CITY CRACKER

โรงเพาะชำและโดมกระจก ประวัติศาสตร์ย่อของการผลิตอาหารในอาคารและการปกป้องเมือง

นับตั้งแต่เราก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 เป็นต้นมา สังคมมนุษย์ก็ดูก้าวหน้าไปอย่างก้าวกระโดด และเราเองอาจก้าวพ้นจากโลกที่แสนหวาน ไปแตะเข้ากับดินแดนแห่งอนาคตแบบที่เราเคยดูในหนังไซไฟ จากเมืองแสนสะดวกสบาย มีอินเตอร์เน็ต แทบเล็ต รถยนต์ขับเคลื่อนตัวเอง ไปสู่โลกที่เริ่มใช้ชีวิตอย่างเคยๆ ไม่ได้ กลายเป็นเมืองที่สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงไปจนไม่เหมาะกับการอยู่อาศัย จนถึงการใช้ชีวิตแบบใหม่ท่ามกลางโรคระบาด

 

เมื่อภูมิอากาศและภูมิประเทศเริ่มอาศัยอยู่ยาก ในนิยายโลกอนาคตมักมีภาพอาคารหรือกระทั่งเมืองทั้งเมืองที่ถูกคลุมด้วยโดมกระจกหน้าตาเหมือนลูกบอลขนาดมหึมา เจ้าโดมแก้วนี้คือการสร้างสภาพแวดล้อมแบบปิด โดยด้านในมักมีการควบคุมสภาพแวดล้อมต่างๆ ให้เหมาะสมกับสิ่งมีชีวิตนั้นๆ ภาพโดมที่ใหญ่ โค้งมนขึ้นเรื่อยๆ ก็ดูจะสัมพันธ์ทั้งกับวิทยาการการก่อสร้างของเราและความจำเป็นที่ค่อยๆ ก้าวเข้ามาถึง

โดมขนาดใหญ่ ที่ครอบไว้เพื่อให้สิ่งมีชีวิตเจริญเติบโต แง่หนึ่งก็คล้ายๆ กับอาคารโรงเพาะชำ- Green House อย่างที่คุ้นเคยกัน จริงๆ แล้วความพยายามของมนุษย์ในการเพาะปลูกพืชด้วยการลงทุนสร้างพื้นที่ปิดในนามของโรงเพาะชำเป็นวิทยาการเก่าแก่ยุคก่อนคริสตกาลกันเลยทีเดียว จากความต้องการหลังคาโปร่งแสงเรื่อยมาจนกระทั่งเรามีวิทยาการที่ดีขึ้น ไปสู่เหล็กเส้น แผ่นกระจกใส ไปจนถึงองค์ความรู้เรื่องคณิตศาสตร์ที่ดีขึ้นเรื่อยๆ โดมสำหรับสิ่งมีชีวิตหรือไบโอโดมที่ค่อยๆ ใหญ่ขึ้นก็ดูจะเป็นจริงขึ้นมาได้

commons.wikimedia.org

 

Green House เมื่อเราอยากปลูกพืช เอาชนะธรรมชาติมาตั้งแต่ยุคโรมัน

คำว่า Green House ฟังดูเป็นนวัตกรรมและความพยายามอันใกล้ โดยเฉพาะจากประเทศในแถบเมืองหนาว ที่มีวิทยาการทางการก่อสร้างด้วยกระจกและเหล็ก พร้อมด้วยความรู้ทางพฤกศาสตร์ แต่เรือนเพาะชำแห่งแรกนั้นย้อนหลังไปไกลถึงยุค 30 ปีก่อนคริสตกาล ในสมัยอาณาจักรโรมันโบราณโน่นเลยทีเดียว

จุดเริ่มต้นของเรือนเพาะชำนั้นดูจะคล้ายๆ กับเทรนด์สุขภาพในปัจจุบัน ยุคนั้นมีจักรพรรดิพระองค์หนึ่งชื่อ Tiberius โดยพระองค์นั้นได้รับการถวายคำแนะนำจากหมอหลวงว่าพระองค์ควรเสวยผลแตงกวา (จริงๆ เป็นพืชที่หน้าตาเหมือนแตงกวาแหละ) เป็นประจำทุกวัน กระนั้นเอง ผู้ดูแลสวนของพระองค์ก็เลยจัดการสร้างอาคารปิดหลังหนึ่งขึ้น เป็นอาคารหินที่มีการควบคุมบรรยากาศอย่างเฉพาะเจาะจง เพื่อให้เจ้าแตงกวานั้นเติบโตออกผลได้ตลอดปี

