CITY CRACKER

Hangzhou Future Sci-Tech City ย้อนดูผังเมืองหางโจว และกลยุทธ์การพัฒนาสู่การเป็นเมืองแห่งนวัตกรรมและเทคโนโลยี

ทุกวันนี้เราดูการแข่งขันจากเมืองหางโจว ได้เห็นบรรยากาศและการใช้สนามกีฬาที่มีความพร้อมและเห็นสาธารณูปโภคที่ไม่ใช่แค่การรองรับการแข่งขันหรือการจัดงานในระดับเอเชีย

แต่เป็นในระดับโลก อันที่จริงเราอาจเคยได้ยินหรือรับรู้ภาพของเมืองหางโจวในฐานะเมืองเก่า บริบทของหางโจวนั้นสอดคล้องกับการเป็นเจ้าภาพและการเปิดเมืองให้กับนานาประเทศในฐานะเมืองแห่งอนาคต เป็นอีกหนึ่งเมืองใหญ่ของประเทศจีนที่กำลังก้าวไปข้างหน้า และหลายส่วนของการพัฒนานั้นก็ได้ใช้ประโยชน์จากสาธาณูปโภคในการเป็นเจ้าภาพกีฬาในการพัฒนาเมืองไปในฐานะ Future Sci- Tech City

City Cracker ชวนย้อนดูประวัติศาสตร์ของเมืองหางโจวอย่างสังเขป พาไปดูรอยต่อจากการเป็นเมืองศูนย์กลางการค้าอันยิ่งใหญ่ที่เคยได้รับสมญานามสวรรค์บนดิน และการกลายเป็นส่วนหนึ่งของโครงการขุดคลองที่ใหญ่โตที่สุดของมนุษยชาติ มาจนถึงการวางแผนผังเมืองใหม่ในฐานะเมืองที่เป็นทั้งเมืองแห่งทิวทัศน์และเมืองที่เป็นรากฐานเมืองอุตสาหกรรม จากประวัติศาสตร์ที่แสนยาวนานมาสู่ที่หางโจวกำลังมีแผนจะเป็นเมืองของวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมของวันพรุ่งนี้

 

เบื้องบนมีสวรรค์ เบื้องล่างมีหางโจว

ภาษิตโบราณของจีนกล่าวถึงเมืองหางโจวไว้ว่าเป็นเมืองแห่งสวรรค์บนดิน เมืองหางโจวเป็นเมืองหลวงของมณฑลเจ้อเจียง และเป็น 1 ในกลุ่มเมืองหลวงเก่าของจีนเคียงคู่มากับปักกิ่ง นานกิง ลั่วหยาง อันหยาง ซีอานและไคฟง โดยในอดีตช่วงศตวรรษที่ 12-13 ราชวงศ์ซ่งใต้ได้มีการย้ายเมืองหลวงจากเมืองไคฟงบริเวณลุ่มแม่น้ำฮวงโหลงมาที่หางโจวซึ่งอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียง หางโจวจึงนับได้ว่าเป็นจุดบรรจบของอารยธรรมสองแม่น้ำที่ยิ่งใหญ่ของจีน

เมืองหางโจวถือเป็นเมืองที่มีชัยภูมิยอดเยี่ยม หางโจวตั้งอยู่บนที่ราบอุดมสมบูรณ์ริมแม่น้ำแยงซีเกียง เมืองหางโจวเป็นเมืองที่งดงามด้วยธรรมชาติ มีภูเขาและทะเลสาบซีหู (Xihu Lake) ทะเลสาบที่ยิ่งใหญ่และสวยงามที่สุดแห่งหนึ่งของจีน ไม่แปลกที่ภาษิตจีนจะยกย่องให้หางโจวเป็นเมืองที่งดงามและมั่งคั่งที่สุดเมืองหนึ่ง กวีโบราณจึงได้เรียกขานว่าหากเบื้องบนมีสรวงสวรรค์ บนผืนดินก็มีซูหัง หมายถึงเมืองซูโจวและเมืองหางโจวนั่นเอง

 

