CITY CRACKER

ออกแบบภูมิทัศน์และสถาปัตยกรรมช่วยรับมือการกราดยิง เน้นการมองเห็น ช่วยชะลอผู้ก่อเหตุ

โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการกราดยิงในโรงเรียน ที่เกิดขึ้นกับเด็กๆ ถือเป็นเหตุรุนแรงที่ส่งผลกระทบกับความรู้สึกของผู้คนอย่างรุนแรงและลึกซึ้ง การสูญเสียนี้จึงกลายเป็นวาระแห่งชาติ หนึ่งเหตุการณ์สะเทือนขวัญของสหรัฐอเมริกา คือเหตุการณ์กราดยิงที่โรงเรียนประถมแซนดี้ฮุก (Sandy Hook Elementary School) ที่เกิดขึ้นในปี 2012

เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้เหล่านักออกแบบทั้งสถาปนิกและนักออกแบบภูมิทัศน์ผู้รับผิดชอบการออกแบบสวนสวยและพื้นที่รอบๆ อาคาร จึงเริ่มคิดว่าตึกอาคารที่เราออกแบบนี้ อาจต้องคำนึงถึงประเด็นเรื่องความปลอดภัยขึ้นมาด้วย ซึ่งหลังจากนั้น 1 ปี ก็มีแนวทางการออกแบบโรงเรียนเพื่อความปลอดภัยขึ้น มีการแนะนำแนวทางการออกแบบตัวอาคารและภูมิทัศน์เพื่อช่วยป้องกันและบรรเทาเมื่อยามเกิดเหตุร้าย เช่น การใช้ไม้พุ่มมีหนามที่อาจช่วยทำให้ผู้ก่อเหตุเคลื่อนตัวได้ช้าลง

 

โรงเรียนประถมแซนดี้ฮุกเดิม by cnn.com

 

สถาปนิกกับการออกแบบป้องกันก่อการร้าย

บทบาทของสถาปนิกที่ออกแบบตึกอาคารเพื่อทำให้พื้นที่สาธารณะทั้งหลายปลอดภัยขึ้นไม่ใช่เรื่องใหม่ ในสหรัฐเองสถาปัตยกรรมเริ่มเข้ามามีบทบาทและให้งานออกแบบเอื้อกับความปลอดภัยตั้งแต่ปี 1995 หลังจากมีเหตุระเบิดที่โอกลาโฮมา ซิตี้ ในปี 1995 พวกอาคารของรัฐเองก็เริ่มออกแบบโดยเน้นการป้องกันเหตุ เช่น มีการวางแนวเสาไฟ หรือกระถางปูนเพื่อกำกับเส้นทางของรถที่อาจมีระเบิดภายในไม่ให้เข้าถึงตัวตึกได้โดยง่าย ใช้กระจกนิรภัยที่ทนต่อแรงระเบิด โดยประเด็นเรื่องความปลอดภัยในงานออกแบบเริ่มขยายตัวมาสู่อาคารอื่นๆ นอกเหนือจากพื้นที่ราชการ เริ่มต้นขึ้นหลังยุคเหตุการณ์ 9/11 ปี 2001

หลังเหตุการณ์ 9/11 ความกลัวการก่อการร้ายเกาะกุมไปทั่วทุกวงการของชาวอเมริกันรวมไปถึงวงการนักออกแบบภูมิทัศน์ด้วย ในปี 2004 สามปีให้หลังเหตุการณ์ก่อการร้ายสำคัญ สมาคมภูมิสถาปนิกแห่งสหรัฐ (American Society of Landscape Architects) ได้จัดการประชุมในหัวข้อ Safe Spaces: Designing for Security and Civic Values ประเด็นที่นักออกแบบพูดคุยแลกเปลี่ยนกันก็มีตั้งแต่การปรับปรุงกำแพงโบราณให้ทนทานโดยไม่กระทบกับตัววัสดุเดิม ไปจนถึงการเลือกใช้และออกแบบพืชพรรณที่หนาแน่นในระดับที่พอเหมาะ คือส่งผลให้รถยนต์ขับได้ลำบาก แต่คนยังเดินได้สะดวก

 

ucsusa.org

 

