CITY CRACKER

แมวตกตึกกับเมืองแนวตั้ง ปรากฎการณ์แมวหล่นจากที่สูงในเมืองใหญ่และความไม่ปลอดภัยของสัตว์เลี้ยง

แมวกับเมืองเป็นของคู่กัน เราพบทั้งแมวจรในเมืองและแมวที่มีเจ้าของ

ประเด็นเรื่องแมวจากตึก 6 ชั้น นอกจากประเด็นเรื่องลักษณะทางกายภาพของแมวที่อาจรอดจากการตกที่สูงได้โดยปลอดภัย อีกด้านปรากฏการณ์แมวหล่นจากตึกสูงนับเป็นปรากฏการณ์ที่สัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คนในเมืองใหญ่ จากการอยู่อาศัยในชุมชนแนวราบไปสู่ชีวิตแนวตั้งคืออาศัยอยู่ในตึกสูง

นอกจากความมหัศจรรย์ของแมวที่มักหล่นจากตึกหลายๆ ชั้นโดยที่ตัวมันเองไม่บาดเจ็บอะไรมากนัก อันที่จริงการตกจากตึกสูงของแมวรวมถึงสัตว์เลี้ยงอื่นๆ นับเป็นความเสี่ยงและอุบัติเหตุที่ค่อนข้างสำคัญของเมืองใหญ่ที่มีการอยู่อาศัยอย่างหนาแน่น ถ้าเราย้อนดูรายงานและการศึกษาเรื่องแมวตกตึกก็จะพบว่ามีรายงานกรณีแมวตกตึกจากทั่วโลก โดยงานศึกษาสำคัญคือรายงานในปี 1987 จากดินแดนแห่งตึกระฟ้าอย่างนิวยอร์ก นอกจากนี้ เมืองใกล้ๆ เรา เช่น สิงคโปร์ก็เผชิญกับปัญหาแมวและสัตว์เลี้ยงร่วงหล่นจากตึกสูง ทั้งที่เป็นอุบัติเหตุและด้วยความตั้งใจที่น่าเศร้า

 

© facebook: Apiwat Toyotaka

 

ปรากฏการณ์แมวตกตึก จากงานศึกษาในนิวยอร์ก

โดยทั่วไปเวลาพูดถึงกรณีแมวตกตึก เรามักเห็นประเด็นเรื่องความพิเศษจากลักษณะทางกายภาพของแมว รายงานส่วนใหญ่มักพูดถึงการรอดชีวิตซึ่งดูจะเข้ากับเจ้าแมวในฐานะที่มีเก้าชีวิต แต่ทว่าความพิเศษของแมวที่ตกจากตึกสูงแล้วปลอดภัยคือลักษณะร่างกายของมันที่มีน้ำหนักเบา และมีขนาดตัวกว้าง เมื่อพวกมันตกจากที่สูงมากๆ จึงมีโอกาสที่ร่างกายของแมวจะถูกพยุงขึ้นจากลม ดังนั้นในหลายความเข้าใจจึงระบุว่า แมวที่ตกจากตึกสูงมากๆ ราว 7 ชั้นขึ้นไปจึงมีโอกาสรอดชีวิตมากกว่าการตกจากตึกเตึ้ยๆ

รายงานสำคัญที่ทำให้เราเห็นว่าแมวตกตึกเป็นปรากฏการณ์ของเมืองใหญ่คือการศึกษาในปี 1987 ซึ่งในงานศึกษานี้เรียกอาการตกตึกของแมวว่า High-Rise Syndrome มีการรวบรวมกรณีแมวตกตึกที่เข้ารับการรักษาในคลินิกและโรงพยาบาลสัตว์เลี้ยงในเมืองนิวยอร์ก ซึ่งในช่วงระยะเพียงห้าเดือน พบตัวเลขแมวที่เข้ารับการรักษาสูงถึง 132 กรณี

