CITY CRACKER

จากรกร้างสู่ลานกีฬา มุมมองจากนักออกแบบ ‘ลานกีฬาพัฒน์ 1’ โมเดลพื้นที่สาธารณะที่สร้างระบบบริหารจัดการโดยชุมชน

หากพูดถึงพื้นที่สาธารณะที่เป็นพื้นที่สีเขียว อย่างสวนสาธารณะ สนามเด็กเล่น หรือลานกีฬา อาจไม่ใช้พื้นที่ที่หาได้ง่ายนักในเมืองเช่นกรุงเทพฯ ที่มีความหนาแน่นและเต็มไปด้วยตึกสูง ยิ่งกับชุมชนแออัด การมีพื้นที่สาธารณะเล็กๆ ให้ได้ใช้งาน หรือมีพื้นที่เพื่อสร้างสวน ลานกีฬา ฯลฯ ก็ดูจะเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายในการหาพื้นที่ดีๆ มาสร้าง

แต่จริงๆ แล้วการสร้างพื้นที่สาธารณะนั้นสามารถนำพื้นที่ในเมือง เช่น พื้นที่รกร้างว่างเปล่า พื้นที่เศษเหลือจากการสร้างอาคารตึกสูง กระทั่งพื้นที่ตาบอด มาพัฒนาหรือสร้างเป็นพื้นที่สาธารณะเพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวมได้ทั้งสิ้น ซึ่ง ‘ลานกีฬาพัฒน์ 1’ คือหนึ่งในพื้นที่สาธารณะที่พัฒนามาจากพื้นที่เศษเหลือของโครงการที่อยู่อาศัยแฟลตคลองจั่น และพื้นที่รกร้างบริเวณคลองลำพังพวย ที่อดีตเคยมีปัญหายาเสพติด และเคยเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้พื้นที่บริเวณริมคลองนี้ไป

‘ลานกีฬาพัฒน์ 1’ เป็นโครงการพัฒนาพื้นที่สาธารณะ ที่มีการนำพื้นที่เศษเหลือจากการสร้างที่อยู่อาศัยมาพัฒนาเพื่อประโยชน์สาธารณะ ตัวโครงการเกิดขึ้นจากความร่วมมือของสำนักราชเลขาธิการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนและส่งเสริมสุขภาพ (สสส.) บริษัท สถาปนิกและสิ่งแวดล้อม อาศรมศิลป์ จำกัด และบริษัท ฉมา โซเอ็น จำกัด ที่ได้ร่วมมือกันพัฒนาพื้นที่ กระทั่งเชิญชวนให้คนในชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมกับการสร้างพื้นที่ลานกีฬาแห่งนี้

ด้วย City Cracker มีความสนใจในเรื่องพื้นที่สาธารณะในเมือง และการพัฒนาเมือง จึงได้ร่วมกับ Co-create our city ชวนผู้มีส่วนร่วมเกี่ยวกับโครงการลานกีฬาพัฒน์ ตั้งแต่นักออกแบบอย่าง ‘ซี’ – กิรินทร์ ตั้งเลิศปัญญา สถาปนิกจากฉมา โซเอ็น ‘แอน’ – อิสริยา ปุณโณปถัมภ์ และ ‘ปุ๊ก’ – นฤมล ผดุงนอก สองสถาปนิกชุมชนจากอาศรมศิลป์ มาพูดคุยถึงการริเริ่มของโครงการ ขั้นตอนการทำงาน ความท้าทายและความพิเศษของตัวโครงการ ไปจนถึงกระบวนการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ทั้งหมดคือกลุ่มคนที่ได้ร่วมไม้ร่วมมือกันสร้างจิตสำนึกสาธารณะอันเป็นคีย์สำคัญที่ทำให้โครงการลานกีฬาพัฒน์ 1 นี้สำเร็จและเสร็จสมบูรณ์ได้

 

 

เป็นมาอย่างไรในการเข้ามาพัฒนาพื้นที่ลานกีฬาพัฒน์ 1 นี้ 

อิสริยา: เราเป็นสถาปนิกในสตูโอชุมชนของอาศรมศิลป์ และสนใจเรื่องกระบวนการมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาชุมชน โครงการนี้เริ่มมาจากทางสำนักราชเลขาธิการมาติดต่อ สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนและส่งเสริมสุขภาพ) ซึ่งตอนนั้นทางอาศรมศิลป์ทำงานเกี่ยวกับพื้นที่สุขภาวะกับสสส. คือสร้างสภาพแวดล้อมที่มันเอื้อต่อการให้คนเข้ามาใช้งานพื้นที่ พอเราทำพื้นที่สุขภาวะด้วยกระบวนการการมีส่วนร่วม มันก็เลยเป็นเหมือนพาร์ตเนอร์ที่จะมาทำเรื่องนี้ร่วมกับสสส. พอทางสำนักราชเลขาฯ ติดต่อมาทางสสส. อาศรมศิลป์ก็เลยได้มาร่วมในโครงการนี้ จริงๆ ต้องบอกว่ากระบวนการออกแบบลานกีฬาพัฒน์ 1 นี้ ทางอาศรมศิลป์นั้นเป็นเมเนเจอร์โครงการ แล้วทำเรื่องกระบวนการออกแบบการมีส่วนร่วมและออกแบบอาคารของลานกีฬาพัฒน์  ส่วนตัวพื้นที่จะเป็นทางบริษัทฉมาโซเอ็นเข้ามาช่วยออกแบบ

