CITY CRACKER

บ้านเดี่ยว โชว์รูม คอมมูนิตี้มอลล์ เมื่อสถาปัตยกรรมย่านทองเอก “เปิดบ้าน” เชื่อมต่อสู่สาธารณะ

ว่ากันว่าชีวิตคนเราคือการบาลานซ์ระหว่างความเป็นส่วนตัวและการเป็นส่วนหนึ่งของสังคม แม้เราจะรักสันโดษ ต้องการมีชีวิตเป็นของตัวเอง ในอีกด้านหนึ่งเราก็เป็นสัตว์สังคมที่ต้องการพบเจอเพื่อนฝูง สังสรรค์กับเพื่อนใหม่เหมือนกัน สิ่งนี้ก็ได้สะท้อนออกมาในสถาปัตยกรรมทั้งบ้าน ที่ทำงาน และห้างร้านต่างๆ

ลองนึกดูเล่นๆ ว่าเวลาเราไปกินข้าวกับครอบครัวที่ร้านอาหาร เราก็อยากนั่งที่มุมดีๆ โต๊ะใหญ่ มีความเป็นส่วนตัว ในขณะเดียวกันเราก็อยากมีส่วนร่วมกับบรรยากาศโดยรวมของร้าน อยากทานอาหารอร่อยๆ เคล้าเสียงดนตรีพร้อมมองดูโต๊ะอื่นๆ รอบข้างไปด้วย พื้นที่เหล่านี้ถูกออกแบบโดยสถาปนิกหรือนักออกแบบที่เริ่มจากหลักการพื้นฐานทั่วไป เช่นการวิเคราะห์บริบทรายล้อมพื้นที่ เพื่อให้ผลงานที่ออกมาไม่แปลกประหลาด และเป็นส่วนหนึ่งของบริเวณนั้นให้ได้มากที่สุด แม้จะมีข้อจำกัดด้านการออกแบบหรือก่อสร้างอื่นๆด้วยก็ตาม

ไอเดียนี้ยืนยันได้จากงานเสวนา “สถาปนิกและย่าน” ที่ The Commons Thonglor เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา งานนี้ City Cracker ได้จัดขึ้นเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลออกแบบกรุงเทพฯ 2563 (Bangkok Design Week 2020) ย่านทองหล่อ-เอกมัย หรือ ThongEk Creative Neighborhood เราชวนคุณกรรณิการ์ รัตนปรีดากุล (Spacetime Architects) คุณฉัตรพงษ์ ชื่นฤดีมล (CHAT Architects) และคุณอมตะ หลูไพบูลย์ (Department of Architecture) มาร่วมแชร์ประสบการณ์และผลงานสถาปัตยกรรมที่ตั้งอยู่ในย่านนี้โดยเฉพาะ

 

บ้านที่ทำให้เพื่อนบ้านชาวเอกมัยมองเห็นกันและกัน

บ้านเรียกได้ว่าเป็นสถาปัตยกรรมหรือปัจจัยขั้นพื้นฐานที่สุดที่ทุกคนพึงได้รับ โดยทั่วไปมีให้เห็นได้ในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นบ้านเดี่ยว คอนโด ตึกแถว หรือห้องเล็กๆในชุมชนแออัด เมื่อลองเจาะมาที่ย่านทองหล่อ-เอกมัยดู จะพบว่า แบบที่เห็นชัดๆเลยคือ บ้านเดี่ยวหลังใหญ่ล้อมด้วยรั้วสูง แทรกอยู่ทุกตรอกซอกซอย

ต้องเท้าความย้อนกลับไปหลายสิบปีก่อน แถวซอยสุขุมวิท 55 และสุขุมวิท 63 ยังคงเป็นทุ่งนา ห้อมล้อมด้วยธรรมชาติ เป็นเขตชานเมืองที่มีเพียงสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (เอกมัย) เมื่อเวลาผ่านไปผู้คนจากในเมืองก็ต่างมาจับจองที่ดินแถวนี้เพื่อปลูกที่อยู่อาศัย หวังจะมีพื้นที่ส่วนตัวมากขึ้น มีบ้านหลังโต มีสวนกว้างขวาง หลีกหนีความคับแคบในตัวเมือง จนตกทอดมาสู่การออกแบบบ้านหลังใหม่ของกรรณิการ์และฉัตรพงษ์ที่ซอยเอกมัยในวันที่แปรเปลี่ยนมาเป็นย่านไลฟ์สไตล์แสนทันสมัย แม้ว่าหลังบ้านส่วนใหญ่จะสร้างรั้วรอบขอบชิดเพื่อความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัย

บ้าน U3 หน้าตาเก๋ไก๋ ตั้งอยู่ในเอกมัยซอย 4 เป็นบ้านที่กรรณิการ์อาศัยอยู่กว่า 20 ปี สร้างขึ้นแทนบ้านหลังเดิมของครอบครัว มีการใช้วัสดุกระจก คอนกรีต และเหล็ก พร้อมกับจัดสเปซให้ด้านในเชื่อมต่อกับด้านนอกแสดงถึงอิทธิพลโมเดิร์นแบบตะวันตก ในขณะเดียวกันก็ใช้ภูมิปัญญาแบบไทย ยกใต้ถุนสูง มีชานเชื่อมตัวเรือน และใช้หลังคาจั่วไทยประยุกต์ เหนืออื่นใด สิ่งที่บ่งบอกถึงการให้ความสำคัญกับเพื่อนบ้านมากที่สุดน่าจะเป็น รั้วโปร่งหน้าบ้านและสนามหญ้าที่เปิดให้ผู้อื่นเข้ามาทำกิจกรรมด้วยกัน อย่างที่เห็นในกิจกรรมทำ Eco Brick สำหรับจัด installation ในเทศกาลออกแบบกรุงเทพฯ 2563

เช่นเดียวกัน สำหรับบ้านของฉัตรพงษ์ในเอกมัยซอย 18 เกิดจากการพยายามทำสถานที่ส่วนตัว ให้ตอบรับเป็นส่วนหนึ่งกับซอย แรกเริ่มฉัตรพงษ์ได้ศึกษาแนวรั้วเพื่อนบ้านทุกหลัง ดูว่ามีหน้าตา สัดส่วนอย่างไร เพื่อทำความเข้าใจบริบทให้ดีก่อนลงมือออกแบบ สุดท้ายแม้ตัวดีไซน์จะออกมาเป็นบ้านเดี่ยวหน้าตาเรียบง่ายโอบล้อมสนามหญ้า แต่ก็มีฟีเจอร์พิเศษอย่างรั้วบ้านระแนงไม้ติดผนังหมุนเปิดปิดได้ตามใจชอบ เวลาไหนที่ต้องการรับลมถ่ายเทเป็นพิเศษหรือปฏิสัมพันธ์กับภายนอกผ่านสายตาก็เปิดออก เวลาไหนต้องการความเป็นส่วนตัวก็ค่อยปิดลง ตัวรั้วที่ว่าเองยังส่งผลต่อการออกแบบประตู หน้าต่างในบ้าน ให้เลือกใช้วัสดุและทำขนาดที่ล้อไปด้วยกัน เรียกได้ว่าเป็นวิธีการง่ายๆ ที่ส่งผลต่อความรู้สึกของการอยู่อาศัย ให้ตัวเขาและครอบครัวผูกพันกับย่านมากขึ้น

โชว์รูมแสดงสินค้าที่ต้อนรับลูกค้าด้วยการเชื่อมต่อกับทางเท้าซอยทองหล่อ-เอกมัย

นอกจากที่อยู่อาศัยส่วนตัวแล้ว ทองหล่อ-เอกมัยยังมีชื่อเสียงด้านการเป็นย่านแฮงก์เอาต์ยอดฮิต มีร้านอาหาร คาเฟ่ ออฟฟิศ ร้านขายสินค้าอยู่ไม่น้อย หนึ่งในนั้นคือโชว์รูมจัดแสดงห้องตกแต่งภายในของ Kitchenette สตูดิโอที่เชี่ยวชาญด้านการออกแบบห้องครัวโดยเฉพาะ ตั้งอยู่ที่ทองหล่อซอย 10 (เอกมัยซอย 5) อาคารรูปทรงกล่อง มีอุโมงค์ตัดผ่านหลังนี้เป็นผลงานของฉัตรพงษ์ที่ต้องการล้อกับสภาพแวดล้อมกายภาพของซอย ตัวโครงสร้างอาคารมีการจัดวางล้อไปกับแนวเสาไฟฟ้าตลอดซอย มีสเปซห้องจัดแสดงอยู่ตามชั้นต่างๆ โดยเฉพาะชั้นล่างสุดทำเหมือน ‘ซอย’ เล็กๆ เป็นแกลเลอรี่ขนาดย่อมติดถนน สามารถจัดปาร์ตี้บริเวณนี้ดึงดูดความสนใจจากคนที่ผ่านไปมาได้ด้วย

