ช่วงสัปดาห์ที่แล้วเราเห็นภาพกรุงโซลเผชิญกับน้ำท่วมใหญ่จากฝน ส่วนหนึ่งดูจะเป็นสัญญาณเรื่องภัยพิบัติอันเป็นสิ่งที่หลายเมืองใหญ่รับรู้และพยายามปรับตัวรับมือกันอยู่ แล้วช่วงนี้เราเริ่มเห็นภาพคนไทยกลับไปเยือนกรุงโซลกันอีกครั้งหลังจากงดเว้นกันมาอย่างยาวนาน
กรุงโซลถือเป็นอีกเมืองใหญ่ที่กลายเป็นต้นแบบการพัฒนาในหลายๆ ด้าน ทั้งที่เกาหลีเองก็เพิ่งฟื้นตัวจากความขัดแย้งและสงคราม แต่ไม่นานเกาหลีก็ได้มอบต้นแบบสำคัญ เช่น คลองชองกเยชอน จัตุรัสกวังฮวามุน การพัฒนาย่านวัยรุ่นอย่างฮงแด ไปจนถึงการพัฒนาพื้นที่สาธารณะที่สัมพันธ์กับคนรุ่นใหม่ และเชื่อมโยงกับสถาบันการศึกษา หนึ่งในพื้นที่สำคัญที่ทั้งชาวเกาหลีและนักท่องเที่ยวมักไปเยือนคือการไปรับลม นั่งปิกนิกกินไก่ทอด และรามยอนบริเวณริมแม่น้ำฮัน
สวนและการพักผ่อนหย่อนใจริมแม่น้ำฮันถือเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาแม่น้ำในฐานะส่วนหนึ่งของกรุงโซลที่กลายเป็นเมืองสมัยใหม่ แผนพัฒนาแม่น้ำฮันเริ่มเริ่มต้นขึ้นในปี 1982 ในชื่อ The Comprehensive Han River Development Plan ในแผนนั้นแกนการพัฒนาด้านหนึ่งสัมพันธ์กับการพัฒนาเมืองเพื่อรับกับการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกในปี 1988 การฟื้นฟูแม่น้ำฮันถูกนับเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาโดยมีการฟื้นฟูตัวแม่น้ำรวมทั้งมีการสร้างสวนตลอดเส้นทางที่แม่น้ำทอดผ่านเพื่อเป็นพื้นที่สันทนาการของคนเมือง
แม่น้ำฮันถือเป็นแม่น้ำโบราณมีความยาวประมาณ 500 กิโลเมตรซึ่งถือว่ายาวที่สุดของเกาหลี ไหลตัดผ่านกรุงโซลจากทิศตะวันออกไปสู่ทิศตะวันตกโดยมีระยะผ่านเมืองราว 41 กิโลเมตร ตัวแม่น้ำนับเป็นพื้นที่ราว 7% ของพื้นที่เมืองหลวง ในแง่ความสำคัญรวมถึงการพัฒนาและปัญหา อันที่จริงแม่น้ำฮันถือว่าเป็นแม่น้ำที่มีลักษณะเฉพาะคือเป็นแม่น้ำที่แคบ คดเคี้ยว แต่เชี่ยวและเต็มไปด้วยเกาะแก่ง ดังนั้นแม่น้ำฮันจึงไม่ได้เป็นแม่น้ำที่ถูกพัฒนาจนกลายเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมเนื่องจากไม่สะดวกในการนำเรือเข้าจอดและขนถ่ายสินค้า ทำให้พื้นที่ที่เป็นท่าเรือและพื้นที่อุตสาหกรรมไปเติบโตที่เมืองอินชอนมากกว่า
สำหรับแม่น้ำฮันเองมีประเด็นการพัฒนาที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วม บทบาทของแม่น้ำฮันดูจะสัมพันธ์กับผู้คนโดยบันทึกในยุคที่โซลเริ่มกลายเป็นเมืองก็มีบันทึกบทบาทของแม่น้ำฮันที่มีต่อผู้อยู่อาศัยในฐานะพื้นที่หย่อนใจ เป็นส่วนหนึ่งของความทรงจำเช่นคนรุ่นก่อนพูดถึงการลงว่ายน้ำในแม่น้ำฮัน หรือภาพของแม่น้ำที่กลายเป็นน้ำแข็งในช่วงฤดูหนาว
ย้อนกลับไปที่แผนการพัฒนา The Comprehensive Han River Development Plan ของปี 1982 แผนดังกล่าวทำให้เกิดสวนจำนวน 11 สวนริมแม่น้ำฮันสร้างขึ้นในช่วงปี 1982-1986 โดยสวนกลุ่มนี้สัมพันธ์กับภาพรวมของกรุงโซลที่พยายามใช้พื้นที่สีเขียวและป่ารวมถึงแม่น้ำเป็นส่วนหนึ่งของบรรยากาศและการรับมือมลพิษของเมือง แม่น้ำฮันเองค่อนข้างมีบทบาทต่อชีวิตและการใช้เวลาของชาวโซล ทว่าแม้จะมีสวนตลอดแนวแล้ว กลุ่มสวนริมแม่น้ำฮันก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในหลายแง่ทั้งการออกแบบที่ละเลยมิติทางวัฒนธรรม การก่อสร้างในทศวรรษ 1980 อาจมีการสร้างและใช้เทคโนโลยีในยุคนั้น เช่น การสร้างสันเขื่อน หรือการใช้คอนกรีตที่อาจส่งผลเสียต่อระบบนิเวศและตัวแม่น้ำเอง
