CITY CRACKER

เมื่อวรรณกรรมกลายเป็นสถาปัตยกรรม 8 โปรเจกต์จากจินตนาการของการอ่าน

การอ่านและวรรณกรรมเป็นส่วนสำคัญในการสร้างจินตนาการ และส่งเสริมทักษะต่างๆ ของผู้คน วรรณกรรมและการอ่านจึงมักถือว่าเป็นกิจกรรมและเป็นมรดกสำคัญอย่างหนึ่ง ทว่าการอ่านและจินตนาการมักจำกัดอยู่ในพื้นที่ที่เป็นนามธรรม เป็นสิ่งที่อยู่ในความคิด ในพื้นที่ทางจินตนาการของเรา

เบื้องต้นแล้วการอ่านและวรรณกรรมจะเป็นกิจกรรมส่วนบุคคลและเป็นพื้นที่ทางนามธรรม แต่วรรณกรรมเองก็ถือเป็นส่วนสำคัญหนึ่งทางวัฒนธรรม การสร้างพื้นที่จากวรรณกรรมและการอ่านจึงเป็นอีกหนึ่งโปรเจกต์ที่เมืองลงมือทำ พิพิธภัณฑ์หรือห้องสมุดว่าด้วยการอ่านหรือวรรณกรรมใดใด เป็นทั้งการเปิดพื้นที่ที่ทำให้จินตนาการของเรากลายเป็นพื้นที่ที่เป็นรูปธรรม พื้นที่สถาปัตยกรรมเหล่านี้จึงเป็นอีกหนึ่งบทบาทและงานออกแบบที่ใช้พลังของสถาปัตยกรรมในการพาเราโลดแล่นไปยังดินแดนแห่งจินตนาการ เป็นพื้นที่จากการอ่านที่วาดให้จินตนาการของเราเป็นรูปเป็นร่าง และเป็นพื้นที่ที่พาเรากลับไปยังการอ่านและเหล่าวรรณกรรมอีกครั้ง

นอกจากนี้ การอ่านยังเป็นพื้นที่และกิจกรรมที่แทรกตัวอยู่ในพื้นที่เมืองใหญ่ บางครั้งเรื่องราวในวรรณกรรมก็หวนกลับและเชื่อมโยงเข้าสู่พื้นที่เมืองและพื้นที่โลกแห่งความจริง พื้นที่แบบไหนที่สัมพันธ์กับการคิดและการอ่าน งานออกแบบแบบไหนที่ได้แรงบันดาลใจหรือสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองการอ่านหรือวรรณกรรม พื้นที่กายภาพทั้งโปรเจกต์ใหม่ๆ เช่น พิพิธภัณฑ์ไซไฟจากซาฮา พิพิธภัณฑ์วรรณกรรมเด็กที่สร้างเพื่อฉลองและพาเรากลับสู่โลกจินตนาการจากผู้เขียนกิกิ เดลิเวอรี่ หรือพาวิเลียนที่ใช้เทคโนโลยีถ่ายทอดความซับซ้อนของบทกวี พาวิเลียนของอิหร่านที่นำเอานิทานพันหนึ่งราตรีมาสร้างเป็นพื้นที่เพื่อนำเสนอตัวตนในเวทีโลก

นอกจากโปรเจกต์ที่ด้านหนึ่งเป็นการนำเรื่องเล่า วรรณกรรมกลับมาเป็นส่วนหนึ่งการพัฒนาเมือง City Cracker ยังพาไปพบบางส่วนที่ทำให้เราเห็นว่าวรรณกรรมและการอ่านนั้นสอดแทรกอยู่ในพื้นที่สาธารณะของเมือง การอ่านและการคิดสัมพันธ์กับพื้นที่ที่ดีของเมืองที่เต็มไปด้วยเงาไม้จากแนวต้นไม้ที่ได้ชื่อว่าเส้นทางวรรณกรรมในเซ็นทรัลพาร์คถึงเส้นทางของนักปราชญ์ที่เมืองเกียวโต

