CITY CRACKER

จากทุ่งพระเมรุสู่ท้องสนามหลวง ทบทวนความหมายของสนามหลวงในห้วง 200 ปี

ช่วงนี้มีข่าวการสร้างอุโมงค์บริเวพระบรมมหาราชวัง พร้อมๆ กับกระแสเรื่องการอนุรักษ์อาคารเก่าแก่ต่างๆ เช่น สกาล่า ห้างนิวเวิลด์ โดยอุโมงค์ที่ กทม. กำลังลงมือสร้างนี้ก็อาจมองได้ว่าเป็นความพยายามในการจัดการภูมิทัศน์ ให้พื้นที่ด้านหน้าพระบรมมหาราชวังมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย ย้ายห้องน้ำ ย้ายทางเข้าพระบรมมหาราชวังลงไปอยู่ใต้ดิน ในขณะเดียวกันก็อาจหมายรวมถึงความปลอดภัยด้วย

 

อย่างไรก็ตามอุโมงค์มูลค่าพันล้านนี้ก็นำมาด้วยประเด็นเรื่องความคุ้มค่า การรักษาโครงสร้างของโบราณสถานและต้นไม้เก่าแก่ ซึ่งนอกจากเรื่องอุโมงค์ซึ่งเป็นแนวทางการพัฒนาที่เป็นกายภาพแล้ว การพัฒนานี้ยังสัมพันธ์กับแนวคิดเรื่องอนุรักษ์พัฒนาในสังคมไทย และเกี่ยวข้องกับพื้นที่บริเวณกลางเกาะรัตนโกสินทร์อันเป็นพื้นที่ที่สำคัญและมีความหมายซับซ้อนยิ่ง

นอกจากพระบรมมหาราชวังแล้ว ท้องสนามหลวงจึงเป็นหนึ่งพื้นที่สำคัญที่สัมพันธ์กับตัวอุโมงค์และการพัฒนาพื้นที่กลางเกาะรัตนโกสินทร์ของกรุงเทพมหานคร ซึ่งสนามหลวงเองก็กำลังมีทิศทางการพัฒนาที่ค่อนข้างปิด เน้นการรักษาภูมิทัศน์และความสงบเรียบร้อย City Cracker ได้พูดคุยกับอาจารย์ ดร.พรธรรม ธรรมวิมล ภูมิสถาปนิกแห่งกรมศิลปากรผู้เคยทำงานวางผังพระเมรุมาศถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เกี่ยวกับความสำคัญของสนามหลวง ความหมายที่เปลี่ยนแปลงไป ว่าโดยส่วนหนึ่งนั้นความเข้าใจเรื่องประวัติศาสตร์ของสนามหลวงอาจทำให้เราเข้าใจสนามหลวงในฐานะพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ พื้นที่แห่งความทรงจำ พื้นที่สาธารณะ ที่อาจนำไปสู่มุมมองในการบำรุงรักษาที่มีความซับซ้อน และรักษาทั้งชีวิตชีวาของพื้นที่ พร้อมรักษาความเป็นมรดกและความทรงจำไว้ได้อย่างเข้าอกเข้าใจมากขึ้น

สนามหลวงนั้นเป็นพื้นที่ที่อยู่คู่กรุงรัตนโกสินทร์มาเท่ากับอายุ ตัวพื้นที่ลานกว้างนอกพระบรมมหาราชวังแห่งนี้มีความเปลี่ยนแปลงเชิงความหมายและการใช้งานไปตามแนวคิดและประวัติศาสตร์ของกรุงเทพมหานคร ส่วนหนึ่งดูจะเกี่ยวข้องกับบทบาทของภูมิทัศน์ จากการเป็นพื้นที่เชิงฟังก์ชั่น เป็นพื้นที่สำหรับปลูกข้าวเพื่อเลี้ยงพระนครและสถานที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพและเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ มาสู่การเป็นเครื่องประดับของเมืองตามแนวคิดสมัยใหม่และสุนทรียภาพแบบตะวันตกในรัชกาลที่ 4-5 ก่อนที่สนามอันกว้างขวางกลางเมืองแห่งนี้จะถูกปรับไปสู่พื้นที่ของสามัญชน เป็นพื้นที่สาธารณะในการเปิดตลาดค้าขายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองและหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

wikimedia.org

 

