CITY CRACKER

Thai Train Bento Box ข้าวกล่องรถไฟไทย

ฤดูหนาวมาเยือนแล้ว ช่วงปลายปีถือเป็นช่วงเวลาท่องเที่ยวสำคัญ อากาศที่เย็นลงบ้าง ฝนที่ตกจบสิ้นไปแล้ว ต้นไม้ผลิใบ วันหยุด และในช่วงนี้ที่บรรยากาศเหมาะกับการนั่งรถไฟ ทางการรถไฟได้มีเส้นทางการเดินทางทั้งระยะสั้น คือเป็นเส้นทางท่องเที่ยวใกล้ๆ เช่น ขบวนรถ Feeder ที่เชื่อมกับรถไฟฟ้าชานเมือง หรือมีเส้นทางเฉพาะ เช่น รถไฟลอยน้ำให้เราได้ออกไปชมบรรยากาศนอกเมือง

การท่องเที่ยวทางรถไฟ รวมถึงโครงข่ายการเดินทางระบบรางที่ทั่วถึงและมีคุณภาพทำให้เกิดการกระจายตัวทางเศรษฐกิจ ขยายแหล่งและกิจกรรมการท่องเที่ยวได้ ตัวอย่างสำคัญ เช่น ญี่ปุ่น ทำให้เราสามารถเดินทางได้อย่างอิสระขึ้น ปลอดภัยขึ้น โดยนอกจากตัวการเดินทางแล้วยังเกิดเป็นวัฒนธรรม สินค้าที่เป็นเอกลักษณ์ รวมถึงอาหารการกินระหว่างการเดินทาง ญี่ปุ่นเองก็มีข้าวกล่องรถไฟที่กลายเป็นจุดขายและเป็นสิ่งหนึ่งที่ผู้คนรับประทานในการเดินทางทั่วไป หรือนักท่องเที่ยวที่รักรถไฟก็อาจวางแผนไปเดินทางและชิมข้าวกล่องรถไฟอันเป็นของดีท้องถิ่นที่กระจายตัวตามระบบรางที่แผ่ไปทั่วประเทศ

ในส่วนของรถไฟไทย ด้านหนึ่งเราเองก็มีวัฒนธรรมอาหารเฉพาะที่เกิดขึ้นจากวัฒนธรรมอาหารการกินท้องถิ่น บางส่วนเกิดขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการในการเดินทางนั้นๆ เมื่อพูดถึงรถไฟไทย เราก็อาจมีภาพอาหารหลายประเภทผุดขึ้นมา ไม่ว่าจะ ไก่ย่าง ข้าวหลาม หรือกระทั้งข้าวผัดรถไฟล้วนเป็นวัฒนธรรมอาหารอันชาญฉลาด รสชาติดี เน่าเสียยาก รับประทานง่าย ดังนั้นแล้ว ถ้าเราเองมีการเดินทางด้วยรถไฟและโครงข่ายระบบรางที่มีประสิทธิภาพ เราเองก็อาจจะมีข้าวกล่องรถไฟที่มีความซับซ้อน บอกเล่าเรื่องราวของอาหารและวัตถุดิบท้องถิ่นได้มากขึ้น

City Cracker ชวนนึกภาพข้าวกล่องรถไฟไทย ว่าถ้าเราเองมีข้าวกล่องรถไฟแบบที่ญี่ปุ่นมีชื่อเสียงนั้น เราอาจนำจุดเด่นและบริบทอาหารการกินเฉพาะเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการเดินทาง และเป็นส่วนหนึ่งของอัตลักษณ์ท้องถิ่นได้ด้วย

 

