CITY CRACKER

City Run เมื่อทางเท้าและท้องถนนควรวิ่งได้

ถ้าคุณไม่มาวิ่งมาราธอน คุณก็ไม่รู้หรอกว่า พระอาทิตย์ขึ้นที่สะพานพระราม 8 มันเป็นยังไง

 

ถ้าเรายังจำคำพูดของนิชคุณในภาพยนตร์เรื่อง รัก 7 ปั ดี 7 หน หรือกระทั่งจำความรู้สึกบางอย่างในตอนที่เราพาตัวออกไปวิ่งมาราธอนในช่วงมาราธอนกำลังฮิตๆ ได้ ส่วนหนึ่งของมาราธอนคือการที่เราได้ใช้เวลาวิ่งไปบนถนนของเมืองใหญ่ เหมือนกับที่นิชคุณพูดคือ เป็นโอกาสที่เราได้สัมผัสกับอีกมุม อีกด้านของเมือง บนสองเท้าและการวิ่งของเราทำให้เราได้รับรู้เมืองในมิติที่ต่างออกไป

กรุงเทพและอีกหลายเมืองใหญ่เป็นเมืองที่พึ่งพาถนนเป็นหลัก เราเดินทางด้วยรถ และด้วยความสิ่งต่างๆ อยู่ห่างกัน เราจึงรีบจนไม่มีเวลาได้ทอดน่องและทอดสายตาไปที่เมือง ที่ย่านของเรา ทุกวันนี้เรามีประเด็นเรื่องสุขภาพ และใครๆ ก็อยากมีสุขภาพดี แต่ทั้งห้าง ทั้งยิม และที่ออกกำลังกายอื่นๆ รวมถึงสวนก็ดูจะไม่สะดวกในการออกกำลังกายเท่าไหร่นัก บางสวนมีข้อบังคับให้เราใส่หน้ากาก ซึ่งก็เป็นอุปสรรคในการวิ่ง

threerunners.blogspot.com/2014/03/scene.html

ในช่วงที่สวนปิด ห้างปิด ทำให้เราเห็นว่าเมืองเช่นกรุงเทพมีที่ให้เราไปน้อยมาก และด้วยความอยากสุขภาพดีประจวบกับเมืองที่เริ่มช้าลง หลายคนจึงเลือกท้องถนนเป็นพื้นที่สำหรับออกกำลังกาย เรามีภาพการ วิ่งแถบพระบรมมหาราชวัง ในขณะเดียวกันหลายเมืองใหญ่ก็เห็นว่าทางเท้าที่มีคุณภาพและเพียงพอเป็นองค์ประกอบสำคัญของเมือง โดยเฉพาะในช่วงเวลาของการรักษาระยะห่าง หลายเมืองถึงขนาดถือโอกาสปฏิวัติเปลี่ยนแปลงเมืองไปสู่เมืองแห่งการเดินและวิ่ง ทำให้ถนน- อันเป็นพื้นที่เปิดโล่งและพื้นที่สาธารณะจำนวนมหาศาลของเมืองสามารถใช้เดิน วิ่งและปั่นในฐานะพื้นที่ที่เพียงพอและปลอดภัยของชาวเมือง

ในช่วงเวลาของโคโรน่าไวรัส เชื่อว่าหลายคนคงเริ่มออกสำรวจพื้นที่ใกล้เคียง ใช้ถนนหนทางเป็นลู่วิ่ง เป็นพื้นที่เส้นทางบำรุงสุขภาพทั้งสุขภาพกายและใจ นอกจากสะพานพระรามแปดแล้ว การได้ออกวิ่งในเมืองก็ทำให้เราเห็นเมืองในอีกมิติหนึ่งที่หลายครั้งเราพลาดไปจากจังหวะที่เร็วเกินไปของเมือง เราได้เห็นร้านค้า เห็นบ้าน เห็นผู้คน เห็นหมาแมวและสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ไปพร้อมกับรอยแตก รอยร้าวของท้องถนน เห็นสายไฟระโยงระยาง การหยุดชะงักของเมืองจึงเป็นช่วงเวลาที่การวิ่งในเมือง- City Run ดูจะเป็นกิจกรรมที่เราได้กลับมาลองทำ และกลับไปสำรวจละแวกบ้านผ่านรองเท้าผ้าใบ- ถึงแม้ว่ากรุงเทพอาจจะวิ่งลำบากหน่อยก็ตาม

program.thaipbs.or.th/Fit2gether

 

ข้อดี- ข้อเสียของ City Run

การวิ่งในเมือง โดยเฉพาะสำหรับบ้านเราที่เมืองอาจจะไม่ค่อยเป็นมิตรกับคนเดินถนนเท่าไหร่ การวิ่งในเมืองก็มีทั้งข้อดี และข้อควรระวังไปพร้อมกัน

