CITY CRACKER

แนวทางสร้างและจัดการพื้นที่สาธารณะสีเขียวขนาดเล็กอย่างยั่งยืน

ในเมืองที่มีปัญหาและความท้าทายในการใช้ชีวิตมากมาย ทั้งภัยพิบัติน้ำท่วม มลพิษทางอากาศ ฝุ่นควันขนาดเล็ก เกาะความร้อนและอุณหภูมิที่สูงขึ้น ปัญหาเหล่านี้ทวีความรุนแรงขึ้นจากหนึ่งปัจจัยร่วมกัน นั่นคือการขาดแคลนพื้นที่สีเขียวในเมือง 

ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา โครงการ we!park ได้ทำงานอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างทางเลือกใหม่สำหรับการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเขตกรุงเทพมหานคร โดยใช้วิธีการพัฒนาที่ดินทิ้งร้างที่ไม่ถูกใช้ประโยชน์ให้เป็นพื้นที่สาธารณะสีเขียวขนาดเล็กอย่างมีส่วนร่วม เพื่อรับมือกับความท้าทายร่วมที่ทุกคนในเมืองกำลังเผชิญร่วมกัน เช่น ปัญหาพื้นที่รกร้างและสถานที่อโคจรที่เพิ่มขึ้นจากการพัฒนาเมืองอย่างไม่เป็นระบบ ทำให้ชุมชนไม่น่าอยู่ หรือ ปัญหาคนในเมืองป่วยเป็นโรคกลุ่ม NCDs ซึ่งเป็นโรคไม่ติดต่อที่เกิดจากพฤติกรรมและสามารถลดความเสี่ยงได้จากการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ 

วิธีการดำเนินงานของ we!park คือการเข้าไปร่วมทำงานกับกระบวนการสร้างสวนสาธารณะของเมือง จากเดิมที่จัดหาที่ดินโดยรัฐ ก่อสร้างโดยรัฐ และบริหารจัดการโดยรัฐ we!park ก็จะเพิ่มเสียงและความคิดเห็นของคนหลายๆ ฝ่ายลงไปในแต่ละขั้นตอน ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมที่หลากหลาย โดยมีตัวอย่างเป็นสวนที่ก่อสร้างเสร็จแล้วอย่างสวนวัดหัวลำโพงรุกขนิเวศน์ ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่องของโครงการที่ทีมงานได้เข้ามามีส่วนในการพัฒนาตั้งแต่ที่ดินยังเป็นที่ทิ้งร้างว่างเปล่าในซอยข้างวัดหัวลำโพง และพึ่งจะเปิดสวนอย่างเป็นทางการให้ทุกคนเข้าไปใช้พื้นที่ได้ในช่วงท้ายเดือนกันยายนที่ผ่านมา และกำลังจะเข้าสู่กระบวนการวางแนวทางบริหารจัดการพื้นที่สวนร่วมกับคนในชุมชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

การที่เมืองมีสวนที่สร้างจากการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนนั้นเป็นกรณีศึกษาที่สำคัญ และเป็นเรื่องน่ายินดี แต่สิ่งที่ทีมงานตระหนักได้หลังจากการทบทวนการทำงานตลอด 1 ปีนั่นคือ แม้จะสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาได้แล้ว แต่แนวทางของสวนแบบเดิมนั้นไม่ได้ถูกออกแบบมาให้รับมือกับความท้าทายในอนาคตได้อย่างยั่งยืน แม้จะสามารถสร้าง Pocket Park ได้สำเร็จ แต่วันหนึ่งสวนแห่งนี้ก็อาจจะเสื่อมโทรมลงไปหากไม่มีเงินทุนสำหรับบริหารจัดการและทำนุบำรุงสภาพพื้นที่อย่างต่อเนื่อง