กิรินทร์: เราได้รับการติดต่อจากบริษัทอาศรมศิลป์ เขาให้เข้าไปช่วยในการปรับปรุงภูมิทัศน์ของโครงการลานกีฬาพัฒน์ ตอนนั้นที่เข้าไปโครงการมันเริ่มไปแล้ว โดยมีทางสำนักราชเลขาธิการแล้วก็บริษัทอิตาเลียนไทยกำลังทำการก่อสร้าง ทางฉมาโซเอ็นเข้าไปในนามของสถาบันอาศรมศิลป์ ตามที่เข้าใจเหมือนกับว่าทางโครงการเขาอยากพัฒนาศักยภาพชุมชน ซึ่งมันก็ต้องพัฒนาทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ทีนี้เลยเกิดโครงการที่เป็นลานกีฬาขึ้นมา เรียกว่าลานกีฬาพัฒน์ ตอนนั้นเข้าใจว่าสำนักราชเลขาฯ ได้ทำการสำรวจอะไรต่างๆ เพื่อให้ได้ชุมชมที่เข้มแข็งเหมาะกับการเป็นต้นแบบโครงการลานกีฬาพัฒน์ ซึ่งก็ได้ชุมชนคลองจั่นมา

พอทางสำนักราชเลขาฯ สำรวจแล้วรู้ว่าชุมชนตรงนั้นมีความเข้มแข็ง แต่ปัญหาคือเขาไม่รู้ว่าวิธีการทำให้ชุมชนได้มามีส่วนร่วม หรือเอนเกจคนให้รู้สึกผูกพันกับสวนนั้นต้องทำยังไง ทางอาศรมฯ จึงเข้าไปช่วยในเรื่องกระบวนการมีส่วนร่วม ซึ่งเดิมทีก่อนที่เราและอาศรมจะมาทำทางสำนักราชเลขาฯ ให้ทางกทม. เป็นคนออกแบบ มันก็ออกมาในรูปแบบสวนแบบ เรียบๆ ไม่ได้มีดีไซน์อะไรที่เชื่อมโยงไปกับพื้นที่ หรือต่างจากสวนที่อื่น เราก็เข้าไปมีส่วนช่วยในการออกแบบ เราก็ไปฟังคอมเมนต์แล้วเอามาทำแบบ

 

 

การออกแบบลานกีฬาพันฒ์เข้าใจว่ามีชุมชมมาร่วมด้วย เล่าการทำงานร่วมกับชุมชนให้ฟังหน่อยได้ไหม

กิรินทร์: ตอนที่ทำโครงการนี้ทางฉมาโซเอ็นถือว่าใหม่มาก เพิ่งกลับมาจากเยอรมัน ไฟแรงสุดๆ แพสชั่นมาเต็ม และเป็นช่วงเริ่มต้นของฉมาโซเอ็นเพราะเพิ่งเปิดบริษัท และยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่ากระบวนการมีส่วนร่วมคืออะไร โครงการนี้เลยเป็นการเปิดโลกงานดีไซน์ของเรา เพราะตอนนั้นแทบไม่รู้เลยว่ากระบวนการแบบนี้มีส่วนช่วยในการออกแบบได้ด้วย พอเราเริ่มเห็นขั้นตอนการทำงานของทีมอาศรมฯ ก็เหมือนเริ่มเข้าใจว่าคนที่จะเข้ามาใช้เขาต้องการอะไร ต้องการตรงไหน โซนนิ่งจะเป็นยังไง การใช้งานจริงๆ ของเขาคือยังไง ก็ได้ไปดูว่าชุมชนเขามีคนกลุ่มไหนบ้าง เขาก็ชวนไปดูว่าผู้สุงอายุเขาเล่นกีฬาอะไรกัน เราก็ใสๆ ไม่รู้ว่าผู้สูงอายุเล่นอะไร พอเข้าไปก็ได้รู้ว่าเขาเล่นอะไรบ้าง มันปิดโลกมากขึ้น เราได้เรียนรู้ ได้เก็บข้อมูล ซึ่งบางข้อมูลจากเดิมไม่เคยรู้เลย อย่างกีฬาผู้สูงอายุที่ไม่เคยรู้จักเราก็ได้รู้จัก

ตอนนั้นพี่ยศ (ยศพล บุญสม) เป็นหัวเรือในการทำดีไซน์ของฝั่งฉมาโซเอ็น แต่ด้วยระหว่างการทำกระบวนการมีส่วนร่วม โครงการมันเริ่มก็สร้างไปแล้ว ทางเดินอะไรมันมาหมดแล้ว เหลือแค่อะไรเล็กๆ น้อยๆ โครงของพื้นที่มีมาหมด และเราแก้ไม่ได้มาก สิ่งที่เราแก้ต้องเป็นอะไรที่มัน add-on และโชคดีมากที่ผู้รับเหมาเขายินดีที่จะหยุดงานไปสองสัปดาห์ เพื่อให้เราได้ทำกระบวนการมีส่วนร่วม ให้ทีมออกแบบได้เขียนแบบ ตอนนั้นท้าทายเรามากกับการออกแบบสวน 8 ไร่ เราใช้เวลาเขียนแบบก่อสร้างสองสัปดาห์ แน่นอนแบบสองสัปดาห์จะครบถ้วนสมบูรณ์แบบเลยคงไม่ได้ มันเลยต้องมีการไปแก้แบบหน้างานกันไปเยอะมาก แต่ผู้รับเหมาเขาก็ยินดี และรู้สึกดีที่เขายอมให้แก้ และยอมปรับให้ทุกคนได้สิ่งที่ต้องการ