จากช่วงก่อนปี 2000 ในปี 2008 ทางกรุงโซลได้ออกแผนการพัฒนา The Han River Renaissance Plan ซึ่งเป็นแผนการพัฒนาพื้นที่ริมน้ำรวมถึงสวนทั้ง 11 สวนโดยเบื้องต้นคือเน้นฟื้นฟูด้านระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพให้กับแม่น้ำและพื้นที่รอบๆ เราจะเห็นว่าพื้นที่สวนหลายแห่งถูกปรับปรุงให้กลายเป็นสวนด้านระบบนิเวศ (ecological park) และอีกด้านที่แผนการพัฒนานี้ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์เช่นกัน
เป้าหมายหนึ่งของการฟื้นฟูแม่น้ำฮันในปี 2008 คือความพยายามเปลี่ยนพื้นที่ริมแม่น้ำจากพื้นที่เพื่อการเดินหย่อนใจไปสู่พื้นที่ที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ มีมิติทางวัฒนธรรมและสัมพันธ์กับภาคธุรกิจ หรือกิจกรรมอื่นๆ เช่น สวนบันโพ (Banpo Park) ที่ตั้งอยู่ติดกับสะพานบันโพที่มีการจัดแสดงน้ำพุสายรุ้ง สวนริมแม่น้ำฮันได้กลายเป็นความร่วมมือกับหลายภาคส่วนโดยเฉพาะอุตสาหกรรมบันเทิง สวนสำคัญ เช่น สวนยออึยโดได้กลายเป็นพื้นที่ที่เชื่อมโยงกับสื่อบันเทิงยักษ์ใหญ่ บางส่วนกลายเป็นความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมที่กลายเป็นกิจกรรมร่วมกับแฟนคลับและศิลปิน อย่าง KPOP Star Forsest คือการปลูกต้นไม้ที่เป็นเหมือนตัวแทนของเหล่าศิลปินเคป๊อป เช่น TVXQ, Girls’ Generation
ปัจจุบันกลุ่มสวนริมแม่น้ำฮันนับเป็นพื้นที่สำคัญของโซลทั้งในมิติด้านวิถีชีวิตและวัฒนธรรม สวนทั้ง 11 แห่ง (บ้างก็นับเป็น 12 แห่ง) ที่กระจายตัว บ้างก็เชื่อมต่อถึงกันด้วยทางเดินและทางจักรยาน แผนพัฒนาปัจจุบันของแม่น้ำฮันนั้นแม้ว่าจะดูสวยงามและสำคัญกับผู้คนอยู่แล้ว ปัจจุบันแม่น้ำฮันยังได้รับการพัฒนาด้วยความคิดใหม่ๆ คือไม่ได้เป็นเพียงพื้นที่หย่อนใจของผู้คนแต่เป็นพื้นที่เพื่อสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ส่งเสริมระบบนิเวศน์ของเมือง แผนปัจจุบันของเมืองกำลังพยายามฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพในจุดต่างๆ ภายใต้แผน Revival of Han River by 2030 : Coexistence of Human and Nature เริ่มต้นเมื่อราวปี 2015
อย่างไรก็ตาม ทุกการพัฒนาย่อมมีจุดบกพร่องและมีข้อวิจารณ์ เมื่อต้นปีที่ผ่านมาคือช่วงเดือนมีนาคม 2022 มีบทความวิชาการตีพิมพ์ในวารสาร Sustainability วิเคราะห์และวิจารณ์การพัฒนาแม่น้ำฮันและพื้นที่ริมแม่น้ำฮันว่าลอกเลียนต้นแบบการพัฒนาจากต่างชาติและละเลยบริบทเฉพาะของแม่น้ำฮันและกรุงโซล รวมถึงมรดกบริบทบางอย่าง เช่น มรดกจากสงครามเย็นและความตึงเครียดที่มีต่อเกาหลีเหนือซึ่งส่งผลกับการพัฒนาแม่น้ำในยุคหลังสงครามเย็น ในข้อวิจารณ์เสนอการพัฒนาที่อาจมีขนาดเล็กลง และมีความเฉพาะเจาะจงกับพื้นที่มากขึ้น มากกว่าจะให้ความสำคัญกับแผนขนาดใหญ่เพียงอย่างเดียว
ทั้งนี้ในบทความดังกล่าวพูดถึงเงื่อนไขของแม่น้ำและการพัฒนาเมืองที่ก็ยังคงกระทบกับระบบนิเวศและทำให้แม่น้ำฮันยังคงเจอปัญหาเช่นการฟื้นฟูระบบนิเวศเพื่อสร้างพื้นที่ชุ่มน้ำในการรับน้ำและร่วมป้องกันน้ำท่วมยังทำได้ยากเนื่องจากพื้นที่ริมน้ำจำนวนมากได้กลายเป็นพื้นที่พักอาศัย กระทั่งการรื้อเอาโครงสร้าง เช่น คานคอนกรีตออกก็จะส่งผลกระทบต่อระดับน้ำใต้ดินซึ่งกระทบต่อโครงสร้างอาคารรอบๆ ทั้งนี้บทความเองชี้ให้เห็นความยากลำบากที่แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนพื้นที่ชุ่มน้ำว่างเปล่าสู่สวนชุ่มน้ำ
ด้วยเงื่อนไขของสภาพอากาศที่แปรปรวนและคาดเดายากขึ้น ปัญหาเรื่องน้ำท่วมสำหรับกรุงโซลที่มีแม่น้ำฮันเป็นองค์ประกอบสำคัญก็ยังคงต้องมีการบริหารจัดการและพัฒนาต่อไป
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Warunya Rujeewong
- Vanat Putnark
Writer