ข้อดีของการวิ่งในเมืองคือความง่าย และความสะดวก การออกกำลังกายหลายครั้งเป็นเรื่องของวันพรุ่งนี้ เรามักจะรอสวนเปิด รอเวลา รอทุกอย่างเสร็จสมบูรณ์เราถึงจะเดินทางไปออกกำลังได้ แต่การวิ่งในเมืองนั้นแสนง่าย แค่เรามีรองเท้าหนึ่งคู่ เราก็สามารถออกไปออกกำลังกายได้ตั้งแต่จากหน้าประตูบ้าน ทำได้เลย ทำได้ทันที ยิ่งทุกวันนี้เรามีสมาร์ตโฟน เราก็สามารถใช้กูเกิลแมพเช็คเส้นทางและระยะคร่าวๆ นำไปก่อน ในขณะที่วิ่งเราก็มีแอพติดตามประสิทธิภาพการวิ่งของเราได้ต่อ

การวิ่งในเมือง ในหลายประเทศเช่นที่อเมริกา ถือเป็นกิจกรรมที่ช่วยสร้างความสัมพันธ์ของผู้คนด้วย คือแม้ในเมืองที่ออกแบบทางเท้า มีทางเรียบ ไฟสว่างแล้ว แต่การวิ่งในเมืองนั้นทางที่ดีก็มักจะทำกันเป็นกลุ่ม มีการตั้งทีม ตั้งคลับเล็กๆ เพื่อออกมาวิ่งบนท้องถนนพร้อมกัน มีการฝึกเรื่องความปลอดภัยต่างๆ ถือว่าได้สร้างสังคมนักวิ่งที่แข็งแรงทั้งกายและใจไปพร้อมๆ กัน บ้านเราเองก่อนมีโควิดก็จะมีคลับวิ่งเล็กๆ มีนักวิ่งในเมืองจำนวนหนึ่ง

stuytown.com

กระนั้นเอง แปลว่าการวิ่งในเมืองก็เป็นสิ่งที่ต้องทำด้วยความระมัดระวัง อย่างน้อยที่สุดคือเส้นทางการวิ่งที่เราควรจะวิ่งสำรวจก่อน ระวังเรื่องทางเปลี่ยว ทางรถ ดูเส้นทางที่มีไฟสว่าง มีชุมชนประมาณหนึ่ง ยิ่งบ้านเรานั้นถนนหนทางนอกจากจะไม่ค่อยเรียบแล้ว ยังไม่ค่อยร่ม ดังนั้นเราจึงเลือกวิ่งในช่วงเช้ามืดหรือหัวค่ำ ดังนั้นการแต่งกาย สีเสื้อผ้าหรืออุปกรณ์ที่พอจะสะท้อนแสงหรือสว่างหน่อยก็จำเป็น นอกจากนั้นเส้นทางที่เลือกควรคำนึงถึงเรื่องมลพิษด้วยเพราะมีงานศึกษาและคำเตือนว่าการออกกำลังในที่ที่มีฝุ่นควันสูงส่งผลเสียกับร่างกายมากกว่าจะได้ประโยชน์

หลายคนอ่านถึงตรงนี้ก็แอบท้อใจว่าละแวกบ้านจะเข้าเงื่อนไขให้ออกไปวิ่งได้กับเขาบ้างหรือเปล่า ซึ่งนอกจากเรื่องเส้นทาง เรื่องความปลอดภัยใหญ่ๆ แล้ว บ้านเราเองก็มีเรื่องจุกจิกให้ระวัง เรื่องหมาไล่กัน บรรยากาศอาจจะน่ากลัวหน่อย หรือเจอกับแหล่งขยะ คลองเน่า แง่นี้ก็ลองหาๆ ทางที่พอได้วิ่งได้เดิน ก็น่าจะพอมี

 

Park Connector- Bike Lane- Green Way เมื่องเมืองกลายเป็นลู่วิ่ง

ในหลายประเทศที่มองว่าสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชมเป็นความรับผิดชอบ และเป็นการลงทุนที่ในที่สุด ประชาชนที่แข็งแรงย่อมนำไปสู่ชาติที่เข้มแข็งก็มีการลงทุนกับทางเท้า- ลู่วิ่งลู่จักรยานในฐานะสาธารณูปโภคสำคัญของเมือง ที่เราชื่นชมก็คงหนีไม่พ้นสิงคโปร์เพื่อนบ้านที่ลงทุนสร้างสิ่งที่เรียกว่า Park Connector คือนอกจากเกาะเล็กๆ ที่เต็มไปด้วยตึกนั้นจะลงทุนหย่อนสวนลงจำนวนมากแล้ว ก็ยังจะสร้างเส้นทางที่เชื่อมต่อกับสวนเหล่านั้น เป็นทางเท้า- ลู่สำหรับวิ่งหรือปั่นจักรยานที่เป็นเหมือนเส้นเลือดฝอยเล็กๆ เปิดโอกาสให้ชาวเมืองสามารถเดินวิ่งเชื่อมต่อเป็นโครงข่ายทั่วเมืองสิงคโปร์ได้

