CITY CRACKER

ดูแลผู้มีรายได้น้อย ลดภาษีเมื่อใช้ขนส่งสาธารณะ 7 นโยบายน่าขโมยจากเมืองใหญ่ของสหรัฐและลอนดอน

เลือกตั้งผู้ว่ากำลังจะมาถึง​ เราเริ่มเห็นนโยบายที่จริงๆ ก็เป็นความฝันมาอย่างยาวนานของเรา เช่น น้ำท่วม การศึกษา​ ขนส่งสาธารณะที่มีประสิทธิภาพ​ ในโอกาสนี้ City Cracker ชวนไปลอกการบ้านนโยบายน่าสนใจที่เข้าข่ายนวัตกรรม​ คือทั้งมองเห็นปัญหาเล็กๆ หรือบางนโยบายก็เป็นการใช้ชุดความคิดใหม่ๆ เข้าปรับปรุงสิ่งต่างๆ ของเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แนวนโยบายนวัตกรรมเป็นรายงานของศูนย์วิจัยเพื่ออนาคตเมือง (Center for An Urban Future) ศูนย์วิจัยระดับบัณฑิตศึกษาของมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก (NYU) ที่เผยแพร่ในปี 2013 เพื่อรับกับการเลือกตั้งผู้ว่าเมืองนิวยอร์กในปีนั้น ตัวรายงานใช้ชื่อ Innovation and the City เป็นงานวิจัยการสำรวจและรวบรวมแนวนโยบายและโครงการในระดับเมืองที่มีความสดใหม่และมีประสิทธิภาพจากเมืองอื่นๆ ของสหรัฐ (และลอนดอน) เป้าหมายหนึ่งของรายงานนี้คือแนะนำว่าผู้ว่าคนต่อไปทั้งของสหรัฐและเมืองอื่นๆ ควรจะรับเอานโยบายที่สร้างสรรค์เหล่านี้เข้าสู่การบริหารเมืองต่อไป

แม้ว่าปีนี้จะเป็นปี 2022​ แต่ถ้าเราดูแนวทางต่างๆ ที่เมืองได้ลงมือทำและได้ผลตอบสนองความต้องการของผู้คนรวมถึงบริหารจัดการงบได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว แนวนโยบายที่ล้ำสมัยและใช้เครื่องมือใหม่ๆ เหล่านี้ก็ดูจะเป็นนโยบายที่บางส่วนเราเองอาจจะมองไปไม่ถึง​ เช่น กลุ่มคนผู้มีรายได้น้อย การใช้ระบบดิจิตัลเข้ามาช่วยบริหารจัดการ หรือการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อส่งเสริมการใช้ขนส่งสาธารณะ ระบบเงินออมที่จะช่วยผลักดันกลุ่มเด็กจากครอบครัวผู้มีรายได้น้อยได้มีโอกาสเข้ามหาวิทยาลัยโดยไม่ต้องเป็นหนี้ หรือระบบฝึกทักษะเพื่อความคิดสร้างสรรค์ที่มุ่งเน้นการพัฒนาบุคลากรของเมืองและส่งเสริมการใช้ความคิดเชิงนวัตกรรมนั้นอย่างจริงจัง​ ซึ่งทั้งหมดนี้ก็ล้วนเป็นนโยบายเมืองใหญ่ของสหรัฐและลอนดอนได้ลงมือใช้และรายงานผลของนโยบายที่น่าพึงพอใจ

Kindergarten to College program, San Francisco ระบบเงินออมที่เมืองช่วยอุดหนุนเพื่อพาเด็กๆ เข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย

การเข้าถึงการศึกษาระดับอุดมศึกษาสำหรับบางครอบครัวถือเป็นเรื่องยากลำบาก ระบบเงินกู้เพื่อการศึกษาอาจไม่ใช่ทางออกที่ดี ในปี 2011 เมืองซานฟรานซิสโก ได้ออกโครงการชื่อ Kindergarten to College program เป็นระบบออมทรัพย์เพื่อการศึกษาสำหรับเด็กนักเรียนที่เน้นสะสมเงินที่เริ่มสะสมได้ตั้งแต่ช่วงการศึกษาพื้นฐาน (K-12) ลักษณะการเก็บก็เป็นการสนับสนุนให้เด็กๆ และครอบครัวค่อยๆ ออมเงินสำหรับใช้ในการศึกษาในระดับอุดมศึกษาต่อไป

