CITY CRACKER

ร้อนจนทอดไข่ได้! แก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปกับ 7 นวัตกรรมแบบไทยๆ

เรื่องร้อนดูจะเป็นเรื่องธรรมดา แต่ความร้อนที่เราเผชิญดูจะไม่ธรรมดาขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุดมีรายงานว่าปีนี้หลายพื้นที่ในไทยมีอุณหภูมิโดดเกิน 40 องศา บางจังหวัดที่เคยขึ้นชื่อเรื่องความหนาวเย็น เช่น ลำปาง, เลย ไปจนถึงแม่ฮ่องสอนกลับอุณหภูมิพุ่งร้อนติด 10 อันดับของโลกไปแล้วเรียบร้อย

อากาศร้อนเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์คู่สังคมไทยมาอย่างยาวนาน ด้วยความที่เราร้อนกันแทบทุกฤดู ประกอบกับมักมีข้อสังเกตถึงลักษณะพิเศษแบบไทยๆ ว่าคนไทยเอาตัวรอดได้ด้วยความคิดสร้างสรรค์ ด้วยของใกล้ๆ ตัว ถ้าเรามองว่าการออกแบบคือการแก้ปัญหาผ่านข้อจำกัด วิธีแก้ร้อนแบบไทยๆ ก็ดูจะนับเป็นการออกแบบที่น่ารักและมีลักษณะเฉพาะตัวโดยเฉพาะในแง่ของความประหยัดและการใช้สิ่งของที่มีอยู่รอบๆ ตัว เพื่อให้เอาชีวิตรอดและเอาชนะความร้อนได้ การออกแบบแบบไทยๆ มักเจือไปด้วยอารมณ์ขัน มีความน่ารักน่าหยิก ประหยัด สะดวก และทำได้อย่างรวดเร็ว

แค่เปิดแอร์มันง่ายไป คนจริงต้องแก้ปัญหา สร้างความเย็นมาสู้ความร้อนด้วยตัวเอง City Cracker ชวนไปดูนวัตกรรมสู้ความร้อนแบบไทยๆ ว่าเมื่อเราเจออากาศร้อนๆ แบบนี้ เราจะแก้ปัญหาด้วยสิ่งประดิษฐ์ หรือวิธีการทำให้บ้านเย็นแบบไหนดี มีตั้งแต่การวางสปริงเกิลบนหลังคา ประดิษฐ์แอร์ตู้จากกล่อง ไปจนถึงการแก้บ้านร้อนด้วยต้นไม้

 

สปริงเกิลบนหลังคา


ด้วยความที่บ้านเราเป็นเมืองร้อนชื้น นานๆ มีฝนตกมาทีก็ชื่นใจ ทุกวันนี้ยังแห่นางแมวขอฝนกันอยู่ อย่ากระนั้นเลย เราก็จำลองฝนขึ้นมาด้วยเทคโนโลยีแบบบ้านๆ เช่น ระบบรดน้ำแบบสปริงเกิล เอามาติดบนหลังคาแล้วใช้น้ำรดเพื่อลดอุณหภูมิโดยรวมของบ้านซะเลย บางคนอาจชอบความเย็นฉ่ำของฝนมากกว่าความเย็นแห้งๆ แบบแอร์คอนดิชั่น วิธีนี้เหมาะกับบ้านที่มีบ่อน้ำสามารถหมุนเวียนน้ำขึ้นหลังคาได้ ถ้าใช้เป็นน้ำประปาคงหมดตัวไม่คุ้มเท่าไหร่

 

พัดลมอัพเกรด


พัดลมเป็นอุปกรณ์สู้ร้อนสำคัญของชาวไทย ไม่ว่าจะรวยหรือจนยังไงทุกบ้านก็ต้องมีพัดลมไว้ใกล้ตัว ในความร้อนระดับปกติ พัดลมพื้นฐาน ใบพัดกว้าง ส่ายได้ ตั้งเวลาได้เท่านั้นก็อาจเพียงพอ แต่บางทีขนาดลมจากพัดลมยังร้อนเลย ในขณะที่เรามีกันแค่พัดลม เราก็ทำให้ลมจากพัดลมเย็นขึ้นด้วยการเอาขวดน้ำแข็งเจาะรูถี่ๆ ไปติดตั้งไว้หลังพัดลม สำหรับวิธีนี้อาจจะต้องระวังเรื่องละอองน้ำกับเครื่องใช้ไฟฟ้าหน่อย

 

แอร์ D.I.Y.


