CITY CRACKER

ไม่ต้องขอหวย ไม่ต้องขนหัวลุก กับ 6 โครงการปรับสุสานกลับเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเมือง

เวลาพูดคำว่าสุสานทีไร เราก็จะขนหัวลุกทุกที สุสานในจินตนาการของเราบางครั้งอาจจะคล้ายๆ ที่เราอ่านการ์ตูนขายหัวเราะ มีป้าย มีโครงกระดูกที่อาจจะผุดขึ้นมาอยู่บนดิน มีต้นไม้ มีเจ้าที่ พูดง่ายๆ ที่สุสานมักเป็นพื้นที่ที่เราไม่ปรารถนา แต่ในขณะเดียวกันเมื่อพื้นที่เมืองเริ่มแออัด พื้นที่เช่นสุสานนั้นก็กลับกลายเป็นพื้นที่ควรจะต้องมีความสำคัญและถูกนำมาใช้เพื่อประโยชน์ของเมืองและของผู้คน

อันที่จริงสุสานที่ดูน่ากลัวนั้น ส่วนหนึ่งมาจากการเป็นพื้นที่ทิ้งร้าง และเป็นอิทธิพลจากความเชื่อดั้งเดิมเรื่องวิญญาณ เรื่องการเป็นพื้นที่ที่ไม่ค่อยมงคลนัก หลายพื้นที่เช่นวัดดอนหรือวัดสระเกศ พื้นที่สุสานเป็นเหมือนพื้นที่ความทรงจำที่บรรจุความทรงจำที่ไม่ค่อยดีของเมืองไว้ อาจจะเป็นความทรงจำของโรคระบาด การตายอย่างผิดธรรมชาติ ไปจนถึงการเป็นพื้นที่เสื่อมโทรมที่คนไม่คิดย่างกรายเข้าไปถ้าไม่จำเป็น

เนื่องในวันฮาโลวีนที่กำลังจะมาถึงนี้ City Cracker จึงชวนไปสำรวจพื้นที่สุสาน ที่อันที่จริงแล้วสุสานนั้นล้วนเป็นพื้นที่ที่เรานำความทรงจำ นำผู้คนที่เรารักและจากไปแล้วไปไว้เพื่อพักผ่อนเป็นครั้งสุดท้าย และยังเป็นพื้นที่เราผู้ยังมีชีวิตอยู่ได้กลับไปเยี่ยมเยียนรำลึกถึงผู้ที่จากไปอีกครั้ง ทั้งจากประเด็นเรื่องพื้นที่ที่เมืองต้องการและการปรับหน้าตาและความหมายของสุสาน ในหลายพื้นที่ทั่วโลก รวมถึงป่าช้าวัดดอนของเรานั้นก็เลยมีการออกแบบและจัดการพื้นที่สุสานและหลุมศพขึ้นใหม่ ให้กลายเป็นพื้นที่ที่ทันสมัยและเป็นพื้นที่กลับมาสัมพันธ์กับเมือง กับผู้คนอีกครั้ง

Hart Island, NYC

อันนี้เป็นโปรเจกต์ล่าสุด ยังไม่ลงมือทำ แต่ก็เป็นพื้นที่ที่น่าสนใจ นิวยอร์กก็คล้ายๆ กับหลายเมืองใหญ่คือมีพื้นที่สุสานที่ใช้ฝังศพที่อาจจะไร้ญาติ หรือใช้ฝังร่างในช่วงเวลาที่เกิดโรคระบาด ความพิเศษปนหลอนนิดๆ คือสุสานใหญ่ของรัฐที่นิวยอร์กมีลักษณะเป็นเกาะ อยู่โดดเดี่ยวขึ้นไปทางตะวันตกเฉียงเหนือของย่านบร็องซ์ ตัวเกาะแห่งนี้มีประวัติศาสตร์อันยาวนานคือใช้เป็นสุสานฝังศพมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 เป็นพื้นที่ที่ฝังร่างของผู้เสียชีวิตจากโรคระบาดมาตั้งแต่การระบาดของไข้หวัด(influenza) ในปี 1918 ผู้ติดเชื้อเอดส์ และล่าสุดก็ใช้ฝังร่างผู้เสียงชีวิตจากเชื้อโควิด โดยรวมแล้วมีร่างฝังอยู่บนพื้นที่แห่งนี้ราว 1 ล้านศพ