นี่จึงเป็นที่มาของการจัดกิจกรรม FINDING POCKET PARK CITYWIDE WORKSHOP COMPETITION กิจกรรมเชิงปฏิบัติการเพื่อตามหาไอเดียการพัฒนาและบริหารจัดการสวนสาธารณะขนาดเล็กอย่างยั่งยืน ซึ่งเปิดรับแผนพัฒนาที่ดินทิ้งร้างในเขตกรุงเทพฯ ชั้นใน 8 โครงการ มาพัฒนาร่วมกับผู้เชี่ยวชาญเพื่อคิดค้นรูปแบบการใช้งานใหม่ๆ แนวทางการบริหารจัดการใหม่ๆ ของพื้นที่ ซึ่งจะทำให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เกิดรายได้หมุนเวียนในชุมชนเพื่อเป็นทุนในการดูแลพื้นที่สาธารณะสีเขียวด้วยตัวเองอย่างยั่งยืน โดยนอกจากกระบวนการพัฒนาโครงการของผู้เข้าร่วมกิจกรรมแล้ว ยังมีการจัด Public Lecture Series (Online Lecture) เลคเชอร์ที่จะชวนผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ 4 ท่าน มาบรรยายถึงแนวทางในการดำเนินงานที่น่าสนใจ และแลกเปลี่ยนกรณีศึกษาด้านการสร้างเมืองสีเขียวร่วมกับผู้ร่วมกิจกรรมทุกคน

บทบาทความเป็นอยู่ของชุมชนต่อพื้นที่สาธารณะ

ม.ล.จิรทิพย์ เทวกุล สถาปนิกศูนย์บริการวิจัยและออกแบบมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และคณะทำงานเครือข่ายยังธน คือผู้เชี่ยวชาญคนแรกที่มาร่วมแลกเปลี่ยนกับผู้เข้าร่วมกิจกรรมในด้านความสัมพันธ์ระหว่างการพัฒนาพื้นที่สาธารณะสีเขียวกับชุมชน คุณจิรทิพย์ ได้เริ่มการบรรยายด้วยการนำเสนอกรณีศึกษาพื้นที่สาธารณะสองแห่ง นั่นคือ สวนสาธารณะป้อมมหากาฬ กับ ลานปนยิ้ม ชุมชนวัดโพธิ์เรียง 

พื้นที่สวนสาธารณะป้อมมหากาฬนั้น เดิมทีเป็นชุมชนในเขตเมืองเก่า เป็นหมู่บ้านที่มีรูปแบบวัฒนธรรมที่มีคุณค่าในตัวเอง ภายหลังแผนการเวนคืนที่ดินตามแผนพัฒนากรุงเก่า พื้นที่ชุมชนก็ถูกเปลี่ยนเป็นสวนสาธารณะที่มีทุ่งดอกไม้ขนาดกว่า 4 ไร่ แม้เมืองจะมีลานสนามหญ้าและทุ่งดอกไม้เพิ่มขึ้น เป็นสวนสาธารณะที่เรียบร้อย เป็นระเบียบ แต่สิ่งที่จากไปแบบไม่อาจหวนกลับคือความมีชีวิตชีวาของพื้นที่ ซึ่งเกิดจากการมีปฏิสัมพันธ์กันของผู้คนที่หลากหลาย 

ในขณะที่ลานปนยิ้ม ชุมชนวัดโพธิ์เรียงนั้นมีเรื่องราวที่ต่างออกไป ตัวพื้นที่ลานปนยิ้มนั้นเป็นลานโล่งๆ ของชุมชนแออัดที่ในอดีตขึ้นชื่อเรื่องการเป็นพื้นที่ขนส่งยาเสพติด การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเมื่อผู้นำชุมชนและเครือข่ายพยายามชักชวนลูกหลานของตัวเอง ชวนเด็กๆ ในชุมชนออกมาทำกิจกรรมร่วมกันในพื้นที่สาธารณะของชุมชน มีการร่วมกันทาสีกำแพง วาดรูปที่ตนเองชอบบนถนนหนทางของชุมชน ลานโล่งอย่างลานปนยิ้มก็กลายเป็นจุดรวมตัวของคนในชุมชนในการจัดกิจกรรมต่างๆ มีการปรับปรุงพื้นที่สาธารณะในชุมชนใหม่ ทำให้พื้นที่สว่างขึ้น จนยาเสพติดในพื้นที่ค่อยๆ หายไปเอง 

คุณจิรทิพย์ยกคำกล่าวของ Jane Jacobs มาอธิบายว่า พื้นที่สาธารณะนั้นเป็นพื้นที่เพื่อรองรับการทำกิจกรรมร่วมกันของผู้คน กิจกรรมเชิงบวกเหล่านี้คือการสร้างละแวกบ้านที่ดี ผู้คนจะรู้สึกสนิทใจ สบายใจ รู้สึกผูกพันต่อเพื่อนบ้านเมื่อได้ทำกิจกรรมร่วมกัน สิ่งนี้เองที่ช่วยเพิ่มคุณค่าให้กับพื้นที่สาธารณะ แน่นอนว่าเมื่อผู้คนรู้สึกสนิทใจกับพื้นที่ คนก็จะเข้าไปใช้งานพื้นที่มากขึ้น รู้สึกเป็นเจ้าของ และอยากช่วยดูแลรักษาพื้นที่มากขึ้นด้วย 

