CITY CRACKER

Bangkok Winter Wonderland ชีวิตคนกรุงในวันที่เมืองมีหิมะตก

สมัยหนึ่ง คนกรุงเทพก็มักจะคิดว่า ถ้ากรุงเทพหิมะตกก็คงจะดี คงด้วยความเป็นเมืองร้อน และยุคหนึ่งมีคำทำนายว่ากรุงเทพจะมีหิมะตก ซึ่งความฝันเรื่องกรุงเทพจะหนาวฟังดูคงจะเป็นความฝันอยู่อย่างนั้น แต่ในช่วงเวลาที่ลมหนาวยังอยู่กับเรา ความรู้สึกกับแดดฟ้าๆ สายลมที่พักเอาอากาศแห้งๆ เข้ามาก็ทำให้เรารู้สึกสนุกกับการได้ออกไปใช้ชีวิตนอกบ้านมากกว่าในฤดูร้อนหรือฤดูฝน

ฤดูหนาวจึงเป็นอีกช่วงเวลามหัศจรรย์ นอกจากจะเป็นช่วงปลายปีที่ทุกคนตั้งตารอการพักผ่อน พื้นที่เมืองในช่วงเวลาอันหนาวเย็นนี้จึงกลับถูกแต่งแต้มไปด้วยสีสันและกิจกรรมกลางแจ้ง เมืองที่หนาวเหน็บนั้นแทนที่จะชืดจางจึงกลายเป็นเมืองที่คึกคัก พื้นที่สาธารณะทั้งหลายได้รับการเปลี่ยนโฉม แม้แต่ในเมืองที่หนาวจนมีหิมะตก โฉมหน้าของเมืองที่ปกคลุมไปด้วยสีขาวโพลนนั้นก็กลับกลายเป็นมีชีวิต ถูกปรับเปลี่ยนและใช้งานเพื่อความสนุกสนานล้อไปกับช่วงเวลามหัศจรรย์ของปี

ด้านหนึ่งนั้น ด้วยลักษณะของฤดูหนาวที่มนุษย์เราอาจจะโหยหาแสงแดด คิดถึงความอบอุ่นที่พ้นไปจากพื้นที่บ้าน เราพาตัวเองออกไปพักผ่อน จับจ่าย และพบปะกันเพื่อเติมไฟให้ซึ่งกันและกัน ในช่วงเวลานี้เราจึงอาจพูดได้ว่าพื้นที่สาธารณะและพื้นที่เมืองนั้นกลับมามีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในการสร้างบรรยากาศและช่วยเพิ่มความอบอุ่นทั้งกายและใจให้กับผู้อยู่อาศัยเพื่อสู้กับภูมิอากาศโดยรอบ

ในประเทศหนาวเย็นส่วนใหญ่ต้องเจอกับความหนาวเย็นที่มีความโหดร้ายและเป็นสิ่งที่เมืองต้องจัดการ หลายเมืองใหญ่ในพื้นที่ที่มีอุณหภูมิต่ำกว่าศูนย์องศาในบางช่วงของปี หรืออยู่เหนือเส้นลัดติจูดที่ 45 ขึ้นไป เมืองที่หนาวเย็นเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นในยุโรปหรืออเมริกาเหนือจึงมีการรวมตัวกันในหลายกลุ่มเรียกว่าเป็นเมืองกลุ่มฤดูหนาวหรือ Winter City โดยแนวคิดหลักหนึ่งของการรวมตัวคือการร่วมกันแลกเปลี่ยนความรู้และใช้ประโยชน์จากอากาศหนาวเพื่อสร้างเมืองที่ดีในทุกๆ ด้าน

เงื่อนไขการออกแบบเมืองหนาวเพื่อเมืองที่ดีก็จะมีเงื่อนไขเฉพาะบางประการ เช่น การคำนึงถึงแรงลม การใส่ใจกับวัสดุปูพื้น การออกแบบพื้นที่สาธารณะที่ปรับเปลี่ยนใช้งานได้หลากหลาย การออกแบบไฟและแสงสว่างด้วยฤดูหนาวนั้นมีกลางคืนที่มืดมิดและยาวนาน ไปจนถึงการเน้นเติมสีสันและกิจกรรมให้กับเมืองเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความอบอุ่นให้กับผู้คน