อิสริยา: โครงการนี้เรามีโจทย์ว่าจะชวนให้ชุมชนเข้ามาร่วมดำเนินโครงการ ไม่ใช่แค่ว่าเราเอาโครงการมาให้ แต่เป็นการที่เขาเริ่มด้วยตัวเขาเอง เราเลยดีไซน์กระบวนการให้มันเกิดการมีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มโครงการจนถึงการใช้งาน ซึ่งการจะทำให้คนๆ หนึ่งรู้สึกเป็นเจ้าของพื้นที่ มันต้องเริ่มตั้งแต่ให้เขาร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ ร่วมลงมือทำ รวมถึงร่วมดูแลบริหารพื้นที่ เหมือนเป็นบ้านของเขา แล้วจะทำยังไงให้คนรู้สึกว่าเขาเป็นเจ้าของบ้านหลังนี้ สวนแห่งนี้ของเขา กระบวนการมีส่วนร่วมก็เป็นส่วนหนึ่งของการออกแบบพื้นที่

ทั้งนี้เราก็มีกลไกของการมีส่วนร่วม คือดึงเครือข่ายของเรา ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง ที่เราคิดว่าจะเป็นคนใช้พื้นที่ เป็นคนดูแลพื้นที่ให้เขาได้มาร่วมทำงานกับเราตั้งแต่ต้น ไม่ว่าจะเป็นคนในชุมชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เขตบางกะปิ หรือกลุ่มกิจกรรมโดยรอบที่เข้ามาใช้งานพื้นที่ โดยในกลไกเราจะชวนเขามาร่วมตั้งแต่การคิด เริ่มทำโครงการ ไม่ใช่แค่การทำให้เขา แต่ให้เขามามีส่วนในการร่วมทำกับเรา และเปลี่ยนความคิดให้เขารู้สึกว่าเขาเป็นเจ้าของโครงการ เราได้ให้เขาตั้งคณะกรรมการบริหารลานกีฬาพัฒน์ขึ้นมา มีทั้งคนในชุมชน เขต มาร่วมเป็นกลไกในการบริหารจัดการพื้นที่ เพื่อให้หลักการก่อนสร้างแล้วเสร็จ คณะกรรมนี้ก็จะเป็นผู้เข้ามาช่วยบริหาจัดการกิจกรรม ดูแลพื้นที่ หรืออะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับการใช้งาน

 

 

ระหว่างการทำงานความร่วมมือของแต่ละฝ่ายเป็นยังไง อย่างชุมชนเขาให้ความร่วมมือดีไหม

นฤมล: ในตอนนั้นชุมชนให้ความร่วมมือดีมาก อาจจะเพราะเป็นโครงการจากพระราชดำริของในหลวง ร.9 ด้วย ทุกคนก็เลยรู้สึกอยากทำโครงการนี้ เราก็ได้เห็นทั้งคนที่มีแรงขับในเรื่องของการอยากทำเพื่อพ่อหลวง และอีกกลุ่มก็อยากทำเพราะเป็นความต้องการของเขาจริงๆ เป็นเรื่องพื้นที่สาธารณะที่เขาอยากมาใช้งานพื้นที่นั้นจริงๆ เหมือนมันเป็นสวนหลังบ้านเขา อยู่ใกล้กับแฟลต เขาก็จะรู้สึกว่าลงมาจากแฟลตก็จะเจอสวนเลย

ในส่วนของกระบวนการมีส่วนร่วม เราเคลียร์กับชุมชนตั้งแต่ต้นว่ากระบวนการเป็นแบบไหน เพื่อนำไปสู่เรื่องอะไร และบอกเขาว่ามันไม่ได้เป็นโปรแกรมที่ตายตัว ชุมชนและนักออกแบบสามารถมาพูดคุยกันนอกรอบได้ เขาก็ค่อยๆ เข้าใจในการทำงานมากขึ้น หรือถ้าเราอยากจะเพิ่มเติมในงานออกแบบ เราก็จะกลับไปหาชุมชนเพื่อถามความคิดเห็น เพราะเราอยากให้งานออกแบบมันสมบูรณ์มากขึ้น และเอื้อประโยชน์กับชุมชนมากที่สุด วันแรกของการทำกระบวนการรู้สึกได้ว่ามันมีพลัง เราได้เห็นชุมชนที่เขาอยากเข้ามามีส่วนร่วมจริงๆ และทีมออกแบบเองก็ตั้งใจจริงในการทำโครงการนี้ สุดท้ายคนที่มีร่วมเวทีมาทำกระบวนการกับเราในวันนั้น เขาก็คือคนที่ช่วยเราขับเคลื่อนและดูแลลานกีฬาพัฒน์จนถึงทุกวันนี้

 

แล้วการทำงานร่วมกับชุมชนเป็นอย่างไรบ้าง 

กิรินทร์: อย่างที่บอกตอนต้นว่ากระบวนการมีส่วนร่วมมันเป็นงานที่ใหม่มากสำหรับเรา กระทั่งวิธีการออกแบบกระบวนการเอง มันละเอียดอ่อนมาก เพราะการออกแบบกระบวนการนั้นเราต้องได้ความคิดเห็นของเขา แล้วเราก็ต้องไม่ผูกมัดตัวเอง อันนี้มันคือสิ่งสำคัญเลยที่กระบวนการมันต้องออกแบบ ต้องสร้างความมั่นใจให้เขารู้สึกว่าเขาได้พูดสิ่งที่เขาต้องการ ซึ่งวิธีการที่เราทำก็ต้องบอกให้เขารู้ว่า เราจะไม่ได้ทำตามความคิดเห็นของคุณร้อยเปอร์เซ็นต์ ทุกคนมีเสียงเท่ากัน เวลาเราเก็บข้อมูลหรืออะไรก็ตาม มันจะถูกแบ่งออกมาเป็นกลุ่ม เป็นการผ่านกระบวนการคุยแบบกลุ่มมาแล้ว ไม่ใช่แค่เสียงของคนใดคนหนึ่ง ตอนนั้นเราทำทั้งหมดสองกลุ่มเพื่อให้ได้เห็นหลายๆ ความคิด เพราะมันต้องมีการบาลานซ์ให้เห็นว่าแต่ละกลุ่มคิดยังไง