 

Chengdu Science Fiction Museum, Chengdu China

เริ่มด้วยโปรเจกต์ในฝัน คือถ้าเราบอกว่าจีนจะสร้างพิพิธภัณฑ์ว่าด้วยนิยายวิทยาศาสตร์ และสตูดิโอที่เป็นผู้รับหน้าที่คือสตูดิโอซาฮ่า ฮาดิด และนี่คือสุดยอดส่วนผสมในการตีความวรรรณกรรมไซไฟสู่พื้นที่จริง กับโปรเจกต์พิพิธภัณฑ์นิยายวิทยาศาสตร์ที่เมืองเฉิงตู โปรเจกต์ใหม่นี้มีความน่าสนใจหลายด้าน อย่างแรกคือหน้าตาอาคารและภายในที่เหมือนหลุดออกมาจากหนังไซไฟ ตัวอาคารตั้งอยู่บนทะเลสาบจิงหรง เป็นอาคารล้ำสมัยที่เชื่อมต่อพื้นที่ธรรมชาติ

ตัวอาคารเป็นอีกหนึ่งแผนการพัฒนาของจีนที่มักพัฒนาเมืองใหม่และใช้พื้นที่ทางวัฒนธรรม รวมถึงสถาปัตยกรรมที่ยิ่งใหญ่เป็นศูนย์กลาง ห้องสมุดนี้ถูกวางให้เป็นศูนย์กลางด้านนวัตกรรมของเมืองวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมใหม่ของเขตปี่ตู่ (Science & Innovation New City of Chengdu’s Pidu District) นอกจากนี้เฉิงตูเองยังเป็นเมืองที่มีรากฐานในวรรณกรรมไซไฟมาอย่างน้อยห้าทศวรรษ เป็นบ้านของนักเขียนที่ได้รางวัลสำคัญ เช่น รางวัลฮิวโก้ โดยพิพิธภัณฑ์นี้จะวางตัวเองเป็นหมุดหมายของวรรณกรรมไซไฟโลก เช่น ในการเปิดตัวใช้เป็นพื้นที่จัดการประชุมวรรณกรรมไซไฟโลก (WorldCon) และจัดงานมอบรางวัลฮิวโก้ (Hugo Awards) ซึ่งเป็นการจัดงานเป็นครั้งแรกในประเทศจีน โดยงานนี้ได้จัดและเปิดพิพิธภัณฑ์ไปเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

 

H.C.Andersen Hus Museum, Odense Denmark

พิพิธภัณฑ์ ฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์สัน เป็นพิพิธภัณฑ์ที่สร้างเพื่อเฉลิมฉลองให้กับแอนเดอร์สัน ในเมืองโอเดนส์ เมืองบ้านเกิดของแอนเดอร์สัน โดยการสร้างพิพิธภัณฑ์มีความน่าสนใจคือนอกจากจะเป็นการฉลองในบ้านเกิดแอนเดอร์สัน นักเขียนเจ้าของนิทานระดับโลก เช่น เงือกน้อยเมอร์เมด ตัวอาคารใหม่ที่สร้างเสร็จไปเมื่อปี 2022 ยังมีนัยสำคัญจากภาพรวมโปรเจกต์และภายในสถาปัตยกรรมของพิพิธภัณฑ์ด้วยฝีมือจากเคนโกะ คุมะ

