CITY CRACKER

สร้างห้องสมุดสิบปีเป็นของขวัญให้เมือง Oodi ห้องสมุดเฮงซิงกิที่กลายเป็นอนาคตของพื้นที่เรียนรู้ สร้างขึ้นจากความฝัน 2,000 เสียงของผู้คน

ฟินแลนด์นี่ช่างฟินแลนด์จริงๆ ถ้าเราเป็นแฟนคลับการพัฒนาในสแกนดิเนเวียร์ หรือรักชอบห้องสมุด เราอาจจะได้ยินชื่อ Oodi ชื่อน่ารักๆ ที่อันที่จริงเป็นชื่อของห้องสมุดกลางแห่งใหม่ของฟินแลนด์ที่เปิดในปี 2018 สร้างขึ้นบนพื้นที่กลางเมืองเฮลซิงกิ ฟินแลนด์เป็นประเทศที่มีอัตราการรู้หนังสือสูงที่สุดของโลกคือ 99% ของประชากร และเจ้าหอสมุดใหม่นี้ถูกสร้างขึ้นในฐานะ ‘ของขวัญ’ ในโอกาสที่ประเทศมีอายุครบ 101 ปีนับจากการประกาศอิสรภาพ หลังจากนี้หอสมุดแห่งนี้ก็เป็นเหมือนหมุดหมายทางยุคสมัยใหม่ของห้องสมุด ที่กลายเป็นพื้นที่สาธารณะสำคัญ เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ที่ไม่ใช่แค่ห้องสมุดอันเคร่งขรึมแต่เป็นเหมือนห้องนั่งเล่นที่สร้างระบบนิเวศของการเรียนรู้ให้เมือง

โปรเจกต์ Oodi เป็นโปรเจกต์ที่มีการวางแผนยาวนานตั้งแต่ปี 1998 โดยนายแคลส แอนเดอร์สัน (Claes Andersson) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมเสนอให้มีการจัดสร้างห้องสมุดแห่งใหม่ขึ้นบริเวณพื้นที่ใจกลางเมืองเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ โดยหลังจากนั้นสิบปีห้องสมุดแห่งใหม่ของเมืองหลวงทางวัฒนธรรมแห่งหนึ่งของโลกจึงค่อยๆ เป็นรูปเป็นร่างขึ้น ห้องสมุดใหม่นี้มีกระบวนการออกแบบด้วยการมีส่วนร่วมซึ่งกินเวลาราว 10 ปี โดยมีหมุดหมายของการสร้างสมุดแห่งอนาคต และการเป็นพื้นที่ของคนทุกคนตั้งแต่ต้น

Tuomas Uusheimo

 

หนึ่งในกระบวนการที่น่าสนใจคือห้องสมุดใหม่เป็นเหมือนภาพฝันของผู้คน การออกแบบตัวห้องสมุดได้ทำร่วมกับโปรเจกต์ที่มีชื่อว่า Tree of Dreams หรือต้นไม้แห่งความฝันที่ทำหน้าที่รวบรวมภาพฝันของห้องสมุด และความปรารถนาของผู้คนในการจินตนาการถึงห้องสมุดใหม่และความคิดใหม่ๆ ต่อห้องสมุดนั้น โปรเจกต์ต้นไม้แห่งความฝันนี้รวบรวมความฝันของผู้คนได้กว่า 2,000 ฝัน โดยหลังจากนั้นทางเมืองและรัฐบาลก็ได้ทำการรับฟังเสียงและแนวคิดจากผู้คนว่าห้องสมุดควรมีอะไร และทำหน้าอะไรต่อไปหลังจากนี้ในฐานะองค์ประกอบสำคัญของเมือง

ในที่สุดความต้องการ เสียงและความฝันของผู้คนกลายเป็นโจทย์ในการประกวดแบบและได้ผู้ชนะเป็นงานออกแบบที่ใช้ชื่อว่า Käännös ของ ALA Architects บริษัทออกแบบจากเมืองเฮลซิงกิ ตัวงานออกแบบเก็บเอาความต้องการของผู้คนไว้และเป็นที่ชื่นชอบของสาธารณะชน ชื่อของห้องสมุด Oodi มีความหมายในภาษาฟินนิชว่า ode หรือบทสรรเสริญ ในที่นี้ห้องสมุดใหม่จึงเป็นเหมือนบทกวีที่สรรเสริญพลังของห้องสมุดที่สัมพันธ์กับหน้าที่ 3 ประการคือ อุทิศเพื่อการอ่าน เพื่อประชาธิปไตย และเพื่อเสรีในการพูด (freedom of speech)

 

Tuomas Uusheimo

 