แม้ว่ากรุงเทพจะหิมะยังไม่ตก แต่ในช่วงอากาศหนาวเย็นและห้วงเวลาแห่งจินตนาการ รวมถึงการเป็นช่วงเวลาที่พื้นที่ภายนอกและพื้นที่เมืองมีความสำคัญกับผู้คน City Cracker จึงชวนไปจินตนาการภาพกรุงเทพในบรรยากาศหิมะตก ว่าชีวิต กิจกรรมและโฉมหน้าของเมืองในความฝันของคนกรุงหลายคนจะเป็นอย่างไร เราอาจปิดวงเวียนใหญ่ๆ กลายเป็นลานสเก็ตทรงกลม สวนลุมที่น้ำในสระกลายเป็นน้ำแข็งและมีนกและสิ่งมีชีวิตฤดูหนาวออกมาให้เราได้ไปผจญภัย สวนแห่งใหม่อาจกลายเป็นลานสโนบอร์ด หรือน้ำในแม่น้ำอาจมีสระว่ายน้ำเล็กๆ และซาวน่า หรือพื้นที่สาธารณะที่นิยมสร้างกันในประเทศสแกนดิเนเวียร์

ลานสเก็ตน้ำแข็งที่อนุสาวรีย์

ฤดูหนาวมาคู่กับกิจกรรมกลางแจ้ง และลานสเก็ตถือเป็นอีกหนึ่งการใช้พื้นที่เมืองในช่วงฤดูหนาวที่ทั้งสนุกสนาน ได้ประโยชน์ทั้งต่อเมืองและต่อสุขภาพของคนเมือง ช่วงปลายปีถ้าเราไปเยี่ยมบางเมืองเช่นนิวยอร์ก เราก็จะเจอว่าพื้นที่เมืองนิวยอร์กหลายจุดได้กลายเป็นลานสเก็ต ไม่ว่าจะเป็นลานจำลอง (rink) คือเป็นการสร้างลานน้ำแข็งขึ้นเพื่อกิจกรรมการเล่นสเก็ตซึ่งก็มีลานทั้งในร่มและกลางแจ้ง หรือการเปิดบางพื้นที่เมื่อมีความปลอดภัยพอ เช่นบ่อหรือสระน้ำในพื้นที่ต่างๆ ความสนุกคือการได้เห็นฉากหลังหรือบรรยากาศของพื้นที่สำคัญๆ ที่เคยดูเข้าไม่ถึงและเคร่งขรึมนั้น การที่พื้นที่เช่นสระน้ำในสวน หรือกลางจัตุรัสเก่า พื้นที่หน้าพิพิธภัณฑ์กลายเป็นลานสเก็ตนั้น ก็ยิ่งตอกย้ำบรรยากาศสบายๆ และความรู้รื่นเริงของเมืองในช่วงปลายปีได้อย่างยอดเยี่ยม

สำหรับกรุงเทพ ถ้าเป็นแบบหลายเมืองใหญ่คือเราเริ่มให้ความสำคัญถนนน้อยลง พื้นที่เป็นจัตุรัส ลานหรือวงเวียนขนาดใหญ่เช่นอนุสาวรีย์ชัยอาจจะสามารถปิดถนนและเปิดเป็นลานสเก็ตรูปแบบวงเวียนยักษ์ที่การปิดวงเวียนและเปิดเป็นพื้นที่เล่นนี้อาจจะทำให้กรุงเทพกลายเป็นอีกหนึ่งปลายทางท่องเที่ยวระดับโลกได้

เดินชมป่าและสรรพสัตว์ที่สวนลุม

หิมะดูจะเป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่เราพอจะนิยามได้ว่า เป็นการกลับมาของพื้นที่ธรรมชาติ- ความเป็นธรรมชาติที่ธรรมชาติทิ้งปุยสีขาวและความขาวโพลนลงในพื้นที่เมืองของเรา ดังนั้น กิจกรรมสำคัญหนึ่งที่หิมะและอากาศหนาวนำมาให้เราคือพื้นที่ธรรมชาติ นึกภาพพื้นที่สวนขนาดใหญ่ เช่น เซ็นทรัลปาร์ก เมื่อหิมะตกนั้นเราก็จะสัมผัสความเป็นธรรมชาติใหม่ๆ ที่กลับมาทรงพลังและเปลี่ยนภูมิทัศน์ของเราได้โดยสิ้นเชิง เราจะเห็นแม่น้ำที่กลายเป็นน้ำแข็ง เห็นสรรพชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป เห็นนก เห็นกระรอกที่ขนปุกปุยออกมาวิ่งเล่นหรือนอนซึมเซาอยู่ตามโพรงไม้ เห็นพืชพรรณที่ทิ้งใบหรือบางส่วนก็ออกผลในช่วงฤดูหนาวนี้ถ้านิวยอร์กมีเซ็นทรัลปาร์ก กรุงเทพก็มีสวนลุม ถ้ากรุงเทพเกิดภาวะแปรปรวนแล้วมีหิมะตก ก็หวังว่าสวนลุมจะกลายเป็นแหล่งผจญภัยใหม่ เป็นพื้นที่สำรวจธรรมชาติ เป็นที่ที่เด็กๆ จะได้ลุยหิมะ ดูต้นไม้ ได้วิ่งเล่นกับของเล่นต่างๆ เช่นสกีหรือสโนว์บอร์ด เราอาจจะมีนกเป็ดน้ำ มีห่านที่ขึ้นมาเดินแทนการว่ายน้ำ ส่วนตัวเงินตัวทองเจ้าถิ่นก็หวังว่าจะรอดชีวิตจากความหนาวได้ดังเดิม

