CITY CRACKER

7 มุมมองการสร้างพื้นที่สาธารณะ จากเสวนา ‘Crack City for Public Space’

ในวันที่พื้นที่ว่างไม่ได้ใช้ประโยชน์ ปรากฏขึ้นทั่วกรุงเทพฯ คิดเป็นพื้นที่รวมกว่า 120.5 ตร.กม. ปีพ.ศ. 2558 กระจายแออัดปะปนในหลายย่าน เมื่อบวกกับนโยบายภาษีล่าสุด ทำให้ระยะหลังเราเห็นการเปลี่ยนแปลงของที่ดินเหล่านี้ในเมือง กระทั่งบางแห่งกลายเป็นสวนปลูกกล้วยอย่างน่าแปลกตา ซึ่งไม่ตอบรับกับบริบทและมูลค่าที่ดินเท่าไหร่นัก หากคิดจากมุมมองส่วนรวมพื้นที่เหล่านี้อาจมีศักยภาพมากกว่านั้น ดังเช่นการเปิดเป็นพื้นที่กึ่งสาธารณะให้ผู้คนโดยรอบเข้ามาใช้งานดังอีเว้นต์ Klongsan Pop-Up Park สวนสานธารณะ ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 12-13 ธันวาคมที่ผ่านมา นำโดยกลุ่ม we!park สำนักกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และกลุ่มยังธน

ซึ่งงานนี้เป็นการเปลี่ยนพื้นที่ทิ้งขยะรกร้างของชุมชนสวนสมเด็จย่าย่านคลองสาน ให้เป็นสวนชุมชนชั่วคราว โดยตัวสวนนี้จะจัดบริเวณด้านข้างโรงเกลือแหลมทองริมแม่น้ำเจ้าพระยา พร้อมกับกิจกรรมหลากหลายในคนในชุมชนได้เข้าร่วม ไม่ว่าจะเป็นดนตรีในสวน ดูหนังกลางแปลง เดินชมพื้นที่สีเขียวในย่าน หรือชิมอาหารท้องถิ่น อีกทั้งยังมีการจัดเสวนา ‘Crack City For Public Space ทลายอุปสรรคสร้างโอกาสที่ว่าเพื่อประโยชน์สาธารณะเมือง’ พร้อมได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิกว่า 7 ท่าน ทั้งผู้ขับเคลื่อนชุมชน ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน ภาคการศึกษา และหน่วยงานรัฐ เกิดเป็นวงสนทนาแลกเปลี่ยนมุมมองและร่วมค้นหาวิธีสร้างพื้นที่สาธารณะอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน

กิจกรรมเสวนาครั้งนี้ได้รับเกียรติจากผ คุณวิรัตน์ มนัสสนิทวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร ผู้ดำเนินโครงการ Green Bangkok 2030 สู่การเป็นมหานครสีเขียว คุณทิพย์รัตน์  นพลดารมย์ อดีตผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน หรือพอช.  คุณดวงฤทธิ์ บุนนาค สถาปนิกและนักออกแบบชาวไทยสไตล์โมเดิร์น นายชาติชาย กุละนำพล ผู้อำนวยการเขตคลองสาน ผศ.ดร.สุพิชชา โตวิวิชญ์ สถาปนิกผู้เชี่ยวชาญออกแบบและพัฒนาชุมชนด้วยกระบวนการมีส่วนร่วม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร คุณยศพล บุญสม กรรมการผู้จัดการบริษัท ฉมา จำกัด และผู้ร่วมก่อตั้ง we!park และผศ.ดร.นิรมล กุลศรีสมบัติ ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UDDC) โดยเสวนาในครั้งนี้ดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.ณัฐวุฒิ อัศวโกวิทวงศ์ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิชาการ ผู้อํานวยการศูนย์วิจัยบูรณาการภาพพื้นท่ีและสังคม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม

 

นิยามพื้นที่สาธารณะในฝัน

งานเสวนาเริ่มขึ้นท่ามกลางบรรยากาศอันร่มรื่นย์ในสวน ผศ.ดร. ณัฐวุฒิ อัศวิโกวิทวงศ์ ผู้ดำเนินรายการ ชวนวิทยากรพูดคุยถึงนิยามของพื้นที่สาธารณะของเมือง โดยมีทิพย์รัตน์ นพลดารมย์ อดีตผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) เป็นผู้เปิดประเด็น

