CITY CRACKER

รักษาบึงน้ำธรรมชาติกลางเมือง Hidden Garden บึงน้ำใหญ่ พื้นที่เรียนรู้การอยู่ร่วมกันระหว่างธรรมชาติและมนุษย์กลางอารีย์ 

การใกล้ชิดกับธรรมชาติอาจเป็นอีกหนึ่งความพิเศษที่เริ่มหายากขึ้นทุกวันสำหรับเมืองกรุง

การมีพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ใจกลางเมืองกลายเป็นความน่าตื่นตาตื่นใจเมื่อได้พบเห็น ทั้งที่ความจริงและได้รับการยืนยันทางวิทยาศาสตร์มากมายบอกเราแล้วว่าการมีพื้นที่สีเขียวในเมืองช่วยให้สุขภาพเราดีขึ้นทั้งกายและใจ

ภาพของบึงน้ำขนาดใหญ่ รายล้อมด้วยพรรณไม้แตกต่างสายพันธุ์ที่ใจกลางย่านอารีย์ บริเวณกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม จึงกลายเป็นเหมือนขุมทรัพย์ล้ำค่าอย่างหนึ่งของเมือง ด้วยพื้นที่ขนาดใหญ่ประมาณ 8 ไร่นี้ เต็มไปด้วยพรรณไม้สีเขียว สิ่งมีชีวิตที่หลากหลายไม่ว่าจะเต่าบัว แมลงปอ ผีเสื้อ และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ทั้งในน้ำ บนบก และสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ ทำหน้าที่เป็นพื้นที่อยู่อาศัยสำหรับสิ่งมีชีวิตในเมือง รวมถึงเป็นพื้นที่พักผ่อนของคนเมืองได้อีกด้วย ดังนั้นแล้วแนวทางการพัฒนาเพื่อสร้างพื้นที่ที่เหมาะสมกับทุกสรรพสิ่งมากที่สุดจึงมีหลายอย่างที่ต้องคำนึงถึงมิติด้านต่างๆ ที่เชื่อมโยงถึงกัน ทั้งด้านกายภาพ อารมณ์และจิตใจ

เมื่อวันที่ 19 มีนาคม ที่ผ่านมา ทางกลุ่ม AriAround  กลุ่ม we!park และภาคีเครือข่าย คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิยาลัย  และกรมควบคุมมลพิษ ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมสำรวจพื้นที่และแสดงความคิดเห็นเพื่อพัฒนาพื้นที่สีเขียวรอบบึงหน้ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีเป้าหมายเพื่อให้เป็นกรณีศึกษาของงานฟื้นฟูธรรมชาติในเมืองอย่างมีส่วนร่วมของชุมชนเมือง ภาครัฐ และภาคประชาสังคม

เพื่อให้บึงสีเขียวนี้สร้างประโยชน์สูงสุดกับทั้งระบบนิเวศและเมือง City Cracker ชวนดูความเป็นไปได้ใหม่ของพื้นที่บึงใหญ่ใจกลางอารีย์ เพื่อสร้างพื้นที่ธรรมชาติที่เอื้อประโยชน์ให้กับทั้งกับคน เมือง และสิ่งมีชีวิตอื่น ผ่านกระบวนการออกแบบและการมีส่วนร่วมที่เข้าใจระบบนิเวศของธรรมชาติเป็นหลัก พร้อมรักษาพื้นที่เดิมของบึงไว้ให้ได้มากที่สุดเช่นกัน

 

AriAround

 