แล้วเราจะสร้างพื้นที่สาธารณะที่ทำให้คนในชุมชนรู้สึกสนิทใจได้อย่างไร คำตอบนั้นคือ Citizen Paricipatory ซึ่งหมายถึงการให้กลุ่มภาคประชาชนอย่างคนในชุมชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการพัฒนา มี 4 ขั้นตอนหลักๆ ด้วยกัน คือ การทำความเข้าใจพื้นที่ การสังเคราะห์ปัญหาและศักยภาพ การออกแบบวิธีการแก้ปัญหา การทดลองและประเมินผล ซึ่งในแต่ละขั้นตอนก็เลือกทำได้หลายแบบ เช่น อาจใช้วิธี Co-Creation ที่ทำงานร่วมกับชุมชนเป็นทีมเดียวกันเลย ใช้วิธี Brainstorming ระดมความคิดร่วมกันกับชุมชนแล้วเรานำเอาความคิดเหล่านั้นมาทำงานต่อ หรืออาจใช้วิธีการสัมภาษณ์เพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงลึกบางอย่าง หรือแม้แต่จะจัดเวที Debate ให้แต่ละคนนำเสนอไอเดียและวิเคราะห์ข้อเด่นข้อด้อยร่วมกันในเวทีสาธารณะก็ได้ สิ่งสำคัญที่ต้องไม่ลืมคือ เรากำลังออกแบบพื้นที่สาธารณะเพื่อสร้างละแวกบ้านที่ดีให้กับชุมชนนั่นเอง

การออกแบบพื้นที่สาธารณะในเมืองและการใช้งาน

คุณกิรินทร์ ตั้งเลิศปัญญา กรรมการผู้จัดการบริษัท Shma Soen คือผู้เชี่ยวชาญคนที่สองที่จะมาร่วมแลกเปลี่ยนในด้านการออกแบบพื้นที่ให้เหมาะสมกับการใช้งาน คุณกิรินทร์หยิบยกโครงการก่อสร้าง ลานกีฬาพัฒน์ 1 ชุมชนเคหะคลองจั่น ซึ่งตัวเขาเป็นผู้ออกแบบมาเล่าสู่กันฟังในฐานะกรณีศึกษา

โครงการลานกีฬาพัฒน์ 1 ชุมชนเคหะคลองจั่นนั้นต้องการสร้างพื้นที่กลางของชุมชนบนที่ดินทิ้งร้างติดคลอง หลังแฟลตคลองจั่น รูปแบบการใช้งานหลักจะเป็นลานกีฬา 9 ประเภทเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงทางร่างกาย ส่วนการมีลานกิจกรรมที่ทำให้คนในพื้นที่สามารถมาทำกิจกรรมร่วมกันได้ ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงทางใจของคนในพื้นที่ในบริบทภาพใหญ่ ที่ดินที่จะนำมาสร้างลานกีฬานั้นอยู่ติดกับแฟลตที่มีผู้อยู่อาศัยหนาแน่น อีกฝั่งหนึ่งติดกับคลอง และมีทางเชื่อมที่สามารถข้ามคลองไปอีกฝั่งได้ ทำให้บริเวณนี้มีศักยภาพที่จะกลายเป็นทางเชื่อมระหว่างสวนสองแห่งในย่านนี้ คือ สวนนวมินทร์ภิรมย์ที่มีผู้คนมาเดินและวิ่งออกกำลังกายกันเป็นปกติ กับ สวนพฤกษศาสตร์คลองจั่นที่เหมาะสำหรับการนั่งพักผ่อนทั่วไป พื้นที่นี้จึงเหมาะสมกับการทำเป็นลานกีฬาของย่าน ซึ่งเป็นรูปแบบกิจกรรมที่สวนทั้งสองแห่งที่มีอยู่เดิมนั้นไม่ค่อยตอบโจทย์นั่นเอง

