CITY CRACKER

บ้านเสงี่ยม-มณี โปรเจกต์รีโนเวตบ้านเก่าเป็นเกสต์เฮ้าส์ คาเฟ่ และพิพิธภัณฑ์กลางเมืองสกล ที่ชวนอนุรักษ์สถาปัตยกรรมเก่า

บ้านไม้เก่าแก่อายุหลายสิบปีตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษในปัจจุบันหาดูได้ยาก หากไม่เข้าชมในพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมของดั้งเดิมของไทยในสมัยโบราณไว้ คงมีไม่กี่ที่ที่มีจะเก็บรักษสถานที่และเรื่องราวต่างๆ ของตัวสถาปัตยกรรมเหล่านั้นเอาไว้ ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนและโลกของเทคโนโลยีที่หมุนไปอย่างรวดเร็ว แน่นอนว่าคนส่วนใหญ่ต่างมองความเป็นอนาคตมากกว่าอดีต และประวัติศาสตร์หรือเรื่องราวของอดีตที่ไม่ใช่ความทันสมัย ความใหม่เองก็ค่อยๆ หายไป 

ในระยะหลังเราได้เห็นวัฒนธรรมต่างชาติอย่างอาหารการกิน ดนตรี เครื่องแต่งกาย ตลอดจนการออกแบบบ้านให้เข้ากับยุคสมัยนั้นๆ กลายเป็นกระแสใหม่ที่บ้านเราให้ความสนใจจำนวนมาก โดยเฉพาะการตกแต่งบ้านทั้งการซื้อบ้านใหม่และการรีโนเวตบ้านให้เป็นสไตล์มินิมอลแบบญี่ปุ่น หรือสไตล์โมเดิร์นสมัยใหม่ กระทั่งบ้านสไตล์ลอฟท์ปูนเปลือย จนหลงลืมไปว่าบ้านไม้แบบเก่าของไทยก็น่าอนุรักษ์และน่าสนใจไม่ต่างจากการรับวัฒนธรรมอื่นมา คือสถาปัตยกรรมไม้แบบไทยๆ เองก็ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา ให้ชาวต่างชาติได้เยี่ยมชมเรียนรู้อดีตของไทย รวมไปถึงสามารถปรับปรุงบ้านไม้เก่าแก่ให้เป็นบ้านไม้ที่เข้ากับยุคปัจจุบันได้เช่นกัน 

City cracker มีโอกาสได้พูดคุยกับ ‘ฟ้า’ -อัชฌา สมพงษ์ ลูกสาวเจ้าของบ้านเสงี่ยม-มณี บ้านเก่าแก่อายุกว่า 60 ปี ในเมืองสกลนคร กับ ‘ติ๊ดตี่’ -ธรรศ วัฒนาเมธี สถาปนิกผู้ดูแล ‘บ้านเสงี่ยม-มณี’ คนรุ่นใหม่ที่กลับบ้านเกิดมาพร้อมไอเดียการอนุรักษ์ ด้วยการรีโนเวตบ้านเก่าอายุหลายสิบปีเป็นเกสต์เฮาส์ คาเฟ่ และพิพิธภัณฑ์คนเมืองสกลนคร ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนเยี่ยมชมและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ถึงการปรับปรุงบ้านเก่าให้ไม่เก่า 

 

 

บ้านเสงี่ยม-มณี บ้านไม้ในอดตีอายุกว่า 60 ปี

เมืองสกลนครมีอาคารบ้านเรือนเก่าแก่หลายหลัง บ้านเสงี่ยม-มณีเป็นหนึ่งในนั้น ตั้งอยู่ถนนเจริญเมือง ตำบลธาตุเชิงชุม อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร เจ้าของบ้านคือหมอสุขสมัย สมพงษ์ เป็นผู้บุกเบิกการอนุรักษ์บ้านเก่าแก่ พร้อมทั้งยังเป็นประธานชมรส่งเสริมคนดีเมืองสกลนคร ส่งเสริมให้ทุกคนตระหนักเห็นคุณค่าของบ้านเก่าแก่รุ่นบรรพบุรษที่ได้ปลูกสร้างไว้ให้รุ่นลูกรุ่นหลานได้อยู่อาศัย

