CITY CRACKER

โมเดลไม่ใช่สูตรสำเร็จ มองการพัฒนาเมืองและก้าวย่างต่อไปของขอนแก่น ผ่านขอนแก่นโมเดล กับรศ.ดร.รวี หาญเผชิญ และศุภกร ศิริสุนทร

เมืองที่ดีเพื่อความเป็นอยู่ของผู้คน ไม่ใช่แค่การพัฒนาศูนย์กลางอย่างกรุงเทพฯ แต่เมืองต่างๆ ในประเทศไทย รวมถึงผู้คนที่อยู่อาศัยอยู่ในเมืองนั้นๆ ต่างอยากเห็นเมืองที่เราอยู่พัฒนาไปข้างหน้า แต่ด้วยระบบการบริหารจัดการที่เป็นแบบรวมศูนย์และไม่กระจายอำนาจ ทำให้หลายครั้งเป็นอุปสรรค และทำให้การพัฒนาเมืองให้ดีได้นั้นเกิดขึ้นได้ยากเมื่อเทียบกับเมืองอื่นๆ ในโลก 

จากประเด็นการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นที่ยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริงของไทย เพื่อให้การพัฒนาของเมืองท้องถิ่นสามารถดำเนินไปได้ เราจึงได้ ‘ขอนแก่น’ ลุกขึ้นพัฒนาเมืองอย่างจริงจังภายใต้ ‘ขอนแก่นโมเดล’ แผนพัฒนาเมืองที่เกิดขึ้นจากการรวมกลุ่มขององค์กรภาคเอกชน ภาคประชาสังคม หอการค้า สภาอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัย รวมไปถึงภาคท้องถิ่น ที่มองเห็นปัญหาโครงสร้างของการบริการจัดการเมือง และได้ร่วมมือกันจัดตั้งบริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง (เคเคทีที) จำกัด เพื่อระดมความคิดคิดและวางแผนพัฒนาเมืองขับเคลื่อนเมืองให้เกิดเป็นรูปธรรม 

ที่ผ่านมาเราเองได้เห็นความร่วมมือมากมายที่เกิดขึ้นภายใต้แผนพัฒนานี้ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ สิ่งแวดล้อม ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของเมือง ซึ่งล่าสุดช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา ขอนแก่นได้เปิดตัวรถไฟฟ้ารางเบา (LRT) ในงานเทศกาลอีสานสร้างสรรค์ (Isan creative festival 2022) และจากภาพฝันการพัฒนารถไฟฟ้ารางเบาในอดีต ก็ได้กลายเป็นภาพใหม่ที่เป็นรูปธรรมของขอนแก่น 

แม้ดูเหมือนขอนแก่นจะเป็นเมืองที่กล้าลุกขึ้นมาพัฒนาเมืองอย่างจริงจังด้วยรูปแบบการพัฒนาใหม่ๆ ที่พยายามพึ่งพารัฐให้น้อยลงนั้น แต่ด้านหนึ่งโมเดลการพัฒนาเมืองนี้ก็ถูกตั้งคำถาม โดยเฉพาะความล่าช้าของระยะเวลาในการขับเคลื่อนโครงการใหญ่ๆ อย่างรถไฟฟ้าที่ล่วงเลยมานานหลายปี  เราจึงชวน รศ.ดร.รวี หาญเผชิญ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และศุภกร ศิริสุนทร นักการตลาด/ครีเอทีฟ ที่ทั้งสองเป็นผู้ร่วมขับเคลื่อนโครงการพัฒนาเมืองขอนแก่น มาสนทนาว่าการริเริ่มของขอนแก่นโมเดล ปัจจัยต่างๆ ที่พาขอนแก่นกลายมาเมืองที่อยากสมาร์ตในปัจจุบัน อุปสรรคและปัญหาของการพัฒนา จนถึงก้าวย่างต่อไปในอนาคตของเมืองแห่งนี้    