ปัจจุบันเกาะแห่งนี้อยู่ในการดูแลของราชทัณฑ์เมืองนิวยอร์ก ยังคงให้บริการฝังศพที่มีความต้องการพิเศษ เช่น ศพไร้ญาติ คนไร้บ้าน และกรณีการเสียชีวิตเป็นจำนวนมากจากโรคระบาด อันที่จริงสถานการณ์ล่าสุดมีการฝังศพบนเกาะแห่งนี้ไม่มากนักราวปีละ 1,500 ศพ ตัวเกาะจะมีบริการเรือข้ามฟากเป็นครั้งคราว ในปี 2019 สภาเมืองนิวยอร์กตัดสินใจปรับพื้นที่เกาะที่เคยน่าหวาดหวั่นแห่งนี้ให้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะโดยให้อยู่ในการดูแลปรับปรุงโดยกองสวนสาธารณะ (Parks Department) ปัจจุบันการปรับปรุงสวนยังอยู่ในขั้นศึกษาและปรับภูมิทัศน์ แต่เปิดให้เข้าชมโดยต้องนัดหมายในฐานะพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ ทางผู้รับผิดชอบระบุว่าตัวพื้นที่จะเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ความสงบ เน้นการเข้าถึง แต่ก็ไม่เชิงว่าเป็นสวนที่ทำตามอำเภอใจ ไม่มีขายสินค้า งานออกแบบที่กำลังจะมาถึงจะเน้นไปที่ความเขียวขจีและการเคารพต่อผู้จากไปที่ฝังร่างอยู่บนเกาะนั้น

 

Garden of Peace, Singapore

สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม สำหรับการจัดการร่างกายขั้นสุดท้าย ทางสิงคโปร์ก็เพิ่งเปิดสวนชื่อ Garden of Peace ขึ้นบริเวณ Choa Chu Kang Cemetery Complex พื้นที่สุสานที่ใหญ่ที่สุดของเมือง ตัวสวนแห่งนี้ถือเป็นสวนที่ให้บริการพื้นที่โปรยอัฐิซึ่งต่อเนื่องกับบริการเผาศพที่รัฐมีบริการให้ สวน Garden of Peace ถือเป็นสวนเพื่อการโปรยอัฐิบนแผ่นดินแห่งแรก และถือเป็นสวนที่ค่อนข้างไม่อิงกับศาสนาใดศาสนาหนึ่ง แต่เป็นพื้นที่สำหรับการโปรยอัฐิที่รัฐจัดหาให้

ตัวสวนมีลักษณะร่วมสมัย คือเป็นสวนเรียบๆ ออกแบบให้มีส่วนสำหรับการโปรยอัฐิเป็นแถวๆ มีกรวดสีดำและถังน้ำสำหรับการรดเพื่อให้อัฐิลงไปสู่ผืนดินในพื้นที่ ตัวสวนไม่อนุญาตให้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาทั้งการเผากระดาษ การสวดหรือเล่นเครื่องดนตรี ซึ่งผู้ที่จะใช้สวนแห่งนี้ได้ต้องเป็นพลเมืองของสิงคโปร์และมีการทำเรื่องพร้อมจ่ายค่าธรรมเนียมเพื่อนำอัฐิเข้าไปโปรย นอกจากการให้บริการโปรยอัฐิแล้ว Garden of Peace ยังเปิดให้บริการเป็นสวนสาธารณะสำหรับชุมชน ด้วยงานออกแบบและลักษณะการโปรยอัฐิที่เรียบง่าย ก็น่าจะทำให้สวนและการเป็นพื้นที่ของผู้จากไปไม่น่ากลัว เป็นเหมือนพื้นที่ของรัฐ ของเมืองพื้นที่หนึ่ง

 

