ในวันที่พื้นที่ว่างไม่ได้ใช้ประโยชน์ ปรากฏขึ้นทั่วกรุงเทพฯ คิดเป็นพื้นที่รวมกว่า 120.5 ตร.กม. ปีพ.ศ. 2558 กระจายแออัดปะปนในหลายย่าน เมื่อบวกกับนโยบายภาษีล่าสุด ทำให้ระยะหลังเราเห็นการเปลี่ยนแปลงของที่ดินเหล่านี้ในเมือง กระทั่งบางแห่งกลายเป็นสวนปลูกกล้วยอย่างน่าแปลกตา ซึ่งไม่ตอบรับกับบริบทและมูลค่าที่ดินเท่าไหร่นัก หากคิดจากมุมมองส่วนรวมพื้นที่เหล่านี้อาจมีศักยภาพมากกว่านั้น ดังเช่นการเปิดเป็นพื้นที่กึ่งสาธารณะให้ผู้คนโดยรอบเข้ามาใช้งานดังอีเว้นต์ Klongsan Pop-Up Park สวนสานธารณะ ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 12-13 ธันวาคมที่ผ่านมา นำโดยกลุ่ม we!park สำนักกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และกลุ่มยังธน
ซึ่งงานนี้เป็นการเปลี่ยนพื้นที่ทิ้งขยะรกร้างของชุมชนสวนสมเด็จย่าย่านคลองสาน ให้เป็นสวนชุมชนชั่วคราว โดยตัวสวนนี้จะจัดบริเวณด้านข้างโรงเกลือแหลมทองริมแม่น้ำเจ้าพระยา พร้อมกับกิจกรรมหลากหลายในคนในชุมชนได้เข้าร่วม ไม่ว่าจะเป็นดนตรีในสวน ดูหนังกลางแปลง เดินชมพื้นที่สีเขียวในย่าน หรือชิมอาหารท้องถิ่น อีกทั้งยังมีการจัดเสวนา ‘Crack City For Public Space ทลายอุปสรรคสร้างโอกาสที่ว่าเพื่อประโยชน์สาธารณะเมือง’ พร้อมได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิกว่า 7 ท่าน ทั้งผู้ขับเคลื่อนชุมชน ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน ภาคการศึกษา และหน่วยงานรัฐ เกิดเป็นวงสนทนาแลกเปลี่ยนมุมมองและร่วมค้นหาวิธีสร้างพื้นที่สาธารณะอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน
นิยามพื้นที่สาธารณะในฝัน
งานเสวนาเริ่มขึ้นท่ามกลางบรรยากาศอันร่มรื่นย์ในสวน ผศ.ดร. ณัฐวุฒิ อัศวิโกวิทวงศ์ ผู้ดำเนินรายการ ชวนวิทยากรพูดคุยถึงนิยามของพื้นที่สาธารณะของเมือง โดยมีทิพย์รัตน์ นพลดารมย์ อดีตผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) เป็นผู้เปิดประเด็น
“หลายคนอาจคิดว่าพื้นที่สาธารณะหมายถึงพื้นที่สวนสาธารณะสีเขียวเท่านั้น แต่จริงๆ แล้ว Public Space มีความหมายที่กว้างกว่านั้น เป็นพื้นที่ที่สามารถเกิดกิจกรรมสร้างสรรค์ได้หลายรูปแบบ สิ่งสำคัญคือการสานสัมพันธ์ ผู้คน สิ่งแวดล้อม ธรรมชาติ และเมืองเข้าด้วยกัน”
ทิพย์รัตน์กล่าวพร้อมยกตัวอย่างชุมชนที่จัดการพื้นที่สีเขียวผ่านการทำพื้นที่ปลูกผักสวนครัว ในช่วงวิกฤตการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา แต่สำหรับผศ.ดร.สุพิชชา โตวิวิชญ์ สถาปนิกและอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญการออกแบบและพัฒนาชุมชนด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร คำว่า ‘Public Space’ กลับเป็นคำที่นิยามยากสำหรับเธอ
“พอขึ้นชื่อว่าเป็นสถานที่สำหรับทุกคน เราไม่รู้ว่าทุกคนในที่นี้คือใคร ในขณะเดียวกันก็เหมือนไม่ใช่ของใครเลย คำถามคือทุกคนอยากจะใช้พื้นที่นั้นจริงๆ หรือเปล่า การทำให้ยั่งยืนเลยเป็นเรื่องยากมาก คำว่ายั่งยืนคือเรา หรือลูกหลานของเราไปแล้วยังต้องยั่งยืนถึงตอนนั้นไหม”
