที่แตกต่างกันออกไป จากแต่เดิมที่เคยเป็นโรงเต้นลีลาศที่ทันสมัยที่สุด  เมื่อหมดความนิยมลงก็ได้มีการนำสัตว์สตาฟฟ์เข้ามาจัดแสดงในชั้นบน บางช่วงเวลาอาคารหลังนี้ได้ทำหน้าที่เป็นห้องจัดเลี้ยง ก่อนจะถูกเปลี่ยนการใช้งานมาเป็นพื้นที่สำหรับชุมนุมทางการเมือง ก่อนจะถูกปิดตัวลงไปในช่วงปี 2557 และถูกทิ้งร้างไว้จนถึงปัจจุบัน เรียกได้ว่าตัวอาคารหลังนี้นอกจากจะมีอายุมากยังมีเรื่องราวที่หลบซ่อนอยู่มาตลอดระยะเวลาหลายปีให้เราได้เข้าไปค้นหาและรื้อฟื้นกลับขึ้นมาอีกครั้ง

 

©Nakrob Saithep

 

ฟื้นอาคารเก่าให้เป็นพื้นที่สาธารณะของคนสูงวัย

หลังจากอาคารนี้ถูกปิดตัวลงหลังเกิดการใช้งานมาอย่างยาวนานและหลากหลายรูปแบบ ก็อาจถึงเวลาแล้วที่อาคารเก่าจะกลับมามีชีวิตอีกครั้ง จากอดีตกลุ่มหนุ่มสาวที่นิยมในการเต้นลีลาศและเพลงแจ๊สที่ในปัจจุบันได้กลายเป็นกลุ่มผู้สูงวัยที่สำคัญในเมือง การออกแบบพื้นที่เพื่อรองรับประชากรกลุ่มนี้ก็เป็นสิ่งที่ควรคำนึงและเมืองควรจัดหาให้ด้วยเช่นกัน

อย่างที่ทราบว่ากรุงเทพฯ ในปัจจุบันกำลังเข้าสูง aging society อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ด้วยจำนวนประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับอัตราการเกิดของเด็กรุ่นใหม่ๆ ดังนั้นแล้ว การออกแบบเมืองในช่วงปีต่อๆ ไปจึงจำเป็นต้องคำนึงถึงกลุ่มผู้สูงวัยเป็นหลัก โดยไม่ได้หมายถึงเพียงแค่หลักการออกแบบที่ดี เอื้อให้ผู้สูงวัยสามารถใช้ชีวิตในเมืองได้ง่ายเท่านั้น แต่เมืองควรมองภาพกว้างไปถึง ‘พื้นที่สาธารณะเพื่อการพักผ่อน’ สำหรับผู้สูงวัยเช่นเดียวกัน และเมื่อพิจารณาจากจากประวัติเดิมของอาคารและพื้นที่ที่ตั้งอยู่ใจกลางเมือง อาคารหลังนี้ก็มีความเป็นไปได้ที่จะสามารถพลิกโฉมกลับมามาชีวิตอีกครั้งในฐานะ multi functional space เพื่อรองรับการพักผ่อนของกลุ่มผู้สูงอายุที่ยังมีใจรักในลีลาศ หรือดนตรีแจ๊สอีกครั้งก็เป็นได้

หรืออาจนำมาสู่พื้นที่สาธารณะรูปแบบใหม่ๆ ที่เชื่อมต่อกลุ่มวัยอย่างหลากหลายมากขึ้น โดยแผนงานพัฒนาลุมพินีสถานกำลังถูกพิจารณาต่อไปถึงความเป็นไปได้และความเหมาะสมที่จะเกิดขึ้น

 

 

 

Share :