งานศึกษานี้ได้ทำให้เราเห็นปรากฏการณ์แมวตกตึกในเมืองใหญ่ ซึ่งมีอาการไม่ค่อยดีนัก ส่วนใหญ่คือราว 90% มีอาการบาดเจ็บเกี่ยวกับทรวงอก มีภาวะปอดช้ำ หรือมีอาการปอดรั่ว ไปจนถึงเกิดปัญหากับระบบหายใจ นอกจากนี้ยังพบอาการร่วมอื่นๆ เช่นการบาดเจ็บบริเวณใบหน้าขากรรไกร ขาหน้าหรือหลังหัก มีภาวะช็อก ฟันแตกหักและอาการอื่นๆ ในรายงานยังมีเรื่องค่อนข้างน่าโล่งใจของเจ้าเหมียวคือมีประมาณ 30% ที่ไม่ต้องการรับการรักษา และ 90% ของแมวที่ได้รับการรักษานั้นรอดชีวิต

 

© SABONHOME.COM

 

สำหรับเจ้าแมวที่รอดชีวิตจากการตกตึก รายงานจากเมืองในสหรัฐ ตัวเลขความสูงที่แมวตกลงมานั้นคือความสูงของตึกระฟ้าอันเป็นจุดเด่นของอเมริกา ในงานศึกษาจากนิวยอร์กพูดถึงแมวที่ตกจากตึกสูงถึง 32 ชั้นลงบนพื้นที่คอนกรีต เจ้าแมวมีอาการบาดเจ็บที่ฟันเล็กน้อยและมีปัญหาที่ปอด ทว่าเข้ารักษาเพียง 48 ชั่วโมงก็กลับบ้านได้ หรือรายงานจากบอสตันรายงานแมวตกจากตึก 19 ชั้นและมีเพียงรอยช้ำ

แต่ทว่าไม่ใช่แมวทุกตัวจะโชคดี รายงานจากแวนคูเวอร์ในปี 2017 รายงานกรณีแมวที่พลัดหล่นลงจากระเบียงสูง 26 ชั้นและมีอาการบาดเจ็บสาหัส ในแง่ของอุบัติเหตุ แมวตกจากตึกสูงสัมพันธ์กับการเปลี่ยนวิถีชีวิตไปอาศัยอยู่ในชุมชนแนวตั้ง ส่วนใหญ่ตกจากตึกสูงประเภท High Rise นอกจากความเชื่อที่ว่าแมวเป็นสัตว์เอาตัวรอดได้ กรณีแมวตกจากระเบียงหรือหน้าต่างคอนโดนั้นสัมพันธ์กับหลายพฤติกรรมของแมวเอง เช่น การเจอกับสิ่งเร้าจำพวกนกหรือแมลง ความซุกซนส่วนตัวของเจ้าเหมียว ไปจนถึงลมที่มักกรรโชกบริเวณชั้นๆ สูงของอาคาร ไปจนถึงอาการตกใจเสียงดังของแมวเองที่ทำให้พวกมันกระโจนหนีและอาจตกจากที่สูงได้

 

© FuneeTop

 

ปัญหาแมวร่วงจากตึกสูงในสิงคโปร์

ประเด็นเรื่องแมวรวมถึงสัตว์เลี้ยงตกจากที่สูง ในบริบทเอเชียรวมถึงบริบทการอยู่อาศัยและข้อบังคับของเมือง กรณีแมวตกตึก รวมถึงที่ร้ายกว่านั้นคือการจงใจโยนสัตว์เลี้ยงลงจากตึกเพื่อหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบ ซึ่งนี่เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ทางสิงคโปร์เผชิญและพยายามแก้ปัญหากันอยู่เบื้องต้นสิงคโปร์มีรายงานแมวตกจากตึกสูงราว 250 กรณีต่อปี ตัวเลขดังกล่าวเป็นตัวเลขอย่างน้อยเพราะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคาดว่าน่าจะมีกรณีที่ไม่ได้รับรายงานอีกจำนวนหนึ่ง

