CITY CRACKER

3 องค์ประกอบทางธรรมชาติเพื่อการสร้างพื้นที่สีเขียวในอาคาร จาก Oliver Heath

การใช้ชีวิตในวิถีเมืองปัจจุบัน ทำให้เราได้ใช้เวลาในธรรมชาติน้อยลง โดยเฉพาะคนเมืองที่ใช้เวลากว่าครึ่งวันในพื้นที่ทำงาน กว่าร้อยละ 76 ของพนักงานทั่วโลกประสบปัญหาการจัดการคุณภาพชีวิต ดังนั้นคุณภาพของพื้นที่ทำงานหรือพื้นที่ภายในอาคารจึงเข้ามามีบทบาทอย่างมากในการสร้างคุณภาพชีวิตและคุณค่าในงานออกแบบ

 

ในการบรรยายเรื่อง ‘How to create interior spaces that enhance our physical and mental wellbeing’  โอลิเวอร์ ฮีธ (Oliver Heath) จากโอลิเวอร์ ฮีธ ดีไซน์ (Oliver Heath Design) ได้ทำให้เราให้เห็นความสำคัญของสิ่งแวดล้อมและการนำเอามาประยุกต์ให้ใกล้ชิดกับวิถีชีวิตของเรามากขึ้น

การสร้างคุณภาพชีวิตให้พื้นที่ทำงานเริ่มต้นจากลักษณะของสถาปัตยกรรมที่ได้มีการสร้างเกณฑ์มาตรฐานสำหรับอาคารให้ส่งเสริมคุณภาพชีวิต หรือ WELL Building Standard ซึ่งประกอบด้วย 7 หัวข้อ ได้แก่ อากาศ (Air) น้ำ (Water) สารอาหาร (Nourishment) แสงสว่าง (Light) สุขภาพกาย (Fitness) ความสบาย (Comfort) และจิตใจ (Mind) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการจัดการพื้นที่ภายในอาคารให้มีคุณภาพและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ผู้ใช้งาน ซึ่งก็คือเหล่าพนักงานที่เป็นทรัพยากรสำคัญของบริษัท จึงมีการนำแนวคิด Biophilia มาใช้ (WELL, 2020)

Biophilia เป็นคำที่ เอ็ดเวิร์ด โอ วิลสัน (Edward O. Wilson) นำมาใช้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1984 (Wilson, 1984) เพื่อชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของธรรมชาติที่มีต่อมนุษย์ โดยกล่าวว่าจิตใต้สำนึกของมนุษย์มีความผูกพันและโหยหาองค์ประกอบทางธรรมชาติและระบบนิเวศ ในขณะที่วิถีชีวิตในปัจจุบันผู้คนใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในการทำงานและพักผ่อน ซึ่งก่อให้เกิดความเครียด และนำมาซึ่งโรคเรื้อรังต่าง ๆ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ

การนำเอาธรรมชาติเข้ามาผนวกกับพื้นที่ภายในอาคารและสถาปัตยกรรม สามารถทำได้โดยการจำลองเอาคุณสมบัติของธรรมชาติเข้ามา เช่น รูปทรง องค์ประกอบของธรรมชาติ การจำลองวัฎจักรและกระบวนการของระบบนิเวศ ซึ่งการนำเอาองค์ประกอบทางธรรมชาติสอดแทรกเข้าไปในสิ่งปลูกสร้าง จะช่วยให้ผู้ใช้งานรู้สึกผ่อนคลายและสามารถใช้เวลาอยู่ในพื้นที่นั้นๆ นานขึ้น ซึ่งรูปแบบของการประยุกต์ใช้องค์ประกอบธรรมชาติสามารถจำแนกออกมาได้ 3 หัวข้อหลัก คือ Direct contact, Indirect Contact และ Human Spatial Respond

Direct contact

คือการใช้องค์ประกอบธรรมชาติเข้าไปใช้ในงานออกแบบโดยตรง ซึ่งจะปรากฎให้เห็นในเชิงกายภาพ เช่น พืชพรรณ ผิวสัมผัส แสงธรรมชาติ

1. Visual Connection with Nature การได้มีปฏิสัมพันธ์กับองค์ประกอบธรรมชาติ ด้วยการมองเห็นการมีองค์ประกอบที่สอดแทรกเข้ามาหา โดยการใช้ไม้กระถาง การใช้กำแพงต้นไม้ในอาคารหรือการใช้หลังคาเขียว พื้นที่ต้นไม้ระหว่างอาคาร

การใช้กำแพงเขียวในสถานที่ทำงาน, EarthShare, 2014

 