Khon Kaen City : ขอนแก่นซิตี้

จุดเริ่มต้นและความหมายของขอนแก่นโมเดล

ระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา คำว่า ขอนแก่น ขอนแก่นโมเดล ตลอดจนขอนแก่นพัฒนาเมือง เป็นคำที่เราได้ยินมาอย่างต่อเนื่อง และเข้าใจว่าเป็นโมเดลพัฒนาเมืองที่ท้องถิ่นอย่างขอนแก่นได้นำมาเป็นแผนพัฒนาเพื่อพาเมืองก้าวข้ามไปสู่ความเจริญและการเป็นเมืองอัจฉริยะ ซึ่งรศ.ดร.รวี หาญเผชิญ อธิบายขอนแก่นโมเดลนี้ว่า คือแผนพัฒนาเมืองที่เกิดจากการยกระดับสิ่งที่เรียกว่าผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมาเป็นผู้กระทำการ และพัฒนาจากผู้กระทำการมาเป็นองค์กร ในชื่อที่เรียกว่า ‘ขอนแก่นพัฒนาเมือง’ โดยจะทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมโยงผู้คนในเมืองให้มาระดมความคิดร่วมกันและออกมาเป็นขอนแก่นโมเดล

ด้วยการปกครองของไทยที่เป็นแบบรวมศูนย์อำนาจ และการพัฒนาเมืองอื่นๆ หรือจังหวัดอื่นๆ นั้นขึ้นอยู่กับรัฐบาลส่วนกลาง ทำให้หลายครั้งความเจริญที่เราอยากขับเคลื่อนไปนั้นเปลี่ยแปลงได้ช้า ขอนแก่นโมเดลจึงเป็นการพัฒนาเมืองรูปแบบใหม่ที่จะต่างออกไปจากรูปแบบการรวมศูนย์ ซึ่งศุภกร ศิริสุนทร อธิบายว่า ขอนแก่นโมเดล คือโมเดลการพัฒนาเมืองในรูปแบบที่ต่างจังหวัดคิดและลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของตัวเอง โดยที่ไม่พึ่งพางบประมาณของรัฐส่วนกลาง แต่ยังพึ่งรัฐอยู่ในบางเรื่อง เนื่องจากการอนุมัติสร้างโครงการใดๆ นั้นต้องมีรัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง  

จากการรวมกลุ่มของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมากมายของเมือง ทั้งภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ตลอดจนภาคประชาชนที่มองเห็นปัญหา ขอนแก่นจึงเป็นอีกหนึ่งเมืองที่คิดว่าต้องเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง โดยการเดินหน้าขับเคลื่อนเมืองในฐานะผู้กระทำการ ก่อนจะพัฒนาผู้กระทำการนั้นมาเป็นองค์กรมากมายที่พยายามขับเคลื่อนเมืองขอนแก่นให้งอกงามไปได้

 

Isan creative festival 2022

 

สร้างพื้นที่ที่เปิดโอกาสและสร้างบรรยากาศพัฒนาเมือง

แม้จะเป็นเวลานานหลายปีหลังจากการเกิดขึ้นของขอนแก่นพัฒนาเมือง หรือจะการขับเคลื่อนขอนแก่นในอดีตก่อนนั้น แต่องค์ประกอบการพัฒนาหนึ่งที่เมืองแห่งนี้มีอยู่ตลอดและมีมาอย่างต่อเนื่องก็คือเครือข่าย หรือกลุ่มคนที่อยากเห็นเมืองที่ตนอาศัยอยู่เจริญก้าวหน้าไป เครือข่ายหรือกลุ่มคนมากมายนี้จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ขอนแก่นดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง

“การรวมกลุ่มกันทำอะไรสักอย่างในวาระที่ไม่ใช่เรื่องของประโยชน์ส่วนตัว แต่เป็นเรื่องที่กระทบกับคนมากมาย บางครั้งนำมาซึ่งความขัดแย้ง การทำงานในลักษณะที่เป็นสาธารณะจึงเกิดขึ้นได้ยากในบางพื้นที่ แต่สำหรับขอนแก่นตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเรามีพื้นที่และแพลตฟอร์มมากมาย ที่ผู้คนได้มาพูดคุยแลกเปลี่ยนเพื่อสื่อสารเสวนากันว่า เราจะเอายังไง เราจะแก้ปัญหานี้ยังไง เรามีพื้นที่หรือแพลตฟอร์มแบบนี้เยอะมาก ทำให้เอกชนรวมไปถึงองค์กรปกครองท้องถิ่นเขามองเห็นภาพกัน เลยทำให้ความร่วมมือต่างๆ เกิดขึ้นได้ง่าย เลยดูเหมือนว่าการทำงานหลายๆ ประเด็นนั้นก้าวไปข้างหน้า” ศุภกรกล่าว