เบื้องต้นที่สุดคือการอยู่กึ่งกลาง พิพิธภัณฑ์นี้เล่นกับความเป็นกึ่งกลางในหลายมิติ โดยตัวโปรเจกต์เองตั้งอยู่ในระหว่างพื้นที่พัฒนาพักอาศัยใหม่กับพื้นที่บ้านเรือนไม้เก่าจากยุคกลาง ตัวอาคารจึงเป็นจุดเชื่อมต่อสองพื้นที่เข้าหากัน คือการมีลักษณะตรงข้ามกันซึ่งสัมพันธ์กับเรื่องเล่าในนิทานของแอนเดอร์สัน เช่น การมีอยู่ของสองสิ่งคือความจริงและจินตนาการ ธรรมชาติและสิ่งประดิษฐ์ มนุษย์และสัตว์ แสงและความมืดมาเล่นกับหน้าตาของอาคารรวมถึงภูมิทัศน์โดยรอบ โดยพื้นที่อาคารมีการเล่นกับสิ่งที่แปลกประหลาด เช่น ภายในอาคารที่เหมือนภายนอก เขาวงกตที่วกวน หรือต้นไม้ที่เติบโตขึ้นได้เหมือนกับเรื่องราวต่างๆ ที่ถูกเล่าต่อแตกกิ่งก้านไปไม่รู้จบ

 

The Poem Pavilion, Dubai Expo 2020

พาวิเลียนแห่งบทกวี เป็นพาวิเลียนของสหราชอาณาจักรที่สร้างขึ้นในงานดูไบเอ็กซ์โป ปี 2020 พาวิเลียนนี้เป็นผลงานออกแบบของศิลปิน Es Devlin ตัวอาคารจะเต็มไปด้วยจอที่จะแสดงบทกวีที่แต่งขึ้นโดย A.I. และแสดงขึ้นบนเส้นบรรทัดจำนวนนับไม่ถ้วน ตัวพาวิเลียนนับเป็นอีกหนึ่งความน่าตื่นตาตื่นใจที่ผู้เข้างานจะส่งถ้อยคำเข้าสู่พาวิเลียน และเอไอจะทำหน้าที่แต่งเรียงร้อยเป็นบทกวีใหม่ ดังนั้น ถ้อยคำและบทกวีของพาวิเลียนจะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ด้านหนึ่งเป็นเหมือนพาวิเลียนที่สถาปัตยกรรมและนวัตกรรมจะเป็นพื้นที่กลางที่จะช่วยพาผู้คนเข้าร่วมสร้างบทกวีโดยไม่มีเส้นแบ่งของความเป็นชาติ

ตัวโปรเจกต์ได้แรงบันดาลใจจากโปรเจกต์สุดท้ายของสตีเฟน ฮอว์คิง นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์คนสำคัญก่อนเสียชีวิต โปรเจกต์สุดท้ายชื่อว่า Breakthrough Message โดยฮอว์คิงบอกว่าให้ทุกคนทั่วโลกส่งข้อความที่คิดว่า ถ้าวันหนึ่งเราเจอภูมิปัญญาจากต่างดาว ข้อความไหนที่จะเหมาะที่สุดในการสื่อสารความเป็นตัวเราต่อประชาคมอวกาศที่เราอยู่นี้ ตัวพาวิเลียนของสหราชอาณาจักรจึงจับเอาแนวคิดแบบเดียวกันคือนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ผสมเข้ากับรูปแบบศิลปะสำคัญคือบทกวีและใช้สถาปัตยกรรมเป็นสื่อกลางในการสร้างความหมายใหม่ๆ

 

Kiki’s Museum of Literature, Tokyo Japan

พิพิธภัณฑ์วรรณกรรมของแม่มดน้อยกิกิ (จากเรื่อง Kiki’s Delivery Service) เป็นชื่อเล่นของพิพิธภัณฑ์วรรณกรรมเด็กไอโกะคาโดโนะ (Eiko Kadono Museum of Children’s Literature) ที่เอโดงาวะซิตี้ ( Edogawa City) ในกรุงโตเกียว เป็นอีกหนึ่งผลงานที่เคนโก คุมะ สร้างสถาปัตยกรรมจากผลงานเขียนและเป็นเกียรติให้กับนักเขียนคือคุณไอโกะ เจ้าของผลงานแม่มดน้อยกิกิ

