CITY CRACKER

สกลจังซั่น : จากเมืองเก่าสกลนครสู่เมืองสร้างสรรค์เพื่อส่งต่อการอนุรักษ์สู่คนรุ่นใหม่

เมืองเก่าแก่ที่มีวัฒนธรรมดั้งเดิมอาจเลือนหายท่ามกลางยุคสมัยที่เปลี่ยนผ่าน อิทธิพลของเทคโนโลยีล้ำสมัยและมีสิ่งใหม่ๆ ที่ผุดขึ้นมาเรื่อยๆ ทำให้หลายๆ เมืองมีหน้าตาเปลี่ยนไป โดยเฉพาะด้านกายภาพที่แน่นอนว่าภาพอดีตและปัจจุบันนั้นต่างออกไป แต่สำหรับสกลนครนั้น เมืองเก่าสกลและวัฒนธรรมท้องถิ่นกลับเปลี่ยนไปได้อย่างเข้ากันกับโลกสมัยใหม่ กระทั่งเป็นเมืองที่ปลุกกระตุ้นให้คนรุ่นใหม่กลับบ้านเกิด เพื่อนำองค์ความรู้มาพัฒนาสร้างสรรค์บ้านเมืองผ่านการสานสิ่งใหม่เข้ากับสิ่งเก่าที่มีอยู่

เมื่อวันที่ 9-12 ธันวาคม ทีผ่านมา เมืองสกลนครได้จัดงาน ‘สกลจังซั่น’ เทศกาลงานสร้างสรรค์ย่านเก่าสกล ด้วยการปรับเปลี่ยนพื้นท่ารอบเมืองให้เป็นย่านสร้างสรรค์ พร้อมชวนคนเดินเที่ยวย่านเมืองเก่าสกลนคร โดยเชื่อมเส้นทางการเดินในย่านเมืองเก่า เชื่อมความสัมพันธ์ของผู้คนทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ให้ได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์และวิถีชีวิตของชุมชน และรวบรวมผลงานศิลปะ ผลิตภัณฑ์สินค้าหัตถกรรมท้องถิ่น ตลอดจนเปิดพื้นที่เป็นโอกาสให้คนสกลได้โชว์ศักยภาพของตนเองสู่สายตาสาธารณชนมากขึ้น ซึ่งงานเทศกาลครั้งใหญ่ของสกลในครั้งนี้ก็กลายมาเป็นงานที่ทั้งกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างสัมพันธ์ให้สังคม ตลอดจนจุดประกายให้คนรุ่นใหม่อยากกลับบ้านมาพัฒนาเมือง

จากอัตลักษณ์การเป็นเมืองเก่า เป็นเมืองที่มีทรัพยากรและวัฒนธรรมหลากหลาย สู่สกลนครเมืองสร้างสรรค์ และกลายมาเป็นสกลจั่งซั่นนั้นมีกระบวนการทำงานอย่างน่าสนใจ วันนี้ City Cracker X Co-create our city จึงได้ชวนหมอสุขสมัย สมพงษ์ เจ้าของบ้านเสงี่ยมเมืองเก่าแก่สกลนคร ประธานชมรมส่งเสริมคนดีเมืองสกล ผู้ริเริ่มงานสร้างสรรค์สกลจังซั่น มาพูดคุยถึงที่มาที่ไปของงาน ไปจนถึงเรื่องราวประวัติศาสตร์ของเมืองสกล

 เมืองสกลนครในอดีตเป็นอย่างไรบ้าง มีความเป็นมาอย่างไร

เมืองสกลนครในอดีตจริงๆ แล้วเป็นเมืองที่เก่าถ้าเทียบกับหลายๆ เมือง ซึ่งได้รับอิทธิพลการสร้างผังเมืองเข้ามาตั้งแต่ยุคขอม ผังเมืองของขอมจะเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสและมีศาสนสถาน ฉะนั้นเมืองสกลนครจะมีร่องรอยตรงนี้เหลืออยู่ ถัดจากยุคขอมแล้วก็มาถึงยุคล้านช้าง หลวงพระบางเวียงจันทร์ พอล้านช้างเข้ามาก็ไม่รื้อศาสนสถานแบบขอมทิ้ง แต่สร้างครอบไปอีกทียกตัวอย่างพระธาตุเชิงชุม

จะเห็นว่าลักษณะข้างนอกของพระธาตุเชิงชุมเป็นยุคล้านช้างรูปทรงเป็นของลาว แต่ข้างในจะเป็นลักษณะของขอม คนที่อยู่ที่นี่ส่วนใหญ่อพยพมาจากที่อื่น เพราะถ้าเป็นคนดั้งเดิมได้กลมกลืนกันไปแล้วแยกไม่ออกว่ามาจากไหนแต่ส่วนใหญ่เป็นคนจากชนเผ่าอื่นๆ ทั้งเผ่าโซ่ เผ่ากะเลิง เผ่าภูไท ล้วนมาจากการอพยพจากประเทศลาวเป็นส่วนใหญ่

 