ต้าอวิ้นเหอ คลองขุดโบราณ และเมืองใหญ่ของเส้นทางสายไหม

เมืองหางโจวเป็นเมืองสำคัญด้วยเหตุหลายประการทั้งการเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ การอยู่ติดกับแม่น้ำแยงซีเกียงแล้ว หางโจวกลายเป็นเมืองสำคัญ เป็นศูนย์กลางการค้าและกลายเป็นเมืองหลวงในเวลาต่อมา ส่วนสำคัญหนึ่งในความเฟื่องฟูของหางโจวคือการเป็นส่วนหนึ่งของการขุดคลองโบราณที่ชื่อว่า ต้าอวิ้นเหอ หรือคลองใหญ่ (Grand Canal) อีกหนึ่งสุดยอดผลงานการก่อสร้างของจีนคือการขุดคลองที่ใหญ่โต ยาวนานและใช้แรงงานมนุษย์จำนวนมหาศาล

คลองต้าอวิ้นเหอเป็นหัวใจหลักของการที่หางโจวเป็นเมืองประวัติศาสตร์อายุ 2,000 ปี โดยคลองสำคัญนี้ขุดขึ้นเพื่อเชื่อมดินแดนเหนือและใต้ของจีนเข้าหากันผ่านการขุดคลอง ตัวคลองเป็นงานก่อสร้างในราชวงศ์สุย เรื่มขุดในช่วงปีคริสต์ศักราช 568 ใช้เวลาขุดนานกว่า 30 ปี ใช้แรงงานมนุษย์กว่า 6 ล้านคน เป็นคลองที่เชื่อมลั่วหยางลงมาพื้นที่ทางตอนใต้ ซึ่งก็คือพื้นที่ของนครปักกิ่งและเมืองหางโจวในปัจจุบัน การขุดคลองนี้เป็นการเชื่อมต่อแผ่นดินโดยเชื่อมเข้ากับแม่น้ำห้าสายหลักของจีน คลองขุดมีความยาวถึง 2,500 กิโลเมตร เป็นคลองขุดฝีมือมนุษย์ยิ่งใหญ่ที่สุด

คลองขุดนี้ทำให้โครงข่ายการเดินทางและการเชื่อมต่อเมืองสำคัญและดินแดนต่างๆ ของจีนเข้าหากัน หางโจวในสมัยโบราณจึงกลายเป็นปลายทางของแม่น้ำ เป็นศูนย์กลางทางการค้าที่ขึ้นชื่อเรื่องผ้าไหมและใบชา เมืองหางโจวเป็นเมืองที่ยิ่งใหญ่และมีโครงข่ายการเดินทางภายในทั้งทางบกและโครงข่ายคลอง มีสะพานกว่าหมื่นแห่ง หางโจวเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางการค้าโลก ดินแดนแห่งแพรไหมในเส้นทางสายไหมในช่วงศตวรรษที่ 12 เป็นเมืองที่มาร์โค โปโลขนานนามว่าเป็นเมืองที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก (the greatest city in the world.) ในช่วงที่เส้นทางสายไหมเฟื่องฟู พ่อค้าและนักเดินเรือเดินทางข้ามโลก ตอนนั้นหางโจวเองก็มีท่าเรือที่คราคร่ำไปด้วยผู้คนกว่าหนึ่งล้านคนแล้ว

 

เมืองภูมิทัศน์ เขตทะเลสาบ และพื้นที่อุตสาหกรรม

เมืองหางโจวมีประวัติศาสตร์อันยาวนาน ศูนย์กลางของหางโจวคือพื้นที่ทะเลสาบตะวันตกคือทะเลสาบซีหู จากประวัติศาสตร์เมืองโบราณ หมุดหมายหนึ่งของเมืองสมัยใหม่คือการเกิดผังเมืองช่วงทศวรรษ 1950-1990 ในปี 1951 พบหลักฐานผังเมืองหลัก (Master Plan Draft) ตอนนั้นได้รับอิทธิพลจากโซเวียต ซึ่งหางโจวเป็นเมืองที่ถูกวางให้เป็นเมืองของการพักผ่อนโดยมีการจัดวางให้ทะเลสาบตะวันตกเป็นศูนย์กลางการพัฒนาหนึ่ง โดยตัวเมืองถูกวางกลยุทธ์เป็นเมืองทิวทัศน์ (scenic) และเป็นเมืองทะเลสาบ (lake city)