“หลายคนอาจคิดว่าพื้นที่สาธารณะหมายถึงพื้นที่สวนสาธารณะสีเขียวเท่านั้น แต่จริงๆ แล้ว Public Space มีความหมายที่กว้างกว่านั้น เป็นพื้นที่ที่สามารถเกิดกิจกรรมสร้างสรรค์ได้หลายรูปแบบ สิ่งสำคัญคือการสานสัมพันธ์ ผู้คน สิ่งแวดล้อม ธรรมชาติ และเมืองเข้าด้วยกัน”

ทิพย์รัตน์กล่าวพร้อมยกตัวอย่างชุมชนที่จัดการพื้นที่สีเขียวผ่านการทำพื้นที่ปลูกผักสวนครัว ในช่วงวิกฤตการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา แต่สำหรับผศ.ดร.สุพิชชา โตวิวิชญ์ สถาปนิกและอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญการออกแบบและพัฒนาชุมชนด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร คำว่า ‘Public Space’ กลับเป็นคำที่นิยามยากสำหรับเธอ

“พอขึ้นชื่อว่าเป็นสถานที่สำหรับทุกคน เราไม่รู้ว่าทุกคนในที่นี้คือใคร ในขณะเดียวกันก็เหมือนไม่ใช่ของใครเลย คำถามคือทุกคนอยากจะใช้พื้นที่นั้นจริงๆ หรือเปล่า การทำให้ยั่งยืนเลยเป็นเรื่องยากมาก คำว่ายั่งยืนคือเรา หรือลูกหลานของเราไปแล้วยังต้องยั่งยืนถึงตอนนั้นไหม”

ด้วยเหตุนี้หลายผลงานที่ผศ.ดร.สุพิชชา สร้างสรรค์ขึ้นร่วมกับนักศึกษา ทั้งโครงการปรับปรุงท่าเรือและสวนสมุนไพรชุมชนวัดกำแพงริมคลองบางหลวง การพลิกฟื้นห้างนิวเวิลด์ใน New World X Old Town การฟื้นฟูปากคลองตลาดอย่าง Human of Flower Market และงานจัดแสดงไฟบริเวณตรอกข้าวสาร KhaoSan Hide and Seek ล้วนแล้วแต่เป็นงานประเภทสร้างพื้นที่สาธารณะชั่วคราวขึ้น และเป็นการสร้าง sense of place มากกว่า

 

กิจกรรม KhaoSan Hide and Seek

เป้าหมายพัฒนาพื้นที่สาธารณะสีเขียวอย่างมีส่วนร่วม

การพัฒนาพื้นที่สาธารณะในเมืองไม่ใช่เรื่องไกลตัว และเป็นประเด็นที่สามารถร่วมกันเสนอแนะได้เรื่อยๆ อย่างบ้านเราก็มีนโยบายปรากฏชัดเจนทั้งในแผนยุทธศาสตร์ชาติ ข้อตกลงร่วมเรื่องการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืนกับสหประชาชาติ รวมถึงโครงการ Green Bangkok 2030 โครงการใหม่แกะกล่องที่ว่าด้วยการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ ให้ทัดเทียมมาตรฐานองค์การอนามัยโลกโดยมีสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานครเป็นผู้นำในการผลักดัน

“ปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่สีเขียวภายในเมืองให้ได้ 10 ตร.ม. ต่อคน มากกว่ามาตรฐานสากลที่ 9 ตร.ม. ต่อคน จากปัจจุบันที่มีอยู่ 7 ตร.ม. ต่อคน และพัฒนาพื้นที่สาธารณะในร่มไม้ที่เข้าถึงได้ภายใน 400 เมตร หรือ 5 นาทีจาก 13% ให้กลายเป็น 50% ภายในปีพ.ศ. 2573

“เพราะเรามองว่าถ้ารัฐทำสวนสาธารณะเพียงผู้เดียวอาจไม่ตอบโจทย์นัก เลยเกิดเป็นโครงการ Green Bangkok 2030 ที่ดึงประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมคิดร่วมพัฒนาด้วยเพื่อความยั่งยืน และตอบสนองความต้องการของชุมชนจริงๆ ทั้งเรื่องสุขภาพ สิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ แถมอาจยังสามารถทำให้ไปถึงเป้าหมายได้เร็วกว่าที่คิดด้วย”