สิ่งที่น่าสนใจคือ เมื่อมีการทำกระบวนการรับฟังความคิดเห็นร่วมกับคนในพื้นที่ ก็พบว่า คนส่วนมากในพื้นที่นี้นั้นเป็นผู้สูงอายุ และพวกเขาก็ต้องการพื้นที่สำหรับเล่นกีฬาที่ไม่ได้มีบรรจุอยู่ในกีฬามาตรฐานของสวนสาธารณะ เช่น กีฬาโยนห่วง กีฬาซับเบิ้ลบอร์ด กีฬาปาเป้า และกีฬาโบว์ลิ่ง เป็นต้น คุณกิรินทร์จึงได้เปลี่ยนแบบใหม่โดยมีการเพิ่มพื้นที่สำหรับการทำกิจกรรมสำหรับผู้สูงอายุลงไป แล้วจัดเรียงแบ่งประเภทกีฬากลุ่ม Active ที่มีการเคลื่อนไหวร่างกายมากๆ กับกีฬากลุ่ม Passive ที่มีการเคลื่อนไหวร่างกายน้อยกว่าออกจากกัน จับกลุ่ม และจัดวางลงในพื้นที่สวนให้ไม่รบกวนกันและกัน ภายใต้แนวคิด สวนชานบ้าน ซึ่งต้องการให้ลานแห่งนี้เป็นเหมือนห้องรับแขกของชุมชน เป็นชานบ้านที่นั่งคุยกันได้อย่างเป็นกันเอง ม้านั่งในสวนจึงออกแบบให้เป็นม้านั่งยาว โค้งไปตามแนวการแบ่งพื้นที่ของสวน 

อีกหนึ่งสิ่งที่เป็นกรณีศึกษาที่ดีของลานกีฬาแห่งนี้คือ ในปีแรกหลังก่อสร้างเสร็จ ทีมงานจากสถาบันอาศรมศิลป์ซึ่งเป็นผู้ทำกระบวนการมีส่วนร่วมนั้นอยู่ช่วยคนในพื้นที่ในการบริหารจัดการต่างๆ มีการชวนเด็กๆ ในโรงเรียนใกล้เคียงมาแต่งเติมพื้นที่ มีการเขียนขอทุนและทำโครงการกิจกรรมต่างๆ ในพื้นที่ลานกีฬา ทั้งงานปีใหม่ งานวันเด็ก งานวันสงกรานต์ ทำให้สวนมีคนมาใช้งานอย่างสม่ำเสมอ มีชีวิตชีวา ส่วนในปีถัดมา ทีมงานอาศรมศิลป์ก็ถอยออกมาให้คำปรึกษาแทน และให้คนในชุมชนบริหารจัดการและทำกิจกรรมกันเอง ซึ่งหลังจากเห็นตัวอย่างจากผู้เชี่ยวชาญในปีแรกไป คนในชุมชนก็สามารถจัดการสวนของตัวเองได้เป็นอย่างดี ซึ่งก็เป็นผลมาจากการออกแบบได้ตอบโจทย์การใช้งาน สามารถรองรับความต้องการของผู้คนได้นั่นเอง

หลักการวางแผนธุรกิจเพื่อการดูแล และดำเนินการอย่างยั่งยืน

คุณเอด้า จิรไพศาลกุล กรรมการผู้จัดการ เทใจดอทคอม คือผู้เชี่ยวชาญคนที่สาม ในหัวข้อด้านการวางแผนธุรกิจซึ่งเป็นความท้าทายใหญ่ของพื้นที่แบบสวนสาธารณะในทุกวันนี้ โดยคุณเอด้าจะมุ่งเน้นไปที่การบริหารจัดการเงินและ Business Model ในการทำสวนที่น่าสนใจ คุณเอด้าเริ่มต้นอธิบายว่าค่าใช้จ่ายหลักๆ ในการสร้างสวนสาธารณะนั้นมีสองก้อน นั่นคือ ค่าใช้จ่ายสำหรับก่อสร้างสวน (Capital Cost) เงินก้อนใหญ่ที่ต้องจ่ายในตอนแรก และค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการสวน (Operating Cost) ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการดูแลสถานที่ที่ต้องจ่ายต่อเนื่องทุกปี

ทำสวนสาธารณะ เงินจะมาจากที่ไหน คุณเอด้าได้แบ่งหมวดหมู่เท่าที่เห็นจากกรณีศึกษาในสวนต่างๆ ทั่วโลก แบ่งที่มาของเงินทุนได้เป็น 3 ช่องทาง คือ