สนามหลวงในพระบรมมหาราชวัง/ ทุ่งพระเมรุนอกพระบรมมหาราชวัง

เรารู้จักท้องสนามหลวงในฐานะทุ่งพระเมรุ ลานขนาดใหญ่ที่ใช้สำหรับประกอบพระราชพิธีต่างๆ โดยเฉพาะการสร้างพระเมรุมาศเพื่อถวายพระเพลิงพระศพและพระบรมศพ แต่เดิมนั้นทุ่งกว้างหน้าพระบรมมหาราชวังและวังหน้านั้นนอกจากจะใช้ถวายพระเพลิงแล้ว ยังใช้สำหรับปลูกข้าวด้วย ด้วยความที่ช่วงต้นกรุงนั้นพระนครยังกังวลเรื่องการศึกสงครามและการถูกล้อม การมีพื้นที่ผลิตอาหารกลาง- สำหรับพระนครจึงเป็นพื้นที่สำคัญ ด้านหนึ่งนั้นสนามหลวงช่วงรัชกาลที่ 1-3 เมื่อว่างจากพระราชพิธีพระศพและพระบรมศพนั้นก็ค่อนข้างเป็นทุ่งว่างๆ รกร้าง นอกจากปลูกข้าวทำนาแล้ว ก็ยังเป็นแหล่งอาหาร สัตว์เลื้อยคลาน นก ปลาให้กับประชาชนด้วย

แต่เดิมในช่วงต้นกรุงนั้น คำว่าสนามหลวงก็มีอยู่ แต่ไม่ได้หมายถึงทุ่งพระเมรุหรือสนามของหลวงขนาดใหญ่ แต่สมัยก่อนตามโบราณราชประเพณีและการสร้างพระราชวังนั้น ในสถาปัตยกรรมและภูมิทัศน์ก็จะมีการสร้างสนามหลวงเป็นสนามขนาดเล็กประกอบอยู่ในพื้นที่พระราชวังนั้น ตัวสนามหลวงแต่เดิมนั้นจึงเป็นพื้นที่เข้าเฝ้าและออกว่าราชการของพระเจ้าอยู่หัว เป็นที่ๆ ขุนนางเข้าเฝ้า หรือสวนสนามโดยมีพระมหากษัตริย์เสด็จประทับทอดพระเนตร

silpa-mag.com

 

จากสี่เหลี่ยมคางหมู่ สู่ลานทรงอัฒจรรย์

จากรัชกาลทื่ 1-3 อันเป็นช่วงสร้างบ้านแปลงเมือง พอล่วงมาถึงรัชกาลที่ 4 การฟื้นฟูและสถานการณ์ของพระนครเริ่มนิ่งขึ้น การศึกจากศัตรูเดิมเริ่มคลายลงและเกิดการมาถึงของโลกตะวันตกพร้อมความสัมพันธ์รูปแบบใหม่ที่สยามเริ่มต้องเข้าสู่ความสัมพันธ์และการเป็นส่วนหนึ่งของโลก

ในช่วงรัชกาลที่ 4 พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ละเอียดอ่อน สนพระทัยการใช้คำและความเป็นอยู่ มีการปฏิรูปกฏหมายตั้งแต่เรื่องใหญ่ๆ ไปจนถึงเรื่องเล็กๆ เช่นการใช้คำเรียกต่างๆ ที่ไม่งดงาม สำหรับทุ่งกลางพระนครนั้นพระองค์ก็ทรงเห็นว่าการมีทุ่งแล้วใช้แต่งานอวมงคลพร้อมรู้จักในนามทุ่งพระเมรุก็ฟังดูไม่งามนัก พระองค์พระราชทานนามเรียกขานทุ่งนั้นใหม่ว่าท้องสนามหลวงตามประกาศว่า “ที่ท้องนาหน้าวัดมหาธาตุนั้น คนอ้างการซึ่งนาน ๆ มีครั้งหนึ่งแลเป็นการอวมงคล มาเรียกเป็นชื่อตำบลว่า ‘ทุ่งพระเมรุ’ นั้นหาชอบไม่ ตั้งแต่นี้สืบไปที่ท้องนาหน้าวัดมหาธาตุนั้น ให้เรียกว่า ‘ท้องสนามหลวง’”

หลังจากเปลี่ยนชื่อแล้ว พระองค์ก็เลยเปลี่ยนฟังก์ชั่นของสนามหลวงที่เคยใช้ประกอบเพียงพระราชพิธีอวมงคล ปรับไปสู่การประกอบพระราชพิธีอันเป็นมงคล โดยเฉพาะพระราชพิธีที่เกี่ยวกับการเกษตร ฟ้าฝนอันเป็นการฝึกฟื้นกำลังใจให้กับชาวพระนคร โดยเฉพาะการประกอบพระราชพิธีพืชมงคล มีการตั้งกำแพงแก้ว หอพระพุทธรูป และพลับพลาในการทอดพระเนตรการทำนา มีการสร้างยุ้งหลวงไว้เก็บผลผลิต นอกจากพระราชพิธีแรกนาแล้วก็ยังประกอบพระราชพิธีอื่นด้วยเช่นพระราชพิธีพิรุณศาสตร์ เพื่อให้ฟ้าฟนตกต้องเหมาะกับการกสิกรรม

