เวลาเรานึกถึงคำว่าบ้าน นึกถึงการอยู่อาศัย เรามักนึกถึงพื้นที่ส่วนตัว การอยู่ในพื้นที่เฉพาะ และพื้นที่ ‘ครัวเรือน’ นั้นมักโยงกับความเป็นครอบครัว การเกี่ยวดองกันบางอย่างเราถึงจะมาร่วมชีวิตอยู่ด้วยกันได้- ในแง่การเป็นมิตรสหายแล้วอยู่ด้วยกันนั้นเราก็ยังเห็นเป็นรูปแบบการใช้ชีวิตที่หาได้ยากอยู่ดี
ทว่า ด้วยรูปแบบวิถีชีวิตที่เริ่มเปลี่ยนไป การเกิดขึ้นคนรุ่นใหม่ๆ ค่านิยมใหม่ๆ รวมถึงเงื่อนไขของการใช้ทรัพยากร เราเป็นโสดกันมากขึ้น มีลูกกันน้อยลง มีกิจกรรมนอกบ้านมากขึ้น ทำงานโดยไม่นิดติดกับสถานที่หรืออาชีพใดอาชีพหนึ่งแบบเดิมอีกต่อไป ในขณะเดียวกันอสังหาริมทรัพย์ก็มีราคาแพงขึ้น การดูแลบ้านในพื้นที่ขนาดใหญ่กลายเป็นภาระ ความฝันของคนยุคใหม่อาจจะไม่ใช่การมีบ้าน มีรถ มีลูกอีกต่อไป แต่คือการแสวงหาความฝันอื่นๆ การหาประสบการณ์และความสำเร็จในรูปแบบของตัวเอง ดังนั้น แนวคิดเรื่องการ ‘ครอบครอง’ หรือ ownership นั้นก็เลยเริ่มลดความสำคัญลง การแบ่งปันหรือการมีพื้นที่ส่วนกลางที่ใช้ร่วมกันเริ่มมีความหมายมากขึ้น
Co-Housing หรือ Co-Living จริงๆ ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ขนาดนั้น เรานึกถึงการอยู่หอ การใช้เวลาในโฮสเทล แต่จะใหม่ในแง่ของการพูดถึงบ้านในฐานะการลงหลักปักฐานและเติบโต แนวคิดเรื่องการอยู่อาศัยร่วมคือการออกแบบโครงการและการพักอาศัยโดยให้คนแปลกหน้าเข้ามาใช้ชีวิตร่วมกัน มีการแบ่งพื้นที่ส่วนตัวและพื้นที่ส่วนกลาง ส่วนใหญ่จะเป็นการยูนิตพักอาศัยออกจากสาธารณูปโภคอื่นๆ ที่ผู้อยู่อาศัยทุกคนจะมาใช้ร่วมกันได้ เราอาจมีอพาร์ตเมนต์เล็กๆ มีที่นอน มีห้องน้ำเท่าที่เราต้องการ ในขณะที่เราก็มีพื้นที่ส่วนกลาง มีครัว มีห้องนั่งเล่น มีฟิตเนสที่เราจะออกมาใช้เวลาเสมือนเป็นครอบครัวเล็กๆ ในครัวเรือนเดียวกันกับคนอื่นๆ
การอยู่อาศัยร่วมในระดับอรรถประโยชน์ แน่นอนว่าเป็นรูปแบบการอยู่อาศัยที่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ ตัวโครงการด้วยการแชร์พื้นที่ทำให้ราคาของพื้นที่ถูกลง การไม่มีทายาทก็ทำให้ไม่จำเป็นลงทุนไปกับการครอบครอง พื้นที่อยู่อาศัยอาจเปลี่ยนมือไปได้โดยง่าย ตอบสนองต่อปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัย การอยู่อาศัยร่วมนี้จึงตอบโจทย์ทั้งยุคก่อนโรคระบาดและหลังโรคระบาด ที่คราวนี้เราไม่จำเป็นต้องอยู่ติดกับบ้านในเมือง การย้ายออกจากเมืองและสร้างชุมชนเล็กๆ ร่วมกันจึงเป็นการลงทุนที่ดูเป็นไปได้ หรือกระทั่งกระแสการทำงานยุคใหม่ที่คราวนี้เราสามารถท่องเที่ยวไป ทำงานไป ย้ายที่อยู่อาศัยไปเรื่อยๆ การอยู่อาศัยร่วมก็ดูจะตอบโจทย์การใช้ชีวิตอยู่ไม่น้อย