2. Non-Visual Connection with Nature การสัมผัสธรรมชาติด้วยประสาทสัมผัสอื่นๆ เช่น การสัมผัสพื้นผิว อุณหภูมิ กลิ่น รสชาติ เสียง โดยใช้การเปิดเสียงเลียนแบบธรรมชาติ การใช้น้ำมันหอมระเหยจากธรรมชาติ และวัสดุแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติ
3. Non-Rhythmic Sensory Stimuli การได้รับรู้การเคลื่อนไหวแบบอิสระของธรรมชาติ เช่น ใบไม้ไหว การเคลื่อนไหวของคลื่นน้ำ เงาจากต้นไม้ และจุดให้อาหารนก

แสดงการสร้างแสงเงาจำลองธรรมชาติ, Holmes, 2016

 

4. Thermal & Airflow Variability การรับรู้อุณหภูมิ ลมที่พัดผ่าน อาจสื่อสารผ่านคุณสมบัติของวัสดุที่มีสีสันเปลี่ยนไปเมื่ออุณหภูมิและความชื้นเปลี่ยน การแสดงการเคลื่อนที่ของลมออกมาเป็นกายภาพ การสร้างภาวะน่าสบาย

5. Presence of Water การมีองค์ประกอบของน้ำ

การใช้องค์ประกอบน้ำในอาคาร, Oliver Heath, Victoria Jackson, 2018

 

6. Dynamic & Diffuse Light การได้รับแสงธรรมชาติ การรับรู้การเปลี่ยนแปลงของแสงสว่าง ซึ่งเกี่ยวข้องกับนาฬิกาชีวภาพของมนุษย์ (Biological clocks) ที่มีองค์ประกอบหนึ่ง คือ Circadian Rhythm ที่รับรู้ความสว่างและส่งผลต่อร่างกาย สภาพจิตใจและพฤติกรรมอย่างเป็นวงจรแต่ละวัน

7. Connection with Natural Systems การได้รับรู้ถึงวัฎจักรของธรรมชาติ การได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ

Indirect Contact

การนำเอาองค์ประกอบทางธรรมชาติมาใช้โดยการลดทอนเส้นสายลงให้ไม่มีรูปลักษณ์เหมือนในธรรมชาติ แต่ยังคงลักษณะเด่นขององค์ประกอบทางธรรมชาตินั้นไว้ได้อยู่

1. Biomorphic Forms & Patterns การจำลององค์ประกอบธรรมชาติ โดยการใช้รูปทรง สีสันและลวดลายเข้ามาใช้ในองค์ประกอบภายในอาคารและลักษณะของสถาปัตยกรรม เช่น กิ่งก้านของต้นไม้ ลักษณะของหุบเขา ลวดลายซ้ำหรือมีการเพิ่มขึ้นแบบลำดับฟีโบนักชี (Fibonacci)

2. Material Connection with Nature การเลือกพื้นผิววัสดุ สีสัน ที่มีลักษณะเหมือนธรรมชาติ เช่น ลวดลายของไม้ เปลือกไม้ หนัง ก้อนหิน
3. Complexity & Order การจำลองความซับซ้อนของธรรมชาติ อาจอยู่ในลวดลายพื้นผิวที่มีสีสันและลวดลายที่ซับซ้อน เช่น การใช้แสงเงาที่ซับซ้อน การแสดงโครงสร้างที่ซับซ้อนล้อเลียนธรรมชาติ

การใช้ลักษณะธรรมชาติในงานสถาปัตยกรรม, Duran, 2012; Trafalgar, 2020

 

Human Spatial Respond

การออกแบบพื้นที่ใช้งานของโดยมุ่งหวังให้ตอบสนองพฤติกรรมการใช้พื้นที่ที่หลากหลาย ซึ่งสัมพันธ์กับสัญชาตญาณตามธรรมชาติของมนุษย์

1. Prospect พื้นที่เปิดโล่งที่สามารถมองเห็นผู้คน กิจกรรมโดยรอบ

พื้นที่เปิดโล่งภายในอาคาร, ArchDaily, 2017

 

2. Refuge พื้นที่ซ่อนตัวแต่ยังสามารถมองเห็นและสังเกตสิ่งแวดล้อมรอบตัวได้อยู่ เช่น พื้นที่ที่ได้มองพื้นที่ภายนอกจากหน้าต่าง หรือที่นั่งเป็นส่วนตัวที่อยู่เหนือระดับสายตาคนทั่วไป

พื้นที่พักผ่อนและซ่อนตัวในสถาปัตยกรรม, Urban Pixxels, 2015

 

3. Mystery พื้นที่ที่ทำให้เกิดความรู้สึกอยากค้นหา

สถานที่ทำงานที่มีความซับซ้อน, Nook Architect, 2015

4. Risk/Peril พื้นที่ที่ทำให้เกิดความรู้สึกท้าทาย น่าสนใจ เช่น พื้นที่ที่ยื่นออกไปจากอาคารหลัก ระเบียง

พื้นที่ที่รู้สึกท้าทายในงานสถาปัตยกรรม, Schlosser, 2018

 