คำตอบที่ว่าของ วิรัตน์ มนัสสนิทวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร เป็นไปในทางเดียวกับความเห็นของทิพย์รัตน์เรื่องการผลักดันกลไกการมีส่วนร่วมเพื่อความรู้สึกเป็นเจ้าของพื้นที่ และยศพล บุญสม ภูมิสถาปนิก ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม we!park ที่แชร์ประสบการณ์ทำงานกับหลายภาคส่วนที่ผ่านมาว่า ใครมีทรัพยากร เป็นไอเดีย แรงงาน เงินทุน หรือที่ดิน หากมีโอกาสเข้าร่วมก็พร้อมจะช่วยเหลือเสมอ

 

เงินทุนเป็นเรื่องสำคัญ

การก่อสร้างพื้นที่สาธารณะอย่างมีส่วนร่วมอาจเป็นเรื่องสวยงาม เป็นเป้าหมายที่เราต่างฝันถึง แต่อีกแง่หนึ่งกระบวนการที่ว่าก็ฟังดูเป็นอุดมคติ เพราะการปฏิบัติจริงนั้นมีความท้าทายไม่แพ้กัน อย่างในวงเสวนาก็พยายามหาคำตอบว่าเราจะบริหารจัดการพื้นที่เหล่านี้ในระยะยาวอย่างไรให้ยั่งยืน

ดวงฤทธิ์ บุนนาค สถาปนิก กรรมการผู้จัดการบริษัท ดวงฤทธิ์ บุนนาค จำกัด ได้เล่าถึงการพัฒนาโครงการ The Jam Factory ที่กว่าจะกลายมาเป็นพื้นที่แฮงค์เอาท์บรรยากาศดีริมแม่น้ำเจ้าพระยาเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

“สำหรับผม ทุกโปรเจ็กต์ควรมีความ self-sustain อยู่ได้ด้วยตัวเอง อย่าง The Jam Factory ถึงเราจะอยากเห็นมีคนเข้ามาใช้พื้นที่สนามหญ้าทุกวัน แต่เราก็ต้องทำให้โครงการอยู่ได้ มีเงินจ่ายค่าเช่าเจ้าของสถานที่ เพราะอย่างนั้นเลยต้องมีร้านอาหาร ร้านกาแฟ และทำธุรกิจเหล่านี้ให้อยู่รอด

“เวลาได้ยินว่าพื้นที่หนึ่งจะถูกทำเป็นพื้นที่สาธารณะ คำถามที่ผุดขึ้นแวบแรกในหัวของผมคือใครจะจ่ายค่าไฟ ค่ารดน้ำต้นไม้ ค่าปุ๋ย ค่าบำรุงรักษา หรือค่ารปภ. เรามักพูดถึงแนวคิดความยั่งยืน แต่เรากลับไม่เคยคิดจริงๆ ว่าสุดท้ายจะทำยังไงให้อยู่ได้ อันนี้เป็นโจทย์แรกที่ต้องตอบ เพราะทุกอย่างเป็นเรื่องเศรษฐกิจหมด”

เช่นเดียวกับผศ.ดร. สุพิชชาที่เสริมว่าหากจัดแสดงบางอย่างบนพื้นที่กำแพงบ้านเพียงไม่กี่วัน ให้คนมาเช็คอินถ่ายรูปชั่วคราวคงไม่เป็นไร เพราะเจ้าของบ้านอาจได้ประโยชน์จากการขายของในเวลาสั้นๆนั้นที่ตกลงกันไว้ได้ แต่ถ้าอยู่คงทนไปอีกหลายปี คราวนี้ต้องมาคิดกันต่อว่าราคาค่าเช่าสถานที่จะเป็นยังไง

 

โครงการ The jam Factory ภาพจาก wurkon.com

 

หากเรายังมีหวัง พื้นที่สาธารณะย่อมเกิดขึ้นได้ด้วยนโยบายและยุทธศาสตร์ที่เป็นรูปธรรม