จริงๆ แล้ว Co-Living Project โครงการที่พักอาศัยร่วมเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงจังทั่วโลก มีธุรกิจอสังหาและโมเดลธุรกิจเกิดขึ้นพอสมควรทั้งในยุโรปและเอเชีย เราเริ่มเห็นหน้าตาอาร์ตเมนต์ขนาดเล็ก บ้านที่แบ่งสัดส่วนเพื่ออยู่อาศัยหลายครอบครัว ไปจนถึงโครงการอยู่อาศัยร่วมหลายพันหลังคาเรือน ที่มีภาษาของเฟอร์นิเจอร์และหน้าตาของพื้นที่ที่เน้นการแบ่งพื้นที่ และรักษาความเป็นส่วนตัวในพื้นที่ส่วนรวม มีความเห็นจากนักออกแบบและสตูดิโอสถาปัตย์ คือ Studio Weave และ the RIBA บอกว่าการอยู่อาศัยร่วมกันนี้แหละจะช่วยแก้ปัญหาทางสังคมของอังกฤษได้ ทั้งเรื่องความเดียวดายในเมืองไปจนถึงสังคมสูงวัย และโครงการอยู่อาศัยร่วมจะไม่ใช่แค่การอยู่อาศัยทางเลือก แต่กำลังกลายเป็นรูปแบบการอยู่อาศัยหลักต่อไป
City Cracker จึงชวนไปดูโครง Co-Living จากทั่วโลกในฐานะกระแสการอยู่อาศัยร่วมกันในอนาคตตามที่เราได้จัดเสวนาเรื่อง Future Living ไป พาไปดูว่าไอ้การอยู่ในอาศัยแบบที่ไม่เน้นความเป็นเจ้าของ การมีพื้นที่ส่วนกลางร่วมกัน อยู่ใต้ชายคาเดียวกันมันเป็นอย่างไร นอกจากจะประหยัด มีโอกาสมีที่อยู่อาศัยที่ดีแล้ว สาธารณูปโภคจะดีกับเราไหม นับตั้งแต่โปรเจ็ตกต์บ้านสำหรับครอบครัวเริ่มต้นใหม่ในบรรยากาศไม้อบอุ่นแบบสแกนดิเนเวียน โปรเจ็กต์ LifeX ที่เน้นการสร้างชุมชนคนรุ่นใหม่โดยปัจจุบันมี co-living อยู่ใน 7 ประเทศทั่วยุโรป โปรเจ็กต์ Flatmate ของฝรั่งเศสที่เป็นเหมือนบ้านและค่ายฟักผู้ประกอบการใหม่ ที่ถือว่าเป็น co-living ที่ใหญ่ที่สุดในโลก รองรับผู้พักอาศัยได้ 600 คน บ้านเล็กๆ อบอุ่นสีขาวในนาโกย่าที่เน้นให้คนโสดเช่า หรือบ้านพักสีขาวที่ทุกอย่างในอาคารเป็นสีขาวล้วนเน้นผู้พักอาศัยที่ต้องการสร้างงานสร้างสรรค์ในสิงคโปร์
Vindmøllebakken, Norway
Vindmøllebakken เป็นโครงการอพาร์ตเมนต์ที่เน้นความยั่งยืนในเมืองสเตแวนเจอร์ (Stavanger) หนึ่งในเมืองที่เก่าแก่ที่สุดของนอร์เวย์ แนวคิดสำคัญของโครงการพักอาศัยนี้คือ Gaining by Sharing ตัวโปรเจ็กต์นี้ล่าสุดได้กลายเป็นพาวิลเลียนที่งานเวนิสเบียนนาเล่ ภายใต้โจทย์ว่าเราจะอยู่กันอย่างไรต่อไปในอนาคต และคำตอบของประเทศกลุ่มนอร์ดิกคือการจำลองบ้านพักอาศัยแบบ co-housing ขึ้นเป็นคำตอบ