ตัวอาคารเพาะชำสมัยโรมันนั้นเป็นอาคารก่อขึ้นด้วยหินอย่างหนา มีระบบให้ความอบอุ่นเหมือนเตาผิงด้วยการก่อไฟ และสุมอังความร้อนผ่านกำแพงหินเพื่อให้อุณหภูมิภายในโรงเรือนอุ่น เหมาะสมกับพืชพรรณตลอดทั้งปี โดยวัสดุหลังคามุงด้วยแผ่นแร่หินพิเศษ เช่น แร่ยิปซั่ม selenite เพื่อให้หลังคามีลักษณะโปร่งแสง สามารถปล่อยแสงธรรมชาติเข้าสู่อาคาร อันเป็นปัจจัยสำคัญของเหล่าพืชพรรณ -คือต้นแตงกวา-ในการเจริญเติบโต

จากการกินแตงกวาเพื่อให้สุขภาพดี ทำให้เห็นวิทยาการและความรู้สมัยโรมันในการพยายามเอาชนะธรรมชาติ และผลิตพืชผักตามความต้องการให้ได้ไม่ว่าสภาพอากาศจะเป็นอย่างไร นอกจากสมัยก่อนคริสตกาลแล้ว ในสมัยถัดมา เช่นในสมัยราชวงศ์โชซอนของเกาหลีช่วงทศวรรษ 1450 ก็มีการพูดถึงการสร้างโรงเรือนพร้อมระบบทำความอบอุ่นเพื่อปลูกผักในช่วงฤดูหนาว

southpolestation.com

วิทยาการของกระจกใส เหล็กเส้น และความหลงใหลในพืชพรรณเขตร้อน

แน่นอนว่าเรือนกระจกเป็นรูปแบบอาคารและความนิยมจากโลกตะวันตก โดยเฉพาะในช่วงศตวรรษที่ 17 ช่วงเวลาที่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เริ่มเฟื่องฟู ความสนใจเรื่องพืชพรรณ การเพาะต้นไม้ทั้งเพื่อการผลิตยาหรือการศึกษาทางพฤกษเคมี ประกอบกับการล่าอาณานิคมที่ทำให้ยุโรปคลั่งไคล้เหล่าพืชพรรณจากเขตร้อน ประกอบกับเทคโนโลยีที่สูงขึ้นทำให้สามารถผลิตกระจกคุณภาพดีขึ้น เรือนกระจกแบบที่เราคุ้นเคยจึงค่อยๆ ถูกพัฒนาขึ้น

เรือนกระจกที่พระราชวังแวร์ซายถือเป็นตัวอย่างความพยายามและการทดลองสร้างเรือนเพาะชำ เรือนกระจกเก่าแก่จากศตวรรษที่ 17 นี้เป็นเรือนกระจกขนาดใหญ่ กว้าง 13 เมตร ยาว 150 เมตรและสูง 14 เมตร

 

gardenerscorner.gabrielash.com

 

เรือนกระจกในฐานะส่วนประกอบสำคัญของโลกวิทยาศาสตร์เกิดขึ้นในช่วงกลางทศวรรษ 1800s เรือนกระจกที่ออกแบบเพื่อใช้งานจริงจังแห่งแรก ยกเครดิตให้กับนักพฤษศาสตร์ชาวฝรั่งเศสที่ไปคิดค้นทดลองสร้างไว้ที่เมือง Leiden ประเทศฮอลแลนด์โดยมีจุดประสงค์เพื่อเลี้ยงพืชสมุรไพรเขตร้อน จากเรือนกระจกที่เคยอยู่ในคฤหาสน์และพระราชวังจึงเริ่มเป็นที่นิยมและปรากฏขึ้นในมหาวิทยาลัยต่างๆ

ในฝรั่งเศสและหลายประเทศในยุโรปนั้น ยุคแรกเรียกเรือนกระจกตามชื่อของพืช ที่เจ้าเรือนกระจกนั้นถูกสร้างขึ้นเพื่อเลี้ยงดูป้องกันพวกมันจากภัยหนาว เรือนกระจกแห่งแรกของฝรั่งเศสถูกเรียกว่า orangeries ที่อยู่ของส้ม และหลังจากนั้นมีการปลูกสัปปะรด ก็มีโรงสัปปะรดหรือ pineries เกิดขึ้นตามมา

หลังจากนั้นในยุควิคตอเรียน ด้วยความสนใจและความเฟื่องฟูจากเหล่าพืชพรรณต่างแดนที่ทะลักเข้าสู่ยุโรปผ่านการล่าอาณานิคม ในยุคนั้นไม่ว่าจะด้วยความต้องการเก็บสะสมหรือจัดแสดงพืชพรรณองค์ความรู้จากทั่วโลก เรือนกระจกและสวนพฤกษศาสตร์ เช่นสวนคิวการ์เดนอันโด่งดัง ก็เริ่มผุดขึ้นทั่วยุโรป