Thai Train Bento

รถไฟไทยมีเอกลักษณ์และได้เกิดวัฒนธรรมอาหารตามระบบรางของเราขึ้นมา อาหารจึงสัมพันธ์กับบริบทของการใช้งานรถไฟ เป็นส่วนหนึ่งของการเดินทาง เป็นอาหารแบบที่พ่อค้าแม่ค้าจะทำและนำขึ้นมาขายในช่วงหยุดพัก ปัจจุบันอาหารหาบขึ้นรถไฟถูกห้ามและเลิกขายไปแล้ว แต่ก่อนเมื่อเราคิดถึงการนั่งรถไฟ เราก็จะเห็นภาพอาหารบางอย่างที่จะได้ทานขณะนั่งรถไฟ เช่น ภาพของไก่ย่าง ที่บางพื้นที่กลายเป็นเมนูขึ้นชื่อและขายไปทั่วประเทศ เช่น ไก่ย่างบางตาล

อาหารหาบเร่ส่วนใหญ่จะเป็นอาหารที่รับประทานง่าย เน้นอิ่มท้อง เป็นรสชาติที่ถูกปากคนทุกเพศทุกวัย ข้าวกล่องรถไฟจึงเก็บเอาลักษณะเฉพาะของอาหารริมทางรถไฟไว้

นอกจากเมนูรับประทานง่าย ราคาไม่แพงแล้ว อาหารในวัฒนธรรมรถไฟยังมีเมนูสำคัญคือข้าวผัดรถไฟ เป็นเมนูที่บางตำนานระบุบว่าเกิดจากยุคที่รถไฟเป็นเส้นทางหย่อนใจของชนชั้นสูง คือปลายทางหัวหิน การนั่งรถไฟเป็นเวลา 5 ชั่วโมง จึงมีการจัดตู้สเบียงแบบต่างประเทศ ข้าวผัดรถไฟในยุคแรกเป็นการรวมวัตถุดิบพิเศษที่เข้ามาจากต่างประเทศ สัมพันธ์กับกิจการรถไฟที่มีความเป็นตะวันตก ข้าวในยุคแรกจึงผัดใส่เนย กุนเชียง ซอสมะเขือเทศ และถั่วลันเตา

ต่อมาเมื่อกลายเป็นการเดินทางของสามัญชน ข้าวผัดรถไฟจึงค่อยๆ ปรับสูตรให้เรียบง่ายขึ้น มีการปรับวัตถุดิบและปรากฏเป็นสองสูตรใหญ่ๆ คือข้าวผัดรถไฟสีชมพู และข้าวผัดรถไฟสีน้ำตาล สีชมพูเป็นการปรับที่น่าจะอ้างอิงกับข้าวผัดซอส แต่เปลี่ยนตัวซอสเป็นทำนองซอสเย็นตาโฟ ปรุงง่ายด้วยแป้งเปียก เต้าหู้ยี้ และน้ำส้มสายชูมาคนเป็นซอส ส่วนสีน้ำตาลเป็นข้าวผัดใส่ซีอิ้ว นอกจากนี้พ่อค้าแม่ค้า บนรถไฟยังนิยมหิ้วของจำพวก กระจับต้ม ไข่ต้ม น้ำแข็งเปล่า และขนมปังไส้สังขยามาขายด้วย

 

Feeder Box (กรุงเทพฯ-นครปฐม)

ปัจจุบันการรถไฟมีขบวนรถไฟชานเมือง คือสายสีแดงเป็นสายสำคัญที่ตัดพื้นที่กรุงเทพฯ จากฝั่งตลิ่งชันถึงฟากรังสิต และเชื่อมเข้าสู่สถานีกลางบางซื่อ นอกจากเส้นทางเชื่อมชานเมืองแล้ว ล่าสุดทางการรถไฟยังจัดโครงข่ายรอบนอกหรือ feeder train คือเป็นรถไฟรางที่วิ่งเชื่อมจากโครงข่ายสายสีแดงสู่พื้นที่สำคัญรอบๆ ซึ่งหนึ่งในเส้นทางที่คนกรุงเทพฯ อาจได้ใช้ได้ในช่วงนี้คือเส้นทางเชื่อมไปยังนครปฐม ซึ่งใช้เวลาไม่นานมากและลงที่หน้าองค์พระปฐมเจดีย์ได้เลย ระหว่างทางถ้ารถไฟมีบริการข้าวกล่องก็อาจจะเน้นเป็นอาหารรองท้องง่ายๆ ทั้งขาไปและขากลับ เช่น ข้าวราดแกงที่ใส่กระทง เมนูที่มีขายที่สถานีรถไฟ ของขึ้นชื่อของสถานีนครปฐม เช่น ข้าวเหนียวหน้าหมูหวานแผ่น ซึ่งสัมพันธ์กับการเป็นแหล่งเลี้ยงสุกรสำคัญ