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ตั้งอยู่บนภูเขา ตัวโปรเจกต์ตั้งใจให้เป็นดินแดนที่ผู้มาเยือนได้โลดแล่นเข้าไปยังโลกจินตนาการของแม่มดน้อย ตัวอาคารมีรูปแบบที่เรียบง่ายจากรูปทรงเรขาคณิต แต้มด้วยสีสันน่ารักคือชมพูและขาว ตัวอาคารหน้าตาเหมือนกับดอกไม้ที่เบ่งบานล้อไปกับเนินเขาและสวนดอกไม้สีชมพู พื้นที่ด้านในก็เล่นกับความเป็นเนินเขาเช่นกัน พิพิธภัณฑ์แห่งนี้น่าจะเป็นจุดหมายของทั้งเด็กและผู้ใหญ่ที่อยากเติมจินตนาการ หนึ่งในจุดเด่นสำคัญของสถาปัตยกรรมคือการใช้รูปทรงบ้านขนาดเล็ก เหมือนกับเรื่องราวในแม่มดน้อยที่มักเริ่มด้วยบ้านหลังหนึ่ง ก่อนจะค่อยๆ ขยายเรื่องราวออกไป พิพิธภัณฑ์นี้เปิดให้บริการเรียบร้อยไปเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายนที่ผ่านมา แฟนๆ แม่มดน้อยและแฟนๆ วรรณกรรมเยาวชนสามารถปักหมุดเมื่อไปเที่ยวโตเกียวได้

 

Literary Walk at Central Park, New York USA

จากพื้นที่สถาปัตยกรรมขนาดใหญ่ ย้อนกลับมาที่สวนสาธารณะสำคัญของนิวยอร์กคือเซ็นทรัลพาร์ค โดยที่เซ็นทรัลพาร์คมีพื้นที่สำคัญเรียกว่า The Mall เป็นงานออกแบบสวนสาธารณะจากศตวรรษที่ 19 ในการสร้างพื้นที่เดินเล่น (promenade) หน้าตาของพื้นที่เป็นถนนสายยาวๆ ที่เรียงรายด้วยต้นอเมริกันเอล์ม(American elm) จุดหมายหลักคือการสร้างพื้นที่ที่สอดคล้องกับกิจกรรมของผู้คนที่มีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 คือการเดินเล่น นั่งเล่น ชมผู้คน ฟังเพลงและชมต้นไม้

ในส่วนใต้สุดของทางเดิน มีส่วนที่เรียกว่าเส้นทางวรรณกรรม (Literary Walk) ชื่อเส้นทางได้มาจากการนำเอารูปปั้นบุคคลสำคัญมาตั้งประดับตามรายทางโดย 4 นักเขียนที่ร่วมอยู่ในเส้นทางเดินอันร่มรื่นคือ Fitz-Greene Halleck, Robert Burns, Sir Walter Scott และ William Shakespeare โดยนอกจากสี่นักเขียนสำคัญแล้วยังมีรูปปั้นคริสโตเฟอร์ โคลัมบัสที่ถูกล้อว่าไม่เข้าพวก ซึ่งภายหลังมีการเพิ่มรูปปั้นผู้หญิงที่เป็นผู้ต่อสู้เรื่องสิทธิสตรีเข้าไปร่วมด้วย

 

Philosopher’s Path, Kyoto Japan

เส้นทางนักปราชญ์เป็นอีกหนึ่งพื้นที่เล็กๆ คือเป็นถนนยาวสองกิโลเมตร ที่มีความงดงามและมีเรื่องราวทางการคิดผสมผสานอยู่ ทางเดินนักปราชญ์เป็นเส้นทางที่นิชิดะ คิทาโร่ (Nishida Kitaro) นักปรัชญาและนักคิดสมัยใหม่ผู้เป็นส่วนหนึ่งในการวางรากฐานให้ปรัชญาร่วมสมัยของญี่ปุ่น เส้นทางนี้เป็นเส้นทางที่นิชิดะเดินไป-กลับในการไปเรียนที่มหาวิทยาลัยเกียวโต เป็นเส้นทางที่เชื่อว่าเป็นส่วนหนึ่งของการเดินและความคิดต่างๆ อันนำไปสู่ความคิดสำคัญต่างๆ