ตัวโครงการต้นแบบนั้นประกอบด้วบอพาร์ตเมนต์ 40 ยูนิต ในอพาร์ตเมนต์ก็จะเป็นพื้นที่ส่วนตัว แต่ในอาคารหรือพื้นที่แฟลตก็จะเน้นจัดพื้นที่ไว้ให้ผู้อยู่อาศัยใช้เวลาและใช้สาธารณูปโภคต่างๆ ในชีวิตประจำร่วมกัน มีห้องครัว โถงรับประทานอาหาร สวนผัก ลานดาดฟ้า ห้องเก็บของ ห้องซักรีด พื้นที่ของเด็กๆ แกนสำคัญของโครงการคือการที่ผู้อยู่อาศัยทุกคนจะอยู่ร่วมกันเป็นชุมชนเล็กๆ แบ่งปันและดูแลซึ่งกันและกัน ตัวงานออกแบบกจะเน้นหน้าตาของบ้านแบบใหม่ที่รองรับครอบครัวจำนวนมาก แต่ก็ยังรักษาความเป็นส่วนตัวไว้ ครอบครัวปัจจุบันที่พักอาศัยก็มีความหลากหลายตั้งแต่คนโสด ครอบครัวเล็กๆ ไปจนถึงผู้สูงอายุ
LifeX Project, Copenhagen
LifeX Project เป็นโปรเจ็กต์บ้านที่กลายเป็นโมเดลธุรกิจที่ค่อนข้างใหญ่ ตัวบ้านของ LifeX เป็นอีกหนึ่งผลผลิตของวัฒนธรรมการอยู่อาศัย และสถาปัตยกรรมบ้านอบอุ่นแบบแสกนดิเนเวียน โครงบ้านจะมีลักษณะเป็นการแชร์บ้านที่ขนาดไม่ใหญ่นักและอพาร์ตเมนต์ เป้าหมายหลักๆ ของ LifeX คือกลุ่มคนที่เริ่มตั้งตัวและใช้โมเดลของการแชร์พื้นที่เพื่อให้มีกำลังพอจ่ายกับบ้านคุณภาพดี ตัวบ้านของ LifeX จะเน้นไปที่ความเป็นบ้าน มีอุปกรณ์การใช้ชีวิตครบครัน
จุดเริ่มของ LifeX คือเริ่มจากการที่ผู้ก่อตั้งย้ายจากซานฟรานซิสโกมาอยู่โคเปนเฮเกน ในตอนนั้นเกิดไอเดียว่ามาใหม่ เมืองใหม่ อยากทำอะไรใหม่ๆ เลยลงทุนเช่าอพาร์ตเมนต์ขนาดใหญ่และตกแต่งอย่างดีที่สุด พร้อมเชิญคนเข้ามาแชร์อยู่ด้วยกัน ผลคือได้ผลดีและค่อยๆ ขยายกลายเป็นโครงการอสังหาที่บริการบ้านโดยมีการแชร์พื้นที่เป็นหัวใจ ปัจจุบัน LifeX ดูแลบ้านกว่า 50 หลังใน 6 เมืองใหญ่ของยุโรป ลูกค้าหลักมักเป็นกลุ่มนักศึกษาจบใหม่ที่ย้ายออกจากบ้านพ่อแม่ คู่รักใหม่ที่เริ่มใช้ชีวิตร่วมกัน ตัวโปรเจ็กต์จึงเป็นเหมือนบริการพื้นที่บ้านในช่วงรอยต่อของชีวิต
Co-living Flatmates Project, France
เราพูดถึงการอยู่ร่วมกัน และส่วนหนึ่งคือการอยู่ร่วมเพื่อเติบโต นึกภาพการรวมตัวทำธุรกิจระหว่างหรือหลังเรียนจบที่หลายโปรเจ็กต์หรือสตาร์ทอัพใหม่ๆ ไปใช้ร่วมกัน Flatmates Project เป็นส่วนหนึ่งของการเกิดขึ้นของธุรกิจสตาร์ทอัพ ของกลุ่มคนรุ่นใหม่ในตัวเมืองปารีส ปารีสมีฮับที่ชื่อว่า Station F เป็นเหมือนศูนย์บ่มเพาะธุรกิจรุ่นใหม่ที่ถือว่าใหญ่ที่สุดในโลก เป็นแคมปัสที่ปรับสถานีรถไฟตู้สินค้ากลายเป็นพื้นที่ธุรกิจยุคใหม่กว่า 1,000 บริษัท กระนั้นมีที่ทำงานแล้ว ก็ทำที่พักแบบ co-living ในนาม Flatmates ให้ความรู้สึกเหมือนกลุ่มเพื่อนทำธุรกิจ เพื่อนร่วมหอที่มาใช้ชีวิตเพื่อสร้างสิ่งที่ตัวเองรักในธุรกิจสร้างสรรค์ ตัว Flatmates ก็ว่าสุดเหมือนกันเพราะถือว่าเป็นโครงการพักอาศัยร่วมที่ใหญ่ที่สุดในโลก คือรองรับการพักอาศัยได้ราว 600 คน ในอพาร์ตเมนต์ 100 ยูนิตของ 3 อาคารสูง