สำหรับหางโจวการเป็นเมืองแห่งธรรมชาติ เมืองทะเลสาบและภูมิทัศน์สงบงดงามนั้นไม่ใช่ประเด็นการพัฒนาเดียวของจีนในกลางศตวรรษที่ 20 แผนการพัฒนาเมืองหางโจวหลักนั้นมีเป้าหมาย 4 ประการคือสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรม ปรับปรุงภูมิทัศน์ เพิ่มความงดงามให้กับทะเลสาบซีหู และสนับสนุนแรงงานและคนทำงาน ด้วยเงื่อนไขสองด้านคือเมืองกับธรรมชาติและการเปิดพื้นที่อุตสาหกรรมผังเมืองที่กลายเป็นมรดกและรากฐานหางโจวในปัจจุบัน เมืองจึงได้มีการพัฒนาโดยแบ่งโซนคือโซนอุตสาหกรรมที่เปิดพื้นที่ทางตอนเหนือของเมืองและบริเวณริมแม่น้ำเฉียนถัง (เชื่อมต่อกับคลองขุดใหญ่) และแยกพื้นที่รอบทะเลสาบไว้เป็นพื้นที่ใจกลางเมืองที่ประกอบด้วยพื้นที่อื่นๆ เช่น ส่วนบริหารของเมือง พื้นที่การศึกษา พื้นที่ทางวัฒนธรรม

 

Future Sci-Tech City จากเมืองเก่าแก่สู่การเป็นเมืองของวันพรุ่งนี้

ความพิเศษของหางโจวคือ แน่นอนว่าหางโจวเป็นชื่อเมืองเก่าแก่ แต่ทุกวันนี้หางโจวเป็นหนึ่งในเมืองที่เติบโตเร็วที่สุดเมืองหนึ่งของจีน โดยวางแนวทางการพัฒนาเป็นเมืองนวัตกรรมและเทคโนโลยี (Future Sci-Tech City) หางโจวได้ชื่อว่าเป็นเมืองดิจิตัล มีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเข้าถึงทุกพื้นที่ เมืองหางโจวกลายเป็นที่มั่นของอุตสาหกรรมยุคใหม่คืออีคอมเมิร์สและกิจการดิจิทัล โฉมหน้าร่วมสมัยของหางโจวคือเมืองที่รายล้อมไปด้วยธรรมชาติ แต่ก็เต็มไปด้วยพื้นที่ในการส่งเสริมนวัตกรรม บ่มเพาะคนและกิจการใหม่ๆ บนโครงสร้างและเศรษฐกิจดิจิทัล

ความเป็นเมืองดิจิทัลของหางโจวมีหลายปัจจัย หางโจวเป็นที่มั่นและบ้านเกิดของสุดยอดอีคอมเมิร์สคืออาลีบาบา มีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีชั้นแนวหน้าของโลกคือมหาวิทยาลัยเจ้อเจียง มีโครงสร้างการพัฒนาเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการและนวัตกรรมต่างๆ ทั้งหน้าใหม่และการต่อยอดธุรกิจ เป็นพื้นที่การทำงานของแรงงานและอุตสาหกรรมรุ่นใหม่คือกลุ่มเทคโนโลยี ไม่แปลกที่ในโฉมหน้าของหางโจวรวมถึงการลงทุนพัฒนา เช่น การสร้างสถาปัตยกรรมขนาดใหญ่ การเปลี่ยนพื้นที่อุตสาหกรรมเดิมเพื่อตอบสนองทิศทางทั้งเมืองสีเขียว เปิดพื้นที่ของผู้คน และส่งเสริมการใช้ชีวิตของเมืองในอนาคตจึงเป็นภาพใหม่ของหางโจวที่กำลังก้าวสู่เมืองของวันพรุ่งนี้

 

Hangzhou Oil Refinery Factory Park โปรเจกต์เปลี่ยนโรงกลั่นน้ำมันเก่าเป็นพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์

ในโปรเจกต์ปรับปรุงและพัฒนาที่ทำให้เราพอเห็นภาพรวมและความเปลี่ยนแปลงของหางโจว หนึ่งในนั้นคือโปรเจกต์ Hangzhou Oil Refinery Factory Park ตัวโปรเจกต์นี้ให้ภาพการพัฒนาทั้งในบริบทหางโจว และการพัฒนาพื้นที่ของจีนในภาพรวม อย่างแรกคือโปรเจกต์นี้เมืองหางโจวให้สตูดิโอยักษ์ใหญ่ระดับโลกอย่าง MVRDV เข้ามาปรับโรงกลั่นน้ำมันเก่าซึ่งตั้งอยู่บริเวณคลองขุดของเมืองและเปลี่ยนให้เป็นพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และสวนสาธารณะที่ค่อนข้างยิ่งใหญ่และจะกลายเป็นศูนย์ของวิทยาศาสตร์ของเมืองต่อไป