จริงๆ กระบวนการมีส่วนร่วมนี้มันทำให้เราได้ข้อมูลที่เราคิดไม่ถึง เราไม่สามารถรู้ได้ว่าคนที่จะใช้งานเขารู้สึกยังไง ซึ่งการเก็บข้อมูลมันช่วยให้ได้รู้ แต่ทั้งนี้ก็ต้องมีความเป็นมืออาชีพด้วย เพราะสิ่งหนึ่งคือสิ่งที่เราเรียนมา และอีกสิ่งคือความต้องการของเขา ดังนั้นหน้าที่เราคือต้องบาลานซ์สองสิ่งนี้เข้าด้วยกัน คือเอาข้อมูลที่ได้มาจัดเรียงเพื่อการออกแบบอย่างเป็นมืออาชีพ การทำงานร่วมกับชุมชนมันต้องเชื่อมเราเข้ากับเขา ถ้าสมมตินำเสนอคอนเซ็ปต์ไปเลยว่าเป็นแบบไหน เขาก็อินนะแต่เขาไม่ได้รู้สึกว่าเขาได้ address

 

 

หากไม่มีสถาปนิกนักออกแบบ คิดว่าพื้นที่สาธารณะนี้ชุมชนจะออกแบบเองได้ไหม

อิสริยา: ได้นะ เพราะส่วนตัวคิดว่าพื้นที่สาธารณะดีๆ ก็มีที่ชุมชนออกแบบ อย่างเรื่องโซนนิ่งชุมชนเป็นคนออกแบบด้วยซ้ำ เพราะเขารู้จักพื้นที่ดีกว่าเรา รู้วิถีชีวิต รู้ความต้องการในการใช้งาน แต่เราเอาโซนนิ่งนั้นมาใส่รายละเอียดเรื่องการใช้พื้นที่ จริงๆ มันคือความวางใจมากกว่า ตอนนั้นเราจัดกิจกรรมให้ทุกคนมาเสนอว่าลานกีฬานี้ควรมีกิจกรรมอะไรบ้าง และอยากให้ชุมชนโหวตเพื่อชั่งน้ำหนักว่ากิจกรรมไหนที่นิยมมากสุด แต่เขาก็กังวลมากว่าที่โหวตไปจะได้ไม่ได้ เราก็สร้างความวางใจให้เขารู้สึกว่าเราฟังทุกคนนะ เรื่องการโหวตเป็นแค่ค่าน้ำหนักที่เราอยากเห็น แต่เรายินดีที่จะยืดหยุ่นพื้นที่เพื่อให้ทุกกิจกรรมมันลงได้ มันคือความวางใจว่าเราฟังทุกเสียงและไม่ได้ตัดเสียงไหนไป

กิรินทร์: ได้แต่อาจไม่ทั้งหมด ชุมชนสามารถออกแบบด้วยการให้ความคิดเห็น ช่วยบอกความต้องการได้ ไม่ได้มองว่าชุมชนไม่รู้นะแต่ถ้ามีผู้เชี่ยวชาญด้านนั้นๆ มาร่วมงานก็น่าจะดีกว่า เพราะปกติการจัดสรรพื้นที่สาธารณะมันมีน้อยอยู่แล้ว เราว่าถ้าทำก็อยากให้มันดีไปเลย มุมมองของชุมชนเขาอาจมองแค่ด้านการใช้สอย แต่ถ้านักออกแบบเราจะมองด้านอื่นด้วย

 

มีความยากหรือง่ายยังไงไหมในกระบวนการมีส่วนร่วมนี้

กิรินทร์: ไม่ได้ยากหรือง่าย แต่มันเป็นกรอบคือเราสามารถพูดให้เขาคิดเท่าไหร่ก็ได้ ถ้ามีเงินและเวลา หรือถ้าบางคนจะบอกว่าอยากได้สระว่ายน้ำ แต่ก็ต้องคุยกับเขาในวันเลยว่า เหตุผลที่มีสระว่ายน้ำไม่ได้เพราะอะไร พื้นที่ไม่พอนะ งบประมาณต้องเพิ่มมาอีกนะ ซึ่งจากกระบวนการมีส่วนร่วมที่ผ่านมาเราว่ามันคือข้อดีที่เราไม่ต้องเป็นคนพูดเองในทุกๆ เรื่อง สมมติมีคนบอกว่าอยากได้สระว่ายน้ำ ก็จะมีอีกคนให้ความเห็นว่าทำไม่ได้นะ เพราะต้องมีงบประมาณเพิ่มที่เพิ่มเข้ามา บางทีเราแทบไม่ต้องบอกอะไรมาก เขาสามารถแลกเปลี่ยนกันได้เลย

ส่วนหน้าที่เราก็ต้องทำงานตามความคิดเห็นของชุมชนให้ได้มากที่สุด ตามงบประมาณที่จำกัด มันเป็นงานสาธารณะที่มีคนมาคอมเมนต์งานเราทั้งหมด เราเองก็ต้องทำให้ดีที่สุด ไม่อย่างนั้นออกแบบห่วยๆ ไป วัสดุพัง ไม่มีเงินซ่อม มันก็มีคนเห็นมีคนว่า เราต้องคิดเรื่องนี้ ต้องบาลานซ์ระหว่างความสวยงามกับความคงทนถาวรมากขึ้น