1. เงินจากภาครัฐ

เงินจากภาครัฐน่าจะเป็นช่องทางที่พื้นฐานที่สุด และเป็นช่องทางหลักสำหรับสวนสาธารณะในประเทศไทยที่ทุกคนน่าจะคุ้นเคยกันดี แต่เมื่อลองมองให้ดี เงินจากภาครัฐนี้ก็แบ่งแยกย่อยได้อีกเช่นกัน เช่น งบประมาณท้องถิ่นประจำปี ซึ่งจะมีการจัดสรรเงินส่วนหนึ่งไว้ใช้สร้างและดูแลสวนสาธารณะ ถ้าเป็นกรุงเทพฯ ก็จะเป็นสํานักงานสวนสาธารณะ สังกัดสํานักสิ่งแวดล้อม ส่วนถ้าเป็นจังหวัดอื่นๆ ก็อาจจะถูกจัดสรรโดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดหรือองค์การบริหารส่วนตำบล เงินประเภทนี้จะเป็นเงินก้อนใหญ่ของหน่วยงานเดียว 

ในขณะที่ปัจจุบันมีรูปแบบการจัดสรรเงินร่วมกันโดยภาครัฐหลากหลายหน่วยงานมากขึ้น โดยตัวอย่างดังกล่าวก็คือ สวนวัดหัวลำโพงรุกขนิเวศน์ที่ we!park เข้าไปร่วมพัฒนานี่เอง โดยสวนแห่งนี้ได้รับเงินสนับสนุนทั้งจากกทม. และองค์กรกึ่งรัฐอื่นๆ เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ด้วย จึงนำไปสู่ความเป็นไปได้ที่ว่า โครงการของเราอาจสามารถขอรับเงินสนับสนุนจากองค์กรภาครัฐอื่นๆ นอกเหนือจากหน่วยงานเรื่องสวนสาธารณะได้ หากโครงการของเรามีส่วนเกี่ยวข้องและสามารถตอบโจทย์องค์กรของเขาได้ ซึ่งคุณเอด้าได้ยกตัวอย่างเป็นการสร้างสวนเพื่อเป็นพื้นที่เรียนรู้หรือห้องเรียนกลางแจ้งเพื่อขอการสนับสนุนจากหน่วยงานด้านการศึกษา หรืออาจจะเป็นสวนเพื่อบำบัดอาการป่วยต่างๆ แล้วขอการสนับสนุนจากหน่วยงานด้านการแพทย์

2. รายได้จากการใช้สวน 

ในกรณีนี้หมายถึง การจัดสรรพื้นที่บางส่วนในสวนสาธารณะไว้ทำกำไร เพื่อหาเงินมาดูแลส่วนอื่นๆ ของสวน เช่น มีร้านค้าขายของ การมีห้องประชุมให้คนมาเช่า การมีพื้นที่กิจกรรมเฉพาะที่มีค่าใช้จ่ายเสริม ระบบสมาชิกต่างๆ หรืออย่างกรณีศึกษา Jubilee Park ซึ่งเป็นสวนของเอกชนในฐานะพื้นที่ส่วนกลางอาคาร ก็มีการบวกค่าดูแลสวนส่วนกลางไปในค่าเช่าตึก ค่าเช่าออฟฟิศต่างๆ ด้วยเลย สวนสาธารณะมีหลากหลายวิธีในการสร้างรายได้ในตัวเอง ซึ่งหากตั้งใจจะใช้แนวทางนี้เป็นแนวทางหลักในการหาเงินทุน คุณเอด้าเสริมว่าผู้ออกแบบก็ควรวางแผนและเตรียมการสิ่งนี้ตั้งแต่กระบวนการออกแบบสวน เพื่อให้พื้นที่ที่จะสร้างกำไรให้สวนนั้นออกมาเหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ สอดคล้องกับกิจกรรมและความต้องการทางเศรษฐกิจของคนในย่านนั้นๆ

3. เงินบริจาคและการระดมทุน

คุณเอด้าเล่าถึงรายละเอียดของการขอเงินบริจาคซึ่งแบ่งได้หลากหลายประเภท โดยมีอันที่น่าสนใจ เช่น 