ข้าวกล่องของเส้นทางนี้อาจใช้ลักษณะการทำข้าวหลามเพื่อเป็นอาหารที่สัมพันธ์กับเส้นทางรถไฟ คือสันนิษฐานว่าสัมพันธ์กับผู้คนที่อพยพบริเวณชุมชนพระงาม โดยเลือกเส้นทางรถเนื่องจากคาดว่าจะเป็นพื้นที่มีความเจริญมาถึงพร้อมรางรถไฟ ชุมชนในสมัยนั้นประกอบอาชีพทำนา ในช่วงเทศกาลจึงมีการทำข้าวหลามในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม ต่อมาข้าวหลามกลายเป็นสินค้าประจำ มีการทำขายและกลายเป็นของฝากสำคัญ โดยวิธีการทำแบบข้าวหลาม คือการนำข้าวไปทำให้สุกในกระบอกไม้ไผ่เป็นทั้งการปรุงอาหาร รับประทานง่ายและมีรสชาติเข้มข้นทั้งจากกะทิถั่ว ทำให้อาหารสามารถพกพาได้และเน่าเสียยากขึ้น การ ‘หลาม’ จึงอาจเป็นองค์ประกอบของข้าวกล่องในเส้นทางรถสายท่องเที่ยวระยะสั้น หรือนำเป็นของฝากก็ได้

 

Water-7 Box (รถไฟลอยน้ำ กรุงเทพฯ- เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์)

สำหรับรถไฟสายท่องเที่ยว ล่าสุดทางการรถไฟไทยมีสายสำคัญที่กำลังเป็นกระแสคือรถไฟลอยน้ำ เป็นรถไฟที่วิ่งในเขื่อนป่าสักฯ โดยมีจุดเด่นที่บรรยากาศของการได้นั่งรถไฟไปบนผิวน้ำ ท่ามกลางธรรมชาติ โดยเส้นทางนี้ทางการรถไฟเปิดให้ซื้อตั๋วและเดินทางได้ในวันที่ 5 พฤศจิกายน – 29 มกราคม เปิดวิ่งเฉพาะวันเสาร์และอาทิตย์เท่านั้น เส้นทางรถไฟสายพิเศษคือขบวน 921 (ขาไป) และขบวน 926 (ขากลับ) เริ่มบริการจากสถานีหัวลำโพง เวลา 6.00 น. ถึงเขื่อนประมาณ 10.35 น. เส้นทางประกอบด้วยการแวะรับตามสถานีต่างๆ มีการแวะพักชมวิวและไปยังศูนย์จำหน่ายสินค้า ขากลับออกเดินทางเวลา 15.30 น. ราคาตั๋วมีหลายชั้นและหลายเส้นทาง ไปกลับจากกรุงเทพฯ ชั้นสามราคา 330 บาท เส้นทางจะผ่านอยุธยา สระบุรี แก่งคอย