โดยเมืองและโครงการออมทรัพย์ก็จะมีระบบอุดหนุนเงินต่างๆ เช่น มีเงินก้นถุงให้ 500 เหรียญ มีระบบสมทบเพิ่ม เช่น ฝาก 1 ดอลลาร์ได้ฟรีอีกดอลลาร์ สมทบได้สูงสุด 100 เหรียญ มีระบบสมัครสมทบอัตโนมัติรายเดือนได้เพิ่มอีกหนึ่งร้อยเหรียญ หรือผู้สมัครที่อยู่ในเกรด 1-3 ในโรงเรียนที่เฉพาะเจาะจงมีโครงการฝากพิเศษที่ได้สมทบสูงสุดถึง 300 เหรียญ

โครงการนี้นอกจากจะส่งเสริมการออมและรักษานักเรียนให้อยู่ในระบบการศึกษาต่อไปแล้ว มีรายงานว่ามีกว่า 800,000 ครัวเรือนในนิวยอร์กที่ไม่มีบัญชีธนาคาร ระบบเงินฝากออมทรัพย์ของรัฐนี้จึงเน้นช่วยเหลือทั้งเรื่องการบริหารจัดการเงินออมในกลุ่มผู้ที่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงินและช่วยส่งเสริมการตั้งตัวและเข้าถึงการศึกษาไปพร้อมกันโดยมีการใช้เงินอุดหนุนของรัฐเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในเมือง

Peak Academy, Denver สนับสนุนพนักงานเล็กๆ ของเมืองเพื่อฝึกการสร้างนวัตกรรม

เราพูดคำว่านวัตกรรมและการใช้งานจริง แต่ระบบการทำงานของเมือง ของระบบราชการก็อาจจะยังมีหน้าตาเหมือนเดิม ในปี 2011 นายกเทศมนตรีมิเชล แฮนค็อก (Michael Hancock) เข้ารับตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองเดนเวอร์ สิ่งหนึ่งที่นายกแฮนค็อกทำคือการปฏิรูปการทำงานและเมืองให้ก้าวไปสู่การสร้างและใช้งานนวัตกรรม

ทีนี้นวัตกรรมจะเกิดขึ้นในสายตาของเทศมนตรีไม่ได้เกิดขึ้นจากระดับบริหาร แต่เกิดจากระดับปฏิบัติการ เป็นการฏิรูปจากล่างขึ้นบน หนึ่งในกระบวนการสำคัญคือการตั้งสถาบันที่ชื่อว่า Peak Academy คือเป็นสถาบันฝึกฝนการคิดเชิงนวัตกรรม คือเหมือนเป็นศูนย์ฝึกการคิดและการแก้ปัญหาส่วนกลาง มีการเอานักวิเคราะห์ซึ่งก็คือพนักงานของเมืองนั่นแหละมาเปิดสอน และรวมคนจากหน่วยงานอื่นๆ เข้ามาเรียนรู้ฝึกฝนการคิดด้วยกันก่อนที่จะกลับไปและสนับสนุนให้นำเอาความคิดใหม่ๆ ลงมือใช้งานจริง

ตัวอย่างของการทำงานจับคู่ที่ได้ผลมาแล้วก็เช่นในคลาสมีการทำงานร่วมกันของตำรวจจากสายด่วน 911 กับหน่วยงานด้านทะเบียน พบว่าการลงข้อมูลเกี่ยวกับระบบป้องกันอัคคีภัยนั้นอาจจะผิดพลาด เสียเวลาและทำให้เมืองเสียผลประโยชน์หลายพันดอลลาร์ ทางเมืองก็เลยปรับระบบและใช้ระบบอัตโนมัติในการบันทึกข้อมูล หรือในการตรวจสอบภายในของทีมงานบริการสังคมพบว่ามีเอกสารความร่วมมือกับองค์กรภายนอกที่ไม่ชัดเจนว่าจะทำอะไรหรือทำอย่างไร ก็เลยนำไปสู่การทบทวน สร้างแบบฟอร์มขึ้นใหม่และจัดงานเปิดบ้านเพื่อพบปะพูดคุยถึงจุดประสงค์ต่างๆ

Spacehive, London แพล็ตฟอร์มกลางที่เชื่อมโครงการพัฒนาเมืองเข้ากับการตัดสินใจของผู้คน