หลังจากสมัยรัชกาลที่ 4 เข้าสู่รัชกาลที่ 5 นั้น หลังจากมีการยุบวังหน้า และการเสด็จประพาสกอปรกับความเปลี่ยนแปลงทางความคิดที่ก้าวไปสู่การรัฐ และความศิวิไลซ์จากตะวันตก ในตอนนั้นสนามหลวงยังเป็นทุ่งที่มีขนาดเพียงครึ่งเดียวของปัจจุบัน ตัวทุ่งเป็นทรงสี่เหลี่ยมคางหมู มีพลับพลาสำหรับประทับชมการทำนาปลูกข้าว แต่เมื่อรัชกาลที่ 5 เสด็จขึ้นครองราชย์และมีการยกเลิกวังหน้า เมื่อเสด็จกลับมาแล้วจึงมีการปรับสนามหลวงให้กลายเป็นพื้นที่เชิงภูมิทัศน์  โปรดเกล้าฯ ให้ขยายพื้นที่สนามหลวงให้กว้างขวาง เป็นรูปทรงแบบสนามลานกว้างและวางให้สนามหลวงเป็นเหมือนลานหรือพลาซ่าแบบตะวันตก รื้อพลับพลาออก มีการปลูกแนวต้นมะขาม ตัดถนนให้รถวิ่งได้รอบ ในรัชสมัยของพระองค์สนามหลวงก็ถูกใช้ไปกับกิจกรรมแบบสมัยใหม่แบบตะวันตก เช่นใช้เป็นสนามกอล์ฟ หรือใช้ในการแข่งม้า

สนามหลวงในยุคนี้จึงเป็นยุคที่เริ่มปรับไปสู่ความเป็นสมัยใหม่ กลายเป็นส่วนหนึ่งของเมือง เป็นความงามที่เป็นทั้งส่วนประกอบทางภูมิทัศน์ของพระบรมมหาราชวัง ในขณะเดียวกันก็แสดงถึงความยิ่งใหญ่ศิวิไลซ์ผ่านการออกแบบพื้นที่เมือง

 

silpa-mag.com

 

สนามหลวงยุคปวงชน จากพื้นที่ค้าขายสู่พื้นที่ของประชาชน

สำหรับเด็กยุค 90 ที่แม้ว่าภาพของสนามหลวงจะเริ่มเปลี่ยนไปสู่พื้นที่เฉพาะและพื้นที่ของการอนุรักษ์มากแล้ว ในยุคก่อนหน้าคนกรุงเทพฯ มีภาพสนามหลวงเป็นพื้นที่พักผ่อน รวมตัว นั่งเล่นนอนเล่น ไปเล่นว่าวในช่วงหน้าร้อน หัดขี่จักรยาน ซึ่งสนามหลวงนั้นถูกเปลี่ยนแปลงความหมายและการใช้งานโดยสัมพันธ์ไปกับการเปลี่ยนแปลงเชิงอำนาจของรัฐ และการเปลี่ยนการปกครอง

การปฏิวัติ 2475 ของคณะราษฎรนั้น นอกจากจะเป็นการเปลี่ยนเชิงอำนาจ มีการสถาปนารัฐธรรมนูญขึ้นแล้ว ในมิติของพื้นที่และมิติทางวัฒนธรรมนั้น คณะราษฎรเองก็ได้ตระหนักถึงความสำคัญและความพยายามเปลี่ยนแปลงเชิงสัญลักษณ์ต่างๆ ตั้งแต่ตึกอาคารแบบสมัยใหม่ตามแนวถนนราชดำเนิน การออกแบบสัญลักษณ์ เช่นพานแว่นฟ้า และแน่นอนว่า สนามหลวงเองก็ได้รับการนิยามความหมายและการใช้งานขึ้นใหม่ ในยุคของคณะราษฎรสนามหลวงได้เปลี่ยนจากพื้นที่เฉพาะของอำนาจเดิม ไปสู่การเป็นพื้นที่ของประชาชนที่อาจเรียกได้ว่าเป็นพื้นที่สาธารณะ ไปจนถึงพื้นที่ทางการเมืองด้วย