ข้าวกล่องของเส้นทางท่องเที่ยวนี้จึงอาจรวมเอาอาหารสำคัญตามเส้นทาง เช่น โรตีสายไหม ที่สัมพันธ์กับวัฒนธรรมชาวมุสลิมในอยุธยาที่มีการทำโรตีและดึงสายไหมจนกลายเป็นขนมขึ้นชื่อ กุ้งเผา เนื้อวัวปิ้งเสียบไม้ กะหรี่พัฟของสระบุรี โดยบางส่วนอาจเชื่อมโยงบริบทอาหารเขื่อนและแม่น้ำเข้าไว้ด้วยกัน เช่น อาหารจากปลาน้ำจืด ทั้งปลาลวก แกงป่า หรือต้มยำปลา

 

Go North Box (กรุงเทพ​ฯ-เชียงใหม่)

การนั่งหรือนอนในรถไฟระยะทางไกลๆ เป็นอีกหนึ่งวิธีการเดินทางและเสน่ห์พิเศษอย่างหนึ่ง ปัจจุบันทางการรถไฟไทยเปิดตัวรถด่วนตู้นอนเป็นรถไฟรุ่นใหม่โดยมีเส้นทางบริการเป็นรถไฟทางไกล 4 เส้นทางจากกรุงเทพ เส้นทางสายเหนือประกอบด้วยปลายทางเชียงใหม่ อีสานสองเส้นทางคือปลายทางอุบลราชธานีและหนองคาย และใต้คือปลายทางหาดใหญ่ แน่นอนว่าการนอนรถไฟไปเชียงใหม่เป็นอีกหนึ่งเส้นทางยอดฮิต ส่วนใหญ่อาหารที่บริการบนรถมักจะเป็นอาหารที่ไม่เฉพาะเจาะจง ด้านหนึ่งถ้าออกแบบด้วยวิธีคิดแบบญี่ปุ่นที่เส้นทางเหล่านี้ อาหารกล่องก็มักจะสะท้อนเส้นทางหรือการใช้วัตุดิบหรือวัฒนธรรมอาหารของท้องถิ่นเข้ามาไว้ในกล่อง

อาหารตามเส้นทางสายเหนือประกอบด้วยอาหารเรียบง่าย เช่น ผัดไทยห่อใบตองศิลาอาสน์ ไอติมกะทิที่ชุมทางภาชี ไอติมที่เร่ขายในแก้วสีขาวและชมพูช่วยดับร้อนได้ หรือ ข้าวต้มเป็ดโบราณที่เหมาะกับการรับประทานช่วงเช้า

อาหารตามเส้นทางสายเหนือประกอบด้วยอาหารเรียบง่ายเช่นผัดไทยห่อใบตองศิลาอาสน์ ไอสครีมกะทิที่ชุมทางภาชี ไอติมที่เร่ขายในแก้วสีขาวและชมพูช่วยดับร้อนได้ ข้าวต้มเป็ดโบราณที่เหมาะกับการรับประทานช่วงเช้า ด้วยเส้นทางบางช่วงรถไฟจะวิ่งผ่านจังหวัดสำคัญของภาคเหนือโดยอาหารทางเหนือมีลักษณะสอดคล้องกับการพกไปรับประทาน เช่น ข้าวกันจิ้น ข้าวหุงด้วยเลือดห่อด้วยใบตอง ไข่ป่าม ลาบคั่ว หรือน้ำพริกข่าที่เป็นน้ำพริกแห้งๆ พกพาง่าย นอกจากนี้เราอาจใส่กล้วยตากจากจังหวัดพิษณุโลกเข้าไปรับประทานคู่กับไอสครีมด้วยได้

 

Hatyai Bento (กรุงเทพฯ​-หาดใหญ่)

ข้าวกล่องเส้นทางสุดท้ายที่ City Cracker ชวนเสนอคือข้าวกล่องสายใต้ ที่เราเลือกรถไฟสายกรุงเทพฯ-หาดใหญ่เป็นปลายทาง เมืองหาดใหญ่ถือเป็นเมืองสำคัญที่เติบโตสัมพันธ์จากการขยายของทางรถไฟ เดิมทีก่อนมีชุมทางรถไฟ พื้นของหาดใหญ่เป็นชุมชนที่หนาแน่นเรียกรวมสองพื้นที่ว่าหมู่บ้านโคกเสม็ดชุนและบ้านหาดใหญ่ ข้าวกล่องเส้นทางรถไฟสู่หาดใหญ่จึงเน้นเก็บประวัติศาสตร์ผ่านวัฒนธรรมอาหารที่สะท้อนอยู่ที่ชุมทาง