ลักษณะการอยู่อาศัยคือจะแบ่งเป็นยูนิตอพาร์ตเมนต์ย่อยๆ ยูนิตหนึ่งพักได้หกคน มีห้องนอนแยกกันและมีพื้นที่ส่วนกลางเป็นครัว ห้องน้ำ คาเฟ่ ระเบียง นอกจากนั้นก็จะมีส่วนกลางที่ใช้ร่วมกันตามสไตล์สตาร์ตอัพเช่นคาเฟ่ ยิม เลาจน์บาร์ มีฮอลไว้จัดอีเวนต์ พื้นที่ภายนอก โดยความเก๋ของที่นี่คือเทคโนสุดๆ เน้นการออกแบบให้คนที่ไม่รู้จักกันมาอยู่ร่วมกัน มีการใช้ระบบจับคู่ห้องที่เราคุ้นเคยสมัยเรียน แต่ระบบนี้จะมีแพลตฟอร์มดิจิตัลที่จะแมตช์ตามบุคลิกลักษณะและความสนใจ ทางสถาปนิกออกแบบลักษณะห้อง 9 รูปแบบและใส่ใจไปถึงเฟอร์นิเจอร์ในโครงการที่มีกว่า 5,000 ชิ้นที่ล้วนเน้นการปรับประยุกต์ตามความต้องการ มีกระทั่งการออกแบบภาษาของเฟอร์นิเจอร์ที่เหมาะกับการอยู่แบบร่วมกัน เช่นระบบโซฟาแบบโมดูลาร์ที่ปรับประยุกต์ไปตามความต้องการได้
Oosterwold Co-living Complex, Netherland
อยากมีบ้านเล็กๆ ที่บ้านนอก แต่ยากเหลือเกิน จะไปปลูกเอง ดูแลเองก็ลำบาก ดังนั้นการรวมตัวเป็นเรื่องที่ทำให้การไปมีชีวิตแสนสุขที่ชนบทเป็นไปได้จริง ความฝันของการอยากไปอยู่ชนบทเองที่เนเธอแลนด์ก็มีเช่นกัน และฝันเป็นจริงได้ด้วยข้อจำกัดและการอยู่ร่วมกัน Oosterwold Co-living Complex เป็นโครงการของ Frode Bolhuis ศิลปินที่อยากจะมีบ้านบนพื้นที่ 1 เฮคเตอร์อันเป็นไร่มันฝรั่ง แต่ไม่ค่อยมีเงินจะทำไง สถาปนิกก็บอกว่าถ้างั้นต้องแชร์ เพราะสร้างบ้านพร้อมกันหลายๆ หลังถูกกว่า ผลคือก็หาเพื่อนฝูงคนสนใจมาได้ 8 คน
ตัวโครงการเล็กๆ นี้ก็เลยเกิดขึ้นเป็นการบ้านพักอาศัยร่วมที่ประกอบด้วยแนวบ้านสี่เหลี่ยมๆ คล้ายๆ เรือนแถว 9 หลัง ตัวผู้ออกแบบบอกว่าจะสร้างและออกแบบเพียงภายนอกเท่านั้น ภายในให้อิสระทำกันเอง ตัวบ้านออกมาสวย เรียบ อบอุ่น และร่วมสมัยตามแบบสแกนดิเนเวียน หน้าบ้านทั้งหมดเป็นสนามยาวๆ ร่วมกัน และมีสวนส่วนกลาง ตัวโครงการนี้ได้รับความสนใจ และแสดงให้เห็นทางออกที่เป็นรูปธรรมจากงบอันจำกัดพร้อมความสามารถในการออกแบบที่ตอบสนองความต้องการที่ต่างกันผ่านการวางโครงสร้างส่วนกลางเอาไว้ ได้เป็นบ้านล้ำสมัยที่ดูน่ารักกลางไร่มันที่ออกดอกสะพรั่ง
Share House LT Josai, Japan
เชิญพบกับบ้านขนาด 13 ห้องนอน Share House LT Josai เป็นบ้านในเมืองนาโกย่าที่ตอบสนองกับความต้องการการอยู่อาศัยร่วมของญี่ปุ่น แน่นอนญี่ปุ่นเป็นประเทศอันดับต้นๆ ที่เจอปัญหาแบบเมืองๆ คนเหงามากขึ้น เดียวดายมากขึ้น บ้านแพง และอยากมีคุณภาพชีวิตที่ดี ดังนั้นบ้านอยู่อาศัยร่วมกันนี้จึงออกแบบเพื่อตอบสนอง และคำนึงถึงการใช้พื้นที่รูปแบบใหม่โดยเฉพาะการจัดการกับพื้นที่ส่วนกลางที่จะตอบสนองการความต้องการที่หลากหลาย