สำหรับสิงคโปร์ ประชาชนราว 80% อาศัยอยู่บนตึกสูง และโดยทั่วไป อพาร์ตเมนต์ของรัฐ (Housing Board flats) มักไม่อนุญาตให้เลี้ยงแมวไว้ในยูนิต บางครั้งจึงมีการจำกัดบริเวณของแมวไว้ที่หน้าต่างหรือระเบียง อุบัติเหตุจึงเกิดจากกรณีของแมวที่กลิ้งตัวเล่นหรือเพียงแค่กระโดดเล่นก็อาจทำให้ร่วงหล่นลงมา ซึ่งหลายกรณีเป็นอุบัติเหตุที่ถึงแก่ชีวิต ความขัดแย้งเรื่องการเลี้ยงแมวในที่พักอาศัยของสิงคโปร์จึงค่อนข้างมีความซับซ้อน มีการต่อรองกับข้อกำหนดของที่อยู่อาศัย ไปจนถึงการลงทุนเพื่อติดตั้งระบบรักษาความปลอดภัยที่มีราคาสูงทั้งที่ระเบียง หน้าตาและประตู การหาเจ้าของที่มีความรับผิดชอบและมีศักยภาพพอในมาตรฐานและเงื่อนไขที่ค่อนข้างสูงของสิงคโปร์เอง

 

© greatpetcare.com

 

กรณีของแมวตกตึก การแอบเลี้ยงและการหาเจ้าของใหม่ให้เจ้าเหมียวเป็นหนึ่งในปัญหาเรื่องสัตว์เลี้ยงของสิงคโปร์ หน่วยงานต่อต้านการทารุณกรรมสัตว์ Society for the Prevention of Cruelty to Animals (SPCA) พูดถึงสัตว์เลี้ยงอื่นๆ ที่เผชิญกับปัญหาตกจากตึกสูง ซึ่งกรณีของสัตว์เลี้ยงอื่นๆ ค่อนข้างดำมืดกว่าแมวเหมียวคือมีรายงานสัตว์เลี้ยง เช่น เต่า งู และกิ้งก่าถูกโยนลงจากอพาร์ตเมนต์

ประเด็นการตัดสินใจทิ้งสัตว์ด้วยการโยนสัตว์ลงจากตึกสูงเกี่ยวข้องกับการที่ผู้เลี้ยงเลี้ยงสัตว์เหล่านั้นอย่างผิดกฎหมาย เมื่อเจ้าของไม่ต้องการดูแลหรือไม่อยากที่จะเสี่ยงกับการถูกตรวจสอบจากกฎหมายที่เข้มงวดของสิงคโปร์ การโยนสัตว์เลี้ยงทิ้งจึงเป็นปรากฏการณ์ที่น่าเศร้าหนึ่ง ตัวอย่างเช่นต้นปี 2019 มีกรณีการโยนตะพาบที่เป็นสัตว์ต่างถิ่นและมีผู้พบเข้า เจ้าเต่ารอดแต่กระดองแตกและบาดเจ็บสาหัส หรือในปี 2017 พบการโยนอีกัวน่าออกจากหน้าต่าง เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นสัตว์ที่ถูกเลี้ยงและนำเข้ามาอย่างผิดกฎหมาย- สุดท้ายเจ้าสัตว์เหล่านี้จะได้รับการดูแลโดยรัฐและส่งกลับประเทศต้นทาง

 

© theturtlehub.com

 

สำหรับสิงคโปร์ กฎหมายว่าด้วยการนำเข้า ส่งออกและครอบครองสัตว์คุ้มครอง (Endangered Species) มีโทษค่อนข้างรุนแรง ทั้งจำคุกและปรับ โดยค่าปรับอาจสูงได้ถึง 50,000 เหรียญดอลลาร์สหรัฐและโทษจำคุกสูงสุด 2 ปี กรณีปัญหาแมวตกจากที่สูงทั้งจากสหรัฐมาจนถึงสิงคโปร์ กระทั่งเจ้าแมวอ้วนที่หล่นจากตึก 6 ชั้นและล่าสุดต้องย้ายบ้านเนื่องจากกฎหอพักที่ห้ามเลี้ยงสัตว์ นำไปสู่ประเด็นเรื่องการอยู่ร่วมระหว่างมนุษย์และสัตว์ในบริบทเมือง ประเด็นเรื่องสวัสดิภาพสัตว์ ไปจนถึง

 

ประเด็นเรื่องอุบัติเหตุและการออกแบบที่การป้องกันอุบัติเหตุของเหล่าเจ้าเหมียวและสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ยังเป็นประเด็นที่สัมพันธ์กับเมืองและกับเราต่อไป

 

อ้างอิงข้อมูลจาก
pubmed.ncbi.nlm.nih.gov
bbc.com
sea.mashable.com
tnp.straitstimes.com/
cbsnews.com
cbc.ca

 

Share :