อิสริยา: ก่อนหน้านี้เราเคยทำโปรเจ็กต์เกี่ยวกับพื้นที่สาธารณะที่ต่างจังหวัด พอได้มาทำโครงการในเมือง โจทย์ของเราตอนทำเลยเป็นว่าคนในเมือง หรือคนที่อยู่แฟลตเขาจะมีส่วนร่วมกับโครงการมากแค่ไหน เพราะบริบทของคนเมืองคือมันมีความเป็นปัจเจกมากกว่าคนต่างจังหวัด ซึ่งตรงนี้เป็นความท้าทายและเป็นโจทย์ว่า เราจะทำอย่างไรเพื่อดึงเขาให้เข้ามามีส่วนร่วม เพราะเขาไม่ได้รู้จักกันเหมือนคนต่างจังหวัด เหมือนคนในชุมชนที่อยู่ข้างนอก เราก็เลยเลือกประธานชุมชนที่จะดึงแกนนำของแต่ละแฟลตให้เข้ามาร่วมกระบวนการ

หลังจากทำกระบวนการผ่านไปในเวทีแรก เวที 2 ที่เป็นการนำเสนอแบบ ก็มีชุนชมเข้ามามีส่วนร่วมเยอะมาก เหมือนเขาไปชวนคนที่เกี่ยวข้อง คนที่รู้ว่าโครงการนี้จะมีประโยชน์ยังไงมาร่วมให้ความเห็น เพราะจากรอบแรกคนไม่ได้เยอะมาก เป็นคนที่เราคิดว่าควรชวนเขามาแค่นั้น แต่พอรอบสองมันคือคนที่เขาอยากได้โครงการจริงๆ และเข้ามาร่วมให้ความเห็น ซึ่งเรารู้สึกได้ถึงพลังของกระบวนการว่า ถ้ามันส่งเสริมและตอบโจทย์ความต้องการเขา มันก็จะเกิดการขยายผล และมีคนที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมโครงการเพิ่มอีกได้

 

 

ในการออกแบบพื้นที่สาธารณะโครงการลานกีฬาพัฒน์นี้ใครเป็นคีย์สำคัญที่สุด

กิรินทร์: จริงๆ ถ้าพูดตามตรงก็คือภาครัฐ เราไม่ได้มองว่าชุมชนไม่มีอำนาจนะ แต่ถ้าภาครัฐไม่ให้โอกาสมันก็ไม่เกิด ไม่ว่าจะ bottom up หรือ top down ถ้าภาครัฐไม่เอาด้วยก็ไม่เกิด คนที่อยู่ในหน่วยงานเขาก็มีวิสัยทัศน์ อย่างโครงการนี้เกิดขึ้นโดยสำนักราชเลขาฯ และพอมันเป็นสิ่งที่เขาอยากทำก็ต้องทำให้ได้ และทุกคนร่วมด้วย ทุกคนรู้สึกว่าอยากเข้าร่วมโครงการ พอทุกคนอยากเข้าร่วมมันก็เกิดภาพความอยากร่วมมือ แต่ถ้าเกิดขึ้นเพียงจากคำสั่งของใใครคนใดคนหนึ่ง ก็จะรู้สึกว่ามันเป็นภาระ และถ้ามีแค่คนสองคนไม่เอา การที่มันจะเกิดขึ้นได้ก็ยากแล้ว

อิสริยา: และอีกด้านหนึ่งการพัฒนาพื้นที่สาธารณะก็ขึ้นอยู่กับบริบทด้วยว่า พื้นที่นั้นมีใครที่เป็น stakeholder บ้าง ทั้งในเชิงเจ้าของพื้นที่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยูสเซอร์ที่จะมาใช้พื้นที่ เราก็ต้องหาให้เจอว่าใครจะเป็นคีย์ในพื้นที่นี้คือใคร แล้วแต่สเกล ถ้าสเกลชุมชนก็อาจจะต้องเป็นแกนนำผู้ใหญ่บ้าน ถ้าสเกลเมืองก็อาจจะเป็นอบจ. เทศบาล กลุ่มพัฒนาเมือง หรือเขตอะไรอย่างนี้ เพราะยิ่งพื้นที่เยอะมากขึ้นความซับซ้อนของ stakeholder ก็เยอะมากขึ้น ความต้องการก็จะหลากหลายมากขึ้น

กิรินทร์: แต่สุดท้ายมันก็อยู่ที่ความเข้มแข็งของชุมชน เพราะเรารู้สึกว่าชุมชนคลองจั่นนี้เหมาะสมกับ community park ซึ่งสวนสาธารณะมันก็มีหลายสเกล สวนสเกลเมืองก็สวนลุมฯ สเกลย่านก็สวนเบญฯ และลานกีฬาพัฒน์คือสวนสาธารณะสเกลชุมชน วิธีการสร้างหรือการทำขึ้นมามันก็ไม่เหมือนกัน สเกลลานกีฬามันคือสเกลสำหรับชุมชน ถูกกำหนดมาตั้งแต่ต้นทางแล้วว่าจะทำอย่างไรให้ชุมชนเข้มแข็ง เพราะถ้าชุมชนไม่เข้มแข็งมันก็ไม่เกิด ใครจะมานั่งบริการจัดการสนามฟุตบอล เป็นระบบใครมาก่อนได้เตะก่อนเหรอ ถ้าคนมาทีหลังจะทำยังไง มันก็เป็นเรื่องที่คนในชุมชนจะคุยกันเพื่อกำหนดกฎเกณฑ์ แต่ถ้าสเกลใหญ่กว่านี้ก็ต้องไปถึงว่านักวิชาการกี่กลุ่มจะต้องเข้ามาดู กระทั่งทำประชาพิจารณ์โน่นนี่ อันนั้นความเข้มแข็งอาจจะเป็นคนอื่น แต่ลานกีฬาพัฒน์คนในชุมชนต้องเข้มแข็งเพื่อให้เขาดูแลพื้นที่ของเขาได้

 