พื้นที่บึงใหญ่ใจกลางย่านอารีย์-ประดิพัทธ์

บึงน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ใจกลางย่านอารีย์-ประดิพัทธ์ ตั้งอยู่ที่บริเวณกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยอยู่ภายใต้การดูแลของกรมควบคุมมลพิษ พื้นที่ขนาดใหญ่ที่แอบซ่อนอยู่ในเมืองกรุงนี้ประกอบไปด้วยพืชพรรณจำนวนมาก เป็นบ้านให้กับสัตว์เล็กสัตว์น้อย และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ในเมืองให้ได้มีที่พักพิง อีกทั้งยังเป็นพื้นที่สำหรับการพักผ่อนของคนเมืองได้ด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่ที่อุดมไปด้วยความสมบูรณ์นี้ ครั้งหนึ่งเกือบเคยถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นลู่วิ่งรอบบึงขนาดกว้าง 1.5 เมตร ซึ่งหากการเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดขึ้นจริงก็จะส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตและต้นไม้โดยรอบ จึงได้นำมาสู่เสียงคัดค้านของภาคประชาสังคม จากชุมชนที่อยู่อาศัยโดยรอบ เพื่อหาหนทางการปรับเปลี่ยนพื้นที่ด้วยงานออกแบบที่จะเข้ามาช่วยส่งเสริมทั้งกิจกรรมและการใช้ชีวิตของมนุษย์ ตลอดจนยังทำหน้าที่เป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตอื่นได้ในเวลาเดียวกัน ความต้องการให้พื้นที่สีเขียวละแวกบ้านให้ยังคงเป็นพื้นที่ที่เกื้อกูลทั้งมนุษย์และสิ่งมีชีวิตนำมาสู่แนวคิด rewilding ซึ่งก็คือการฟื้นฟูธรรมชาติด้วยการรักษาและฟื้นคืนความหลากหลายทางชีวภาพผ่านกระบวนการมีส่วนร่วม เพื่อตามหาคำตอบที่ดีและใช่ที่สุดของธรรมชาติกลางเมือง

AriAround

 

แบ่งปันพื้นที่เมืองให้เป็นของธรรมชาติ

แนวคิดหนึ่งของการ rewilding  คือการพาธรรมชาติกลับสู่เมืองมากขึ้น ประโยชน์หนึ่งของของการปันพื้นที่เมืองบางส่วนให้เป็นพื้นที่ธรรมชาติส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมแก่มนุษย์ ซึ่งถือเป็นสัตว์ใหญ่ชนิดหนึ่งในระบบนิเวศนี้ สำหรับบึงน้ำของกรมควมคุบมลพิษเองก็เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่เหมาะกับการทำพื้นที่รูปแบบ passive recreation ให้กับเมือง คือเป็นพื้นที่พักผ่อนที่มีลักษณะเป็น non-consumptive area คือเป็นพื้นที่ที่เหมาะแก่การนั่ง เดิน วิ่ง หรือแม้กระทั่งเป็นพื้นที่สำหรับสำรวจและทำความเข้าใจธรรมชาติ

แม้การพื้นที่ลักษณะนี้จะแตกต่างออกไปจากพื้นที่พักผ่อนเดิมที่เราคุ้นเคย เช่น สนามเด็กเล่น หรือลานกีฬา แต่การมีพื้นที่พักผ่อนแบบนี้ก็สำคัญไม่แพ้กัน ทั้งในแง่ของกายภาพที่ช่วยส่งเสริมและฟื้นฟูระบบนิเวศของเมืองให้หลากหลายขึ้น รวมถึงในด้านสุขภาพใจของเราที่จะได้มีพื้นที่หยุดนิ่ง และซึมซับกับบรรยากาศสีเขียว เสียงนกร้อง และแมลงมากขึ้นท่ามกลางความวุ่นวายของเมือง

AriAround

 

Rewilding ระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม

สำหรับตัวพื้นที่ของบึงน้ำใหญ่ใจกลางเมืองนี้แบ่งออกเป็น 2 ระบบนิเวศ และ 1 นิเวศรอยต่อ (ecotone) คือระบบนิเวศบก ระบบนิเวศน้ำ และรอยต่อริมตลิ่ง  ทั้ง 3 ระบบนี้จะทำงานเชื่อมประสานกันเพื่อนำมาสู่พื้นที่ธรรมชาติที่สมบูรณ์ โดยแต่ละระบบนิเวศต่างต้องการการช่วยเหลือหรือสนับสนุนที่แตกต่างกันออกไป