ความเท่ของ Park Connector คือการที่รัฐบาลเห็นเรื่องสุขภาพ และเห็นว่าจุดเล็กๆ เช่นทางเท้า-ลู่จักรยานที่เป็นเพียงจุดเชื่อมต่อภายในเมืองนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญระดับที่ปรับกลายเป็นการลงทุนขนานใหญ่ เปลี่ยนให้กลายเป็นแผนและผังขนาดมหึมาคลุมทั่วทั้งเมือง คิดภาพว่ารัฐบาลคิดเผื่อถึงขนาดว่า ถ้าประชาชนสามารถออกมาทำกิจกรรมสันทนาการได้เพราะเมืองสามารถต่อถึงกัน สามารถพกรองเท้าวิ่งแล้ววิ่งออกจากบ้าน ออกจากออฟฟิศ สามารถออกกำลัง ทำให้ทุกที่เป็นสวน เป็นลู่วิ่ง เป็นมินิมาราธอนของตัวเอง

sportifycities.com

ความคิดเผื่อของรัฐบาลนี้ คือไม่ได้วางผังให้แต่ละจุดมีทางที่ดีที่เชื่อมต่อกันได้ ทางการถึงขนาดสำรวจ วาดและออกแบบเส้นทางเพื่อให้ชาวเมืองสามารถเลือกเส้นทางที่ตัวเองชอบได้ เรียกได้ว่าเกาะเล็กๆ นั้นกลับมีเส้นทางวิ่งหลากหลายสไตล์ และทุกเส้นนั้นออกไว้ให้มีความรื่นรมย์และมีจุดเด่นที่ต่างออกไป มีการให้ข้อมูลอย่างเป็นระบบจากทาง npark หน่วยงานที่ดูแลสวนที่แสนทรงอิทธิพลที่ไม่ได้ดูแลแค่สวน แต่ดูแลวัฒนธรรมและส่งเสริมเรื่องสวนให้เข้าไปอยู่ในเส้นเลือดและไลฟ์สไตล์ของผู้คน แง่หนึ่งทำให้เห็นว่ารัฐนั้นเข้าใจเมืองเป็นอย่างดี เข้าใจว่าตัวเองมีภูเขา มีเนิน มีแม่น้ำ มีชุมชนทางวัฒนธรรมจนสามารถออกแบบโครงข่ายที่ทำให้คนรักเมืองได้โดยไม่ต้องเรียกร้อง

โครงการเช่น Park Connector ฟังดูง่าย แต่จริงๆ เป็นการลงทุนที่ค่อนข้างใหญ่ และเสี่ยง เพราะแน่นอนว่าเมือง กระทั่งบ้านเราเองการจะปรับปรุงเพิ่มทางเท้าลู่วิ่งยังยากด้วยหลายปัจจัย ทั้งราคาที่ที่สูงลิ่ว ตัวสาธารณูปโภคอื่นๆ ที่ทับซ้อนกันอยู่ กรรมสิทธิ์ต่างๆ ทั้งสายไฟ ตู้ไฟ กำแพง พื้นที่ส่วนบุคคล ซึ่งทางสิงคโปร์เองนั้นเล็กกว่าเรา ที่ดินแพงกว่า แต่เจ้า Park Connector นี้ก็สำเร็จเสร็จสิ้น แถมยังงอกเส้นทางวิ่งออกมาเรื่อยๆ ล่าสุดมีเส้นทางวิ่งข้ามเกาะ ทางการสามารถต่อเส้นทางจนครบรอบจากชายฝั่งหนึ่งไปสู่อีกฝั่งหนึ่งได้

tnp.sg

 

ไม่แน่ใจว่าจะเป็นแค่ฝัน ในวันที่เราเริ่มผูกเชือกรองเท้าออกไปวิ่งบนฟุตบาตที่หลายครั้งต้องตัดใจลงไปวิ่งที่ขอบถนนและหวังให้รถทั้งหลายช่วยปราณีด้วย โครงการเช่น PCN นั้นก็ไม่ได้มาจากวิมาน แต่เกิดจากการศึกษาแบบอย่างและพัฒนาต่อ เป็นการรวมพลังกันของผังเมืองและการออกแบบที่ต่อเนื่องกันทั้งในระดับเมืองและในระดับประเทศ

 

ตัว PCN นั้นก็เกิดจากการศึกษากรณีทั้ง Greenway ของทางสหรัฐ และ Bike way จากทางยุโรป เป็นโครงการที่เกิดจากการมองเห็นความสำคัญทั้งของคุณภาพชีวิต ของการลดการใช้รถยนต์ อันเป็นทัศวิสัยที่มองเห็นภาพเมืองและอนาคตที่ต่างออกไป

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

vice.com

medium.com

nparks.gov.sg

researchgate.net

 

Illustration by Montree Sommut
Share :