Koyasan, Wakayama

ถ้าใครเคยไปเที่ยวคันไซ แล้วอยากขึ้นไปดูใบไม้เปลี่ยนสีรวมถึงมีประสบการณ์พิเศษกว่าการเที่ยวเมืองทั่วๆ ไป อาจจะต้องปักหมุดที่ภูเขาโคยะหรือ Koyasan ภูเขาลูกใหญ่นี้ได้รับการนิยามว่าเป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ เป็นหมุดหมายของพุทธศาสนานิกายชินงอนหรือวัชรยานของญี่ปุ่น บนภูเขาจะเต็มไปด้วยวัดและชุมชนที่สานต่อความศักดิ์สิทธิ์ของภูเขา ซึ่งหนึ่งในพื้นที่สำคัญบนพื้นที่โคยะซังนั้นคือสุสานขนาดใหญ่ของวัดโอคุโนอิน (Okunoin) ตัวสุสานแห่งนี้มีระยะทางเดินกว่า 2 กิโลเมตร มีสุสานของท่านโคโบไดชิ ผู้ก่อตั้งนิกายวัชรยาน และมีสุสานน้อยใหญ่ของบุคคลสำคัญกว่า 2 แสนจุด ในจำนวนนั้นมีบุคคลสำคัญเช่นโอดะ โนบุนากะ และโทโยโทมิ ฮิเดโยชิ ขุนพลและเจ้าเมืองคนสำคัญของยุคเซ็นโกกุ ทั้งหมดนั้นอยู่ในบรรยากาศของป่าสนอายุนับพันปี

ฟังดูอาจจะรู้สึกว่าเป็นพื้นที่น่ากลัว แต่อันที่จริงภูเขาโคยะรวมถึงพื้นที่สุสานเองค่อนข้างเป็นพื้นที่เปิดสำหรับการท่องเที่ยว มีการบริหารจัดการทำให้ท่องเที่ยวได้สะดวกและเป็นพื้นที่ที่สวยงามแห่งหนึ่งของญี่ปุ่น มีรถไฟและรถราง รวมถึงบนเขาเองก็มีระบบรถเมล์และแผนที่นำเที่ยวพร้อมเส้นทางเดิน พื้นที่บนเขาก็มีความกลมกลืนของประชาชน ของพื้นที่วัด บนเขาจะมีคาเฟ่ มีร้านอาหารสมัยใหม่ รวมมีถนนหนทางที่ยอดเยี่ยม ด้วยว่าภูเขาแห่งนี้ถือเป็นพื้นที่แสวงบุญ และเป็นที่ยอดนิยมของผู้สูงอายุในการเดินทางมาท่องเที่ยว ว่ากันว่าบนเขาโคยะแม้ว่าจะมีวัดน้อยใหญ่เป็นจำนวนมาก แต่สุดท้ายวัดทั้งหมดนั้นก็เป็นเหมือนวัดวัดเดียว โดยวัดทั้งหลายบนเขาโคยะยังเปิดบริการที่พัก เป็นการเปิดประสบการณ์การนอนวัด กินอาหารเจ และตื่นมาสวดมนต์รับพรบนหนึ่งในดินแดนศักดิ์สิทธิ์ของญี่ปุ่น

 

Hollywood Forever Cemetery, California

ที่ฮอลลีวูด ดินแดนแห่งอุตสาหกรรมบันเทิงมีพื้นที่สุสานสำคัญที่ถือว่าเป็นสุสานแห่งเดียวของฮอลลีวูด ตัวสุสานมีพื้นที่ประมาณ 40 เอเคอร์ ตั้งอยู่ใกล้ๆ สตูดิโอพาราเมาต์พิกเจอร์ (paramount pictures) ซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของสุสานมาก่อน สุสานแห่งนี้ถือเป็นหนึ่งในสุสานที่เก่าแก่ที่สุดของลอสแอนเจลิส ก่ออตั้งขึ้นในฐานะสุสานในปี 1899 บนพื้นที่ร้อยเอเคอร์ก่อนจะรู้จักในนาม Hollywood Memorial Park จากการเป็นพื้นที่สวนอันร่มรื่น และกลายเป็นชื่อ Hollywood Forever Cemetery ในปี 1998 สำหรับพื้นที่สุสานในปัจจุบันมีบริการเกี่ยวกับการจัดการศพครบวงจร ทั้งบริการเผาศพและพื้นที่สำหรับฝังศพ ด้วยมูลค่าทำให้ราคาการฝังศพในสุสานค่อนข้างสูง (มีตัวเลขราคาพื้นที่ฝังอยู่ที่ 18,000 เหรียญและสูงขึ้นไปถึงหลักแสน) และเป็นสุสานที่ใช้ฝังศพคนดังของฮอลลีวูดมากมาย