น่าเศร้าที่ปัจจัยด้านการเงินเป็นเหมือนตัวดับฝันของนักขับเคลื่อนโครงการ ผู้ทำงานด้านสังคมที่มุ่งหวังจะเปลี่ยนแปลงเมือง แต่หากมองในแง่ดี การมีแผนการดำเนินงานอย่างละเอียดน่าจะช่วยผลักดันให้เกิดขึ้นได้ไม่มากก็น้อย และวิทยากรหลายคนก็ยืนยันเป็นเสียงเดียวกันอย่างมีความหวัง

“เราอาจต้องมีที่ปรึกษาทางเศรษฐศาสตร์ การกิจกรรมแบบ Klongsan Pop-Up Park เป็นเรื่องที่ดี แต่การจัดกิจกรรมก็ต้องใช้เงินเหมือนกัน เราพราะฉะนั้นต้องถามก่อนว่าโครงการทั้งหมดจะอยู่ได้อย่างไรในแง่เศรษฐศาสตร์ ถ้าเราไม่มีใครเป็น stakeholder มันก็อาจไม่เกิด เราต้องหาเจ้าภาพที่ชัดเจน ดูแลโครงการร่วมกับชุมชนไปเรื่อยๆ

ดวงฤทธิ์กล่าว ในขณะเดียวกันทิพย์รัตน์ก็ออกไอเดียที่ผ่อนปรนกว่านั้น เธอมองว่าแต่ละพื้นที่ล้วนมีบริบทที่แตกต่างกันด้วยเหตุผลที่ว่าบางพื้นที่อาจไม่จำเป็นต้องพัฒนาให้เกิดขึ้นในระยะยาวเสมอไป บางแห่งอาจเป็นเพียงการกระตุ้นในระยะสั้นได้

“อย่างชุมชนที่พอช.เคยไปร่วมทำ เขาลุกขึ้นมาจัดการพื้นที่กันเองเพราะโควิด-19 ที่ทำให้ต้องลดรายจ่าย เขาไม่สามารถรอการแจกจ่ายข้าวกล่องได้ เขาเลยต้องทำพื้นที่สีเขียวเพื่อเตรียมรับภัยพิบัติที่ไม่รู้จะมาอีกเมื่อไหร่ ตัวพื้นที่อาจไม่ใช่แค่แปลงปลูกผักสวนเท่านั้น แต่ยังเป็นพื้นที่สร้างเครือข่าย เกิดการแปลกเปลี่ยนความรู้ได้ด้วย แต่ในบางพื้นที่เช่นของเอกชน เขาอาจมีข้อจำกัดที่ยอมให้ใช้ทำเพียง 10 ปี คำถามคือใน 10 ปีนั้นเราจะดูแลกันยังไง ท้องถิ่นหรือชุมชนที่ใช้ประโยชน์อาจต้องมาช่วยกันคิด ออกแบบผ่านกลไกการมีส่วนร่วม สร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของ และตอบคำถามเรื่องความยั่งยืนไปพร้อมกัน”

ทิพย์รัตน์ยังเสนอว่านอกจากกลไกความร่วมมือจากการทำงานของหลายภาคส่วนแล้ว เราอาจจำเป็นที่ต้องมีมาตรการด้านอื่นๆ ด้วย อาทิ  การพัฒนาผังเฉพาะและผังย่าน การสร้างมาตรการทางภาษีเพื่อสร้างแรงจูงใจให้เอกชนเปิดพื้นที่ให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชนเพื่อประโยชน์ของชุมชน และการพัฒนากองทุนเฉพาะในแต่ละพื้นที่เพื่อความต่อเนื่องอย่างแท้จริง เช่นเดียวกับยศพลที่เสนอการบริหารจัดการอย่างต่อเนื่องผ่านสหกรณ์ วิสาหกิจ หรือกองทุน เพราะสำหรับเขา we!park เป็นเพียงกุญแจดอกแรกที่ไขประตูใให้เอกชนเห้เกิดงานกายภาพเท่านั้น

 

ฝ่ายตัวแทนกทม.อย่างวิรัตน์เองก็ยืนยันอย่างหนักแน่นว่าการสร้างสวนสาธารณะเป็นงบประมาณที่ต้องใช้ดูแลประชาชนอยู่แล้ว