โครงการพัฒนาของเมือง ไม่ว่าจะปรับปรุงหรือจัดสร้างอะไร เราแทบไม่ได้เกี่ยวข้องหรือตัดสินใจโดยตรง ในด้านหนึ่งการพัฒนาที่มาจากบนลงล่าง จากคนที่บางทีไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่บนถนน ในตรอกซอกซอยจริงๆ ก็อาจจะไม่เข้าใจว่าคนเมืองต้องการอะไร ถ้าเรามองกระแสจากระบบดิจิตัลที่ผ่านมา เรามีแพลตฟอร์มที่เรียกว่า crowdfunding คือเป็นการสร้างโปรเจกต์อะไรบางอย่างขึ้นมาแล้วเปิดให้คนสนับสนุนผ่านระบบออนไลน์ ในด้านหนึ่งระบบนี้เปิดให้ทั้งโปรเจกต์ที่มีไอเดียดีๆ เกิดขึ้นได้ และทำให้เราเห็นความต้องการจริงๆ ของผู้คนที่เลือกและสนับสนุนสิ่งนั้นๆ
และระบบการสนับสนุนของมวลชวนผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์นี้ ถ้าถูกนำมาใช้กับโปรเจกต์การพัฒนาเมืองล่ะ ทั้งหมดนี้ก็คือโปรเจกต์ Spacehive จากเมืองลอนดอน (ที่ใช้ได้ทั้งทั้งประเทศของสหราชอาณาจักร) คือเป็นระบบ crowdfunding ที่มีโครงการสาธารณะ เช่นสวน สะพาน ศูนย์ต่างๆ โดยตัวแพลตฟอร์มเองเป็นสตาร์ตอัปที่มีพาร์ตเนอร์เป็นทั้งนายกเทศมนตรีเมืองลอนดอน สภาเมืองแมนเชสเตอร์ และองค์กรไม่แสวงผลกำไรเพื่อการพัฒนาเมืองเป็นพาร์ตเนอร์

ล่าสุดแพลตฟอร์ม Spacehive ที่ก่อตั้งในปี 2012 มีอายุสิบปีได้แล้วก็ได้ผลักดัน สร้างแรงสนับสนุนโดยมีโปรเจกต์บนแพลตฟอร์มกว่า 500 โปรเจกต์ มูลค่าโครงการโดยรวมกว่า 100 ล้านปอนด์ ผลักดันโครงการสำคัญๆ เช่น สวน Camden Highline สวนบนทางรถไฟร้างลอยฟ้าที่มีต้นแบบจาก High Line ของอเมริกา โครงการเปลี่ยนถนนทั้งสายในเมืองบริสตอลให้กลายเป็นสไลเดอร์ยักษ์ หรือโครงการฟื้นฟู Peckham Lido สระว่ายน้ำและพื้นที่พักผ่อนเก่าแก่ของเมืองลอนดอนให้กลับมาเป็นพื้นที่สาธารณะอีกครั้ง

Zero Waste program, San Francisco ส่งเสริมการรีไซเคิลที่ทำให้การรีไซเคิลของเมืองเพิ่มขึ้นสามเท่า

ตัวโปรเจกต์นี้ถ้ามองในปัจจุบันก็อาจจะไม่สดใหม่เท่าไหร่ แต่สำหรับบ้านเรายังถือว่าไม่ได้ลงมือในระดับนโยบายและทำอย่างเป็นระบบ โปรเจกต์ Zero Waste program จากซานฟรานซิสโกนี้ถือว่าล้ำสมัย เพราะเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2002 ในปีนั้นทางเมืองซานฟรานซิสโกได้ตั้งเป้าและเดินหน้าจัดการกับขยะอย่างเป็นรูปธรรมและเปลี่ยนในระดับวัฒนธรรม ทางเมืองตั้งเป้าหมายชัดๆ ไว้สองระยะ คือเปลี่ยนพื้นที่ทิ้งขยะ 75% ไปใช้ประโยชน์อื่น และก้าวเข้าสู่ zero-waste ในปี 2020 ในปี 2013 ที่รายงานออก ขณะนั้นเมืองซานฟรานมีอัตราการรีไซเคิลสูถึง 77% ความสำเร็จนี้เกิดจากโครงการที่สัมพันธ์กับการสร้างวัฒนธรรม การวางกลยุทธ์ และความครอบคลุมเรื่องการจัดการขยะในหลายมิติและการวางแผนในระยะยาว