เล่นสกีและสโนวบอร์ดที่สวนจุฬาฯ

หลักการในการออกแบบพื้นที่สาธารณะสำหรับเมืองหนาว หรือพื้นที่ที่มีภูมิอากาศเปลี่ยนไปมาอย่างสุดขั้วคือการออกแบบและให้ข้อคำนึงถึงการพื้นที่ที่มีความหลากหลาย พื้นที่หนึ่งๆ อาจนำไปสู่การใช้งานได้แตกต่างหรือรองรับกิจกรรมไปตามภูมิอากาศนั้นๆ ถ้ากรุงเทพมีหิมะตก พื้นที่ที่มีลักษณะเป็นเนินลาดก็อาจสามารถกลายเป็นพื้นที่เล่น หรือเป็นพื้นที่กีฬาที่หลากหลายเช่นสกีหรือสโนว์บอร์ด
.
สวนจุฬา 100 ปี เป็นหนึ่งในพื้นที่สาธารณะรุ่นใหม่ที่เน้นการออกแบบที่หลากหลายและมีความร่วมสมัย ตัวพื้นที่สนามที่มีลักษณะเป็นเนินทำให้ด้านบนเป็นเหมือนภูเขาขนาดย่อมๆ รวมถึงการออกแบบที่เป็นทรงเรขาคณิต นอกจากจะให้ภาพสวนและการใช้งานรูปแบบใหม่แล้ว เนินของสวนจุฬาร้อยปีนั้น ในภาวะหิมะตกก็สามารถปรับไปสู่การเป็นลานสกีหรือสโนบอร์ดได้

ตลาดคริสมาสต์ที่สยาม

ตลาดคริสต์มาสเป็นกิจกรรม และในหลายเมืองฤดูหนาวถือเป็นอีกหนึ่งจุดขาย ตลาดคริสต์มาสมักมีลักษณะเป็นตลาดกลางแจ้ง มีลักษณะคล้ายๆ งานวัดบ้านเรา คือมีกิจกรรม มีเกม ม้าหมุน และมีอาหารเครื่องดื่มที่ช่วยอบอุ่นทั้งกายและใจ นึกภาพการดื่มช็อกโกแลตร้อนๆ กลางฤดูหนาว และที่สำคัญคือตลาดคริสต์มาสมักจะเน้นการตกแต่งตลาดน่ารักสวยงาม ไม่ว่าจะด้วยคริสต์มาส ไฟ ดอกไม้และของประดับสีสันสดใสรับเทศกาล อันที่จริงตลาดกลางแจ้งในฤดูหนาวก็ถือเป็นสิ่งที่บ้านเราเองก็มักจะมีการจัดตลาดหรืองานฤดูหนาวให้คนเมืองได้ออกไปจับจ่ายและทำกิจกรรม เช่น สอยดาว ชมมหรสพ สำหรับวัยรุ่นยุค 90s คำว่าตลาดคริสต์มาสเราอาจจะนึกถึงรักแห่งสยาม เรามีภาพชีวิตวัยรุ่นที่สยาม- พื้นที่ที่ไปใช้ชีวิตเที่ยวเล่นและเรียนพิเศษได้กลายสภาพเป็นพื้นที่สุขสันต์ช่วงปลายปี ถ้าสยามได้กลับมามีตลาดคริสมาสต์พร้อมๆ กับหิมะที่ตกลงมาจนสยามขาวโพลน ในแง่ของการออกแบบนั้น ตลาดคริสต์มาสก็อาจจะมีหน้าตาที่เปลี่ยนไปเล็กน้อย เช่นตามแนวทางของเมือง Edmonton หนึ่งในเมืองฤดูหนาวก็จะพูดถึงการใช้พื้นที่ภายนอกและส่งเสริมการทำให้เมืองหนาวเป็นเมืองเดินได้ เน้นการใช้อาคารเพื่อช่วยบังแรงลมและลดความหนาวลง

