CITY CRACKER

จอดจักรยานใต้น้ำที่อัมสเตอร์ดัม จุดจอดจักรยานแห่งใหม่ที่สถานีกลาง Amsterdam Central Station จาก จอดได้สูงสุด 11,000 คัน

ความเคลื่อนไหวสำคัญหนึ่งที่เมืองต่างๆ ทั่วโลกกำลังทำกันคือ พยายามกันรถยนต์ออกจากเมืองให้ได้มากที่สุด

ซึ่งหนึ่งในวิธีการคือการมีสาธารณูปโภคที่เอื้อให้เกิดการเดินทางแบบอื่นๆ โดยเฉพาะการขับขี่จักรยาน ซึ่งจักรยานนับเป็นการเดินทางในระยะ ‘ไมล์สุดท้าย’ คือเราขี่จักรยานมาจากบ้านเพื่อมาขึ้นขนส่งสาธารณะ เช่น รถไฟฟ้า หรือรถใต้ดิน

 

ล่าสุด อัมสเตอร์ดัม เมืองใหญ่ที่มีวัฒนธรรมการขับจักรยานและมักจะมีสาธารณูปโภคเพื่อการขับขี่จักรยานใหม่ๆ ออกมาให้เราได้ตื่นเต้นเสมอ ครั้งนี้อัมสเตอร์ดัมเปิดตัวและเปิดให้บริการอาคารจอดจักรยานใต้น้ำ ซึ่งอาคารนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของจุดจอดจักรยานที่สถานีกลาง Amsterdam Central Station สถานีสำคัญกลางเมืองสำหรับรถไฟฟ้าและรถใต้ดิน โดยอาคารจอดจักรยานนี้มีสองอาคารหลัก เปิดให้บริการส่วนแรกไปแล้วเมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา และส่วนที่สองมีแผนเปิดให้บริการในเดือนนี้ และเมื่อเปิดครบจะรองรับจักรยานได้ถึง 11,000 คัน

 

 

โรงจอดในหอยนางรมยักษ์

ก่อนอื่น การออกแบบและสร้างอาคารใต้น้ำถือเป็นการลงทุนค่อนข้างใหญ่ มีรายงานว่าแม้ในเนเธอร์แลนด์เองก็มีอาคารใต้น้ำอยู่ไม่มาก ซึ่งส่วนหนึ่งสร้างขึ้นเพื่อแก้ปัญหาพื้นที่ที่จำกัด ถ้าจะมีก็เป็นอาคารจอดรถ สำหรับการสร้างพื้นที่จอดจักรยานยักษ์ด้วยงบ 60 ล้านยูโร เพื่อแก้ปัญหาจำนวนจักรยานที่จอดริมถนนบริเวณสถานีกลาง จึงนับเป็นนวัตกรรมและการเปิดพื้นที่สาธารณูปโภคใหม่ๆ ที่น่าจับตา และเป็นการผลักดันเมืองไปสู่เมืองไร้รถยนต์ คือการลงทุนไม่ได้มีถนนและรถยนต์ แต่มีการเดินและการปั่นจักรยานเป็นวิธีการเดินทางหลัก

อาคารจอดจักรยานใหม่นี้มีความล้ำสมัยสมกับเป็นผลงานของอัมสเตอร์ดัม หนึ่งในเมืองผู้นำด้านการพัฒนาเมืองและนวัตกรรมต่างๆ สำหรับอาคารนี้เมื่อเข้าไปด้านในจะมีความโอ่โถง มีแถวแนวสำหรับการจอดจักรยาน ด้านบนมีงานออกแบบสีฟ้าประดับตกแต่ง ในแง่งานออกแบบ บริษัท Wurck ผู้รับหน้าที่ออกแบบและดำเนินการระบุว่า มี ‘หอยนางรม’ เป็นแรงบันดาลใจ คือเรากำลังเอารถจักรยานเข้าไปจอดในตัวหอยขนาดยักษ์ที่นอนอยู่ในแม่น้ำ

จุดทางเข้าของโรงจอด มีลักษณะเป็นทางยาวที่หักเลี้ยวลงสู่แม่น้ำ บริเวณทางเข้าจะมีวัสดุที่สอดคล้องกับตลิ่ง คือใช้รูปทรงและความรู้สึกของหินธรรมชาติ แต่เมื่อนำจักรยานเข้ามาถึงพื้นที่ด้านใน บรรยากาศและวัสดุจะมีลักษณะที่ตรงข้ามกัน ในอาคารใต้น้ำถูกออกแบบให้ดูเรียบ มีความต่อเนื่องไม่ขรุขระ ตรงนื้เป็นความเปรียบที่เราก้าวจากพื้นผิวขรุขระหรือเปลือกของหอยเข้ามาสู่ภายใน

wurck.nl

ความน่ารักของการออกแบบนี้ คือนอกจากพื้นที่บริการที่ใช้จอดรถจะสวยงาม อบอุ่นและดูล้ำสมัยแล้ว ผู้ออกแบบยังตั้งใจให้สาธารณูปโภคนี้เปรียบเสมือนกับ ‘ไข่มุก’ โดยเฉพาะพื้นที่บริหารจัดการและซ่อมบำรุงที่นับเป็นศูนย์กลาง นอกจากนี้ความเป็นไข่มุกจึงสะท้อนอยู่กับทรงกลมที่ถูกประดับอยู่ภายในอาคาร รวมถึงการใช้ขอบมุมของพื้นที่ที่มีความกลมไม่เป็นเหลี่ยมมุม รวมถึงแนวกระจกที่โค้งล้อกับรูปทรงของสายน้ำ พื้นที่ด้านในของที่จอดจักรยานจึงมีความสว่าง ต่อเนื่อง และดูอบอุ่นนุ่มนวล