บ้านเสงี่ยม-มณีเป็นบ้านไม้เก่าตั้งแต่รุ่นปู่ย่าเมื่อปี 2497 มีผู้อาศัยจากรุ่นสู่รุ่นจนมาถึงรุ่นปัจจุบันคือคุณหมอสุขสมัย สมพงษ์ และมีลูกสาวคือฟ้า-อัชฌา สมพงษ์ ที่เป็นคนรุ่นใหม่อยากจะดูแลบ้านหลังนี้ต่อ ฟ้าเล่าว่า “บ้านหลังนี้เป็นของคุณปู่เสงี่ยม และคุณย่ามณี ตอนเด็กๆ ช่วงที่คุณปู่คุณย่ายังอาศัยอยู่บ้านหลังนี้จะเป็นสถานที่รวมญาติ ทำกิจกรรม ทำบุญประจำปีร่วมกัน แต่พอโตขึ้นได้ไปเรียนที่กรุงเทพฯ ก็ทำให้ไม่ค่อยได้กลับมา และเพิ่งจะกลับมาบ้านนี้อีกครั้งและอยากดูแลต่อ”

“บ้านหลังนี้มีที่ดิน 52.3 ตารางวา ส่วนพื้นที่ใช้สอยประมาณ 200 ตารางเมตร ลักษณะของบ้านจะเป็นบ้านไม้ตะเคียนทั้งหลัง มี 3 ชั้น 4 ห้องพัก พื้นที่บริเวณโดยรอบของบ้านกว้างแต่พื้นที่ในบ้านแคบ บ้านใหญ่แต่ที่ดินเล็ก” 

 

จากบ้านไม้โบราณเกสต์เฮ้าส์ที่เป็นโมเดลการอนุรักษ์

หลังจากการกลับมาดูบ้าน ความคิดริเริ่มที่อยากจะพัฒนาและดูแลต่อไปก็เกิดขึ้น “พอดีช่วงนั้นอยากกลับมาอยู่บ้านพอดีเลยคิดว่าอาจจะใช้ประโยชน์จากบ้านหลังนี้ได้มากกว่าที่จะเป็นที่พักอาศัย แล้วเราก็ต้องหาเงินใช้จ่าย เลยเปลี่ยนจากบ้านคุณปู่คุณย่าเป็นเกสต์เฮ้าส์” 

“ด้วยความที่บ้านมีอายุนานหลายปี มีสภาพเก่าทรุดโทรม และพบปัญหาหลายจุด ปัญหาแรกคือ ต้นไม้รอบบ้านรกมาก มีทั้งต้นลั่นทม ต้นโพธิ์ ซึ่งทำให้บ้านชื้น พอรากไม้ลงไปใต้ดินเลยทำให้บ้านเอียง เพราะบ้านหลังนี้ไม่มีเสาเข็ม มีเพียงตอม่อไม้ปักลงไปในดิน ปัญหาอีกอย่างคือความชื้นจากหลังคา เพราะหลังคาผุบ้างเปิดบ้าง พอฝนตกน้ำไหลก็ลงมาที่พื้นจนเกิดเชื้อราและความชื้นทำให้ไม้ผุพังบ้านทรุด”

ติ๊ดตี่ สถาปนิกผู้ที่ดูแลบ้านเล่าต่อว่า “ทั้งพี่ฟ้าและพี่ติ๊ดตี่ก็คิดหาวิธีที่สามารถต่ออายุให้บ้าน แต่เราก็ต้องมีเงินมาคอยดูแลบ้านด้วย ประกอบกับช่วงนั้นจะมีกฎหมายเกี่ยวกับที่พักประเภทโรงแรม สามารถทำพื้นที่สร้างรายได้เสริมได้ ถ้ามีที่พักไม่เกิน 4 ห้องพัก พักได้ไม่เกิน 20 คน ซึ่งเราก็เริ่มสนใจว่าอาจจะเป็นแนวทางที่ดีกับบ้านเพื่อให้คนเห็นคุณค่าของบ้านด้วยว่าบ้านเก่าๆ ในเมืองสกลนี้มีหลายหลังมันสามารถกลับมาใช้ประโยชน์ได้” 

