CITY CRACKER

จากอหิวาตกโรคถึงไวรัสโคโรน่า เมื่อโรคระบาดส่งผลต่อผังเมือง

คำว่า ‘โรคระบาด’ โดยเฉพาะการระบาดใหญ่ดูจะเป็นคำที่แทบจะมาพร้อมกับพื้นที่เมือง (urban) แทบจะทันที ส่วนหนึ่งคือเมืองเป็นพื้นที่อาศัยอันหนาแน่น ประกอบไปด้วยผู้คนมากหน้าหลายตา การมีโรคอะไรสักอย่างเกิดขึ้น เมืองจึงเป็นพื้นที่สำคัญในการระบาดของโรค ประวัติศาสตร์ของเมืองใหญ่นั้นจึงมักมีโรคระบาดประกอบอยู่ด้วยเสมอ และในทางกลับกัน เมืองอย่างที่เราเห็นๆ อยู่ในปัจจุบันนั้น คือเมืองที่มีการปรับตัวเพื่อรับ และรอดชีวิตผ่านการระบาดครั้งแล้วครั้งเล่า โรคระบาดจึงเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เมืองใหญ่มีหน้าตา มีสาธารณูปโภค มีการสาธารณสุขในปัจจุบัน

 

เมืองใหญ่นับตั้งแต่ที่เมืองเริ่มก่อตัวขึ้น ด้วยการขาดแนวคิดเรื่องการสาธารณสุขทั้งในระดับชุมชนและตัวอาคารในยุคแรกๆ ทำให้เมืองเป็นพื้นที่สำคัญของการระบาด กระทั่งเป็นดินแดนของความตาย การระบาดสำคัญๆ นำไปสู่การปรับปรุงสาธารณูปโภคของเมืองเพื่อป้องกันและรับมือการระบาดและสุขภาพผู้คนต่อไป จากโรคระบาดสำคัญเช่นกาฬโรค โรครุนแรงเช่นอีโบล่า เรื่อยมาจนถึงโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ เช่นไข้หวัดสเปน ซาร์ส หรือเมอร์ส จนกระทั่งถึงโคโรน่าไวรัส

การระบาดสำคัญในครั้งนี้ย่อมนำไปสู่การปรับตัวเพื่อรับมือโรคภัยใหม่ เมือง การสาธารณสุขและสาธารณูปโภคพื้นฐานต้องปรับตัว ปรับปรุงอย่างไร เมื่อเราต้องรับมือกับโรคที่คราวนี้ มีอาการแสดงไม่มาก ฟักตัวนาน ทำให้การแพร่ระบาดเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว บางครั้งโรคนี้อาจเป็นอีกหนึ่งการปริแตกของปัญหาเมือง สภาพสังคม และความเป็นอยู่ร่วมสมัยที่หลังจากนี้ เราอาจเห็นหน้าตาของเมืองและชีวิตประจำวันแบบใหม่

 

กาฬโรค อหิวาต์ โคโรน่า โรคประจำเมืองใหญ่

คำว่าเมือง หรือ urban setting โดยเฉพาะในยุคแรกๆ ไม่เชิงว่าเป็นเมืองศิวิไลซ์ งดงามดั่งฝันขนาดนั้น เมืองเป็นพื้นที่ของอุตสาหกรรม แหล่งงาน ตัวตึกอาคารยุคแรกๆ ก็เป็นแบบสมัยใหม่ยุคต้นๆ เมืองเต็มไปด้วยความไร้ระเบียบ ไม่มีการสาธารณสุข ทำให้เมืองเป็นดินแดนแห่งความป่วยไข้ ช่วงกลางศตวรรษที่ 19 เมืองกำลังหนาแน่นขึ้น ในพื้นที่เมืองใหญ่กลับมีอัตราการตายที่พุ่งสูงขึ้น นักประวัติศาสตร์ชาวอเมริกันเรียกนิยามบ้านในเมืองใหญ่ของอเมริกาในยุคนั้น ว่าเป็นแดนสนธยา มีคนเข้ามาทำงาน และหามศพออกไป อัตราการตายของทารกอายุน้อยกว่า 5 ขวบในเมืองใหญ่ มีอัตราการตายมากกว่าทารกในชนบทถึง 2 เท่า

แน่นอนว่าปัญหาเมืองในยุคแรกเกิดจากความหนาแน่นและการขาดสาธารณสุขที่เหมาะสม เมืองอุตสาหกรรม เช่นนิวยอร์ก ด้วยความเฟื่องฟูทำให้ผู้อพยพทั้งหลายทะลักเข้าสู่มหานครใหม่ ไล่ตามฝันทั้งในโรงงานและในอาคารสูง ในปี 1847 นิวยอร์กเผชิญกับอหิวาต์ครั้งใหญ่ ประชากรทั้งหน้าใหม่หน้าเก่าในนิวยอร์กกระโดดขึ้นไปสู่หลักครึ่งล้าน ในขณะเดียวกันก็มีรายงานการเสียชีวิตจากอหิวาต์ที่ 5,000 ราย