ด้วยเหตุนี้หลายผลงานที่ผศ.ดร.สุพิชชา สร้างสรรค์ขึ้นร่วมกับนักศึกษา ทั้งโครงการปรับปรุงท่าเรือและสวนสมุนไพรชุมชนวัดกำแพงริมคลองบางหลวง การพลิกฟื้นห้างนิวเวิลด์ใน New World X Old Town การฟื้นฟูปากคลองตลาดอย่าง Human of Flower Market และงานจัดแสดงไฟบริเวณตรอกข้าวสาร KhaoSan Hide and Seek ล้วนแล้วแต่เป็นงานประเภทสร้างพื้นที่สาธารณะชั่วคราวขึ้น และเป็นการสร้าง sense of place มากกว่า
เป้าหมายพัฒนาพื้นที่สาธารณะสีเขียวอย่างมีส่วนร่วม
การพัฒนาพื้นที่สาธารณะในเมืองไม่ใช่เรื่องไกลตัว และเป็นประเด็นที่สามารถร่วมกันเสนอแนะได้เรื่อยๆ อย่างบ้านเราก็มีนโยบายปรากฏชัดเจนทั้งในแผนยุทธศาสตร์ชาติ ข้อตกลงร่วมเรื่องการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืนกับสหประชาชาติ รวมถึงโครงการ Green Bangkok 2030 โครงการใหม่แกะกล่องที่ว่าด้วยการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ ให้ทัดเทียมมาตรฐานองค์การอนามัยโลกโดยมีสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานครเป็นผู้นำในการผลักดัน
“ปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่สีเขียวภายในเมืองให้ได้ 10 ตร.ม. ต่อคน มากกว่ามาตรฐานสากลที่ 9 ตร.ม. ต่อคน จากปัจจุบันที่มีอยู่ 7 ตร.ม. ต่อคน และพัฒนาพื้นที่สาธารณะในร่มไม้ที่เข้าถึงได้ภายใน 400 เมตร หรือ 5 นาทีจาก 13% ให้กลายเป็น 50% ภายในปีพ.ศ. 2573
“เพราะเรามองว่าถ้ารัฐทำสวนสาธารณะเพียงผู้เดียวอาจไม่ตอบโจทย์นัก เลยเกิดเป็นโครงการ Green Bangkok 2030 ที่ดึงประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมคิดร่วมพัฒนาด้วยเพื่อความยั่งยืน และตอบสนองความต้องการของชุมชนจริงๆ ทั้งเรื่องสุขภาพ สิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ แถมอาจยังสามารถทำให้ไปถึงเป้าหมายได้เร็วกว่าที่คิดด้วย”
คำตอบที่ว่าของ วิรัตน์ มนัสสนิทวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร เป็นไปในทางเดียวกับความเห็นของทิพย์รัตน์เรื่องการผลักดันกลไกการมีส่วนร่วมเพื่อความรู้สึกเป็นเจ้าของพื้นที่ และยศพล บุญสม ภูมิสถาปนิก ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม we!park ที่แชร์ประสบการณ์ทำงานกับหลายภาคส่วนที่ผ่านมาว่า ใครมีทรัพยากร เป็นไอเดีย แรงงาน เงินทุน หรือที่ดิน หากมีโอกาสเข้าร่วมก็พร้อมจะช่วยเหลือเสมอ
เงินทุนเป็นเรื่องสำคัญ
การก่อสร้างพื้นที่สาธารณะอย่างมีส่วนร่วมอาจเป็นเรื่องสวยงาม เป็นเป้าหมายที่เราต่างฝันถึง แต่อีกแง่หนึ่งกระบวนการที่ว่าก็ฟังดูเป็นอุดมคติ เพราะการปฏิบัติจริงนั้นมีความท้าทายไม่แพ้กัน อย่างในวงเสวนาก็พยายามหาคำตอบว่าเราจะบริหารจัดการพื้นที่เหล่านี้ในระยะยาวอย่างไรให้ยั่งยืน
