CITY CRACKER

ใจมนุษย์สุดซับซ้อน : เมื่อสถาปัตยกรรมที่ดีอาจช่วยลดโอกาสในการฆ่าตัวตาย

การที่ใครคนหนึ่งจะตัดสินใจมีชีวิตอยู่ หรือยุติการมีชีวิตของตัวเองถือเป็นการตัดสินใจที่ซับซ้อน จิตใจของมนุษย์ทั้งแข็งแกร่งและเปราะบางในเวลาเดียวกัน และแน่นอนว่าการเสียใครคนหนึ่งไปดูจะไม่ใช่ทางเลือกที่ดีนัก ดังนั้น การฆ่าตัวตายจึงเป็นประเด็นสำคัญที่หลายฝ่าย กระทั่งเราเอง ถ้าเป็นไปได้ ก็อยากจะช่วยทำอะไรซักอย่างเพื่อป้องกัน หรือชะลอการตัดสินใจและช่วยกันแก้ปัญหากันต่อไป

 

พื้นที่สาธารณะ – ตึกสูงหรือสะพาน เป็นอีกหนึ่งพื้นที่สำคัญที่ก่อให้เกิดการฆ่าตัวตายขึ้น ดังนั้นเอง สถาปนิกและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ก็พยายามมองว่าการออกแบบ พื้นที่ทางสถาปัตยกรรมเหล่านี้จะช่วยลดทอน ทัดทาน หรือลดโอกาสการฆ่าตัวตายลงบ้าง

แทบทุกประเทศมักมีจุดสำคัญของการฆ่าตัวตายเสมอ และส่วนใหญ่มักเป็นสะพาน บ้านเราเองยุคหนึ่งก็มักมีข่าวพูดถึงการกระโดดสะพานบ่อยครั้ง และในทางตรงกันข้าม เมื่อสะพานหรือพื้นที่หนึ่งกลายเป็นจุดฆ่าตัวตายแล้ว อัตราการฆ่าตัวตายที่บริเวณนั้นก็จะเพิ่มสูงขึ้น หลายประเทศจึงมีความพยายามป้องกัน และแก้ไขด้วยการออกแบบ ตั้งแต่การใช้แนวรั้วไปจนถึงการออกแบบพิเศษเช่นที่เกาหลี แต่จิตใจของคนเราค่อนข้างซับซ้อน แม้จะมีโปรเจคดีๆ ที่พยายามเหนี่ยวรั้งคนที่อยากจากไปแต่ก็กลับได้ผลตรงข้าม ในทำนองเดียวกัน บางประเทศเช่นอังกฤษ ก็มีการออกแนวทางที่พยายามลบนิยามของพื้นที่ด้วยการออกแบบใหม่ ให้ลืมว่าเมืองมีจุดสำคัญปลิดชีวิตตัวเองอยู่

 

uxdesign.cc

 

สถาปัตยกรรมช่วยป้องกันการฆ่าตัวตายในหมู่วัยรุ่น

การฆ่าตัวตายเป็นเรื่องซับซ้อน แรงจูงใจและการตัดสินใจในการฆ่าตัวตายก็ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล มีข้อเสนอหนึ่งของ Charlotta Thodelius สถาปนิกและนักวิชาการที่นำเอาอาชญวิทยาและสถาปัตยกรรมเข้ามาทำความเข้าใจการฆ่าตัวตาย ในวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกของเธอเสนอว่า งานออกแบบทางสถาปัตยกรรมที่ดี- ที่ช่วยป้องกันผู้คนออกจากจุดเสี่ยงอาจช่วยป้องกันการฆ่าตัวตายลงได้ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและวัยรุ่น

Thodelius อธิบายว่าจากการสังเกตการณ์ของเธอพบว่า เหตุจูงใจและวิธีการฆ่าตัวตายของวัยรุ่นอาจแตกต่างไปจากการฆ่าตัวตายในผู้ใหญ่ เธออธิบายว่าการฆ่าตัวตายในผู้ใหญ่มีลักษณะของการเตรียมพร้อม มีความมุ่งมั่นตั้งใจและการไตร่ตรองในการจบชีวิตอย่างถี่ถ้วน มีการจัดการทุกอย่างไว้เสร็จสรรพและหมดจด ในขณะวัยรุ่นอาจมีความฉับพลันกว่านั้น เธออธิบายอย่างเรียบง่ายว่า ถ้าเมืองมีพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้ฆ่าตัวตายได้ง่าย เราก็มีโอกาสที่จะสูญเสียมากขึ้น ในทางกลับกัน ถ้าจุดฆ่าตัวตายทั้งหลายมีน้อย เข้าถึงยาก ไปถึงแล้วอาจไม่ได้จัดการได้ง่ายอย่างใจคิด เธอบอกว่ามีโอกาสสูงที่การฆ่าตัวตายในคนอายุน้อยนั้นจะไม่สำเร็จ และเด็กหรือวัยรุ่นนั้นอาจไม่ได้คิดถึงการฆ่าตัวตายรูปแบบอื่นๆ ไว้