จากกึ่งศตวรรษ ช่วยปลายศตวรรษ ด้วยกระแสและเทคโนโลยีบางอย่าง เช่นการเกิดขึ้นของแฟลชในกล้องถ่ายภาพ ทำให้เกิดภาพถ่ายซอกมุมและงานเขียนที่ตีแผ่ชีวิตสยองขวัญที่ไม่ไปตามความฝันแบบอเมริกัน ในช่วงศตวรรษนั้น อเมริกาจึงค่อยๆ ปฏิรูปบ้าน และเมืองใหญ่ ให้ดีต่อสุขภาพและผู้อยู่อาศัยมากขึ้น จากดินแดนสุมทุมของโรคระบาด เกิดข้อกำหนดอาคารที่ต้องมีหน้าต่างภายนอก มีระบบระบายอากาศ มีห้องที่เหมาะสม มีระบบป้องกันอัคคีภัย เมืองด้านนอกก็เริ่มมีการปฏิรูป มีสวน มีพื้นที่สาธารณะ มีคลินิกโรงพยาบาล ศูนย์บริการสาธารณสุข ไปจนถึงการบริหารทรัพยากรพื้นฐาน น้ำสะอาด ระบบสุขาภิบาล มีระบบทำความสะอาดฆ่าเชื้อในขนส่งมวลชนและที่สาธารณะ

จากยุคนั้นทำให้พื้นที่เมืองดีกับสุขภาพและอนามัยมากกว่าพื้นที่ชนบท จากการเข้าถึงบริการสุขภาพและการดูแลสุขาภิบาลต่างๆ จะมีก็แต่โรคคนเมืองบางอย่างเช่นเบาหวาน โรคอ้วน และจากพฤติกรรม ที่ส่งผลกับสุขภาพคนเมืองมากกว่าคนในพื้นที่ภายนอก

 

อหิวาต์กับส้วมและการจัดการสุขาภิบาลของสยาม

สยาม-กรุงเทพฯ บ้านเราก็มีประเด็นกับโรคระบาดมาช้านาน อหิวาต์เองก็เป็นโรคที่สร้างเรื่องให้พระนครของเราด้วย ช่วงต้นกรุง กรุงเทพฯ ที่เริ่มหนาแน่นก็เริ่มเจอกับโรคระบาด ในสมัยรัชกาลที่ 2 กรุงเทพเผชิญการระบาดของอหิวาต์ โรคสำคัญที่ฟังดูธรรมดาในยุคนั้นคร่าชีวิตผู้คนไปอย่างมากมาย มีบันทึกบันทึกไว้ว่าผู้คนล้มตายกันดาษดื่น ศพก่ายกองอยู่ในวัดจนพระเองก็ต้องหนีออกจากวัด ในหลวงรัชกาลที่ 2 จึงโปรดเกล้าฯ จัดพระราชพิธีอาพาธพินาศ มีการแห่พระแก้วมรกตและโปรยน้ำปริตรอบพระนคร เป็นพิธีที่อาจจะใช้รักษาโรคปัจจุบันไม่ได้ เพราะมีข้อเขียนว่า ขนาดผู้ร่วมขบวนนั้น ก็มีการบาดเจ็บล้มลงทั้งขณะร่วมขบวนหรือกระทั่งหลังเสร็จพิธี ก็เสียชีวิตติดโรคไปตามกัน

แต่ว่า ในพระราชพิธีนั้นเอง ในขั้นตอนก็มีการที่พระเจ้าอยู่หัวประทับทรงศีล และรับสั่งให้ข้าราชการทั้งหลายร่วมกันถือศีล มีการงดพระราชกรณียกิจ งดการเฝ้าแหน โดยภาพรวมแล้วก็ถือเป็นกระบวนการลด-ระงับการระบาดไปโดยปริยาย เมื่อหลังพระราชพิธีการระบาดก็บางเบาลง นับจากรัชกาลที่ 2 มาจนถึงรัชกาลที่ 5 อหิวาห์ก็ยังเป็นปัญหาการระบาดอยู่เนืองๆ จนกระทั่งสยามเริ่มมีความรู้จากตะวันตก เข้าใจสาเหตุของโรค หลังจากนั้นสยามก็เลยมีการปฏิรูป มีความระมัดระวังเรื่องน้ำกินน้ำใช้ เป็นจุดเริ่มของการจัดการด้านอนามัย สิ่งแวดล้อม การบริหารจัดการระบบน้ำ และการสุขาภิบาล การมาถึงของระบบส้วม ความสะอาดทั้งหลายที่เรามีจนเป็นเรื่องปกตินี้ ก็ล้วนเกี่ยวข้องกับการระบาดในอดีต