Isan creative festival 2022 (nationtv.tv)

 

นอกจากนี้รศ.ดร.รวี ยังบอกกับเราว่า การเปิดโอกาสหรือพื้นที่ให้คนได้มาคุยกันเป็นอีกบรรยากาศหนึ่งที่ไม่เป็นทางการ สิ่งหนึ่งที่เราคิดว่าจะต้องรักษามันไว้ตลอดคือการทำให้มันจับต้องได้ คือทำต้นแบบ เราไม่ได้อยากไปเปลี่ยนนโยบาย เพราะว่าการเปลี่ยนนโยบายของบ้านเรามันเป็นไปในลักษณะที่เราต้องเข้าไปเป็นตัวแทนในสภา อะไรต่างๆ ซึ่งเรามองว่าการขับเคลื่อนเมืองในลักษณะของการสร้างบรรยากาศ สร้างจิตวิญญาณ สร้างต้นแบบ เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนน่าจะยั่งยืนกว่า ซึ่งตรงนี้จะเป็นแนวทางที่ถูกพัฒนาอยู่ตลอดและขอนแก่นเองต้องทำต่อไปเรื่อยๆ”

กิจกรรม เสวนาเยาวชนฟังเมือง ตอน วิถีทุ่งสร้าง (Cr: Rawee Hanpachern)

 

เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม แต่ยังไม่เรียกว่าสำเร็จ

การพัฒนาขอนแก่นภายใต้ ‘ขอนแก่นโมเดล’ นั้นถือได้ว่ามีความก้าวหน้าเมื่อเทียบกับหลายๆ เมือง ไม่ว่าจะเป็นการพยายามขับเคลื่อนเมืองให้เป็นสมาร์ตซิตี้ หรือจะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น รถไฟฟ้ารางเบา ในด้านการพัฒนาที่ทำให้เห็นว่าเมืองแห่งนี้เจริญก้าวย่างไป จึงเหมือนว่าขอนแก่นนั้นประสบความสำเร็จ หรือเกิดคำถามต่อโมเดลการพัฒนาเมืองนี้ว่าขอนแก่นเรียกได้ว่าสำเร็จได้แล้วรึยัง 

ซึ่งศุภกรบอกกับเราว่า ไม่สามารถบอกได้เหมือนกันว่าอนาคตที่จะเกิดขึ้นกับขอนแก่นจะเป็นอย่างไร และไม่สามารถวัดได้ในตอนนี้ว่าขอนแก่นประสบความสำเร็จรึยัง เราอาจจะต้องใช้เวลา 10 ปี หรือ 20 ปี เพราะเราอยู่ในสังคมที่มีพลวัตอย่างไดนามิกมากๆ นอกจากเรื่องขนส่งสาธารณะหรือรถไฟฟ้ารางเบา ขอนแก่นยังมีมิติทางสังคมอีกมากมายที่ต้องได้รับการสปอตไลท์ (spotlight) รวมถึงยังมีคนอีกจำนวนมากที่เขาอาจตกขบวนไป หรืออาจถูกทิ้งไว้ข้างหลังจากการพัฒนา 

อาคารผู้โดยสารสนามบินขอนแก่นหลังใหม่ (khonkaenlink.info)

 

ทางด้าน รศ.ดร.รวี อธิบายเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาเราได้เรียนรู้และมีแฮปปี้กับการการที่คนรุ่นใหม่ได้มีส่วนร่วม และเขารู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาซึ่งตรงนี้เรียกว่าเป็นรูปธรรมไหมไม่แน่ใจ แต่กระนั้นไม่ใช่เราสมบูรณ์แล้ว ขอนแก่นยังต้องเรียนรู้ต่อ ซึ่งเราเองทั้งภาคธุรกิจ ภาควิชาการ ประชาชน ตลอดจนเทศบาลท้องถิ่นก็พยายามทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้เกิดพื้นที่ของความคิดอยู่สม่ำเสมอ และสุดท้ายภาคส่วนทั้งหมดนี้จะต้องร่วมกันขับเคลื่อนเมืองให้พัฒนาไปด้วยกัน 