กระบวนการมีส่วนร่วมหรือการทำให้ชุมชนเข้มแข็งด้วยต้นเองได้ จากที่ฟังมาแง่หนึ่งมันช่วยให้การสร้างพื้นที่สาธารณะนี้ไม่สูญเปล่า 

อิสริยา: ใช่ๆ มันไม่ใช่พื้นที่สาธารณะที่สร้างเสร็จแล้วถูกทิ้งร้าง แต่พื้นที่สาธารณะที่มันถูกทิ้งร้างก็อาจจะมีเหตุผลของมันเหมือนกันว่าทำไมถูกทิ้งร้าง และถ้ามองอีกด้านมันคือโอกาสที่ได้เห็นว่าพื้นที่นั้นมีปัญหาอยู่ ถ้ามีใครสักคนที่เป็นคีย์และไปดูว่าเจ้าของพื้นที่คือใคร หน่วยงานไหน ใครจะได้ประโยชน์จากการปรับปรุงพื้นที่นี้ มันมีโมเดลที่เราเคยทำ คือการปรับปรุงพื้นที่ร้างให้กลับมาเป็นพื้นที่ที่มีชีวิตอีกครั้ง เราเลยอยากมองว่ามันเป็นโอกาสมากกว่าว่ามันมีปัญหา และเราสามารถสร้างโอกาสจากการปรับปรุงพื้นที่แบบนี้ได้

ซึ่งในอนาคตพื้นที่สาธารณะมันเป็นสิ่งที่จำเป็นมากสำหรับทุกคน ไม่ใช่แค่คนในกรุงเทพฯ เราก็มีคำถามเหมือนกันว่าพื้นที่สาธารณะ พื้นที่ออกกำลังกาย เหล่านี้เป็นความต้องการของคนเมืองอย่างเดียวหรือเปล่า คนต่างจังหวัดต้องการพื้นที่แบบนี้ไหม เพราะเขาทำงานที่ใช้แรงงาน ไม่ใช่หนุ่มสาวพนักงานออฟฟิศ แต่พอทำโครงการในพื้นที่ต่างจังหวัด เราได้รู้ว่าทุกคนต้องการพื้นที่สาธารณะ เพราะมันคือเรื่องสุขภาพและการได้ออกมาปฏิสัมพันธ์กัน มันเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิต และถ้าเราเห็นพื้นที่ร้างเราก็จะเห็นว่ามันเป็นโอกาส

 

 

โครงการลานกีฬาพัฒน์พิเศษยังไง เข้าใจว่าปัจจุบันโครงการนี้ได้เป็นโมเดลสำหรับออกแบบสวนอื่นๆ ด้วย

อิสริยา: จากโครงการนี้มันทำให้เราได้ไอเดียว่า พื้นที่สาธารณะแบบนี้มันมีประโยชน์ มันทำให้คนในชุมชนได้ลุกขึ้นมาเป็นเจ้าข้าวเจ้าของพื้นที่สาธารณะ ให้เขาได้รู้สึกร่วมว่าเขาได้เป็นเจ้าของโครงการนี้เอง ก็เลยเอาไปขยายผลกับโครงการอื่นๆ ในต่างจังหวัด แล้วเราก็มองว่ามันไม่ใช่โครงการที่ฟ้าประทานทำได้อย่างเดียว แต่ภาครัฐกับโครงการสามารถทำโครงการแบบนี้ร่วมกันได้ ด้วยการเอาโมเดลลานกีฬาพัฒน์ไปเล่าให้เขาฟัง ซึ่งมีหลายเทศบาลที่เขาสนใจและมาร่วมโคงการ

ตอนนั้นเราไปขายงานเขาว่าเราทำกระบวนการมีส่วนร่วม และมีประธานชุมชนบอกว่า จริงๆ คนอื่นเขาก็ทำกระบวนการมีส่วนร่วมนะ เพราะเขต หรือ อบต. เขาก็มีการทำประชาพิจารณ์ แต่การมีส่วนร่วมของเขาๆ บอกว่ามันเเหมือนการไปซื้อเสื้อโหล แต่สิ่งที่เราทำมันคือการซื้อเสื้อสั่งตัดที่มันเหมาะกับตัวเขา ถ้าเป็นกระบวนการมีส่วนร่วมแบบทั่วไป ก็ถามแค่ว่าต้องการมีสวนสาธารณะไหม คำตอบที่ได้ก็คือ ‘มี’ หรือ ‘ไม่มี’ ประชาพิจารณ์มันแค่นั้น แต่ของเราคือการให้เขาได้เข้ามาร่วมทำโครงการ เขาได้เป็นเจ้าของโครงการ เป็นพาร์ตเนอร์ในการทำโครงการด้วยตัวเขาเอง ก็จะย้อนกลับไปที่ว่า ‘ทำไมสวนสาธารณะมันถึงร้าง’ ก็เพราะว่ามันไม่มีใครเป็นเข้าของ หรือรู้สึกเป็นเจ้าของ แต่ว่าอันนี้เราทำให้เขาเป็นเจ้าของตั้งแต่เริ่ม

กิรินทร์: จริงๆ ไม่ได้พิเศษแค่การเป็นโมเดลในการสร้างสวนอื่น แต่ด้วยบริบทของพื้นที่ และการเป็นโครงข่ายของพื้นที่สีเขียว ลานกีฬาพัฒน์ถือเป็นพื้นที่สำคัญมากๆ เพราะหลังจากการพัฒนาที่อยู่อาศัยของการเคหะฯ มันจะมีพื้นที่เศษเหลือ ซึ่งจริงๆ พื้นที่เศษเหลือมันเป็นพื้นที่ที่ดีมาก อีกอย่างมันอยู่ติดกับคลอง เป็นพื้นที่แปลงใหญ่ที่เชื่อมถนนสองเส้นเข้าด้วยกัน