ในทำนองเดียวกัน ฉัตรพงษ์ยังได้รีโนเวตโชว์รูม kenkoon แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ไทยสุดเรียบหรู ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้าม ไม่ไกลกับ Kitchenette จากเดิมที่เป็นบ้านสวนปิดล้อมด้วยรั้วอิฐทึบ มองไม่เห็นความเขียวขจีจากด้านนอก กลายเป็นออฟฟิศที่มีรั้วเป็นผนังกระจกสำหรับ display สินค้าใหม่ๆ แปลงร่างมาจากบริเวณที่ฉัตรพงษ์เรียกว่า “พื้นที่ตะเข็บ” มีความกว้าง 2 เมตรอันเป็นขอบเขตกั้นระหว่างพื้นที่ส่วนบุคคลและพื้นที่สาธารณะ ช่วยดึงดูดสายตาจากคนที่ผ่านไปมาเห็นว่ามีกิจกรรมอะไรเกิดขึ้นด้วย

 

คอมมูนิตี้มอลล์ที่เปิดให้ชาวทองหล่อและเพื่อนมานั่งเล่นได้ทุกวัน

ใครที่แวะมาเที่ยวทองหล่อบ่อยๆ ต้องรู้จักแหล่งแฮงก์เอาต์สุดชิคอย่าง The Commons Thonglor ตั้งอยู่ในทองหล่อซอย 17 แน่ๆ เรียกได้ว่าเป็นผลงานสร้างชื่อของอมตะ และบริษัท Department of Architecture ก็ว่าได้ อันที่จริงสิ่งที่ทำให้ The Commons ประสบผลสำเร็จเริ่มมาจากโจทย์ที่ว่า ออกแบบพื้นที่เชิงพาณิชย์อย่างไรให้ทุกคนสามารถแวะมาได้บ่อยๆ แต่ร้านค้าสามารถทำกำไรในเชิงธุรกิจได้ดี ผลลัพธ์เลยออกมาในรูปแบบคอมมูนิตี้มอลล์กึ่ง outdoor ที่มีความเป็นพื้นที่สาธารณะแนวดิ่งของย่าน

เมื่อเดินทางมาถึง The Commons จุดเด่นที่เห็นได้ชัดคือตัวบันไดกว้างขวางด้านหน้าโครงการ เป็นขั้นบันไดกับที่นั่งพักสลับกันไป หากเหลือบมองขึ้นไป ก็จะพบกับช่องเปิดขนาดใหญ่บนพื้นชั้นบน ตัวดีไซน์ที่ว่าทำให้ผู้คนเห็นว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง เกิดผลพลอยได้ให้มีลูกค้ามากขึ้นไปด้วย นอกจากนี้ในแง่เทคนิคทางวิศวกรรมในการสร้างบรรยากาศสบาย พื้นที่ส่วนใหญ่ถูกออกแบบให้อยู่ในร่มเงา กันแดดกันฝนแต่มีแสงธรรมชาติส่องถึงอย่างเพียงพอ รวมถึงใช้ระบบพัดลมยักษ์ติดตั้งบริเวณหลังคา ช่วยดูดความร้อนออก และจัดวางสเปซให้ลมพัดได้ดี

ด้วยไอเดียการทำพื้นที่ส่วนกลางแสนสบายเช่นนี้แหละ ด้านการบริการลูกค้าสามารถซื้ออาหารจากร้านต่างๆและยกไปนั่งกินตรงไหนก็ได้ แถมยังมีการจัดเวิร์คช็อปอาร์ตๆ และดนตรีสดอยู่เสมอ ถ้าขาดเซอร์วิสเหล่านี้ไป The Commons คงไม่สามารถมอบประสบการณ์ดีๆ ให้เหล่าเพื่อนบ้านได้แน่

 

งานเสวนานี้เอง ช่วยยืนยันได้ว่าอาคารหรือสถาปัตยกรรมที่ดี อาจไม่ต้องตั้งตระหง่านอยู่อย่างโดดเดี่ยว หากแต่ควรมีปฏิสัมพันธ์กับองค์ประกอบแวดล้อมด้วย เช่นเดียวกับการใช้ชีวิตอยู่ในสังคม  แม้เราจะอยากมีความสุขอยู่ในบ้านของเรา แต่เราต่างก็อยากมีชีวิตสาธารณะที่ดีในเมืองเช่นกัน

 

ขอบคุณรูปภาพจาก คุณกรรณิการ์ รัตนปรีดากุล คุณฉัตรพงษ์ ชื่นฤดีมล และคุณอมตะ หลูไพบูลย์
Share :