ความพิเศษของบ้านหลังนี้คือการใช้ช่องว่างตรงกลาง โดยออกแบบบ้านทั้งหลังในรูปแบบสามมิติ คือมีสามระดับ สามชั้น ค่อยๆ ละลายความเป็นพื้นที่ส่วนตัวลง ถ้าเราดูผังและภาพรวมเราจะเห็นการแบ่งพื้นที่ออกเป็นช่วงๆ ในแต่ละชั้น ทำให้บ้านโปร่งโล่งและมีมิติที่น่าสนใจ ทั้งยังมีพื้นที่รองรับการใช้งานหลายส่วนที่ทั้งต่อเนื่องและแยกออกจากกัน จริงๆ ถ้าเราเคยไปโฮสเทลเราก็จะคุ้นๆ กับการใช้ระดับพื้นที่ที่ต่างกันแบ่งโซน โดยจะมีส่วนที่เป็นส่วนกลางที่สุดคือครัวและห้องนั่งเล่น
Gap House, Seoul
Gap House ตั้งอยู่ในกรุงโซล โครงการ Co-Living เป็นอีกหนึ่งโครงการที่คมคายตามชื่อ Gap House ทางโปรเจ็กต์อธิบายว่า ลองนึกภาพว่าระหว่างบ้านและหมู่บ้านนั้นมันมี ‘ช่องว่าง’ บางอย่างอยู่ระหว่างบ้าน แต่บ้านแห่งช่องว่างนี้จะเข้ามาเติมเต็มที่ว่างระหว่างผู้คนเอง ฟังแบบนี้ก็เห็นภาพว่าการอยู่อาศัยแบบเดิมแม้เราจะมองว่าเป็นชุมชน แต่ก็มีระยะของบ้าง ของผู้คนอยู่ ซึ่งการอยู่อาศัยแบบใหม่กำลังเติมช่องว่างเหล่านี้ผ่านการอยู่ใต้ชายคาเดียวกัน
โปรเจ็กต์ Gap House ตั้งอยู่ในย่าน Bokjeong-dong คือตัวย่านถือเป็นย่านที่กำลังแออัดขึ้นเรื่อยๆ มีมหาวิทยาลัยถึง 2 แห่ง และเป็นที่อยู่ของคนทำงาน ทำให้พื้นที่พักอาศัยหายาก ดังนั้นตัว Gap House จึงถูกออกแบบเพื่อตอบโจทย์เรื่องที่อยู่อาศัยไม่เพียงพอ และยังมีเป้าหมายเป็นกลุ่มคนทำงานที่ยังโสด ตัวบ้านเป็นบ้านขนาดใหญ่เกือบจะเป็นอพาร์ตเมนต์ที่เน้นพื้นที่ส่วนกลางเป็นสำคัญ ตัวตึกจะเน้นออกแบบในโทนอบอุ่น เน้นแสงธรรมชาติและงานไม้ รวมถึงเน้นการมีพื้นที่รองรับกิจกรรมของผู้อยู่อาศัยยุคใหม่ ของคนทำงานที่ยังโสด เน้นครัวส่วนรวม พื้นที่รับประทานอาหาร และพื้นทีพักผ่อนที่โปร่งโล่งอยู่สบาย
Mokrin House, Serbia
สมมติว่าทุกอย่างผ่านไปได้ด้วยดี เราเรียนรู้ว่าแค่มีอินเทอร์เน็ต มีคอมพิวเตอร์ก็ทำงานที่ไหนก็ได้ แล้วเรานึกภาพตัวเองตื่นขึ้นมาในบ้านสวยๆ ในหมู่บ้านเล็กๆ ทางตอนเหนือใกล้เขตชายแดนของเซอร์เบีย Mokrin House เป็นโครงการที่พักที่ออกแบบเพื่อรองรับกลุ่ม Digital Nomad คือคนทำงานที่ร่อนเร่ไปทำงานไป และตัวบ้านแห่งนี้ถือเป็น co-living ในชนบทแห่งแรกของเซอร์เบีย ซึ่งแนวคิดเรื่องการอยู่อาศัยร่วมกันยังนับว่ายังไม่เป็นที่แพร่หลายนัก