ออกแบบโรงเรียนปลอดภัย กับการก่อการร้ายรูปแบบใหม่ที่สหรัฐกำลังเผชิญ

ในเดือนธันวาคม 2012 ชาวอเมริกันต้องเผชิญกับเหตุการณ์น่าสลดและน่าตกใจครั้งใหญ่ เมื่อวัยรุ่นวัยเพียง 20 ปี หยิบเอาอาวุธปืนและเข้ายิงสังหารเด็กนักเรียนและครูในโรงเรียน ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 26 ราย 20 คนในนั้นเป็นเพียงเด็กนักเรียนอายุเพียง 6-7 ขวบเท่านั้น เหตุการณ์สะเทือนขวัญดังกล่าวไม่ใช่ครั้งสุดท้ายของการกราดยิง (mass shooting) อันเป็นรูปแบบการก่อการร้ายใหม่ที่สหรัฐกำลังเผชิญ พื้นที่ของโศกนาฏกรรมของการกราดยิงไม่ใช่สถานที่ราชการ แต่เป็นพื้นที่อ่อนไหว โดยเฉพาะโรงเรียน ไปจนถึงที่ที่มีประชาชนไปใช้กันอย่างหนาแน่น

หลังจากนั้นไม่นาน ในปี 2013 สมาคมปืนเล็กยาวแห่งชาติอเมริกา (อังกฤษ: National Rifle Association of America, ย่อ: NRA) ตรงนี้ก็อาจจะย้อนแย้งนิดหน่อย เพราะว่าสมาคมนี้เป็นกลุ่มสนับสนุนสิทธิครอบครองอาวุธปืนกลุ่มใหญ่ที่สุดในสหรัฐ และคงเป็นกลุ่มที่เชี่ยวชาญเรื่องอาวุธ ก็เลยออกแนวทางและคำแนะนำในการออกแบบโรงเรียนเพื่อป้องกันกรณีการบุกยิงอย่างที่เกิดที่เกิดที่แซนดี้ฮุกไป

คือโอเค สมาคมสนับสนุนการครอบครองปืน ออกแนวทางการออกแบบให้โรงเรียนเป็นป้อมปราการ ก็ฟังดูแปลกๆ และแนวทางนี้ก็เป็นแค่แนวทางที่ทางภาครัฐไม่ได้นำไปใช้เป็นแนวทางการออกแบบอย่างเป็นทางการแต่อย่างใด แต่ตัวรายงานฉบับนี้ก็นำโดยผู้เชี่ยวชาญจากภาครัฐ จากทหารอาชีพ ไปจนถึงคนจากกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ (Homeland Security)

ในรายงานฉบับดังกล่าวก็มีข้อแนะนำว่าโรงเรียนจะใช้การออกแบบเพื่อป้องกันตัวเองจากเหตุฉุกเฉินได้อย่างไร นับตั้งแต่แนวคิดพื้นฐานเช่นการวางผังเป็นชั้นๆ แบบหัวหอม โดยใช้แต่ละชั้นที่แยกออกจากกันเป็นตัวป้องกันและส่วนหลบภัย คำแนะนำนั้นลึกไปถึงการเลือกใช้วัสดุ เช่นการเลือกรั้วที่แสดงพื้นที่อย่างชัดเจนเพื่อชี้ว่าจุดนี้คือพื้นที่ของโรงเรียนนะ นอกจากนี้ยังมีจุดแนะนำเล็กๆ เช่นการใช้ตัวหยุดประตู ที่สามารถใช้บล็อกประตูได้ยามฉุกเฉิน หาซื้อได้ทั่วไปแถมมีราคาถูก