“ถ้าเรามีพื้นที่สีเขียวมากขึ้น สิ่งที่ตามมา เช่น สุขภาพ สิ่งแวดล้อมก็จะค่อยๆ หายไป ถึงไม่มีส่วนร่วมของประชาชนเลย กทม.ก็จำเป็นต้องหาพื้นที่สีเขียวให้ประชาชนอยู่ดี แต่ทั้งนี้ถ้าเป็นพื้นที่ที่ชุมชนให้ความสนใจจริงๆ อาจมีเรื่องเศรษฐกิจเข้ามาผ่านกิจกรรมต่างๆ อาจเป็นการเปิดร้านขายของ จัดนิทรรศการให้ความรู้ เก็บค่าเช่าห้องประชุม หรือห้องน้ำสาธารณะเพื่อใช้พัฒนาส่วนนี้ต่อไป”

ในฐานะผู้อำนวยการเขตคลองสาน ชาติชาย กุละนำพล ตอบอย่างมั่นใจว่าเราสามารถพัฒนาพื้นที่ได้แน่หากมีชุมชนที่เข้มแข็ง พร้อมเสนอรูปแบบสวนในอนาคตว่าควรเอื้อต่อกิจกรรมที่สามารถดึงภาคเอกชนเข้ามา รวมถึงติดตั้งเทคโนโลยรใหม่ๆ เช่นโซล่าร์เซลล์ ระบบเปิดปิดไฟหรือระบบฉีดน้ำอัตโนมัติ ที่อาจช่วยประหยัดงบประมาณลงได้เช่นกัน

ปิดท้ายด้วยผศ.ดร.นิรมล กุลศรีสมบัติ ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UDDC) แม้ไม่ได้เป็นผู้จัดงานนี้โดยตรง แต่จากการทำงานพัฒนาย่านกะดีจีน-คลองสานร่วมกับชุมชนมากว่า 12 ปี สำหรับเธอ Klongsan Pop-Up Park ผุดใหม่แห่งนี้ยังคงมีหวังและความเป็นไปได้อยู่

“ความร่วมมือที่ว่ามาตอนแรกสำคัญก็จริง แต่เราต้องเข้าใจว่าทรัพยากรมีจำกัดเหมือนกันโดยเฉพาะยุคสมัยนี้ ไม่ว่าจะเขตหรือกทม. การหาทรัพยากรจากที่อื่นเลยเป็นสิ่งจำเป็นที่จะทำให้โครงการแบบนี้สำเร็จได้ เพราะฉะนั้นความร่วมมือที่ว่าอาจต้องมียุทธศาสตร์ จากที่เราทำงานกันมา 12 ปี มีทั้งโครงการขนาดเล็กและใหญ่ มีพาร์ตเนอร์ต่างๆ จริงๆ แล้วมีแผนการพัฒนาอยู่นะ มีเป็นอัพเดตที่ทำจากนิสิตในวิชาสตูดิโอด้วย คือมีต้นทุนอยู่ เพราะฉะนั้นหลังจากนี้เราค่อยมาคุยกันอีกทีได้ในปีหน้า”

ท่ามกลางท้องฟ้าที่มืดลงวงเสวนาในสวนจบลงด้วยดี แม้มีฝนตกพรำเป็นตัวปิดท้าย น่าสนใจที่การพูดคุยระหว่างกันไม่ได้จบลงเพียงเท่านั้น เห็นได้จากการแลกเปลี่ยนไอเดียกันต่อใต้ร่มเงา กิจกรรมดนตรียามเย็นเคล้าเสียงดนตรีหลังจากนั้น พร้อมรอยยิ้ม เสียงหัวเราะของชาวบ้าน ผู้จัด ผู้ร่วมงานทุกคน

แม้ Klongsan Pop-Up Park จะเป็นโครงการเล็กๆ จัดขึ้นเพียงชั่วคราว แต่ก็นับว่าเป็นผลงานความพยายามหนึ่งที่สามารถแปลงโฉมพื้นที่รกร้างในเมืองได้จริง หากเรายังไม่หมดหวัง ปรับใช้ไอเดียของผู้ทรงคุณวุฒิในวันนี้ เชื่อว่าเราต้องพบกับข่าวดีครั้งใหม่อีกแน่นอน 

Share :