ถัดจากล้านช้างก็มาเป็นกรุงรัตนโกสินทร์ มีการยกทัพไปตีเวียงจันทร์ก็ต้องมาเอาไพร่พลจากเมืองสกลไปร่วมด้วย จากนั้นก็อพยพคนไปอยู่เมืองกบินทร์บุรี สระแก้ว แล้วก็มีการอพยพจะไปตั้งเป็นศูนย์กลางใหญ่ที่กาฬสินธุ์ก็กลายเป็นต้นตระกูลของวงศ์กาฬสินธุ์ แต่จริงๆ แล้วอยู่ที่สกลนคร เพราะฉะนั้นเมืองเหล่านี้จึงมีความสัมพันธ์กัน

ต่อมามีการยกทัพไปตีถึงเวียดนาม กลายเป็นว่ามีชาวญวนอพยพมาอยู่ในเมืองสกลนครตั้งแต่ยุครัชกาลที่ 3 พอถึงรัชกาลที่ 5 เริ่มมีการรถไฟทำให้การเดินทางสะดวกขึ้นมีพ่อค้าต่างชาติเริ่มเข้ามา จนกระทั่งเกิดสงครามอินโดจีนก็ทำให้เวียดนามแตกชาวญวนอีกรุ่นหนึ่งจึงอพยพเข้ามา ซึ่งเป็นรุ่นที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน

ทำไมต้องเรียกว่าเมืองเก่าสกลนคร

เมื่อปี 2516 เมืองสกลเกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่ จากนั้นลักษณะเมืองก็กลายเป็นถมที่รุกล้ำหนองหารออกไป จากรูปทรงผังเมืองพร้อมกับวัฒนธรรม ประเพณีต่างๆ จากนั้นก็มีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการอนุรักษ์พัฒนาจังหวัดสกลนครเลยได้ประกาศให้เป็นเมืองเก่า แต่ที่มีการอนุรักษ์เพราะมีการศึกษาก่อนจากหน่วยงานการเคหะที่เข้ามาดูเรื่องการอยู่อาศัยและให้ทางคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาศึกษาเขตเมืองเก่า ปี 2548 ซึ่งเดิมทีมีเมืองที่ประกาศเป็นเมืองเก่าแล้ว 1 กลุ่ม มี 9 เมือง เช่น น่าน เชียงใหม่ เป็นต้น ส่วนเมืองสกลนครจะถูกประกาศต่อไปในกลุ่มที่ 2 ชุดแรกจะศึกษาเรื่องกายภาพว่ามีบ้านเป็นยังไง พร้อมให้คำแนะนำต่างๆ จากนั้นทีมคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ให้โจทย์ไว้ว่าต้องมีการศึกษาการมีส่วนร่วมของชุมชนด้วย จึงมีการศึกษาต่อโดยมีอาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคามมาสำรวจพื้นที่

จากการสำรวจพบว่า ภาคประชาสังคมควรเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งได้มอบหมายให้ชมรมส่งเสริมคนดีเป็นประชาสังคมในปี 2552 ได้เห็นความสำคัญของการอนุรักษ์เมืองสกลจึงช่วยกันทาสีบ้านไม้ เมื่อทาเสร็จก็ทำให้บ้านเรือนดีขึ้นเป็นการกระตุ้นให้อยากทำงาน ถ้าไม่ทาสีตั้งแต่ตอนนั้นคงจะเจ๊งไปแล้ว เพราะการทาสีมันก็ช่วยป้องกันแมลง มอดต่างๆ ได้ จากนั้นในช่วงปี 2558-2560 ก็มีการประกาศเมืองเก่าเพิ่มเป็นกลุ่มที่ 2 อีก 18 เมือง และสกลนครก็เป็นหนึ่งในนั้น รวมทั้ง 2 กลุ่มมีเมืองเก่าทั้งหมด  27 เมือง  หลังจากที่เมืองสกลนครได้ประกาศเป็นเมืองเก่าแล้ว แต่ก็ยังไม่มีใครให้ความสนใจมากนัก มีแต่เราทำ ก็เรือนจำเก่าจะย้ายออกไป ทางเทศบาลนครสกลนครจึงขอพื้นที่ โดยแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเมืองเก่า ลุงหมอเองก็เป็นคณะกรรมการอนุรักษ์ด้วย

ต่อมาในปี 2561 ทางจังหวัดสกลนครก็เห็นดีเห็นงาม ขอให้มีการศึกษาเรื่องเรือนจำเก่า เราก็หาวิธีที่จะอนุรักษ์บ้านเก่าในนามประชาสังคม อย่างคุ้มกลางธงชัย พวกเราให้ความสำคัญเพราะว่ามีตรอกซอกซอยเยอะสามารถเข้าได้ 5 ทาง และมีกลุ่มต้นตระกูลที่มารักษาพระธาตุเชิงชุมอยู่ตรงนั้น หรือที่เรียกว่าข้าพระธาตุ ลุงหมอก็คิดว่าจะทำยังไง