การขอรับบริจาคจากคนทั่วไป โดยประเภทแรกนี้เป็นช่องทางหลักของสวนสาธารณะในต่างประเทศที่มีภาษีมรดกค่อนข้างสูง คนจึงเลือกที่จะบริจาคมรดกดังกล่าวแก่สวนสาธารณะเพื่อขอรับส่วนลดหย่อนภาษีนั่นเอง แต่ในประเทศไทยนั้นคนยังไม่นิยมบริจาคเงินแก่สวนสาธารณะสักเท่าไหร่ หากมีการสื่อสารเรื่องนี้ มีการผลักดันกฎหมายภาษีมรดกในประเทศไทยมากขึ้น ควบคู่ไปกับการร่างเงื่อนไขการลดหย่อนภาษีพิเศษสำหรับการบริจาคให้สวนสาธารณะ ก็เป็นไปได้ที่ในอนาคตคนไทยจะบริจาคเงินให้กับสวนสาธารณะมากขึ้น

การขอการสนับสนุนจากมูลนิธิต่างๆ หรือจากบริษัทเอกชนในรูปของ CSR ซึ่งหากเราสนใจแนวทางการขอการสนับสนุนในรูปแบบนี้ พื้นที่สวนของเราก็ควรที่จะตอบโจทย์องค์กรหรือมูลนิธิดังกล่าวด้วย และการชวนเอกชนกลุ่มดังกล่าวมามีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนา ออกแบบสวน ในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอีกคนหนึ่งก็เป็นเรื่องสำคัญ

รูปแบบการบริจาคแบบ Item by Item คือการแยกการรับบริจาคออกเป็นส่วนเล็กๆ เช่น ขอรับบริจาคเพื่อนำเงินมาติดตั้งหลอดไฟเพียงอย่างเดียว หรือ การติดตั้งและดูแลบ่อน้ำในสวนเพียงอย่างเดียว คุณเอด้าอธิบายจากประสบการณ์ทำงานแพลตฟอร์มระดมทุนว่าการแบ่งการรับบริจาคเป็นส่วนเล็กๆ เป็นของที่เห็นเป็นรูปธรรมนั้นจะช่วยให้คนตัดสินใจสนับสนุนได้ง่ายขึ้น 

Endowment คือรูปแบบการนำเงินบริจาคไปลงทุนต่อ แล้วนำเฉพาะกำไรจากการลงทุนมาใช้งาน ไม่ใช้เงินต้นที่ได้จากการบริจาค วิธีการนี้เหมาะกับโครงการที่มีเงินต้นค่อนข้างมาก และสามารถนำเงินไปลงทุนได้อย่างปลอดภัย ซึ่งคุณเอด้ามองว่าเป็นวิธีการที่น่าสนใจ โดยอธิบายให้ทุกคนเห็นภาพว่า ถ้าสวนของคุณมีค่าบริหารจัดการรายปี ปีละ 3 ล้านบาท คุณก็ต้องรวมเงินบริจาคให้ได้เงินก้อน 30 ล้าน แล้วนำเงินไปลงทุนในช่องทางที่จะได้กำไร 10% ต่อปี ก็จะได้เงิน 3 ล้านบาทมาใช้บริหารจัดการสวนนั่นเอง

คุณเอด้ายังเสริมเรื่องความคล่องตัวในการใช้เงิน โดยให้เราดูว่าสวนของเรานั้นใครเป็นเจ้าของ  เพราะกระบวนการใช้เงินของภาครัฐ เอกชน มูลนิธิ และภาคประชาสังคมนั้นแตกต่างกัน โดยเฉพาะการออกเอกสารเบิกจ่ายเงินของภาครัฐนั้นค่อนข้างจำกัด ไม่ยืดหยุ่น ทำให้ไม่สามารถนำเงินที่มีออกมาสนับสนุนโครงการหรือกิจกรรมบางประเภทได้ ซึ่งก็เกิดปัญหาเดียวกันนี้ในกรณีของต่างประเทศเช่นกัน โดยคุณเอด้าได้ยกกรณีศึกษา Central Park ที่นครนิวยอร์ก ซึ่งมีการก่อตั้งองค์กรภาคประชาสังคมชื่อ Central Park Conservancy ขึ้นมาเพื่อบริหารจัดการและดูแลสวนแทนหน่วยงานรัฐ ทำให้สามารถนำเงินของส่วนกลางมาใช้งานได้คล่องตัวมากขึ้น