ดวงฤทธิ์ บุนนาค สถาปนิก กรรมการผู้จัดการบริษัท ดวงฤทธิ์ บุนนาค จำกัด ได้เล่าถึงการพัฒนาโครงการ The Jam Factory ที่กว่าจะกลายมาเป็นพื้นที่แฮงค์เอาท์บรรยากาศดีริมแม่น้ำเจ้าพระยาเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
“สำหรับผม ทุกโปรเจ็กต์ควรมีความ self-sustain อยู่ได้ด้วยตัวเอง อย่าง The Jam Factory ถึงเราจะอยากเห็นมีคนเข้ามาใช้พื้นที่สนามหญ้าทุกวัน แต่เราก็ต้องทำให้โครงการอยู่ได้ มีเงินจ่ายค่าเช่าเจ้าของสถานที่ เพราะอย่างนั้นเลยต้องมีร้านอาหาร ร้านกาแฟ และทำธุรกิจเหล่านี้ให้อยู่รอด
“เวลาได้ยินว่าพื้นที่หนึ่งจะถูกทำเป็นพื้นที่สาธารณะ คำถามที่ผุดขึ้นแวบแรกในหัวของผมคือใครจะจ่ายค่าไฟ ค่ารดน้ำต้นไม้ ค่าปุ๋ย ค่าบำรุงรักษา หรือค่ารปภ. เรามักพูดถึงแนวคิดความยั่งยืน แต่เรากลับไม่เคยคิดจริงๆ ว่าสุดท้ายจะทำยังไงให้อยู่ได้ อันนี้เป็นโจทย์แรกที่ต้องตอบ เพราะทุกอย่างเป็นเรื่องเศรษฐกิจหมด”
เช่นเดียวกับผศ.ดร. สุพิชชาที่เสริมว่าหากจัดแสดงบางอย่างบนพื้นที่กำแพงบ้านเพียงไม่กี่วัน ให้คนมาเช็คอินถ่ายรูปชั่วคราวคงไม่เป็นไร เพราะเจ้าของบ้านอาจได้ประโยชน์จากการขายของในเวลาสั้นๆนั้นที่ตกลงกันไว้ได้ แต่ถ้าอยู่คงทนไปอีกหลายปี คราวนี้ต้องมาคิดกันต่อว่าราคาค่าเช่าสถานที่จะเป็นยังไง
หากเรายังมีหวัง พื้นที่สาธารณะย่อมเกิดขึ้นได้ด้วยนโยบายและยุทธศาสตร์ที่เป็นรูปธรรม
น่าเศร้าที่ปัจจัยด้านการเงินเป็นเหมือนตัวดับฝันของนักขับเคลื่อนโครงการ ผู้ทำงานด้านสังคมที่มุ่งหวังจะเปลี่ยนแปลงเมือง แต่หากมองในแง่ดี การมีแผนการดำเนินงานอย่างละเอียดน่าจะช่วยผลักดันให้เกิดขึ้นได้ไม่มากก็น้อย และวิทยากรหลายคนก็ยืนยันเป็นเสียงเดียวกันอย่างมีความหวัง
“เราอาจต้องมีที่ปรึกษาทางเศรษฐศาสตร์ การกิจกรรมแบบ Klongsan Pop-Up Park เป็นเรื่องที่ดี แต่การจัดกิจกรรมก็ต้องใช้เงินเหมือนกัน เราพราะฉะนั้นต้องถามก่อนว่าโครงการทั้งหมดจะอยู่ได้อย่างไรในแง่เศรษฐศาสตร์ ถ้าเราไม่มีใครเป็น stakeholder มันก็อาจไม่เกิด เราต้องหาเจ้าภาพที่ชัดเจน ดูแลโครงการร่วมกับชุมชนไปเรื่อยๆ”
ดวงฤทธิ์กล่าว ในขณะเดียวกันทิพย์รัตน์ก็ออกไอเดียที่ผ่อนปรนกว่านั้น เธอมองว่าแต่ละพื้นที่ล้วนมีบริบทที่แตกต่างกันด้วยเหตุผลที่ว่าบางพื้นที่อาจไม่จำเป็นต้องพัฒนาให้เกิดขึ้นในระยะยาวเสมอไป บางแห่งอาจเป็นเพียงการกระตุ้นในระยะสั้นได้
“อย่างชุมชนที่พอช.เคยไปร่วมทำ เขาลุกขึ้นมาจัดการพื้นที่กันเองเพราะโควิด-19 ที่ทำให้ต้องลดรายจ่าย เขาไม่สามารถรอการแจกจ่ายข้าวกล่องได้ เขาเลยต้องทำพื้นที่สีเขียวเพื่อเตรียมรับภัยพิบัติที่ไม่รู้จะมาอีกเมื่อไหร่ ตัวพื้นที่อาจไม่ใช่แค่แปลงปลูกผักสวนเท่านั้น แต่ยังเป็นพื้นที่สร้างเครือข่าย เกิดการแปลกเปลี่ยนความรู้ได้ด้วย แต่ในบางพื้นที่เช่นของเอกชน เขาอาจมีข้อจำกัดที่ยอมให้ใช้ทำเพียง 10 ปี คำถามคือใน 10 ปีนั้นเราจะดูแลกันยังไง ท้องถิ่นหรือชุมชนที่ใช้ประโยชน์อาจต้องมาช่วยกันคิด ออกแบบผ่านกลไกการมีส่วนร่วม สร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของ และตอบคำถามเรื่องความยั่งยืนไปพร้อมกัน”