อาจจะด้วยบรรยากาศ การเป็นพื้นที่ฝังศพของคนดัง และการฝังศพที่ค่อนข้างเฉพาะกลุ่ม พื้นที่สุสาน Hollywood Forever Cemetery ค่อนข้างมีลักษณะเป็นพื้นที่ท่องเที่ยว มีระบบทัวร์เยี่ยมชม และที่สำคัญคือตัวสวนอันร่มรื่นท่ามกลางตึกอันแน่นขนัดนี้ได้เปิดเป็นพื้นที่จัดงานทางวัฒนธรรมต่างๆ ของเมือง หนึ่งในกิจกรรมสำคัญคือการเปิดฉายหนังกลางแจ้งโดยที่เมื่อซื้อตั๋วแล้วผู้ชมก็จะสามารถนำเสื่อหมอนและอาหารการกินมานอนดูหนังคลาสสิกของฮอลลีวูดกลางสุสานได้เลย นอกจากงานฉายหนังที่จัดเป็นประจำแล้วก็ยังมีการจัดเทศกาล Dia de Los Muertos แบบในเรื่องโคโค่ที่เป็นฉลองการกลับมาของคนตายในเม็กซิโกด้วย

 

สวนสวยแต้จิ๋ว, กรุงเทพฯ

ป่าช้าวัดดอนถือเป็นอีกหนึ่งตำนานที่คนซักรุ่นหนึ่งจะเคยได้ยินชื่อ ว่าเป็นเหมือนสุสานสำคัญ เป็นพื้นที่ผีเฮี้ยนที่เราเองไม่เคยไปแต่ก็พอจะนึกภาพสุสานและเหล่าผีที่อยู่ในป่าช้านั้นได้อย่างชัดเจน แต่อาจจะด้วยการพัฒนา ถ้าเราพูดถึงป่าช้าวัดดอนกับเด็กรุ่นใหม่ก็อาจจะไม่รู้จักแล้ว เพราะปัจจุบันป่าช้าวัดดอนจากพื้นที่สยองขวัญเสื่อมโทรมของกรุงเทพฯ ได้กลายเป็นสวนสวยในชื่อน่ารักคือ ‘สวนสวยแต้จิ๋ว’ กลายเป็นสวนสวยที่คนแถวนั้นเข้าไปเดินเล่นและวิ่งออกกำลังได้อย่างสบายใจ

ป่าช้าวัดดอนถือเป็นประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของกรุงเทพฯ ใครจะคิดว่าป่าช้าวัดดอนอันที่จริงตั้งอยู่ในเขตสาทร แต่เดิมเป็นสุสานขนาดใหญ่กินพื้นที่ตั้งแต่ซอยเจริญกรุง 57 ถึงเซนต์หลุยส์ ซอย 3 แขวงวัดดอน สุสานยักษ์นี้เป็นพื้นที่ของสามองค์กรมูลนิธิ คือสมาคมแต้จิ๋ว มูลนิธิป่อเต็กตึ้ง และสมาคมไหหลำด่านเกเต้ พื้นที่รวมของสุสานทั้งหมดกินพื้นที่กว่าร้อยไร่ ในสมัยก่อนก็จะมีความน่ากลัวต่างกันออกไป เช่น ส่วนสุสานของสมาคมแต้จิ๋วกินพื้นที่ 87 ไร่ เปิดให้เข้าเฉพาะช่วงเชงเม้ง ตัวสุสานกลายเป็นป่ารกร้าง เต็มไปด้วยสัตว์เลี้ยงคลาน นอกเขตสุสานกลายเป็นพื้นที่น้ำท่วมขัง ส่วนของป่อเต็กตึ๊งขนาด 30 ไร่เป็นพื้นที่ฝังศพไร้ญาติ เป็นพื้นที่แห่งตำนานวิญญาณหลอนจากศพอุบัติเหตุกว่า 4,000 ศพ นอกจากเรื่องลี้ลับแล้วตัวพื้นที่กว่าร้อยไร่จึงกลายเป็นพื้นที่รกทึบ เสื่อมโทรมและกลายเป็นแหล่งอาชญากรรม