ในแง่ของงานออกแบบภูมิทัศน์เอง ก็มีคำแนะนำโดยละเอียดในการเลือกใช้และพิจารณาต้นไม้พืชพรรณภายในโรงเรียน เพื่อลดความเสี่ยงและเพิ่มความปลอดภัย เช่นระวังการปลูกต้นไม้ใหญ่ใกล้ตัวอาคาร ต้นไม้หนาๆ ก็ต้องระวังเพราะอาจบดบังและสร้างจุดอับสายตาได้ เน้นออกแบบลานโล่งๆ เพื่อวางจุดรวมตัว มีข้อแนะนำน่ารักๆ เช่น เน้นการปลูกไม้พุ่มที่ใบคมหรือมีหนามเป็นปราการตามธรรมชาติ ทำให้ผู้บุกรุกเคลื่อนที่ได้ช้าลง แต่ตัวรายงานนี้ก็ถูกโจมตีและถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าจินตนาการหรือเปล่า และเราจะไว้ใจแนวทางจากกลุ่มสนับสนุนปืนให้มาบอกวิธีการออกแบบโรงเรียนได้จริงเหรอ

 

publicintegrity.org

 

Sandy Hook งานออกแบบใหม่ป้องกันเหตุซ้ำสอง

กลับมาที่โรงเรียนประถมแซนดี้ฮุก ทางโรงเรียนได้มีการจัดการออกแบบโรงเรียนขึ้นมาใหม่โดยที่ทีมออกแบบ Svigals + Partners design ร่วมกับทีมภูมิสถาปัตย์จาก Richter & Cegan ในการออกแบบโรงเรียนนี้ ได้เน้นแนวคิดเรื่องความปลอดภัยและการป้องกันเป็นหัวใจของงานสถาปัตยกรรมและงานออกแบบสวนรอบๆ ในแง่งานออกแบบทีมออกแบบวางระบบความปลอดภัยไว้ถึงสามระดับ ตั้งแต่งานออกแบบพื้นที่ การใช้เทคโนโลยี และการฝึกทักษะของครูและเจ้าหน้าที่ของโรงเรียน

ในแง่งานออกแบบพื้นที่ถาวรเป็นเรื่องของสถาปัตยกรรมเป็นหลัก โดยเฉพาะสวนด้านนอกที่ช่วยควบคุมการเคลื่อนตัวของผู้ใช้งานและฝูงชนได้ งานออกแบบด้านหน้าถูกออกแบบโดยคำนึงและสร้างแนวป้องกันไว้สองชั้น ตัวสวนมีลักษณะลดหลั่นลงทำให้ตัวตึกสามารถมองเห็นผู้มาเยือนจากมุมสูงได้ กำแพงในห้องเรียนได้รับการปรับปรุงให้แข็งแรงขึ้น กระจกถูกเปลี่ยนเป็นวัสดุที่ทนต่อแรงกระแทก ส่วนเทคโนโลยีก็เน้นวางโครงข่ายกล้องเข้ากับงานสถาปัตยกรรม ระบบล็อกประตูอัตโนมัติ พอมีสองสวนนั้นแล้ว คุณครูก็ต้องเข้าใจระบบและสามารถพานักเรียนผ่านพ้นเหตุการณ์เลวร้ายได้ด้วยการฝึกหัดในการเฝ้าระวังและรับมือเหตุฉุกเฉินต่างๆ

โรงเรียนประถมแซนดี้ฮุคใหม่ หน้าตาใหม่สดใส เน้นเรื่องความปลอกภัยเพื่อความอุ่นใจ by dezeen.com

 

อาจจะด้วยสหรัฐเป็นประเทศที่เจอกับเรื่องหนักๆ ตั้งแต่เหตุก่อการร้ายไปจนถึงภัยธรรมชาติ โดยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นค่อนข้างรุนแรงและส่งผลสะเทือนไปยังทุกภาคส่วน การป้องกันเหตุไม่ให้เกิดซ้ำจึงเป็นกระบวนการที่ทุกฝ่ายใส่ใจและร่วมมือกันทำอย่างแข็งขันและจริงจัง งานสถาปัตยกรรมที่คำนึงถึงความปลอดภัยและป้องกันเหตุที่เฉพาะเจาะจงจึงเป็นแนวทางการออกแบบการเรียนรู้ใหม่ๆ เป็นโจทย์ที่นักออกแบบต้องช่วยกันแก้ที่แม้ว่าอาจจะไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ แต่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยบรรเทาเมื่อเกิดเหตุทั้งหลายขึ้น

 

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

theverge.com

architectmagazine.com

fastcompany.com

assets.documentcloud.org

architecturaldigest.com

 

Illustration Thitaporn Waiudomwut
Share :