การขับเคลื่อนการรีไซเคิลเริ่มต้นและดำเนินการโดยหน่วยงานสิ่งแวดล้อมของเมือง แต่ทว่าขอบข่ายที่ลงมือค่อนข้างกว้างและเกี่ยวข้องกับการจัดการและการวางข้อกำหนดที่หลายการลงมือก็ค่อนข้างรุนแรงและมาก่อนกาล เช่น การแบนพลาสติกและโฟม ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในกิจการร้านอาหารและสินค้าอุปโภคบริโภคในเมืองต้องเป็นวัสดุที่รีไซเคิลหรือย่อยสลายได้รวมถึงฝาแก้ว ทิชชู ไม้คนกาแฟ ถุงกระดาษ กระทั่งในการจัดงานของเมืองก็จะต้องมีระบบการจัดการขยะ เช่น มีจุดรับขยะเพื่อการรีไซเคิลรวมถึงการมีทีมงานด้านการจัดการและรีไซเคิลขยะทำงานอยู่ในส่วนของการจัดงานด้วย ในระดับเมืองเองก็มีวางข้อกำหนด เช่น ในทุกหน่วยงานของเมืองต้องมีผู้เชี่ยวชาญด้าน Zero-waste ปฏิบัติงาน และในทุกหน่วยงานจะจัดซื้อวัสดุและสิ่งสิ้นเปลืองต่างๆ ต้องเป็นผลิตภัณฑ์สีเขียวที่รีไซเคิลได้ ลดเว้นการใช้ขวดพลาสติก ลดการใช้กระดาษด้วยวิธีการต่างๆ

ผลคืออัตราการรีไซเคิลจากปี 1990-2010 คือแผนระยะแรก อัตราการรีไซเคิลของซานฟรานซิสโกเพิ่มขึ้นจาก 20% เป็น 77% เราจะเห็นว่าโปรเจกต์นี้เป็นการจัดการขยะทั้งระบบจากต้นน้ำจนถึงปลายน้ำซึ่งก็จะมีส่วนการจัดการและลงทุนอื่นๆ ประกอบอีก

 

 

Digital Badging, Philadelphia, Chicago and Providence โครงการความรู้ออนไลน์เพื่อเด็กที่หลุดออกจากการศึกษาและวิชานอกห้องเรียน

เราพูดกันมานานว่าทักษะนอกห้องเรียนสำคัญเท่าๆ กับในห้องเรียน เด็กๆ บางส่วน อาจจะไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษาด้วยหลายสาเหตุและการได้มาซึ่งทักษะต่างๆ บางครั้ง การมีระบบแสดงผลหรือแสดงการฝึกทักษะบางอย่างนอกจากผลการเรียนในห้องเรียนก็อาจจะเป็นการสะสมทักษะประกอบที่มีประโยชน์ในการทำงานหรือใช้ชีวิตต่อไป

ระบบ Digital Badging จึงเป็นระบบที่เกิดขึ้นในหลายเมืองคือที่ฟิลาเดฟีย ชิคาโก และโพรวิเดนซ์ในโรดไอร์แลนด์ ตัวระบบเกิดจากการเกิดขึ้นของพวกวิชานอกห้องเรียน คลาสออนไลน์หรือการฝึกฝนต่างๆ ที่ทางเมืองเองเห็นว่ามีประโยชน์และควรจะมีระบบแสดงผล เช่นที่ฟิลาเดเฟียหน่วยงานพัฒนาวัยรุ่นร่วมกับ Philadelphia Academies องค์กรด้านการศึกษาร่วมกันพัฒนาระบบเก็บใบประกาศจากคลาสออนไลน์จนกลายเป็นคลาสเรียนจริงที่เมืองเปิดให้เด็กๆ ที่เมืองโพรวิเดนซ์เน้นทำงานร่วมกับโรงเรียนในพื้นที่เพื่อพัฒนาระบบการศึกษานอกห้องเรียน เช่น พวกวิชาทักษะหรือความสนใจเฉพาะต่างๆ ให้เป็นระบบและได้มาตรฐาน ที่ชิคาโกเน้นร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เปิดเป็นวิชาเฉพาะจากองค์กรต่างๆ เช่นห้องสมุดหรือพิพิธภัณฑ์

ในภาพรวมแล้วถือเป็นการที่สถาบันการศึกษาและเมืองพยายามสร้างระบบการศึกษานอกห้องเรียนขึ้น มีระบบแบชช์คล้ายๆ กับตราหรือพอร์ตที่นักเรียนหรือผู้สใจจะใช้สะสมเป็นเรซูเม่ เป็นเหมือนกับพอร์ตทักษะนอกห้องเรียนซึ่งมีประโยชน์ทั้งกับนักเรียนในระบบที่เก็บพวกทักษะนอกห้องเรียนหรือเข้าเรียนรู้ในสิ่งที่ตัวเองสนใจ หรือเด็กๆ ที่ออกจากระบบการศึกษาก็มีทางเลือกในการเก็บสะสมและใช้แสดงทักษะที่อาจนำไปสู่โอกาสในการทำงานหรือใช้ชีวิตต่อไป