ตัวเส้นทางถือว่าอยู่ในพื้นที่ท่องเที่ยวของกรุงเกียวโต อยู่ใกล้วันเงินคือวันคินคะคุจิ โดยเส้นทางเองมีความโดดเด่นเรื่องทิวทัศน์ที่สวยงามจากคลองเล็กๆ และร่มรื่นไปด้วยเงาของทิวไม้ เส้นทางนี้มีชื่อในการชมธรรมชาติ เป็นจุดชมซากุระที่งดงาม และในฤดูใบไม้เปลี่ยนสีก็สวยงามไม่แพ้กัน นอกจากนี้เรายังพบมรดกโบราณได้คือเส้นทางที่ปูด้วยหิน ดังนั้น เส้นทางนักปราชญ์นี้จึงเป็นอีกพื้นที่ที่พาเรากลับไปสู่ความคิดและการครุ่นคิด สามารถแวะชมได้ถ้าไปเที่ยวเมืองเกียวโต

 

The Iran Pavilion, Dubai Expo 2020

ในงานดูไบเอ็กซ์โป อิหร่านเป็นอีกประเทศที่ตั้งใจแสดงตัวตนผ่านการออกแบบพาวิเลียน สิ่งที่น่าสนใจคือนอกจากผ้าทอเปอร์เซีย นวัตกรรมการจัดการความร้อนของดินแดนทะเลทรายแล้ว ผู้ออกแบบยังได้ตั้งคำถามว่าอิหร่านผ่านวิกฤติต่างๆ มาได้อย่างไร การรอดดพ้นและยืนหยัดในวิกฤติจึงได้แรงบันดาลใจจากวรรณกรรมสำคัญคือพันหนึ่งราตรี เรื่องเล่าพันเรื่องที่มเหสีของราชาเล่าถวายเพื่อเอาชีวิตรอด จนครบหนึ่งพันเรื่องความแค้นในใจก็จางหายไป

พาวิเลียนที่ดูทันสมัยและเรื่องเล่าประวัติศาสตร์ตัวตนของอิหร่านสมัยใหม่จึงถูกตีความใหม่ หัวใจของพาวิเลียนคือการเล่าเรื่อง ตัวพาวิเลียนถูกออกแบบเป็นกล่องๆ แยกออกจากกันคล้ายกับเรื่องเล่าและวัฒนธรรมอิหร่านที่ค่อยๆ ร้อยเรียงเข้าหากันเหมือนกับนิทานย่อยในตำนานพันหนึ่งราตรี ในขณะเดียวกันภายในพาวิเลียนก็มีการใช้สัญลักษณ์ต่างๆ ที่ผูกพันธ์ทั้งกับเรื่อง เช่น การใช้สีของอาภรณ์ของสตรีผู้เล่าเรื่อง การใช้สัญลักษณ์จากมวยผม ไปจนถึงการมีพื้นที่เฉพาะในการเล่าเรื่องอาหรับราตรีโดยตรงให้กับผู้มาเยือน พาวิเลียนนี้จึงเป็นการตีความอัตลักษณชาติผ่านเรื่องเล่า กระทั่งเสียงเล่าของสตรี ใช้นิทานและมองเห็นพลังของเรื่องเล่าในมุมมองใหม่ๆ ในระดับชาติของอิหร่านเอง

 

อ้างอิงข้อมูลจาก
zaha-hadid.com
archdaily.com/1008749
archdaily.com/979082
architectmagazine.com
mymodernmet.com
designboom.com
kkaa.co.jp
nyctourism.com
centralparknyc.org
japan-guide.com
expo2020dubai.com
patrimoinedorient.org

 

Share :