ท่ามกลางภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ทำให้อุณหภูมิโลกพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและยังส่งผลต่อเนื่อง กระตุ้นให้ภัยพิบัติต่างๆ ทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกที ทั้งน้ำท่วม ไฟป่า ฝุ่นควัน พายุฝน ความแห้งแล้ง ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ตลอดจนห่วงโซ่อาหารและระบบนิเวศเองก็เริ่มเปราะบางมากขึ้นทุกที
แต่เมืองที่เราอยู่อาศัยก็ยังคงเติบโตและขยายตัวต่อไป และไม่ได้ปรับตัวให้สอดรับกับความเปลี่ยนไปของโลกที่ท้าทายความเป็นอยู่ที่มีมากขึ้น ยิ่งสำหรับชาวเมืองกรุงเทพฯ ฝนตก รถติด และน้ำท่วมกลายเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นทุกปีแม้ไม่มีใครอยากให้เกิด ฝนตกหนักเพียงระยะเวลาสั้นๆ ก็ทำให้เมืองทั้งเมืองหยุดชะงักลงได้ เพราะเมืองของเรานั้นไม่ได้ถูกออกแบบอย่างเข้าใจธรรมชาติ และเตรียมพร้อมเพื่อรับมือภัยพิบัติอย่างเพียงพอ
ดังนั้น เราจะออกแบบหรือปรับเปลี่ยนเมืองของเราให้พร้อมรับมือสิ่งเหล่านี้ได้อย่างไรบ้าง เพื่อหาหนทางและความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการแก้ปัญหาที่รุนแรงขึ้นทุกปีนี้ บริษัทภูมิสถาปนิก SHMA สถานทูตเนเธอร์แลนด์ และสถาบันการศึกษาด้านการจัดการน้ำ IHE Delft จึงร่วมกันจัดกิจกรรม Workshop Bangkok Climate Adaptation ขึ้น เพื่อเปิดพื้นที่สำหรับพูดคุย รับฟัง แลกเปลี่ยนความรู้จากกรณีศึกษาต่างๆ ในการออกแบบเมือง และเตรียมความพร้อมสำหรับรับมือธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงไป โดยกิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ Bangkok Design Week 2021
การพูดคุยกันเรื่องการออกแบบเมืองที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศนั้น ในสังคมไทยยังถือเป็นเรื่องใหม่ และวิธีการเดิมๆ ที่ใช้กันอยู่ก็ดูจะไม่เพียงพอต่อการแก้ปัญหา กิจกรรม Bangkok Climate Adaptation จึงถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือกิจกรรมบรรยายออนไลน์โดยผู้เชี่ยวชาญทั้งจากประเทศไทย และเนเธอร์แลนด์เพื่อแบ่งปันองค์ความรู้ วิธีคิด และกรณีศึกษาอย่างเปิดกว้างแก่ทุกคนที่สนใจ และส่วนที่สองเป็นกิจกรรมเชิงปฏิบัติการที่เปิดรับสมัครผู้คนจากหลากหลายภาคส่วน ทั้งนักออกแบบ เจ้าหน้าที่รัฐจากสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง ตัวแทนจากบริษัทเอกชนในพื้นที่ รวมถึงนิสิตนักศึกษาและบุคคลทั่วไป มาช่วยกันลองคิดและออกแบบเมืองที่พร้อมรับมืออุทกภัยในแบบของแต่ละกลุ่ม
การออกแบบที่ยืดหยุ่น
ในการบรรยายหัวข้อ Design as a tool for complex urban climate adaptation planning โดยคุณ Matthijs Bouw (Associate Professor of Practice Rockefeller Urban Resilience Fellow McHarg Center Fellow for Risk and Resilience -One Architecture) ได้พาเรากระโดดข้ามภาพจำโครงสร้างการป้องกันน้ำท่วมอย่างกำแพงกันน้ำแบบเดิมๆ ด้วยการนำเสนองานออกแบบกำแพงกันน้ำรอบเกาะแมนฮัตตันของนครนิวยอร์ก ซึ่งกำแพงกันน้ำแต่ละส่วนของเกาะจะถูกออกแบบใหม่ให้เหมาะสมกับพื้นที่นั้นๆ และรองรับการใช้งานที่หลากหลาย เช่น พื้นที่ริมน้ำทางตะวันออกของเกาะ โดยออกแบบให้เป็นสวนสาธารณะที่มีลักษณะเป็นทางลาด ที่สามารถใช้งานเป็นสวนในเวลาปกติ และเป็นกำแพงป้องกันน้ำเมื่อมีพายุ