คอนเซปต์หลักของพื้นที่นี้คือการออกแบบพื้นที่โดยรักษาสภาพสิ่งแวดล้อมดั้งเดิมไว้ หลีกเลี่ยงการทำลายต้นไม้ใหญ่เดิม พืชคลุมดิน พื้นที่ริมตลิ่ง ด้วยการใช้ทักษะทางภูมิสภาปัตยกรรมและวิศกรรมสิ่งแวดล้อม พร้อมกันนั้นยังมีการเว้นช่องว่างให้กับสิ่งมีชีวิตอื่น หรือ passive rewilding เพื่อแบ่งสัดส่วนของพื้นที่ระหว่างกิจกรรมของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่น นำไปสู่กระบวนการทางนิเวศวิทยาที่เป็นไปอย่างเป็นธรรมชาติ เช่น สิ่งมีชีวิตอื่นๆ กลับเข้ามาอาศัยในพื้นที่นี้ตามเดิม ตลอดจนการเปลี่ยนบึงน้ำให้กลายเป็น species pool สำหรับสิ่งมีชิวต ขยับขยายความหลากหลายทางชีวภาพของเมืองให้มากขึ้น โดยท้ายสุดแล้วพื้นที่นี้จะสามารถเป็นได้ทั้งพื้นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต พื้นที่พักผ่อน และเรียนรู้ทางธรรมชาติของมนุษย์มากขึ้นด้วยเช่นกัน

Healthy Space Forum

 

Co-creation ระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ

แน่นอนว่าในการตามหาคำตอบเรื่องความเป็นไปได้ใหม่ของพื้นที่ธรรมชาติใจกลางอารีย์นี้ จะไม่ใช่แค่การเข้าไปจัดการของมนุษย์ แต่จำเป็นต้องทำความเข้าใจในระบบนิเวศ และพื้นที่ดั้งเดิมของมัน เพื่อเข้าไปช่วยเหลือให้ถูกทาง ล่าสุด ทาง AriAroud ร่วมกับกลุ่ม we!park และภาคี นิสิตจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรมควบคุมมลพิษ ได้เข้ามาร่วมตามหาคำตอบของพื้นที่ผ่านการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมทั้งการเก็บข้อมูลจากคนในชุมชน ผู้ใช้งาน ข้อมูลของพื้นที่ธรรมชาติและระบบนิเวศ

จากการจัดกิจกรรมเมื่อวันที่ 19 มีนาคมที่ผ่านมา ได้มีน้องๆ นิสิตเข้ามาร่วมเสนอไอเดียและออกแบบเพื่อให้พื้นที่น่าใช้งานมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มพื้นที่พักผ่อน พื้นที่สำหรับการพบปะของคนในอาคารและชุมชนโดยรอบ ตลอดจนการรักษาพื้นที่ป่าเดิมให้ยังมีความอุดมสมบูรณ์อยู่

 

ตัวอย่างผลงานจาก ธิติเทพ วิโนทัย นิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

ตัวอย่างผลงานจาก เปรมฤทัย ตันพิพัฒน์ นิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

ความหลากหลายของพื้นที่ทั้งในแง่ของธรรมชาติและการตั้งอยู่กลางเมืองใหญ่ งานออกแบบครั้งนี้จำเป็นต้องผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมและการร่วมมือจากหลายฝ่าย รวมถึงการวิจัยและเก็บข้อมูลอย่างรอบด้าน อย่างไรก็ตาม ในงานออกแบบครั้งนี้ไม่ได้มีจุดประสงค์ที่ชัดเจนว่าพื้นที่นี้จะเปลี่ยนเป็นอะไร ด้วยตัวพื้นที่สามารถเปลี่ยนได้ตามพลวัตที่แตกต่างกันออกไป เช่น การเติบโตของธรรมชาติ กิจกรรมและการใช้งานของมนุษย์

เพียงแต่มีหลักการสำคัญคือการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมืองให้มีระบบนิเวศหลากหลายมากขึ้น

 

 

Share :