การเปลี่ยนพื้นที่นี้ให้ภาพทั้งการปรับสาธารณูปโภคจากยุคอุตสาหกรรมเดิมคือโรงกลั่นน้ำมันที่ตั้งอยู่บริเวณพื้นที่ริมน้ำ โดยเปลี่ยนพื้นที่เสื่อมโทรมและพ้นสมัยไปสู่การเป็นพื้นที่ศูนย์กลางและรากฐานที่สัมพันธ์กับทิศทางของเมืองที่จะเป็นเมืองแห่งนวัตกรรมและวิทยาศาสตร์ต่อไป สวนแห่งใหม่นี้จะเป็นทั้งพื้นที่การเรียนรู้ เป็นที่มาของความเป็นวิทยาศาสตร์ เป็นพื้นที่สันทนาการและเป็นพื้นที่สีเขียวแห่งอนาคตของเมืองหางโจวต่อไป

 

สนามกีฬา เอเชี่ยนเกมและสาธารณูปโภคที่ไม่ได้จบแค่วันแข่ง

กลับมาที่การเป็นเจ้าภาพกีฬาเอเชี่ยนเกม การพัฒนาหรือการลงทุนเพื่อเป็นเจ้าภาพเอเชี่ยนเกมของหางโจวค่อนข้างสัมพันธ์กับทิศทางการลงทุนและเปิดสาธารณูปโภคคือพื้นที่สาธารณะที่สร้างเพื่อเป็นตัวตน ส่งเสริมความเคลื่อนไหวและเป็นพื้นที่สันทนาการของผู้คน สำหรับเอเชี่ยนเกมที่ล่าช้ามาหนึ่งปี หางโจวมีการลงมือสร้างสนามกีฬาและศูนย์กีฬาเพื่อรองรับการเป็นเจ้าภาพถึง 8 แห่ง โดยทั้ง 8 แห่งนั้นมีลักษณะคล้ายกันคือสร้างโดยคำนึงถึงบทบาทต่อเนื่องของการเป็นพื้นที่ที่เป็นส่วนหนึ่งของเนื้อเมืองต่อไป

ตัวอย่างของสนามกีฬา เช่น สนามกีฬารูปดอกบัวที่เป็นพื้นที่สันทนาการของพื้นที่ริมน้ำบริเวณย่านธุรกิจ มีบทบาททางสิ่งแวดล้อมของพื้นที่ริมน้ำ การเปิดสวนพฤกษศาสตร์และสร้างสนามกีฬาอีสปอร์ตที่มีบางส่วนเป็นสวนและจัตุรัสอเนกประสงค์ สนามกีฬาเกือบทั้งหมดเป็นการดึงตัวตนจีนโบราณและปรับเปลี่ยนไปสู่อาคารล้ำสมัยด้วยฝีมือสตูดิโอสถาปนิกชั้นแนวหน้า เราจะเห็นอาคารที่เหมือนกับก้อนหยก เห็นตึกที่เหมือนเกล็ดมังกรที่ถูกแช่แข็ง และอาคารที่ล้ำสมัยเหล่านั้นจะถูกวางให้เป็นพื้นที่สาธารณะและพื้นที่ใช้งานในรูปแบบต่างๆ ของชุมชน ของย่านและของเมืองต่อไป

นอกจากสเตเดียมและศูนย์กีฬาแล้ว หางโจวยังมีการประกวดแบบศูนย์กีฬาใหญ่ที่จะกลายเป็นศูนย์กลางของเขตเมืองแห่งอนาคตคือ Future Science and Technology Cultural District ความน่าสนใจคือสเตเดียมนี้คล้ายกับการลงทุนสร้างพื้นที่สาธารณะที่มีฟังก์ชั่นหลากหลาย เป็นพื้นที่ที่ทั้งส่งเสริมแนวคิดด้านความยั่งยืน เป็นพื้นที่สีเขียว เป็นพื้นที่กิจกรรม เช่น สนามฟุตบอล สนามกีฬาทางน้ำ สนามกีฬาในร่มซึ่งเป็นการวางพื้นที่สาธารณะเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างพื้นที่เมืองใหม่ตามเป้าหมายที่วางไว้ ใช้สถาปัตยกรรม พื้นที่สาธารณะพร้อมๆ กับการแสดงออกถึงตัวตนทางวัฒนธรรมของจีน เช่น สนามใหม่ของซาฮา ฮาดิดจะเลียนแบบหน้าตาของไร่ชาเป็นต้น

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

britannica.com

tcsa.or.th

www.intofarlands.com

digitaljournal.com

built-heritage.springeropen.com

bayareacouncil.org

dezeen.com

designboom.com

 

Share :