การสื่อสารข้อมูลต่อกลุ่มเป้าหมาย

คุณชณัฐ วุฒิวิกัยการ ครีเอทีฟ ไดเรกเตอร์ Greenative คือผู้เชี่ยวชาญคนสุดท้ายที่จะมาบรรยายปิดช่วง PUBLIC LECTURE SERIES ในหัวข้อด้านการออกแบบการสื่อสารสวนสาธารณะ

คุณชณัฐทำคลิปวิดีโอเรื่องสิ่งแวดล้อมเผยแพร่ลงในหลายแพลตฟอร์ม และส่วนมากเป็นคลิปง่ายๆ ที่ถ่ายด้วยโทรศัพท์มือถือ แต่เน้นคุณภาพในการเล่าเรื่องและนำเสนอข้อมูล เปรียบเทียบเป็นภาพที่เข้าใจง่าย คุณชณัฐเล่าว่าคลิปวิดีโอทุกวันนี้สั้นลงมาก เขาเลยเลือกที่จะเล่าเรื่องแบบเรียบง่าย เข้าใจง่าย จำง่าย ทำง่าย และที่สำคัญคือ แชร์ง่าย ซึ่งคำว่า ‘แชร์ง่าย’ ในที่นี้หมายถึง การเล่าสิ่งดีๆ ทำให้คนอยากแชร์ต่อ อยากส่งต่อ อยากบอกต่อให้คนอื่น 

 

สำหรับโครงการพัฒนาพื้นที่สาธารณะสีเขียวแบบใหม่ๆ การสื่อสารนั้นจะมีบทบาทอย่างมากที่จะทำให้คนรับรู้และเข้าใจ ว่าสวนแห่งนี้นั้นเป็นแบบไหน มีคุณค่าอย่างไร เป็นเครื่องมือสำคัญในการเชิญชวนให้เกิดบทสนทนาสาธารณะระหว่างดำเนินการพัฒนา ตลอดจนเชิญชวนให้ภาคส่วนต่างๆ มองเห็นโครงการและเข้ามาสนับสนุน หลังจากเปิดคลิปวิดีโอตัวอย่างให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมดู คุณชณัฐแจกแจงวิธีการสื่อสารบนแพลตฟอร์มออนไลน์ให้ได้ผลตอบรับดีออกเป็น 8 ข้อ ได้แก่ เนื้อหากระชับ ไม่ยืดเยื้อ วินาทีแรกต้องน่าสนใจ เข้าใจง่าย มีประโยชน์ โดยมีคำแนะนำเล็กๆ เพิ่มเติมในบางข้อ เช่น

ข้อ 2 ภาพและเสียงชัดเจน คุณชณัฐแนะนำว่า โทรศัพท์มือถือทุกวันนี้นั้นมีกล้องถ่ายวิดีโอในตัวที่คุณภาพไม่แย่เลย สามารถใช้งานได้ ในขณะที่เรื่องคุณภาพเสียง หากคนพูดอยู่ห่างจากคนถ่ายพอสมควรก็อาจต้องติดไมค์แยก หรือใช้โทรศัพท์มือถืออีกเครื่องอัดเสียงแยกก็ได้เช่นกัน

ข้อ 4 ตรงกลุ่มเป้าหมาย เพราะทุกการสื่อสารนั้นมีจุดประสงค์แตกต่างกัน เราจึงควรจะแม่นยำว่ากำลังสื่อสารกับใครเพื่ออะไร เช่น ต้องการสื่อสารกับคนในย่านใกล้เคียงเพื่อชวนมาร่วมกิจกรรม สื่อสารกับคนในชุมชนเพื่อสร้างความรู้สึกภูมิใจ สื่อสารกับผู้ลงทุนเพื่อขอการสนับสนุน หรืออื่นๆ 

ข้อ 5 ต่อเนื่องจากข้อที่ 4 การสื่อสารให้ตรงกลุ่มเป้าหมายจะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อเราส่งสารนั้นไปบนช่องทางที่กลุ่มเป้าหมายของเราใช้ เราจึงต้องสื่อสารให้ตรงแพลตฟอร์ม โดยเฉพาะการทำงานพัฒนาสวนสาธารณะที่อาจมีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้สูงอายุ หรือหน่วยงานเฉพาะทางต่างๆ คุณชณัฐจึงแนะนำให้ทุกคนศึกษาแพลตฟอร์มที่กลุ่มเป้าหมายใช้และออกแบบวิธีการเล่าเรื่องบนแพลตฟอร์มนั้นๆ 