ต่อมาเมื่อปี 2563 ลุงหมอก็ให้ศิลปินวาดภาพบนกำแพงบ้านของญาติเพื่อจะให้เห็นเป็นตัวอย่าง ถัดมาปี 2564 ก็มีอีกกลุ่มเข้ามาหารือกันว่าจะทำยังไงในคุ้มกลางธงชัย จึงให้ศิลปินวาดภาพบนกำแพงบ้านอีกเป็นรูปนรสิงห์ทำตาขวางใส่สิงห์วัดพระธาตุเพราะสิงห์ที่วัดเป็นสิงห์เมียร์มา ซึ่งจากประวัติศาสตร์จึงทำให้ศิลปินวาดภาพนั้นออกมา จากนั้นก็มีกลุ่มคนอีกกลุ่มตามมาช่วยกันอย่างคึกคัก พอมีรูปภาพตามกำแพงบ้านของคนในชุมชนมากขึ้น ต่างก็ทำให้ชาวบ้านเริ่มให้ความสนใจอยากให้วาดให้อีก นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดกราฟฟิตี้ในคุ้มกลางธงชัยอย่างที่เห็นในงานสกลจังซั่น

เมืองสกลนครมีศักยภาพอะไรและเป็นเมืองแบบไหน

เมืองสกลเรามีอาคารไม้เก่าจำนวนมากจึงควรอนุรักษ์ไว้ให้ได้มากที่สุด ซึ่งบ้านเสงี่ยมมณีก็เป็นหนึ่งในการอนุรักษ์บ้านไม้เก่าและชมรมส่งเสริมคนดีก็ได้ประกาศเจตนารมณ์บูรณะบ้านให้เป็นสัญลักษณ์สำคัญในเมืองสกลนคร เพื่อชวนให้คนสกลนครเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์สมบัติที่บรรพบุรุษสร้างไว้ให้จะได้ร่วมแรงร่วมใจกันอนุรักษ์ไว้ ซึ่งไม่ได้ทำเฉพาะบ้านแต่ทำทั้งเมืองสกลนคร

 ข้อคิดที่ได้จากการอนุรักษ์เมืองเก่าสกลนคร จนทำให้เกิดงานสกลจังซั่น

ข้อคิดที่ได้จากการอนุรักษ์คือรุ่นปู่ย่าตายายได้ปลูกสร้างให้เป็นมรดกตกทอดมาให้เราได้ใช้ประโยชน์ รุ่นเราควรจะรักษาสร้างเป็นมรดกใหม่ดูแลให้ดี ให้รุ่นลูกได้ดูแลซ่อมแซ่มส่งต่อให้รุ่นหลานต่อๆ ไป แต่ถ้ารุ่นปู่รุ่นย่าที่ยังคงอาศัยอยู่ควรให้คำปรึกษาเพราะจะรู้เรื่องอดีตมากกว่ารุ่นใหม่ หรือรุ่นพ่อควรให้เป็นผู้ให้การสนันบสนุน ผู้ดำเนินการจริงๆ ควรเป็นรุ่นลูก และรุ่นหลานก็จะได้เข้าวงจรเดิมเวียนไปเรื่อยๆ

ลุงหมอได้ดำเนินการแบบนี้มาอย่างต่อเนื่องแต่หลังๆ ไม่ค่อยมีคนให้ความสนใจ เงียบหายไป มีแต่บ้านเสงี่ยมของลุง จึงมีการเสนอวาดภาพกำแพงเรือนจำเก่าเพื่อให้คนตื่นตาตื่นใจ อยากกระตุ้นให้คนสนใจอนุรักษ์เมืองเก่าเลยขอทำโครงการนี้ขึ้นมา ซึ่งก็มีเด็กรุ่นใหม่ให้ความสนใจแต่ยังไม่มีทิศทางที่จะดำเนินการอย่างถูกต้อง จึงได้ปรับโครงการวาดภาพบนกำแพงเป็นโครงการปลุกเมืองเก่าสกลนคร เพราะมีกลุ่มคนข้างนอกเข้ามาร่วมกัน เช่น CEA Shma อาจารย์เซ้ง ลุงหมอจึงนัดมารวมกันประชุมหารือกันจัดทำโครงการดังกล่าว เพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาเป็นย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ร่างแผนให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันจึงออกมาเป็นงานสกลจังซั่น

สุดท้ายลุงหมอเองสนับสนุนงาน เวทีโสเหล่ โดยมีการเปิดเวทีให้คนมาพูดคุยกันทั้งนายกเทศมนตรี อบต. อบจ. คนจีน คนญวน คนไทย คนรุ่นใหม่และคนภายนอกที่ทำงาน เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันถึงมุมมองที่มีต่อเมืองสกลนครในมิติต่างๆ งานนี้ก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการกระตุ้นให้ผู้คนภายนอกได้เข้ามาดูงาน ดูเมืองสกลนคร ซึ่งหลังจากนี้ต้องมีการอนุรักษ์สานต่อด้วยความเข้าใจกัน

 

 

 

Share :