แต่ปัญหาคือก่อนหน้านั้นทางเดินอีกฝั่งมันถูกปิด เดินไม่ได้และไม่มีใครกล้าเดิน ตัวโครงการเรามันก็เลยเหมือนเป็นกรีนลิงก์ที่เชื่อมระหว่างสวนพฤกษชาติคลองจั่น สวนนวมินทร์ภิรมย์ แล้วก็ลานกีฬาพัฒน์นี้เข้าไว้ด้วยกัน เพราะสวนแต่ละสวนก็ไม่เหมือนกัน อันหนึ่งเป็นสวนนันทนาการสำหรับวิ่งออกกำลังกาย ลานกีฬาพัฒน์คือลานกีฬาสำหรับออกกำลัง-แอคทีฟ ส่วนอีกอันมันคือสวนแห่งการเรียนรู้ ซึ่งพอมีโครงการเราสวนในละแวกเดียวกันมันก็ได้ลิงก์กัน และมันทำให้พื้นที่มีความสมบูรณ์ขึ้น อีกอย่างคือมันทำให้คนฝั่งหนึ่งเชื่อมโยงกับอีกฝั่งได้ง่ายขึ้น แทนที่จะไปเดินในแฟลตก็ออกมาเดินที่สวนได้

 

 

ระหว่างทางการทำงานกระทั่งโครงการแล้วเสร็จ เห็นอะไรจากการทำงานครั้งนี้บ้าง

กิรินทร์: ชุมชน ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือเขตเองก็ตาม เขาให้การสนับสนุนดี ไม่อิดออดในการที่จะเข้ามาดูแล และพี่ๆ ที่เขามาทำกระบวนการเขาก็เข้มแข็งจริงๆ เรารู้สึกได้ว่าเขาอิน เพราะพอเขาทำกระบวนการเสร็จ เขาก็มาปลูกต้นไม้ มาจัดงานวันเด็ก มีกิจกรรมเต้นผ้าขาวม้า ทำกิจกรรมต่างๆ ซึ่งพอเรามองไปเราเห็นได้ว่าเขาเป็นกลุ่มก้อนยิ่งกว่าเดิม แล้วก็มีพี่ที่เขาเสียสละในการเดินตรวจสายเช้า-เย็น เขาจะรู้ได้เลยว่ายามที่เขตจ้างมาวันนี้โดดหรือเปล่า เขาเช็คยาม เช็คความเรียบร้อย โดยเฉพาะเรื่องความสะอาดหายห่วงเลย เรารู้สึกว่ามันเป็นไซต์ที่สมบูรณ์ และทุกคนทำด้วยจิตสาธารณะ อาสาที่จะทำเพื่อส่วนรวม

นฤมล: ของเราเรื่องแรกเลยคือปฏิสัมพันธ์ของคนในชุมชน เพราะเดิมทีบริบทของชุมชนเขาเป็นชาวแฟลต อยู่ในแฟลตในห้องสี่เหลี่ยมเป็นชั้นๆ ไม่มีพื้นที่สาธารณะ จริงๆ มันมีแต่อยู่ไกลและเขาต้องเดินข้าวถนนไป อย่างผู้สูงอายุ การที่จะไปสวนสาธารณะมันค่อนข้างลำบาก แต่พอมีลานกีฬาพัฒน์เขาสามารถเดินลงจากแฟลตมาแล้วถึงเลย มันเอื้อให้เขาได้ออกจากพื้นที่สี่เหลี่ยมแคบๆ ได้ออกมาพักผ่อน ออกมาเธอธรรมชาติ ได้มาพูดคุยและรู้จักกับเพื่อนๆ มากขึ้น

ในตอนแรกกิจกรรมต่างๆ มันเกิดจากการที่เราเข้าไปจัดให้เขา แต่ตอนนี้คือเขาสามารถทำกันเองได้ รวมกลุ่มทำกิจกรรมร่วมกันได้ ปัจจุบันเขาก็กลายเป็นกลุ่มผ้าขาวม้ายืดเหยียดที่จะมายืดเหยียดกันทุกจันทร์-พุธ-ศุกร์ แล้วไม่ใช่เล่นกันแค่ในชุมชน แต่เขาได้ไปสอนพื้นที่อื่นๆ ด้วย ซึ่งเรารู้สึกว่ามันคือการยกระดับคุณภาพชีวิต ทำให้ผู้สูงอายุในชุมชนได้เห็นคุณค่าตัวเอง ทั้งยังเป้นการขยายผลไปยังชุมชนอื่นๆ อีกด้วย

อีกส่วนคือรู้สึกว่าชุมชนเห็นศักยภาพของตัวเอง จากตอนแรกที่เขาก็ไม่รู้ว่าจะทำได้มากน้อยแค่ไหน แต่พอได้ทำกิจกรรมด้วยกัน ได้ให้โอกาสเขาเข้ามามีส่วนในการคิดการทำ ให้เขาได้เป็นเจ้าของกิจกรรมนั้น เขาก็เห็นศักยภาพของตัวเอง เห็นศักยภาพของคนอื่น มันเหมือนเราได้สร้างแรงสร้างพลังให้เขา อีกอย่างก็ช่วยลดช่องว่างระหว่างวัยด้วย เวลากิจกรรมจะมีทั้งผู้สูงอายุ เยาวชน คนหลากหลายวัยมาทำงานร่วมกัน พอได้ทำงานร่วมกันเขาก็เข้าใจและรู้ว่าทุกวัยสามารถทำงานร่วมกันได้