“และตรงกับความต้องการของคุณพ่อของฟ้ากับชมรมส่งเสริมคนดี ทั้งประธานคนเก่าๆ ด้วยที่มีความเห็นร่วมกันอยากจะอนุรักษ์บ้านเก่าในเมืองสกลนคร เลยถือโอกาสทำบ้านนี้เป็นแบบอย่างด้วยในการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จึงเป็นที่มาของการทำเป็นที่พัก เพื่อให้เราใช้ประโยชน์ได้ ดูแลบ้านได้ เพื่อให้คนในพื้นที่เห็นคุณค่าของบ้านเก่าว่ายังสามารถใช้ได้อยู่ แต่อาจจะต้องมีการปรับเพื่อให้มันสอดคล้องกับวิถีชีวิตปัจจุบัน และอยากให้คนข้างนอกที่ชื่นชอบบรรยากาศเก่าๆ ได้เข้ามาศึกษาดูว่าสมัยก่อนเป็นยังไง”

 

รื้อบ้านทั้งหลัง แต่ไม่ทิ้งทั้งหมด

หลังจากที่ได้สำรวจและพบว่าบ้านมีปัญหาหลายจุดต้องปรับปรุง จึงเกิดทำการบูรณะครั้งใหญ่ เดิมจะรื้อด้านบนบางส่วนออก รื้อผนังบางชิ้น เคลื่อนย้ายบ้านออกก่อนซ่อมแซมภายในแล้วค่อยเคลื่อนย้ายกลับมาใหม่ แต่กลับไม่ใช่เรื่องง่ายขนาดนั้น ช่างที่มาทำเองก็ทำงานลำบากไม่กล้าเคลื่อนย้ายกลัวบ้านจะพัง จนต้องตัดสินใจรื้อบ้านใหม่ทั้งหมดแล้วค่อยประกอบขึ้นใหม่เหมือนเดิมตามที่พี่ติ๊ดตี่ได้เขียนแบบไว้ 

โดยเริ่มปรับฐานรากเพราะเดิมจะเป็นตอม่อไม้ ซึ่งพอดินชื้นทำให้พื้นทรุดลงไปต้องทำฐานรากใหม่เป็นฐานราก ค.ส.ล ทำให้บ้านแข็งแรงมากขึ้น เพื่อรองรับจำนวนคนใช้งานที่มากขึ้น เปลี่ยนเสาบางต้นที่ไม่มันผุพัง ซึ่งการรื้อใหม่ทำให้เห็นจุดอ่อนแต่ละจุดชัดขึ้นสามารถซ่อมแซมให้ถูกจุด พยายามใช้ไม้เดิมที่มีและเพิ่มเติมแค่ส่วนที่ชำรุด การปรับปรุงนี้จะช่วยทำให้บ้านอยู่ได้นานประมาณ 50 ปี

 

โอกาสและศักยภาพของพื้นที่บ้านเสงี่ยมในอนาคต

ตอนนี้บ้านเสงี่ยมกลายเป็นพื้นที่สาธารณะ (public space) เป็นศูนย์รวมของคนที่จะจัดกิจกรรมในเมืองสกลนคร ซึ่งเป็นความตั้งใจแรกที่อยากให้ผู้คนสามารถมารวมตัวกันทำกิจกรรมร่วมกันในพื้นที่ตรงนี้ พี่ฟ้าก็ได้ย้ำว่า “อยากให้คนที่มีบ้านเก่าเข้ามาแลกเปลี่ยน เราจะแชร์ให้เขาได้ปรับปรุงบ้าน เราไม่ได้หวังว่าจะได้กำไรหรือสร้างรายได้แต่เราอยากให้คนในเมืองเก็บรักษาบ้านของเขาเอง” เพราะหลังจากที่ทำบ้านเสงี่ยมทำให้ได้ความรู้ในเรื่องการอนุรักษ์และการดูแล การรักษาบ้านไม้มากขึ้น

“ส่วนตัวบ้านอยากคงรูปแบบนี้ไว้ แต่เน้นการซ่อมแซมที่มันชำรุด อาจจะปรับปรุงเรื่องการตกแต่งเปลี่ยนตามเทศกาลต่างๆ และคิดว่าจะเพิ่มเติมเนื้อหาการเล่าเรื่องบ้านเพราะตอนนี้มีเพียงรูปถ่าย ซึ่งเราต้องคอยเล่าเรื่องราวให้ผู้ที่มาเยี่ยมชมฟัง คิดว่าอาจจะเพิ่มเนื้อหาในส่วนนั้นเพื่อให้คนที่เข้ามาดูบ้านได้เข้าใจโดยไม่จำเป็นต้องมีคนมานำชมตลอดเวลา และอาจจะมีการตกแต่งห้องใหม่ เพราะบางทีมีลูกค้าที่เคยมาแล้วกลับมาอีกหลายรอบ เขาอาจจะไม่อยากเห็นอะไรที่เดิมๆ” 