 

มองเห็นเมืองในมิติใหม่ จากการระบาดของโคโรน่า

โรคระบาดและผังเมืองเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงกัน ศาสตราจารย์  Michele Acuto ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายเมืองโลกและการออกแบบอธิบายความสำคัญของการระบาดนี้กับเมืองไว้ว่า ที่ผ่านมาเรามีทัศนวิสัยของเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปตามเงื่อนไข และตามกาลเวลา จากยุคแห่งโรคระบาดที่เมืองปรับตัวมาสู่เมืองสุขภาพดี การระบาดของอีโบล่าทำให้เมืองและประเทศทั้งหลายเริ่มเข้าใจเรื่องความเชื่อมต่อ (connectivity) ระหว่างเมืองด้วยกัน โรคซาร์สทำให้ความปรารถนาในการเชื่อมต่อของผู้คนในเมืองสมัยใหม่ถูกตั้งคำถาม โคโรนาไวรัส ในฐานะเชื้อที่แสนจะเงียบงัน แพร่ไว คร่าชีวิตได้ประมาณหนึ่งนั้นก็ดูจะกำลังท้าทายเราในมิติของความเป็นเมืองและการปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คน

แน่นอนว่าการระบาดเกี่ยวข้องกับเมืองและผังเมือง ในระดับเบื้องต้น ผังเมืองในปัจจุบัน การระบาดส่งผลกระทบกับผู้คนหมู่มาก โดยเฉพาะในเมืองที่พึ่งพิงขนส่งสาธารณะ พื้นที่เช่นป้ายประจำทาง รถโดยสารทั้งหลายดูจะเป็นพื้นที่สีแดงที่ผู้คนเสี่ยงกับการติดเชื้อ การระบาดจึงกระทบกับผู้คนบางกลุ่มได้มากกว่า เช่นผู้มีรายได้น้อย ทั้งจากการพึ่งพารถสาธารณะและลักษณะการทำงานที่ไม่คล่องตัว

ในภาพที่กว้างขึ้นนั้น การระบาดของโคโรน่านำไปสู่ความพยายามทำความเข้าใจการระบาดของไวรัสผ่านการมองเมืองใหม่ เมืองร่วมสมัยเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ไวรัสที่เงียบงันนี้แพร่ระบาดได้ เมืองที่มีความหนาแน่นสูง มีกิจกรรมทางสังคม มีการสัมผัสเชื่อมต่อกัน จากเมืองที่กระตุ้นให้ผู้คนมีปฏิสัมพันธ์กันตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 20 นั้น ด้วยเงื่อนไขและการระบาดแบบใหม่จากความหนาแน่น ปฏิสัมพันธ์ในเมือง หรือระหว่างผู้คนอาจกำลังถูกนิยามและเปลี่ยนแปลงรูปแบบไป ประเด็นเรื่องการกระจายความหนาแน่นของเมือง การเปลี่ยนจากการพัฒนารวมศูนย์ (decentral) ไปจนถึงแนวคิดสุดขั้วจากนายกเทศมนตรีปารีสเรื่องเมือง 15 นาที ที่ต้องการให้เมืองและคนเมืองสามารถเข้าถึงทุกอย่างได้แค่ช่วงระยะการเดินนั้น การกลับมาของย่านก็ดูจะสอดคล้องกับการพึ่งพาการเดินทางด้วยรถและขนส่งสาธารณะ

 

ถ้าย้อนดูประวัติศาสตร์เมือง ผังเมืองและการพัฒนาเมืองที่เกิดขึ้นราวๆ กลางถึงปลายศตวรรษที่ 19 ยุคนั้นการจัดการน้ำและการสาธารณสุขเป็นเครื่องมือสำคัญในการทำให้เมืองปลอดเชื้อ ในยุคร่วมสมัยที่เราเริ่มมีพื้นที่พิเศษเช่นพื้นที่ดิจิทัล มีการส่งต่อข้อมูลข่าวสาร กระทั่งมีการพบปะเชื่อมกับผู้คนผ่านโลกเสมือน การปรากฏขึ้นของโลกดิจิตัล พร้อมๆ กับโรคระบาดแบบใหม่นี้ ดังที่ศาสตราจารย์ Acuto กล่าวถึง พร้อมๆ ไปกับการปรับปรุงระบบขนส่ง ทั้งผู้คน อาหาร และการผลิตไปจนถึงการบริหารจัดการต่างๆ พื้นที่ดิจิทัลก็อาจเป็นพื้นปลอดเชื้อใหม่ ในยุคโคโรน่าไวรัสก็เป็นได้

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

citylab.com

theatlantic.com

nytimes.com

cnnphilippines.com

hfocus.org

silpa-mag.com

 

Illustration by Montree Sommut
Share :