 

จุดจอด และพื้นที่จักรยานส่วนกลาง

ความน่าสนใจของโรงจอดจักรยานใต้น้ำนี้ คือการลงทุนขนาดใหญ่และเป็นการเลือกลงทุนกับที่จอดจักรยานเป็นอาคารถาวร ที่ใช้พื้นที่และนวัตกรรมในการสร้างอาคารจอดจักรยานขนาดใหญ่ สำหรับการใช้บริการ ที่จอดจักรยานแสนเก๋นี้มีค่าบริการ แต่การในจอด ถ้าจอดภายใน 24 ชั่วโมงแรกไม่มีค่าบริการ แต่ถ้าจอดยาวข้ามวัน คิดค่าจอดวันละ 1.35 ยูโร หรือวันละ 50 บาทโดยประมาณ สรุปว่าถ้าจอดในชีวิตประจำวันไม่ทิ้งค้างก็ไม่เสียเงิน

นอกจากพื้นที่จอดบริการสำหรับจักรยานจากทางบ้านแล้ว อาคารแห่งนี้ยังมีจุดบริการรถจักรยานส่วนกลาง คือมีรถจักรยานที่เรียกว่า OVFiets bikeshares เป็นระบบบริการที่ทางเมืองกำลังทดลอง ให้เราใช้จักรยานส่วนกลางไปและมายังสถานีได้ (แถวๆ จุฬาหรือตามมหาวิทยาลัยก็มีระบบคล้ายๆ กัน)

wurck.nl

 

ตัวโปรเจกต์นี้นับเป็นโปรเจกต์จากยุคก่อนหน้า โดยเริ่มสร้างในปี 2019 อาคารที่น่าตื่นตาตื่นใจนี้ก็มีข้อวิจารณ์เล็กๆ น้อยๆ เช่น จุดจอดอยู่ไกล ใช้เวลาพักใหญ่กว่าจะนำจักรยานไปจอด ถ้ามองจากการใช้งานในชีวิตประจำวันที่อาจเร่งรีบได้ หรือระบบเช็คอินเอื้อกับคนท้องถิ่นมากกว่าคนต่างชาติเพราะต้องมีการติดตั้ง tag และมีใช้ระบบการ์ดเพื่อจ่ายเงิน

จุดสำคัญของอาคารใหม่นี้คือราวจอดจักรยานไม่รองรับจักรยานบางประเภท คือ cargo bike จักรยานครอบครัวที่มักใช้ในครอบครัวที่มีลูกเล็ก รวมถึงจักรยานไฟฟ้าก็ไม่สามารถจอดได้ นอกนั้นสื่อต่างประเทศมองว่าอาคารแห่งนี้นับเป็นสาธารณูปโภคที่น่าสนใจ ในกระแสของเมืองที่มุ่งไปสู่เมืองจักรยาน ผลักดันรถยนต์ออกจากการพัฒนาหลักของเมืองนั้นๆ

bicycledutch.wordpress.com

 

สำหรับเนเธอร์แลนด์เอง การมุ่งพัฒนาเมืองและสาธารณูปโภคของเมืองเพื่อจักรยาน และทำให้เมืองนั้นปลอดรถเป็นเป้าหมายใหญ่ของการพัฒนา นอกจากอาคารจอดรถใต้น้ำแล้ว เราก็จะเห็นการลงทุนและออกแบบพื้นที่ทั้งที่สำเร็จไปแล้ว เช่น อาคารจอดจักรยานใต้ดินขนาดสามชั้น จอดได้ 30,000 คันที่เมือง Utrecht หรืออาคารจอดรถใต้ดินที่สถานี The Hague Central Station ที่เมืองเฮกของเนเธอร์แลนด์ นอกจากนี้เราจะเห็นการออกแบบทางจักรยานที่เอื้อเรื่องความปลอดภัยไปจนถึงการสร้างทางด่วนจักรยาน และทางจักรยานเฉพาะที่ล้วนส่งเสริมให้ผู้คนเลือกจักรยานเป็นทางเลือกแรก โดยมีทั้งความสะดวกและความปลอดภัยเป็นที่ตั้ง

 

cnn.com

 

เนเธอร์แลนด์ โดยเฉพาะอัมสเตอร์ดัมเป็นเมืองที่มุ่งไปสู่การเป็นเมืองจักรยานมาตั้งแต่ทศวรรษ 1950 บทบาทการปรับเมืองไปสู่เมืองจักรยานชั้นแนวหน้าของโลก จนมาถึงการลงทุนและออกแบบสาธารณูปโภคล้ำสมัยเป็นบทเรียนที่น่าสนใจ นอกจากอัมสเตอร์ดัมแล้ว อีกหลายเมืองที่เป็นเมืองระดับแนวหน้าด้านการพัฒนาเมืองและคุณภาพชีวิตต่างก็กำลังมีจักรยานเป็นการเดินทางสำคัญ เป็นการเชื่อมต่อการเดินทางระยะสุดท้ายจากบ้าน และจากที่อื่นๆ สู่ระบบขนส่งสาธารณะหลัก

มุ่งสร้างทางจักรยานที่ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ สร้างบรรยากาศและสภาวะของเมืองที่ดีต่อการเดินและการปั่น เป็นเมืองที่มลพิษน้อยลง เดินทางสะดวกขึ้น และสุขภาพของผู้คนดีขึ้นทั้งกายและใจ

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

dutchcycling.nl

theverge.com

bicycledutch.wordpress.com

wurck.nl

dezeen.com

dezeen.com

Share :