Kew garden by ravendesignnews.com/

 

Geodesic dome กับการมาถึงของโดมและโลกอนาคต

จริงๆ อาคารทรงโดมเป็นสถาปัตยกรรมที่มีมานานแล้ว มนุษยชาติพยายามสร้างรูปทรงโดม โดยเฉพาะยุคหลังที่เริ่มมีความต้องการสร้างหอดูดาว ไปจนถึงเรือนเพาะชำสำหรับการสังเกตธรรมชาติต่างๆ แต่อาคารโดมหน้าตาทันสมัย อันเป็นวิทยาการที่ใช้โครงสร้างทางวิศวกรรม ประกอบเป็นโดม หรืออาคารทรงลูกโลกนั้นมักยกความดีให้กับ Buckminster Fuller

อธิบายอย่างสรุปคุณฟูลเลอร์เป็นวิศวกรที่คิดค้นโดมทรงกลม ที่สร้างขึ้นด้วยโครงสร้างแบบพิเศษที่ใช้รูปทรงสามเหลี่ยมเรียงต่อกันเพื่อรับนับหนักลดหลั่นกันไป โดยพื้นฐานของฟูลเลอร์นั้นเป็นการคิดเทคนิกทางวิศวกรรมแบบน้อยแต่มาก เขาใช้วิธีสังเกตเอาจากโครงสร้างต่างๆ ในธรรมชาติที่เรียบง่าย ดูเปราะบาง แต่ก็แข็งแรงในตัวเอง เช่นเกล็ดหิมะ คริสตัลดอกไม้ กระเปาะเมล็ดพืช ส่วนหนึ่งของการคิดค้นโดมของฟูลเลอร์นั้น เกิดจากความต้องการโครงสร้างบ้านหรือเพิงพักแบบเร่งด่วน อันเกิดจากภาวะขาดแคลนที่อยู่อาศัยในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

แน่นอนว่าทรงโดมกระจกนั้นตอบสนองกับเรือนกระจก ในการสร้างพื้นที่เพาะปลูกที่ต้องการแสงสว่าง จากวิทยาการโดมทรงลูกโลกเริ่มแพร่หลาย อาคารเรือนกระจกหลายที่ก็เริ่มรับเอารูปแบบโครงสร้างที่เรียบง่าย ทรงประสิทธิภาพ แถมดูสวยงามล้ำสมัยนี้ เข้าไปสร้างเป็นเรือนเพาะชำ เป็นเรือนกระจกและสวนพฤกษศาสตร์อย่างแพร่หลาย

Photograph by Eberhard von Nellenburg, cropped by Dezeen

 

ฟูลเลอร์เองนอกจากจะเป็นวิศวกรแล้ว ตัวแกเองยังเป็นนักคิดและคนที่มองไปยังโลกอนาคต ด้วยเทคนิกการก่อสร้างที่ทำให้เกิดโครงสร้างทรงกลมขนาดใหญ่ ในปี 1960 ในยุคที่อเมริกันเจอปัญหามลพิษจากอุตสาหกรรมและความหนาแน่น ฟูลเลอร์เสนอวาดภาพโดมขนาด 3 กิโลเมตรที่สร้างครอบแมนฮัตตันเอาไว้ เพื่อป้องกันผู้คนจากมลพิษ หลังจากนั้นก็มีข้อเสนอสร้างโดมครอบ ที่ฟังดูทำไม่ได้จริง

แต่ด้วยความปรารถนาปลูกพืชทั้งเพื่อการผลิตอาหาร และสร้างพื้นที่เฉพาะสำหรับมนุษย์ ในยุคร่วมสมัยของเราก็เริ่มมีอาคารโดมขนาดใหญ่ที่เป็นโดมชีวภาพ สร้างขึ้นเพื่อสิ่งมีชีวิตต่างๆ รวมถึงมนุษย์เช่น The Sphere ของบริษัทอเมซอน The Jewel ของสิงคโปร์ ไปจนถึงอาคารโดมกระจกขนาดมหึมาที่ออกแบบในสภาวะแวดล้อมที่ยากลำบากเช่นห้างที่ดูไบ

The Sphere / archinect.com

จากหลายเหตุปัจจัย ทั้งวิทยาการ และความจำเป็นที่เข้ามาท้าทายอารยธรรมและภูมิปัญญาของเรา เมืองในครอบโดม จึงอาจจะไม่ใช้สิ่งที่เหนือความคาดหมายอีกต่อไป

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

davesgarden.com

britannica.com

bfi.org

vice.com

 

Illustration by Napadon Wongcharoensawad
Share :