ในแง่ของบริการสำหรับฟรีแลนซ์ นักทำงานผ่านเน็ต จริงๆ สำหรับกระแสโลกก็ไม่ใหม่มาก แง่หนึ่งเป็นคล้ายๆ การซื้อที่พักแบบโฮสเทลในระยะยาว พร้อมบริการเสริมเพื่อใช้ชีวิตและการทำงานอื่นๆ ตัวบ้านก็ออกแบบสวยงาม มีห้องพักให้เลือกหลายระดับ รายงานในปี 2018 ระบุราคาการพักเป็นรายเดือน ถ้าพักในหอพักรวม เตียง 2 ชั้นจะอยู่ที่ราคา 993 ยูโรต่อเดือน ราว 40,000 บาท ห้องส่วนตัวสวยๆ อยู่ที่ 1,800 ยูโรต่อเดือน เกือบ 70,000 บาทไทย แต่ราคานี้คือจ่ายแล้วจบเหมือนเหมาโรงแรมพร้อมบริการเรื่องการงาน มีอาหารสามมื้อปรุงโดยเชฟท้องถิ่น พื้นที่ทำงานและรวมกิจกรรมอื่นๆ ซึ่งกิจกรรมจะเน้นไปที่เรื่องการทำงาน คอนเน็คธุรกิจ ไปจนถึงสาธารณูปโภคสันทนาการ เช่นสระว่ายน้ำและโรงหนังขนาดย่อม
Canvas House, Singapore
การทำงานสร้างสรรค์บางทีเราก็ต้องการพื้นที่ที่พิเศษ และหลายครั้งที่พื้นที่พิเศษนั้นต้องการการออกแบบพิเศษ นึกภาพการได้อยู่ในบ้านที่ทุกอย่างเป็นสีขาว และนี่คือ Canvas House บ้านที่ออกแบบให้เป็นเหมือนผืนผ้าใบ เป็นที่อยู่อาศัยร่วมในย่านกินดื่ม Tanjong Pagar ของสิงคโปร์ ตัวโปรเจ็กต์คือการรีโนเวตตึกแถวเก่าให้กลายเป็นโครงการพักอาศัย แนวคิดหลักนอกจากจะเป็นการสร้างพื้นที่สีขาวให้กับผู้คนที่ใช้ชีวิต และแน่นอนสีขาวล้วน การเล่นแสงเงานั้นสวยงาม แกนสำคัญอีกอย่างจึงเป็นการเชื่อมโยงอดีตเข้ากับอนาคต การปรับปรุงพื้นที่จึงเน้นการรักษารากเหง้าหรืออดีตของตัวตึกแถว ในขณะเดียวกันการระบายทุกอย่างให้เป็นสีขาวก็ทำให้การอยู่อาศัยเหมือนกับอยู่ในความฝัน เป็นการชวนผู้อยู่อาศัยให้ฝันไปถึงอนาคตด้วย
ตัวตึกแถวโฉมใหม่แห่งนี้ ด้วยงานออกแบบและคอนเซปต์ ทำให้ตัวสถาปัตยกรรมกลายเป็นพื้นที่พักอาศัยที่ทำให้ผู้คนที่หลากหลาย ทั้งคนสิงคโปร์เองและชาวต่างชาติที่อยากจะใช้การอยู่อาศัยระยะสั้นๆ 3-12 เดือนเพื่อบูสต์ความคิดสร้างสรรค์ในบ้านที่ชวนเราฝันไป เหมือนอาศัยอยู่ในผืนผ้าใบในงานศิลปะร่วมสมัย ค่าเช่าบ้านพักอาศัยร่วมสีขาวล้วนนี้เริ่มต้นที่ 3,300 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อเดือน ถ้าเทียบเรตค่าเช่าบ้านรายเดือนทั่วไปของสิงคโปร์ แต่ได้อยู่ในบรรยากาศเหมือนฝัน ก็นับว่าเท่าๆ กับค่าเช่าโดยทั่วไปของที่นั่น
อ้างอิงข้อมูลจากhelenhard.no
doga.no
worldarchitecture.org
routledge.com
joinlifex.com
cutworkstudio.com
archdaily.com
dezeen.com
archdaily.com
archdaily.com
mokrinhouse.com
balkaninsight.com
dezeen.com
archdaily.com
dezeen.com
Illustration by Supatsorn Boontumma
- Vanat Putnark
Writer