ทิพย์รัตน์ยังเสนอว่านอกจากกลไกความร่วมมือจากการทำงานของหลายภาคส่วนแล้ว เราอาจจำเป็นที่ต้องมีมาตรการด้านอื่นๆ ด้วย อาทิ การพัฒนาผังเฉพาะและผังย่าน การสร้างมาตรการทางภาษีเพื่อสร้างแรงจูงใจให้เอกชนเปิดพื้นที่ให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชนเพื่อประโยชน์ของชุมชน และการพัฒนากองทุนเฉพาะในแต่ละพื้นที่เพื่อความต่อเนื่องอย่างแท้จริง เช่นเดียวกับยศพลที่เสนอการบริหารจัดการอย่างต่อเนื่องผ่านสหกรณ์ วิสาหกิจ หรือกองทุน เพราะสำหรับเขา we!park เป็นเพียงกุญแจดอกแรกที่ไขประตูใให้เอกชนเห้เกิดงานกายภาพเท่านั้น
ฝ่ายตัวแทนกทม.อย่างวิรัตน์เองก็ยืนยันอย่างหนักแน่นว่าการสร้างสวนสาธารณะเป็นงบประมาณที่ต้องใช้ดูแลประชาชนอยู่แล้ว
“ถ้าเรามีพื้นที่สีเขียวมากขึ้น สิ่งที่ตามมา เช่น สุขภาพ สิ่งแวดล้อมก็จะค่อยๆ หายไป ถึงไม่มีส่วนร่วมของประชาชนเลย กทม.ก็จำเป็นต้องหาพื้นที่สีเขียวให้ประชาชนอยู่ดี แต่ทั้งนี้ถ้าเป็นพื้นที่ที่ชุมชนให้ความสนใจจริงๆ อาจมีเรื่องเศรษฐกิจเข้ามาผ่านกิจกรรมต่างๆ อาจเป็นการเปิดร้านขายของ จัดนิทรรศการให้ความรู้ เก็บค่าเช่าห้องประชุม หรือห้องน้ำสาธารณะเพื่อใช้พัฒนาส่วนนี้ต่อไป”
ในฐานะผู้อำนวยการเขตคลองสาน ชาติชาย กุละนำพล ตอบอย่างมั่นใจว่าเราสามารถพัฒนาพื้นที่ได้แน่หากมีชุมชนที่เข้มแข็ง พร้อมเสนอรูปแบบสวนในอนาคตว่าควรเอื้อต่อกิจกรรมที่สามารถดึงภาคเอกชนเข้ามา รวมถึงติดตั้งเทคโนโลยรใหม่ๆ เช่นโซล่าร์เซลล์ ระบบเปิดปิดไฟหรือระบบฉีดน้ำอัตโนมัติ ที่อาจช่วยประหยัดงบประมาณลงได้เช่นกัน
ปิดท้ายด้วยผศ.ดร.นิรมล กุลศรีสมบัติ ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UDDC) แม้ไม่ได้เป็นผู้จัดงานนี้โดยตรง แต่จากการทำงานพัฒนาย่านกะดีจีน-คลองสานร่วมกับชุมชนมากว่า 12 ปี สำหรับเธอ Klongsan Pop-Up Park ผุดใหม่แห่งนี้ยังคงมีหวังและความเป็นไปได้อยู่
“ความร่วมมือที่ว่ามาตอนแรกสำคัญก็จริง แต่เราต้องเข้าใจว่าทรัพยากรมีจำกัดเหมือนกันโดยเฉพาะยุคสมัยนี้ ไม่ว่าจะเขตหรือกทม. การหาทรัพยากรจากที่อื่นเลยเป็นสิ่งจำเป็นที่จะทำให้โครงการแบบนี้สำเร็จได้ เพราะฉะนั้นความร่วมมือที่ว่าอาจต้องมียุทธศาสตร์ จากที่เราทำงานกันมา 12 ปี มีทั้งโครงการขนาดเล็กและใหญ่ มีพาร์ตเนอร์ต่างๆ จริงๆ แล้วมีแผนการพัฒนาอยู่นะ มีเป็นอัพเดตที่ทำจากนิสิตในวิชาสตูดิโอด้วย คือมีต้นทุนอยู่ เพราะฉะนั้นหลังจากนี้เราค่อยมาคุยกันอีกทีได้ในปีหน้า”
ท่ามกลางท้องฟ้าที่มืดลงวงเสวนาในสวนจบลงด้วยดี แม้มีฝนตกพรำเป็นตัวปิดท้าย น่าสนใจที่การพูดคุยระหว่างกันไม่ได้จบลงเพียงเท่านั้น เห็นได้จากการแลกเปลี่ยนไอเดียกันต่อใต้ร่มเงา กิจกรรมดนตรียามเย็นเคล้าเสียงดนตรีหลังจากนั้น พร้อมรอยยิ้ม เสียงหัวเราะของชาวบ้าน ผู้จัด ผู้ร่วมงานทุกคน