แอร์ D.I.Y. เป็นพัดลมเวอร์ชั่นอัพเกรดที่มีการประดิษฐ์ซับซ้อนขึ้นกว่าแค่การเอาขวดไปติดหลังพัดลมเล็กน้อย หลักๆ ก็ใช้ความเย็นจากน้ำแข็งแต่มีการนำภาชนะมาใส่น้ำแข็งเพื่อให้อุณหภูมิในกล่องลดลงก่อนจะใช้พัดลมเพื่อเป่าเอาอากาศเย็นนั้นออกมาช่วยลดอุณหภูมิในห้อง วิธีนี้อาจจะดูยุ่งยากและใช้พื้นที่หน่อย แต่ก็แก้ปัญหาเรื่องน้ำหยดลงพื้นได้

 

แอร์มุ้ง


แอร์มุ้งเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่เอาแนวคิดเรื่องมุ้งมาประกอบกับแอร์ตัวเล็กๆ คือบ้านคนไทยอาจไม่ได้ปิดมิดชิดที่เหมาะจะติดตั้งแอร์ได้ทันที เช่นอาจเป็นบ้านไม้ อาจมีช่อง มีหน้าต่างมุ้งลวด แถมติดแอร์ทีอย่างน้อยก็ต้องใช้หลายหมื่นบีทียู เปิดทีก็หลายตัง อย่ากระนั้นเลย เราสร้างมุ้งมาจำกัดพื้นที่แอร์ พอใช้เป็นมุ้งแล้วแอร์ที่ใช้ก็เป็นแอร์ตัวเล็กๆ เคลื่อนที่ได้เปิดทีก็ไม่รู้สึกว่าเปลืองเงินมากนัก แถมเย็นเร็ว ติดตั้งและถอดประกอบง่าย ย้ายไปตั้งให้เย็นฉ่ำที่ไหนก็ได้

 

หมอกละอองน้ำ


สำหรับ D.I.Y นี้ เหมาะกับพื้นที่นอกบ้าน แนวคิดก็เหมือนเดิมคือเป็นการใช้น้ำเพื่อลดอุณหภูมิลง แต่คราวนี้ใช้ระบบหัวฉีดเพื่อฉีดละอองน้ำ เป็นการวางระบบฉีดน้ำง่ายๆ ใช้สายน้ำส่งน้ำประปาเข้าหัวฉีดฝอย เหมาะกับวันที่ร้อนมากๆ แล้วออกไปนั่งเล่นในสวนหลังบ้าน เปิดหมอกออกมาซะหน่อย การใช้น้ำรดเพื่อลดอุณหภูมิเป็นวิธีที่โดยทั่วไป เช่น ที่ญี่ปุ่นมีการราดน้ำลงบนถนนเพื่อช่วยให้ถนนเย็นลง ภายหลังเลยมีการออกแบบเมืองให้วางระบบพ่นไอน้ำไว้ตามท้องถนนเพื่อช่วยลดอุณหภูมิให้เมือง

 

ทำสวนบนหลังคา


วิธีนี้เหมาะกับบ้านสมัยใหม่ที่มีดาดฟ้า แนวคิดเรื่อง green roof เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่นักออกแบบใช้เพื่อลดอุณหภูมิให้กับตัวอาคาร หน้าที่ของสวนบนหลังคา ต้นไม้ พืช หรือแผงหญ้าเล็กๆ ทำหน้าที่ซับความร้อนจากดวงอาทิตย์และซึมซับน้ำทำให้อาคารเย็นลง ช่วยลดการใช้ไฟฟ้าลงได้

เถาไม้เลื้อย


หลังคาเขียวแล้ว พวกกำแพงขาวๆ ก็เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ของบ้านที่สะท้อนแดดหรือเก็บความร้อน การทำระแนงและปลูกไม้เลื้อยเพิ่มพื้นที่สีเขียวๆ ในบ้านนอกจากจะทำให้เราสบายตาสบายใจแล้ว ยังเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่ช่วยทำให้บ้านเย็นสบายขึ้นได้

หลังคาซ้อนหลังคา

หลังคาชั้นเดียวอาจไม่พอกันความร้อน อากาศร้อนๆ แดดแรงๆ แบบนี้ ก็สร้างหลังคาเพิ่มมันซะเลย เราไม่ได้แนะนำไปแบบเรื่อยเปื่อย เพราะเคยมีคนสร้างหลังคาแบบนี้แล้วกันความร้อนได้จริง ช่วยลดค่าไฟจากที่เคยสูงถึง 9,000 บาท เหลือเพียงแค่ 4,000 บาท

Illustration by Thitaporn Waiudomwut
Share :