 

City ID Prepaid Mastercard, Oakland ระบบบัตรเครดิตสำหรับผู้มีรายได้น้อยที่เข้าไม่ถึงบริการของสถาบันการเงิน

ช่วงโควิดที่ผ่านมาเราเริ่มเห็นนโยบายหลายส่วนที่อาจจะไม่ครอบคลุม โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มเปราะบางทางสังคมต่างๆ เช่น การรับเงินอุดหนุนที่อันที่จริงแล้วยังมีกลุ่มคนที่เข้าไม่ถึงบริการของสถาบันการเงิน ไม่มีบัญชีธนาคารหรือไม่มีอินเตอร์เน็ตหรือโทรศัพท์มือถือ กลุ่มผู้มีรายได้น้อยจึงเป็นกลุ่มที่เมืองพยายามมองเห็นและนำเข้าสู่ระบบเพื่อช่วยเหลือและยกระดับในการใช้ชีวิตและเติบโตในเมืองได้ดีขึ้น โปรเจค City ID Pre-paid Mastercard เป็นโครงการเริ่มในปี 2013 ของเมืองโอ้กแลนด์ หลักการนั้นเรียบง่ายการที่เมืองเปิดฟังก์ชั่นพิเศษของบัตรประชาชนของคนเมืองโอ้กแลนด์โดยบัตรนั้นสามารถใช้เป็นบัตรเดบิตได้

ประเด็นสำคัญของการทำบัตรประชาชนให้ผูกบัญชีธนาคารและมอบบริการทางการเงินที่มีค่าธรรมเนียมต่ำนั้น คือการดึงเอากลุ่มผู้มีรายได้น้อยและชุมชนชายขอบที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้ การเข้าถึงบริการพื้นฐานทางการเงิน เช่น การออม การจัดการรายจ่าย ไปจนถึงการทำธุรกรรมออนไลน์ การเบิกจ่ายผ่าน ATM นำไปสู่การสร้างความมั่นคงทางการเงินและดึงกลุ่มผู้มีรายได้น้อยนั้นออกจากพึ่งพาระบบการเงินนอกระบบ สำหรับที่สหรัฐการใช้บัตรควบกับบริการทางการเงินจะไปสัมพันธ์กับกลุ่มผู้อพยพที่อาจจะมีปัญหาในการเข้าถึงบริการทางการเงินด้วย

Commuter Tax Benefits, San Francisco สิทธิพิเศษทางภาษีที่ช่วยประหยัดภาษีจากการใช้ขนส่งสาธารณะ

ส่งท้ายฤดูกาลทางภาษีของไทย ที่ซานฟรานซิสโกมีระบบลดภาษีที่จูงใจพนักงานหรือคนทำงานให้ใช้ขนส่งสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นรถเมล์ รถใต้ดินและขนส่งระบบรางอื่นๆ ของเมือง โดยเปิดให้นำเอาค่าเดินทาง (commute) ไปลดหย่อนภาษีได้ โดยจะมีการวางระบบให้สิทธิพิเศษทางภาษีที่โดยรวมแล้วทั้งนายจ้างและลูกจ้างต่างประหยัดค่าใช้งานทางภาษีลงได้ สำหรับลูกจ้างมีสัดส่วนที่ประหยัดภาษีลงได้ราว 245 เหรียญต่อเดือน คือเยอะพอสมควร โดยทางเมืองเปิดโอกาสให้บริษัทและกิจการในเมืองที่มีพนักงาน 20 คนขึ้นไปสามารถใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจากการเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะได้

ทางเมืองระบุว่าการให้สิทธิพิเศษจะนำประโยชน์กลับมาสู่เมืองในหลายระดับ ทั้งการกระตุ้นทางเศรษฐกิจจากการเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะและการเดิน การลดลงของก๊าซเรือนกระจก และการที่คนใช้รถน้อยลงรวมถึงห้างร้านและกิจการขนาดเล็กที่ลดรายจ่ายทางภาษีด้วยได้จากมาตราการการจูงใจทางภาษีนี้ หลังจากปี 2009 ที่ซานฟรานเสนอสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้กับบริษัทขนาดเล็ก ตัวเลขของการยื่นค่าใช้จ่ายเพื่อลดภาษีจากการเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะกว่า 60% มาจากบริษัทและกิจการขนาดเล็กที่มีการจ้างงานต่ำกว่า 100 คน

อ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่ https://nycfuture.org/pdf/Innovation-and-the-City.pdf

Illustration by Montree Sommut
Share :