การใช้องค์ประกอบเหล่านี้ยังมีระดับของความเข้มข้นในการออกแบบพื้นที่อาคารและภายในอาคารตามงบประมาณการก่อสร้าง ในกรณีมีงบประมาณน้อย อาจใช้ไม้กระถางที่เคลื่อนย้ายและจัดการได้ง่าย หากมีงบประมาณมากขึ้นอาจใช้การนำเอาพื้นที่ธรรมชาติเข้ามาไว้ในอาคาร หากมีงบประมาณเพื่อพัฒนาในส่วนนี้ก็สามารถใช้ทั้งการนำเอาพื้นที่ธรรมชาติเข้ามาไว้ในอาคารและมีการใช้ทั้งวัสดุและระบบการจัดการที่สอดคล้องกับระบบนิเวศได้ (Oliver Heath, Victoria Jackson, 2018; Ryan, 2014)

มีงานศึกษาบอกว่าเมื่อสอดแทรกองค์ประกอบธรรมชาติเข้าไปในพื้นที่การศึกษาผู้เรียนจะสามารถเรียนรู้ได้เร็วขึ้นร้อยละ 20 – 25 ทำให้ใช้เวลาในห้องเรียนน้อยกว่าห้องเรียนทั่วไป และมีเวลาว่างในการทำกิจกรรมอย่างอื่นมากขึ้น ในโรงพยาบาลพื้นที่ธรรมชาติช่วยบรรเทาความเจ็บปวดและลดระยะเวลาที่ใช้พักฟื้นที่โรงพยาบาล ด้านโรงแรมพบว่าผู้พักอาศัยยินดีจ่ายเงินมากขึ้นเพื่อให้ได้อยู่ใกล้ชิดกับพื้นที่ธรรมชาติรวมถึงใช้เวลาพักที่โรงแรมยาวนานขึ้น การเพิ่มพื้นที่ธรรมชาติในพื้นที่พักอาศัยช่วยลดอัตราการเกิดอาชญากรรมและเพิ่มมูลค่าที่ดินจากเดิม ร้อยละ 4 – 5 ส่วนการเพิ่มองค์ประกอบธรรมชาติ เช่น การใช้แสงธรรมชาติ วัสดุจากธรรมชาติ ในที่ทำงานช่วยบรรเทาความเครียด เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และยังช่วยดึงดูดคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถอีกด้วย ในภาคธุรกิจ สัดส่วนของเงินทุนที่ใช้มากที่สุดคือค่าใช้จ่ายสำหรับบุคลากร การเพิ่มพื้นที่สีเขียวในอาคารสำนักงานจะช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนในองค์กรซึ่งเป็นพลังหลักในการขับเคลื่อนองค์กร

 

สิ่งแวดล้อมที่ดีจะทำให้พนักงานมีสุขภาวะทางกายและทางใจที่ดี และสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

ArchDaily. (2017). Unilever Headquarters / Aedas. Retrieved from https://www.archdaily.com/877351/unilever-headquarters-aedas/598a48b5b22e38dac60002e7-unilever-headquarters-aedas-image

Duran, V. (2012). No TitleBiomorphic Architecture: 10 Stunning Examples. Retrieved from https://virginia-duran.com/2012/12/27/curiosities-10-examples-of-biomorphic-architecture/

EarthShare. (2014). Five Ways to Incorporate Nature in the Workplace. Retrieved from https://www.earthshare.org/biophilawork/

Holmes, D. (2016). Green Air – a kinetic sculpture by Nomad Studio. Retrieved from https://worldlandscapearchitect.com/green-air/#.XtTS8TozaUl

National Institute of General Medical Sciences. (2020). Circadian Rhythms. Retrieved from https://www.nigms.nih.gov/education/fact-sheets/Pages/circadian-rhythms.aspx

Nook Architect. (2015). Office Space in Poble Nou’s 22. Retrieved from https://divisare.com/projects/329594-nook-architects-marcela-grassi-nieve-productora-audiovisual-zamness

Oliver Heath, Victoria Jackson, E. G. (2018). Creating Positive Spaces.

Ryan, C. (2014). An Introduction to Biophilia. Retrieved from https://blog.interface.com/what-is-biophilia/

Schlosser, K. (2018). Welcome to Amazon’s jungle: Inside the Spheres, where 40,000 plants create a stunning urban oasis. Retrieved from https://www.geekwire.com/2018/welcome-amazons-jungle-inside-

spheres-40000-plants-create-office-like-no/

Trafalgar. (2020). No Title7 of the best airports in the world for a layover. Retrieved from https://www.trafalgar.com/real-word/best-airports-world-layover/

Urban Pixxels. (2015). Sky Garden. Retrieved from https://www.urbanpixxels.com/sky-garden/

WELL. (2020). WELL Certification. Retrieved from https://www.wellcertified.com/certification/v2/

Wilson, E. O. (1984). Biophilia. Retrieved from https://www.hup.harvard.edu/catalog.php?isbn=9780674074422&content=reviews

 

Content by Onkamon Nilanon
Illustration by Ksidij Olarnlarp
Share :