ห้องสมุด Oodi เป็นหนึ่งในของขวัญเฉลิมฉลองครบรอบ 101 ปี ของการประกาศอิสรภาพของฟินแลนด์โดยห้องสมุดเป็นแกนกลางสำคัญหนึ่งของระบบและสถาบันการศึกษาของประเทศ แกนของการสร้างห้องสมุดมีแนวคิดสำคัญคือ สร้างเป็นพื้นที่สาธารณะ เป็นพื้นที่ที่ให้ข้อมูลและส่งเสริมทักษะให้กับสังคม เปิดพื้นที่ให้เมืองเป็นเมืองที่รุ่มรวยที่สร้างจากผู้คนด้วยกันเอง เป็นพื้นที่ที่ทำหน้าที่ส่งเสริมความรู้และความเฉลียวฉลาดในชีวิตประจำวัน และห้องสมุดจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน โดยตัวห้องสมุดเองก็วิวัฒน์ตัวเองอยู่เสมอ ผู้อำนวยการห้องสมุด Anna-Maria Soininvaara ระบุว่า แม้ว่าห้องสมุดจะสร้างเสร็จในปี 2018 แต่ห้องสมุดจะไม่มีวันสมบูรณ์ เพราะตัวห้องสมุดจะปรับเปลี่ยนตัวเองอยู่เสมอ และพัฒนาไปตามความต้องการของผู้ใช้บริการ

Tuomas Uusheimo

Oodi ถือเป็นโปรเจกต์ยักษ์ งบประมาณการก่อสร้างราว 100 ล้านยูโร ตัวอาคารสร้างบนจัตุรัส Kansalaistori หรือลานพลเมือง จัตุรัสที่ตั้งอยู่ตรงข้ามรัฐสภาเป็นสัญลักษณ์ว่าห้องสมุดเป็นอวัยวะอันสำคัญของประเทศ แนวคิดสำคัญของห้องสมุดนี้คือเป็นเสมือนห้องนั่งเล่นของเมือง (living Room) แน่นอนว่าพื้นที่หนึ่งในสามของห้องสมุดเป็นพื้นที่ของหนังสือที่ห้องสมุดเองออกแบบโดยมีเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการเปิดโอกาสการเข้าถึงหนังสือและวัฒนธรรมอื่นๆ เช่น มีระบบหุ่นยนต์ช่วยจัดเรียงและจัดระบบหนังสือ รวมถึงระบบฐานข้อมูลและการเข้าฐานข้อมูลออนไลน์ที่ทรงประสิทธิภาพ นอกจากห้องสมุดแห่งนี้ยังมีพื้นที่การเรียนรู้อื่นๆ เช่น โรงภาพยนต์ สตูดิโออัดเสียง พื้นที่สร้างสรรค์ พื้นที่ชุมชนและนิทรรศการ

Tuomas Uusheimo

 

ไฮไลต์สำคัญของห้องสมุดที่อาจจะฟังดูล้ำยุค แต่ทว่าห้องสุมดก็ยังคงต้องมีหนังสือและพื้นที่อ่านหนังสือ ไฮไลต์ของอาคารจึงอยู่ด้านบนสุดของอาคารที่เรียกว่าเป็น ‘สวรรค์ของหนังสือ (Book Heaven)’ พื้นที่อ่านหนังสือด้านบนสุดที่ออกแบบอย่างอบอุ่นด้วยวัสดุไม้และเส้นสายที่สะอาดนุ่มนวล พื้นที่หลักของการอ่านนี้ออกแบบโดยเน้นความโปร่งโล่ง โดยรอบเป็นกระจกใส พื้นที่วัสดุกรุผิวทำจากไม้โอ้ก เพดานออกแบบเป็นทรงเหมือนก้อนเมฆสีขาว ฟังก์ชันสำคัญของพื้นที่ห้องสมุดใหม่นี้จึงเต็มไปด้วยความหลากหลายทั้งจากเทคโนโลยีใหม่ๆ และการเปิดพื้นที่ที่ทำให้ผู้มาเยือนได้อ่าน คิด เรียนรู้ และมีความสุขกับกระบวนการทางสติปัญญาเหล่านั้น

ห้องสมุด Oodi กลายเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายของพื้นที่เรียนรู้ ได้รับรางวัลสำคัญ เช่น ห้องสมุดสาธารณะที่ดีที่สุดของโลกในปี 2019 ได้รับการนิยามว่าเป็นมรดกทางวัฒนธรรในปี 2020 ในฐานะโปรเจกต์ที่ส่งอิทธิพลให้กับมรดกทางวัฒนธรรมในรุ่นต่อๆ ไป โดยในแง่ความนิยมห้องสมุด Oodi ได้ต้อนรับผู้มาเยือนกว่า 3 ล้านคนในการเปิดให้บริการปีแรก และห้องสุมดใหม่นี้ได้ทำให้เฮลซิงกิกลายเป็นจุดหมายของคนรักการอ่านและคนรักสถาปัตยกรรม รวมถึงทำให้วัฒนธรรมการอ่านในเมืองเองแข็งแรงขึ้น ทำให้ยอดการเข้าใช้ห้องสมุดอื่นๆ ของเมืองพุ่งสูงขึ้นถึง 9 ล้านการเยี่ยมชมในปี 2019

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

eru.lib.ee

design.hel.fi

archello.com

dezeen.com

Share :