ข้อ 8 Call To Action หรือการชักชวนให้คนดูทำบางสิ่งที่เป็นรูปธรรม สำหรับโครงการพัฒนาพื้นที่สาธารณะสีเขียว Call to action นี้อาจเป็นได้ตั้งแต่การชักชวนให้คนตอบแบบสอบถาม มาร่วมกิจกรรมมีส่วนร่วม หรือแม้แต่การขอรับบริจาคในโครงการระดมทุนต่างๆ 

โดยคุณชณัฐได้ส่งท้ายการบรรยายแก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกทีมว่า การทำงานด้านการสื่อสารนั้นเหมือนจะเป็นงานเล็กๆ หากเทียบกับงานลงพื้นที่ งานเขียนแบบก่อสร้าง แต่จริงๆ แล้วมันไม่เล็กเลย เราจึงควรแบ่งหน้าที่กันให้ดี มีคนรับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง และเผื่อเวลาไว้ทำสื่อโดยเฉพาะ เพื่อให้ได้รูปแบบการสื่อสารที่มีคุณภาพ ทำให้โครงการที่ทุกคนตั้งใจทำมาด้วยกันถูกส่งให้คนในสังคมรับรู้ต่อไป

FINDING POCKET PARK CITYWIDE WORKSHOP COMPETITION 

หลังจบกิจกรรมช่วง PUBLIC LECTURE SERIES ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้ง 8 ทีมก็ได้นำเสนอโครงการที่ตัวเองเตรียมมากับผู้เชี่ยวชาญทั้ง 4 ท่าน เพื่อรับฟังความคิดเห็นทั้งจุดเด่นจุดด้อยในแบบร่างโครงการของกลุ่มตนเองใน 4 ด้าน คือด้านการออกแบบ ด้านการพัฒนาชุมชน ด้านการวางแผนธุรกิจ และด้านการออกแบบการสื่อสาร และนำโครงการของตนเองกลับไปพัฒนาต่อให้เสร็จสมบูรณ์ โดยจะมีการนำเสนอ Final Presentation ต่อคณะกรรมการในวันที่ 10 ตุลาคม 2564 เพื่อตัดสินผู้ชนะที่จะได้ร่วมงานพัฒนา Pocket Park จริงในพื้นที่โครงการแห่งต่อไปร่วมกับ we!park ซึ่งเราก็ขอเชิญชวนทุกท่านมาร่วมดู Live เอาใจช่วยผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้ง 8 ทีมไปพร้อมๆ กัน

การบรรยายจากผู้เชี่ยวชาญทั้ง 4 ท่านทำให้เราเห็นความเป็นไปได้อีกมากมายที่พื้นที่สาธารณะสีเขียวในเมืองสามารถเป็นได้ ผ่านวิธีการใหม่ๆ ทั้งการออกแบบที่เข้าใจความต้องการของผู้คนจากกระบวนการมีส่วนร่วม กิจกรรมเพื่อการพัฒนาที่สัมพันธ์กันระหว่างพื้นที่สาธารณะและชุมชน วิธีการได้มาและการบริหารจัดการเงินของโครงการ หรือแม้แต่การสื่อสารโครงการเพื่อให้คนรับรู้และอยากเข้ามามีส่วนร่วม 

PUBLIC LECTURE SERIES นี้มีขึ้น และเผยแพร่เป็นสาธารณะสำหรับทั้งคนที่ร่วมกิจกรรมและบุคคลทั่วไป เพราะทีมงานทุกคนเชื่อว่า เมืองของเรานั้นต้องการพื้นที่สาธารณะสีเขียวอีกมาก และพื้นที่เหล่านี้ก็คงแตกต่างกันไปตามบริบทพื้นที่ ชุมชน หรือแม้แต่ห้างร้านกิจการต่างๆ ในละแวกใกล้เคียง คงจะดีกว่า หากเรามีเพื่อนร่วมทางที่พร้อมจะร่วมคิด ร่วมลงมือทำ ร่วมสร้าง Pocket Park รูปแบบใหม่ๆ ไปด้วยกันมากขึ้น และเป็นส่วนเล็กๆ ที่จะช่วยกันสร้างเมืองสีเขียวให้เกิดขึ้นจริงไปด้วยกัน

 

 

Share :