 

Khon Kaen City Bus (khonkaencitybus.com)

ความท้าท้ายและก้าวย่างต่อไปของการพัฒนาเมืองขอนแก่น

เมื่อมองเข้าไปยังขอนแก่น เราเองได้เห็นทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ ตลอดจนพัฒนาคุณภาพชีวิตควบคู่กันไป เพื่อให้เมืองและคนในเมืองได้รับสิ่งดีๆ การพัฒนาเมืองโดยมองผลประโยชน์ของสาธารณะหรือคนหมู่มากเองก็ดูจะเป็นการกระทำเชิงบวก แต่ด้านหนึ่งการพัฒนาเพื่อส่วนรวมที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในหลายๆ ภาคส่วน ตลอดจนการสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับสังคมก็มีความท้าทายไม่น้อย 

“เป็นเรื่องท้าทายว่าถ้าวันข้างหน้ามีขนส่งสาธารณะมากขึ้น คนจะเปลี่ยนพฤติกรรมจากการใช้รถยนต์ส่วนตัวไปนั่งขนส่งสาธารณะกันไหม หรือว่าย้ายไปเปลี่ยนไปเยอะแค่ไหน สิ่งนี้น่าจะเป็นความท้าทายของเราในอนาคตที่จะต้องสื่อสารเพื่อจะทำยังไงก็ได้ให้คนเปลี่ยน คิดเล่นๆ ว่าขอนแก่นพูดเรื่องนี้เยอะแล้ว แต่ประเด็นเรื่องพวกนี้ยังมีคนคิดว่าขนส่งสาธารณะหรือรถไฟฟ้ารางเบาจะมาเบียดบังพื้นผิวการจราจร จะทำให้รถติดมากขึ้น” 

 

รถไฟฟ้ารางเบาขอนแก่น (khonkaenlink.info)

 

“ขณะเดียวกันโครงการที่เป็นโครงการขนาดใหญ่ เช่นโครงการที่เป็นเรื่องขนส่งสาธารณะหรือรถไฟฟ้ารางเบา มันยังเป็นโครงการที่มีความยากและความท้าทายอยู่ และต้องยอมรับว่าขอนแก่นโมเดลที่เป็นการพัฒนาท้องถิ่นด้วยตัวเองและไม่พึ่งงบประมาณรัฐนั้น แม้จะเหมือนไม่พึ่งพารัฐ แต่ในทางปฏิบัติจริงๆ การขับเคลื่อนประเด็นบางอย่างก็ยังต้องพึ่งพาสิ่งที่เป็นอำนาจรัฐ หรือผู้มีอำนาจอย่างรัฐส่วนกลางอยู่ดี” ศุภกรกล่าว

นอกจากความท้าทายเรื่องการสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับผู้คนจำนวนมาก ด้วยตัวระบบโครงสร้างการปกครองของไทยเองนั้น ทำให้ความสามารถในการกระจายอำนาจเกิดขึ้นได้ยาก ประเด็นนี้จึงถือเป็นอีกหนึ่งความท้าทายของการพัฒนาขอนแก่นและเมืองอื่นๆ ซึ่งศุภกรกล่าวทิ้งท้ายว่า ขอนแก่นโมเดลอาจจะไม่ใช่สูตรสำเร็จของการพัฒนาท้องถิ่น แต่มองว่าการที่จะกระจายอำนาจออกไปให้ท้องถิ่นตัดสินใจ กำหนด หรือบริหารจัดการภาษีหรืองบประมาณตัวเองได้ แล้วก็เลือกผู้นำท้องถิ่นของตัวเองได้ น่าจะยั่งยืนกว่าที่จะขับเคลื่อนให้ท้องถิ่นเจริญไปได้มากกว่านี้

 

Graphic Design by Thanaphum Thongprasert
Share :