พื้นที่ช็อปปิ้งกลางแจ้งสยามร้อนที่ถ้ากลายเป็นสยามเย็นก็อาจจะมีการปรับเปลี่ยนด้วยลักษณะที่เรียกว่า Fine-grained แม้จะหนาวแต่ก็เดินได้ เช่น มีบล็อกที่ร้านค้าหรืออาคารที่เล็กลง หน้ากว้างของอาคารแคบลง และการมีหน้าร้านที่ถี่ขึ้น ทั้งหมดนี้ทำให้เมืองที่มีลมหนาวเดินได้สะดวกขึ้น มีจุดพัก จุดหลบลมหนาว มีแสงสว่างในเวลาที่กลางคืนยาวนาน

สระน้ำอุ่นในแม่น้ำเจ้าพระยา

ที่ประเทศเขตหนาวเช่นกลุ่มสแกนดิเนเวียร์ โดยเฉพาะฟินแลนด์ ประเทศหนาวจัดเหล่านี้ด้วยอากาศที่หนาวจึงมีวัฒนธรรมซาวน่า รวมถึงการมีวัฒนธรรมอ่างน้ำร้อนกลางแจ้ง ประกอบกับว่าประเทศหนาวเหล่านี้มักจะพัฒนาเมืองอย่างล้ำสมัย หนึ่งในการพัฒนาคือการปรับพื้นที่แม่น้ำเช่นอ่าวหรือท่าเรือเดิมที่เคยเสื่อมโทรมให้กลับมาสะอาด และเมื่อโรงงานและท่าเรือพ้นสมัย พื้นที่บริเวณอ่าวที่ฟื้นฟูแล้วก็มักมีการสร้างสาธารณูปโภคเพื่อให้เกิดการใช้งาน ทำให้พื้นที่ธรรมชาติกลายเป็นพื้นที่สาธารณะ ที่เมืองสำคัญๆ

ในเขตหนาวเช่นโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก เมื่อปรับพื้นที่ท่าเรือและริมอ่าวแล้วก็มักจะสร้างสระว่ายน้ำขึ้นทอดลงไปในทะเลหรือแม่น้ำที่เรียกว่า Harbor Pool ส่วนใหญ่ก็จะออกแบบให้เป็นพื้นที่หย่อนใจ มีระบบน้ำอุ่น มีพื้นที่อาบแดด สไลเดอร์ พื้นที่สาธารณะประเภทสระว่ายน้ำที่ซ้อนลงไปในแม่น้ำ (ส่วนใหญ่ใช้ระบบกรองเพื่อดึงน้ำเข้าสระ) เป็นรูปแบบพื้นที่สาธารณะที่กำลังเป็นที่นิยม นอกจากยุโรปแล้วที่สหรัฐเช่นนิวยอร์กก็เริ่มสร้างสระว่ายน้ำของเมืองที่จำลองชายหาดขึ้นมาในเมืองด้วยเช่นกัน

สำหรับกรุงเทพ ถ้ากรุงเทพเกิดหนาวจนมีหิมะ แน่นอนว่าพื้นที่ริมน้ำเช่นเจ้าพระยาและคลองย่อยต่างๆ จะเป็นทำเลรับลมที่สวยงาม และถ้าเราสามารถปรับปรุงคุณภาพน้ำและพื้นที่ริมน้ำจนสวยงามและมีคุณภาพยอดเยี่ยมได้ การลงทุนสร้างสระน้ำทำนอง Harbor Pool ได้ นึกภาพการหย่อนใจในสระอุ่นๆ มองทิวทัศน์ใจกลางเมืองที่สว่างด้วยแสงไฟ มุมมองที่เรามองขึ้นจากแม่น้ำและการลงแช่ในน้ำที่มีที่มามาจากเจ้าพระยาคงเป็นประสบการณ์ที่น่าทึ่งจากมุมใหม่ของกรุงเทพ

อ้างอิงข้อมูลจาก

diva-portal.org

ltu.diva-portal.org

cooperativecity.org

pps.org

land8.com

medium.com

Illustration by Montree Sommut
Share :