ตำนานป่าช้าวัดดอน พื้นที่สยองของกรุงเทพฯ ก็จบลงเมื่อตัวสุสานแห่งนี้ได้รับการพัฒนาโดยเขตสาทรในปี 2539 มีการค่อยๆ บุกเบิกเข้าพัฒนา ปรับพื้นที่ ปลูกต้นไม้ในส่วนของสมาคมแต้จิ๋ว จนปัจจุบันกลายเป็นสวนสีเขียว มีทางวิ่งร่มรื่น และยังมีสถาปัตยกรรมเป็นสะพานและศาลเจ้าอยู่ในพื้นที่ด้วย แน่นอนว่าส่วนหนึ่งการพัฒนาป่าช้าวัดดอนคือการจัดการพื้นที่ทำเลสำคัญย่านสาทรให้กลายเป็นพื้นที่ที่ไม่เสื่อมโทรมและสร้างประโยชน์กับชุมชน โดยทุกวันนี้สวนสวยแต้จิ๋วไม่ได้มีกลิ่นอายความน่ากลัวแต่อย่างใด แต่เป็นพื้นที่อันคึกคักของนักวิ่งและชมรมคาราโอเกะของผู้สูงอายุ

 

Bunurong Memorial, Australia

Bunurong Memorial Park ถือเป็นพื้นที่สุสานที่ได้รับการออกแบบและสร้างขึ้นด้วยแนวคิดใหม่ คือวางไว้ให้เป็นทั้งสวนสาธารณะ เป็นพื้นที่ของชุมชน และใช้เป็นพื้นที่บริการด้านการทำศพ ฝังศพ เผาศพสำหรับชุมชนแบบครบวงจร ตัวสวนแห่งนี้ดูเผินๆ คือเป็นสวนสวยๆ ที่มีทั้งน้ำ ทางเดิน ต้นไม้ และมีอาคาร แต่ทว่าตัวศูนย์ก็ยังคงมีบริการด้านการทำศพให้กับชุมชนอยู่ด้วย

แนวคิดหลักของสวนและการให้บริการคือจะเน้นการให้บริการร่วมสมัย คือเน้นเรื่องความหลากหลายทั้งในแง่ความเชื่อและความหลายหลายทางชาติพันธุ์ เน้นสถาปัตยกรรมและภูมิทัศน์ที่เรียบง่ายและสง่างาม ที่สำคัญคือตัวพื้นที่จะเน้นรองรับกิจกรรมในชีวิตประจำวัน การเดินวิ่งและการเล่นของเด็กๆ จะได้รับการผสานเข้ากับพื้นที่สุสาน ที่ถูกตีความให้เป็นพื้นที่ของการจดจำ ความพิเศษของสวนแห่งนี้คือการยังคงให้บริการทั้งพื้นที่ฝังศพ การเผาศพที่มีความหลากหลายและครอบคลุมตามความต้องการของสมาชิกในชุมชน

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

https://www.bloomberg.com/news/features/2021-10-15/nyc-s-biggest-public-graveyard-hart-island-gets-remodel

https://theculturetrip.com/asia/japan/articles/okunoin-temple-and-cemetery/

http://www.sugoijp.com/travel_details.php?id=689

https://hollywoodforever.com/culture/

https://www.bloggang.com/m/viewdiary.php?id=pakdee6&month=10-2013&date=04&group=21&gblog=28

https://travel.mthai.com/region/140111.html

https://worldlandscapearchitect.com/transforming-a-traditional-cemetery-into-a-contemporary-park/

https://smct.org.au/our-locations/about-bunurong-memorial-park?gclid=Cj0KCQjw8eOLBhC1ARIsAOzx5cEexzuPMLbo35hWec6H9Pjv0ntuXHMDJFj2bmAPEIWHmBs1QyDibPsaAgedEALw_wcB

https://www.foreground.com.au/agriculture-environment/urban-burial-cemetery-landscapes/

 

 

 

Share :