อาหารขึ้นชื่อของหาดใหญ่คือไก่ทอด วัฒนธรรมอาหารของหาดใหญ่สัมพันธ์กับวัฒนธรรมรถไฟ เป็นการรวมวัฒนธรรมสามชนชาติเข้าไว้ด้วยกัน โดยนับย้อนตั้งแต่ ขุนจีนนิพัทธ์อุทิศ ชาวจีนที่เป็นผู้บุกเบิกกิจการรถไฟในหาดใหญ่ ต่อเนื่องมาจนวัฒนธรรมหาดใหญ่ในปัจจุบันสัมพันธ์กับวัฒนธรรมจีน จากแรงงานที่บุกป่าฝ่าดงสร้างทางรถไฟ วัฒนธรรมอาหารท้องถิ่นของไทยและอิทธิพลอาหารมุสลิม ดังนั้นอาหารสำคัญ อย่างไก่ทอดหาดใหญ่จึงเป็นส่วนผสมของอาหารสามชาติ ด้วยวิธีการทอดแบบจีน ไก่และหอมทอดแห้งเป็นวัฒนธรรมอาหารมุสลิมและข้าวเหนียวที่พกพาง่ายเป็นการกินแบบไทย ทั้งหมดนั้นจึงได้เป็นอาหารท้องถิ่นที่กินง่าย ให้พลังงานสูง ราคาไม่แพงและมีรสชาติเป็นเอกลักษณ์

ในอาหารกล่องรถไฟสายหาดใหญ่จึงขาดกลิ่นอายของวัฒนธรรมอาหารสามชาติโดยเฉพาะไก่ทอดหอมเจียวและข้าวเหนียวไม่ได้ นอกจากนี้หาดใหญ่เป็นเมืองทะเลจึงอุดมสมบูรณ์ไปด้วยปลา ของขึ้นชื่อคือปลากะพงคือปลากะพงทอดขมิ้น รากฐานหนึ่งของวัฒนธรรมอาหารหาดใหญ่คือความประหยัดคุ้มค่า ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ของการก่อร่างสร้างตัว เป็นแหล่งค้าขายและประมงจากการก่อตัวขึ้นของการรถไฟ ดังนั้น อาหารส่วนใหญ่จะมีการใช้วัตถุดิบและประยุกต์เข้ากับตำรับอาหารอื่นๆ เช่น มีการใช้เศษกุ้งเศษปลาและปรุงเข้าเป็นเมนูใหม่ที่มีความผสมผสานระหว่างความเป็นจีนและอาหารท้องถิ่น กลายเป็นลูกชิ้น เช่น ลูกชิ้นกุ้งใช้พริกไทยดับคาว เป็นน้ำยาขนมจีน ในกล่องเราอาจจะใส่เส้นหมี่คลุกเต้าคั่วใส่ลูกชิ้นกุ้งทอด มีติ่มซำอันเป็นของขึ้นชื่อและอาหารลูกผสมจากวัฒนธรรมแบบจีน อาหารกล่องของหาดใหญ่จะบรรจุเรื่องราวการเติบโตทั้งของเส้นทางรถไฟ การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และวัฒนธรรมอาหารที่มีความเผ็ดร้อน คุ้มค่ารับประทานง่ายและมีรสชาติอร่อย

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

thaipost.net

sites.google.com/site/khawhlamcom/rupphaph-teddy-bear

travel.kapook.com

finalprojack5801727.blogspot.com

keangun.com

silpa-mag.com

 

Illustration by Montree Sommut
Share :