“พื้นที่ของบ้านอาจจะไม่ได้ขยายเพิ่มเติม แต่อยากให้ตรงนี้เป็นจุดเชื่อมให้บ้านหลังอื่นให้เขาได้อนุรักษ์บ้านของตัวเอง ซึ่งคนที่ทำหรือคนที่อยู่ตอนนี้อาจจะเป็นผู้สูงอายุแล้วก็จะทำแค่เล็กน้อย ทำแค่พออยู่ไม่ได้คิดในระยะยาว แต่เราอยากให้คำปรึกษาจะได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน เขาอาจจะไม่ได้ทำเป็นเกสต์เฮ้าส์ก็ได้ อาจทำให้ตัวเองอยู่อาศัยแต่อยู่แล้วมีความสุข อยู่แล้วเหมาะกับการใช้งานในแบบปัจจุบัน ไม่อยากให้ละเลยคุณค่าของบ้านไป”

 

การอนุรักษ์ไม่จำเป็นต้องแช่แข็ง

เรามักได้ยินคนรุ่นเก่าที่คอยบอกคอยสอนให้คนรุ่นใหม่อนุรักษ์ความเป็นไทย อนุรักษ์วัฒนธรรมไทย และถูกต่อว่าเมื่อทำผิดแผกไปจากเดิม จึงกลายเป็นภาพจำว่าการอนุรักษ์ต้องไม่ปรับเปลี่ยนสิ่งนั้นๆ ต้องคงแบบเดิมไว้ ที่เห็นได้ชัด เช่น สถานที่ ศาสนสถาน อาคารบ้านเรือน แต่ในความเป็นจริงสิ่งต่างๆ รวมทั้งสิ่งปลูกสร้าง ล้วนมีระยะเวลาของมันอาจผุพังบ้าง เลือนลางบ้าง จึงต้องเกิดการปรับปรุงและพัฒนาสิ่งเดิมที่มีอยู่ แต่การปรับปรุงไม่จำเป็นต้องทุบหรือเปลี่ยนให้เป็นรูปร่างหน้าตาแบบใหม่จนไม่หลงเหลือเค้าเดิม

“อยากให้ปรับความเข้าใจใหม่ว่าการอนุรักษ์ไม่ใช่การแช่แข็ง ไม่ว่าจะอนุรักษ์เรื่องวัฒนธรรมอาคาร ดนตรีหรือการฟ้อนรำ ก็ไม่ใช่การแช่แข็งที่ต้องทำให้เป็นเหมือนเดิมทุกอย่าง มันเป็นพลวัตที่ต้องปรับตัวไปตามยุคสมัย ทั้งคนรุ่นเก่าและรุ่นใหม่อยากให้ศึกษาพื้นที่ของตัวเองให้มากขึ้น ให้เริ่มตั้งแต่บ้านของตัวเองก่อน อาจเริ่มจากการศึกษาเกี่ยวกับประวัติของครอบครัวหรือบ้านของตัวเองไว้ก่อน เก็บข้อมูลไว้ค่อยขยายไปพื้นที่ใกล้ๆ บริเวณรอบบ้าน ขยายต่อไปพื้นที่สาธารณะพื้นที่เมืองให้เข้าใจและรู้สึกภูมิใจในบ้านของตัวเองก่อน”

 

ส่วนผู้ใหญ่ก็อาจจะถ่ายทอดเรื่องราวที่ประทับใจให้เด็กๆ ฟังหรือจดบันทึกไว้ ทั้งเรื่องราวและสภาพกายภาพเพราะการอนุรักษ์ต้องใช้เรื่องการรู้คุณค่ารู้เรื่องราวมาเสริม ตอนนี้อาจจะไม่มีกำลังหรืองบประมาณที่จะลงมือทำ แต่ถ้าคนรุ่นใหม่รู้ว่าอะไรสำคัญแล้วจดไว้ ในอนาคตอาจเป็นกำลังสำคัญที่จะกลับมาพัฒนาต่อได้ ก่อนจะลงมือทำอะไรสิ่งสำคัญคือการตกลงพูดคุยกันระหว่างคนรุ่นเก่าและรุ่นใหม่เพื่อสร้างความเข้าใจ หาตรงกลางที่สามารถทำงานร่วมกันได้ ซึ่งทั้งสองฝั่งต้องรับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกัน

 

Share :