คำว่าการออกแบบที่ดีผู้วิจัยอธิบายว่า เช่นสะพานที่คนชอบไปโดดบ่อยๆ ถ้าป้องกันด้วยการเอารั้วสูงๆ ไปกั้น หรือเอาตาข่ายไปรอง เธอบอกว่าผลที่ได้อาจกลับกัน คือยิ่งไปทำให้สะพานแห่งนั้นกลายเป็นสัญลักษณ์ของพื้นที่ฆ่าตัวตายเข้าไปใหญ่ แต่ถ้ามีการสร้างสิ่งกีดขวางที่แนบเนียนขึ้น มีกระถางต้นไม้ มีพืชคลุม ให้ปีนยากๆ แถมด้วยบรรยากาศดีๆ ก็อาจทำให้มีโอกาสรอดมากขึ้น

ข่าวเช่นการโดดตึกเรียนของเด็กนักเรียนเองเป็นอีกหนึ่งข่าวเศร้าที่เราได้ยินกันบ่อยๆ ในมุมมองนักออกแบบก็บอกว่า ในแง่นี้การออกแบบพื้นที่โรงเรียนก็อาจช่วยป้องกันการฆ่าตัวตายได้ด้วยการลดโอกาสการที่เด็กจะฆ่าตัวตายสำเร็จ การออกแบบโรงเรียนที่วางพื้นที่ระหว่างพื้นที่ของเด็กๆ และพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับผู้ใหญ่อย่างเหมาะสม เช่นถ้ามีพื้นที่ลับหูลับตาที่อันตราย เป็นจุดเสี่ยง เช่นระเบียง ดาดฟ้า ก็อาจทำให้การฆ่าตัวตายเป็นไปโดยง่าย การออกแบบพื้นที่ที่ส่งเสริมการปฏิสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่อย่างเหมาะสม มีการสอดส่องดูแลกันว่าคนไหนใจไม่ค่อยดีหรือมีปัญหา ก็อาจนำให้เด็กๆ ที่มีปัญหากลับเข้าสู่การช่วยเหลือได้

 

metro.co.uk

 

ความซับซ้อนของพื้นที่และผู้คน

พอเข้าไปที่ประเด็นเรื่องจิตใจ เรื่องความรู้สึก เราก็เริ่มเข้าสู่โลกที่ยากและซับซ้อน มีกรณีหลายกรณี เช่นกรณีงานออกแบบสะพานมาโปของเกาหลี สะพานสำคัญของกรุงโซลที่ผู้คนใช้ข้ามจากโลกนี้ไป ทางการจึงจัดการเอางานออกแบบ มีระบบไฟ LED ที่เปิดขึ้นเป็นถ้อยคำง่ายๆ ไต่ถามสารทุกข์สุขดิบเพื่อช่วยดึงให้คนที่คิดว่าไม่เหลือใคร ให้นึกถึงอาลัยที่อาจจะยังมีอยู่ ยังมีคนห่วงเราอยู่นะ อย่าเพิ่งไปเลย

ในทางทฤษฎี เป็นไอเดียที่ยอดเยี่ยมและน่าจะได้ผลดียิ่ง แต่ผลของสะพานกลับไม่เป็นดังคาด สะพานมาโปกลับกลายเป็นสัญลักษณ์ของการฆ่าตัวตายที่เข้มแข็งขึ้น มีคนที่อยากจากไปมาใช้สะพานแห่งนี้และฆ่าตัวสำเร็จมากขึ้นหลังโครงการเปิดใช้ ทางการจึงต้องหาทางป้องกันทางกายภาพเพิ่มเติม

อังกฤษเองก็มีการออกแนวทางการป้องกันและลดการฆ่าตัวตายในพื้นที่สาธารณะอย่างเป็นระบบขึ้น เริ่มตั้งแต่การสำรวจและระบุจุดเสี่ยง การจัดการปิดการเข้าจุดเสี่ยงนั้นๆ ไปจนถึงการเปลี่ยนนิยามความหมายของพื้นที่ เช่น จากสะพานฆ่าตัวตายก็ให้ความหมาย ไปออกแบบการใช้งานใหม่ๆ ทำเมืองให้มีชีวิตชีวามากขึ้น พร้อมกับส่งเสริมความเข้าใจให้กับผู้คน

 

การปรับปรุงและป้องกันการฆ่าตัวตายในระดับกายภาพจึงเป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า คือถ้าโชคดี ความยากลำบากในการเข้าถึงจุดอันตรายอาจช่วยได้บ้าง ในขณะเดียวกันการสร้างความตระหนักรู้ และความเข้าใจในวงกว้างจึงเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างพื้นที่และผู้คน

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

chalmers.se

citylab.com

assets.publishing.service.gov.uk

 

Illustration by Thitaporn Waiudomwut
Share :