อิสริยา: พูดแล้วเหมือนโรแมนติก แต่ต้องได้เห็นตอนที่เขาทำงานร่วมกัน อย่างผู้สูงอายุกับวัยรุ่นเขาแบ่งบทบาทหน้าที่กันได้ดีมาก ถ้าเป็นงานเด็กๆ กลุ่มวัยรุ่นจะเป็นลีด และผู้สูงอายุจะมาซัพพอร์ต ถ้าเป็นงานของผู้สูงอายุเด็กก็จะมาช่วย มาเป็นกำลังแรงให้ เขาเข้ากันได้ดีมากในการทำกิจกรรมร่วมกัน ซึ่งอันนี้มันก็มาจากกลไกการบริหารจัดการพื้นที่ที่มีคณะกรรมการที่เข้าได้ร่วมคิดด้วยกัน เพราะคณะกรรมการที่ว่านี้จะประกอบไปด้วยคนหลายวัย ทั้งผู้สูงอายุ เด็ก ประธานกลุ่มนิติของแฟลต มันทำให้เกิดการพูดคุยกันเยอะขึ้น หลังจากกิจกรรมเสร็จเขาก็จะมาสรุปมาวิเคราะห์ เขาสามารถจัดการจัดเองได้โดยที่เราไม่ต้องไปเป็นพี่เลี้ยงเหมือนแต่ก่อน มีแค่เล็กๆ น้อยๆ ที่ต้องช่วย

มันเปลี่ยนไปจากครั้งแรกมาก ตอนนั้นเราจัดการให้เขาประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์เลย ทั้งช่วยจัดงาน ตกแต่งสถานที่ แต่ตอนท้ายจนถึงปัจจุบันเขาคิดและตัดสินใจเองว่าจะทำอะไร ลงมือทำเอง เรากลายเป็นแค่ที่ปรึกษาให้เขาไปเลย เรารู้สึกว่ามันคือพัฒนาการ คือการดึงศักยภาพของเขาออกมา และเขาก็ได้เห็นคุณค่าของตัวเอง แล้วก็จะมีเรื่องสุขภาพของคนในชุมชนที่ดีขึ้น บางคนแต่ก่อนเดินไม่ได้ ตอนนี้ก็แข็งแรงขึ้นมาก

 

 

ได้เรียนรู้อะไรบ้างจากการทำงานครั้งนี้ เห็นความเปลี่ยนแปลงของตัวเองไหม

กิรินทร์: ถ้าในเรื่องการทำงานของเราที่เป็นนักออกแบบ ในแง่คุณภาพงานดีไซน์ เรารู้สึกว่าเราทำได้ดีมาก ตั้งแต่ทำงานมาสิบปี เรารู้สึกว่างานนี้คืองานที่ดีที่สุดตั้งแต่เคยทำงานมา ที่ว่าดีไม่ใช่วัดผลจากความสวยนะ แต่มันคือการได้ไปไซต์บ่อยๆ แล้วเราได้เห็นการเติบโตของพื้นที่ และไซต์นี้มันเจ๋งมากเพราะเวลามีใครมาเราพาเขาไปได้เลย ไม่ต้องโทรบอกคนดูแลพื้นที่ก่อนด้วยว่า “ทำความสะอากให้หน่อย ทาสี แต่งงานให้เรียบร้อย เพราะพรุ่งนี้จะมีคนไป” มันไม่จำเป็นเลย เราสามารถพาใครก็ได้เข้าไปเพราะสภาพมันไม่ได้แตกต่างไปจากวันที่มันเสร็จ

อิสริยา: จริงๆ ทุกพื้นที่ที่เราไปมันมีปัญหา มีความขัดแย้ง มีความท้าทาย และสิ่งที่เราได้เรียนรู้คือวิธีการดีลกับปัญหา การเผชิญหรือกระทั่งหาโซลูชั่นในการแก้ปัญหานั้น เราได้เรียนรู้จากเขาในเรื่องนั้นๆ ด้วย มันจะไม่ใช่แค่เรื่องของคนใดคนหนึ่ง แต่คือการที่ทุกคนมาร่วมคิดร่วมตัดสินใจ เราก็ได้เรียนรู้จากการทำงานการคิดของเขา ซึ่งรู้สึกว่ายิ่งพื้นที่มันยากลำบาก โจทย์มันก็ยิ่งท้าทาย การทำงานมันคือการเรียนรู้ร่วมกัน เขาโตขึ้นเราก็โตขึ้น

นฤมล: ถ้าในส่วนของเราเปลี่ยนแปลงไหม เรารู้สึกว่ามันเปลี่ยนแปลงทัศนคติของเราในอดีต ตอนนั้นเราเป็นสถาปนิกที่จบมาใหม่แล้วก็มาทำเรื่องกระบวนการมีส่วนร่วม มาทำงานชุมชน เรารู้สึกว่าเราเปลี่ยนวิธีคิดในเรื่องการรับฟัง รู้สึกว่าเราฟังและ ไม่ติดสินคนอื่นมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาด้วยการเรียนการสอนที่เราได้เรียนรู้มา การเป็นสถาปนิกเหมือนมันต้องมีอะไรบางอย่างที่มันบ่งบอกความเป็นสถาปนิก แต่พอมาทำงานกับชุมชนเราคีพความเป็นสถาปนิกไม่ได้เลย เพราะการทำงานชุมชนมันคือความไว้วางใจ การจะทำงานกับชุมชนถ้าเขาไม่วางใจเรา หรือเรายังมีความเป็นตัวเองสูง การทำงานมันก็จะยาก พอทำงานในชุมชนเรื่อยๆ มันค่อยๆ ทะลายความเป็นปัจเจกของเราไป เราเปิดรับความคิดเห็นและพร้อมที่จะเรียนรู้กับชุมชนมากขึ้น

 

 

Photo by Panoramic Studio, Asa Gajaseni , Shma Soen Company Limited, Krit Pornpichitphai

 

Share :