ในสมัยคณะราษฎรได้จัดการเปิดพื้นที่สนามหลวง ตั้งแต่ในปี 2480 ที่คณะราษฎรใช้พื้นที่ที่เคยเป็นของระบอบเดิม ไปสู่การใช้พื้นที่ของสามัญชนด้วยการใช้ท้องสนามหลวงเป็นที่เผาทหารที่เสียชีวิตในการต่อสู้กับกบฏบวรเดช 17 นาย พร้อมกันนั้นก็ได้มีการสร้างเมรุเผาศพสำหรับสามัญชนขึ้น

หลังจากนั้นในสมัยจอมพล ป. ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยผลจากภาวะสงคราม สนามหลวงก็กลายเป็นพื้นที่มวลชนอย่างเต็มตัว ในปี 2491 เป็นช่วงเวลาที่ไทยกำลังเผชิญภาวะข้าวยากหมากแพง ในตอนนั้นจอมพล ป. ก็จัดการเปิดสนามหลวงเพื่อให้เป็น ‘ตลาดนัดส่งเสริมอาชีพกสิกรรมและเกษตรกรรม’ ขึ้น โดยในยุคนั้นทั้งจอมพล ป. และจอมพลสฤษดิ์ได้มีความพยายามรับมือวิกฤติเศรษฐกิจด้วยการเปิดตลาดนัดเพื่อการจับจ่ายขึ้นหลายแห่ง ก็เจอปัญหาบ้าง เติบโตบ้าง โดยตลาดนัดสนามหลวงถือเป็นตลาดนัดยอดนิยมที่คึกคักอยู่ยั้งยืนยง

ตลาดนัดที่สนามหลวงถือเป็นจุดเริ่ม และเป็นตลาดยอดนิยมตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 2490 เรื่อยมาจนถึงปี 2500 ทางนายกเองก็มีการจัดการ ย้ายไปย้ายมาอยู่หลายที ด้วยความที่ตลาดนั้นแสนจะฮิต แต่ในแง่หนึ่งการจัดการ การดูแลพื้นที่ของพ่อค้าแม่ขายก็ไม่สู้ดีนัก ต้นไม้น้อยใหญ่ พื้นทางได้รับผลกระทบจากน้ำร้อนจากหม้อก๋วยเตี๋ยว จากน้ำล้างจานบ้าง ส่งเสียงส่งกลิ่นกะปิน้ำปลาบ้าง จนกระทั่งในปี 2525 ทางการเตรียมจัดงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปีที่ท้องสนามหลวง กรุงเทพฯ เลยจัดการปิดพื้นที่ค้าขายเพื่อเตรียมสนามหลวงสำหรับงานสำคัญ และย้ายกิจการค้าขายทั้งหมดไปสถิตอยู่ที่ตลาดนัดสวนจตุจักรจนถึงยุคปัจจุบัน

 

facebook.com/ThaiNewsPix/

 

สนามหลวงจึงเป็นพื้นที่แห่งประวัติศาสตร์ แง่หนึ่งนั้นจึงเป็นพื้นที่แห่งความทรงจำ เป็นพื้นที่ที่สัมพันธ์กับรัฐ กับประชาชน เป็นพื้นที่ชุมนุมทางการค้า จนถึงพื้นที่ความทรงจำทางการเมือง ภาพของต้นมะขามในฐานะภูมิทัศน์อันสวยงาม แต่ในขณะเดียวกันเป็นส่วนหนึ่งของความทรงจำของการต่อสู้เรียกร้อง เป็นพื้นที่ปวงชนและประชาธิปไตย ทั้งยังมีอีกมุมที่สนามหลวงกลายเป็นแหล่งรวมนัดพบ

 

ทัศนะหนึ่งของอาจารย์ ดร.พรธรรม ธรรมวิมลมองเห็นว่าปัญหาด้านหนึ่งของการพัฒนา ที่ในที่สุดอาจมุ่งเน้นไปเพียงแต่ตึกอาคาร หรือการรักษาภาพบางอย่างไว้ จนหลงลืมคน-ความเป็นย่านนั้น ก็อาจทำให้พื้นที่เก่าแก่กลางเมืองนี้กลายเป็นพื้นที่แห้งแล้งและขาดชีวิตชีวาของความเป็นย่าน กลายเป็นพื้นที่สวยงามเพียงเวลาที่มีนักท่องเที่ยวเยี่ยมชม ซึ่งก็อาจนำไปสู่ปัญหาที่กังวลและต้องไล่แก้ไขด้วยการล้อมรั้ว ซึ่งไม่ใช่วิธีที่ยั่งยืนนัก

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

news.mthai.com

vajirayana.org

silpa-mag.com

silpa-mag.com

books.google.co.th

sites.google.com

 

Illustration by Montree Sommut
Share :