คุณ Matthijs เน้นว่า หลักสำคัญคือการเปลี่ยนวิธีที่เราคิดต่อสิ่งต่างๆ จาก mono-functional เป็น multi-functional ไม่ว่าจะเป็นถนน สวน ท่าเรือ สะพาน ทั้งหมดสามารถเป็นโครงสร้างในการป้องกันน้ำท่วมและรับมือภัยพิบัติได้ทั้งสิ้น ปัญหาในโลกสมัยใหม่นั้นซับซ้อน และงานออกแบบที่ยืดหยุ่นคือหัวใจสำคัญในการเชื่อมต่อความต้องการของผู้คนเข้ากับการวางแผน เทคโนโลยีทางวิศวกรรม การสื่อสาร วิสัยทัศน์ และอื่นๆ อีกมากมายเพื่อแก้ปัญหาที่ซับซ้อนเหล่านั้น
เข้าใจน้ำ เข้าใจเมือง
ในการบรรยายหัวข้อ Understanding flood risks and water system โดย Dr. William Veerbeek (Senior Researcher, Flood Resilience Group – IHE Delft) คุณ William อธิบายให้เราเข้าใจปัญหาน้ำท่วม เข้าใจความเสี่ยงที่ผู้คนกำลังเผชิญ รวมถึงให้กรอบการทำงานเพื่อบริหารความเสี่ยงนี้กับเรา เพราะความจริงแล้ว ปัญหาน้ำท่วมนั้นมีหลายแบบตามแต่ละสาเหตุ เช่น ปัญหาน้ำท่วมจากพายุฝน ปัญหาน้ำท่วมจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ปัญหาน้ำท่วมจากภัยน้ำหลาก และอื่นๆ ซึ่งแน่นอนว่าการรับมือก็มีหลากหลายวิธีซึ่งต้องปรับใช้ให้เหมาะกับเมืองของตนเอง
สำหรับทิมหานคร ปัญหาน้ำท่วมนั้นมักเกิดจากฝนตกหนักรุนแรงทำให้มีน้ำปริมาณมหาศาลในเมืองอย่างฉับพลัน ซึ่งระบบระบายน้ำของเมืองไม่สามารถระบายปริมาณน้ำดังกล่าวได้ทัน จึงเกิดเป็นปัญหาน้ำท่วมขังบนผิวถนนทุกปี ซึ่งหากไม่ขยายขนาดของระบบระบายน้ำ ก็อาจแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการสร้างระบบกักเก็บและชะลอน้ำในเมืองที่จะค่อยๆ ถ่ายเทน้ำลงสู่ท่อระบายน้ำ ในระดับที่ระบบยังสามารถทำงานแทนได้เช่นกัน
เรียนรู้จากตัวอย่างที่หลากหลาย
การบรรยายหัวข้อ Governance for adaptation โดยคุณ Kittima Leeruttanawisut (Local Strategic Advisor for the Global Future Cities Programme – UN-Habitat) พาเราไปเรียนรู้กรณีศึกษาต่างๆ ได้แก่ ประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งต้องต่อสู้กับปัญหาระดับน้ำมาอย่างยาวนานเนื่องจากมีพื้นดินที่อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล ก่อนจะมีการนำเสนอวิธีคิดใหม่ คือ การอยู่ร่วมกับน้ำ โดยการสร้างโครงสร้างพื้นฐานของเมืองให้สามารถใช้งานได้แม้ระดับน้ำจะสูงขึ้น เช่น การสร้างหมู่บ้านลอยน้ำ ลานกิจกรรมที่มีการใช้งานหลากหลายสำหรับตอนที่มีน้ำและไม่มีน้ำ หรือแม้แต่อาคารจอดรถใต้ดินเพื่อป้องกันความเสียหายจากภัยน้ำท่วม และเมืองเกาสง ไต้หวัน ซึ่งเป็นเมืองท่าอุตสาหกรรมซึ่งต้องเผชิญพายุไต้ฝุ่นเป็นประจำ นำมาซึ่งการทำระบบข้อมูลความเสี่ยงจากภัยพิบัติ เช่น แผนที่แสดงความเสี่ยงการเกิดน้ำท่วมในแต่ละพื้นที่ของเมือง แผนที่แสดงความเสี่ยงการเกิดแผ่นดินถล่ม รวมถึงการออกแบบอาคารยกสูงเพื่อป้องกันน้ำท่วม การเพิ่มพื้นที่รองรับน้ำในเมืองทั้งบนผิวดินและใต้ดิน ซึ่งยังมีอีกหลากหลายการเตรียมพร้อมที่เมืองสามารถทำได้ เพื่อจะรับมือและอยู่ร่วมกับธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงไป
Big Data เพื่อการตัดสินใจที่แม่นยำในการพัฒนา
ทุกวันนี้ที่เทคโนโลยีข้อมูลสารสนเทศพัฒนาอย่างก้าวกระโดด เราสามารถมองเห็นสภาพของเมืองที่เราอาศัยได้ชัดเจน แม่นยำขึ้น การบรรยายหัวข้อ Big Earth Data to enhance Urban Resilience โดยคุณ Chinaporn Meechaiya (Hydrologist/Water and Disaster Theme Lead SERVIR-Mekong – Asian Disaster Preparedness Center (ADPC) พาเราไปดูการใช้ข้อมูล Big Data เพื่อวางแผนการพัฒนาเมืองในระยะยาวอย่างแม่นยำ ข้อมูลเหล่านี้ตอบคำถามให้เราหลายอย่าง เช่น ข้อมูลปริมาณน้ำฝนจะช่วยบอกเราได้ว่า หากเราจะทำระบบรองรับน้ำฝนก่อนปล่อยลงสู่ระบบระบายน้ำของเมือง เราต้องสร้างมากแค่ไหนจึงจะเพียงพอ ข้อมูลเหล่านี้ยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการตัดสินใจเรื่องความคุ้มค่าของการลงทุนในการพัฒนา และบริหารจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ซึ่งแม้ในปัจจุบันการเก็บข้อมูลและนำมาใช้งานในการพัฒนาเมืองจะยังมีไม่มากในไทย แต่ในอนาคต ระบบนี้จะเป็นอีกเครื่องมือสำคัญในการสร้างเมืองที่พร้อมรับมือการความเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างแน่นอน
ทดลองออกแบบ และหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ
ในกิจกรรมส่วนที่สองของ workshop มีการแบ่งผู้เข้าร่วมกิจกรรมเป็น 3 กลุ่ม เพื่อออกแบบวิธีแก้ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพชั้นในโดยมีการใช้ข้อมูลจริงของพื้นที่ในเขตลุมพินีเป็นไซต์สำหรับการออกแบบ ซึ่งแต่ละกลุ่มถึงแม้จะออกแบบจากชุดข้อมูลเดียวกัน ไซต์เดียวกัน แต่ด้วยความถนัด สายงาน และความสนใจที่ต่างกัน ก็ทำให้แต่ละกลุ่มได้ผลลัพธ์สุดท้ายออกมาแตกต่างกัน โดยมีหลายประเด็นที่น่าสนใจ เช่น
และแนวทางของกลุ่ม A: Nature based adaptation กลุ่ม A เน้นการเปลี่ยนโครงสร้างที่ไม่รองรับน้ำอย่างผิวถนนและอาคารคอนกรีตให้สามารถรองรับน้ำได้ทั้งในพื้นที่เอกชนซึ่งกำลังมีการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ และอาคารห้องแถวขนาดเล็กในเขตชุมชน ซึ่งในการนำเสนอได้มีการพูดถึงภูมิปัญญาของชาวบ้านในอดีต ที่จะรองน้ำฝนใส่ในโอ่งและนำน้ำฝนนั้นมาใช้แทนน้ำประปา ทำให้นำไปสู่บทสนทนาที่น่าสนใจมากว่า ปัจจุบันในการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ มีกฎหมายที่ระบุให้อาคารดังกล่าวต้องมีความสามารถในการรองรับน้ำตามที่กำหนด แต่สำหรับอาคารทั่วไปหรือบ้านคนยังไม่ได้มีกฎหมายหรือนโยบายใดๆ มาผลักดันเรื่องนี้ ซึ่งหากทุกบ้านมีโอ่งคอยรองรับน้ำฝน ก็จะช่วยกักเก็บน้ำได้ในปริมาณมากก่อนที่จะไหลลงสู่ระบบระบายน้ำของเมือง
แนวทางของกลุ่ม B: Community based adaptation ซึ่งมีแนวคิดว่าอยากรักษาชุมชนรวมถึงรูปแบบวิถีชีวิตเดิมของชุมชนเอาไว้ แม้โครงสร้างพื้นฐานของพื้นที่นี้จะเปลี่ยนไปเพื่อรับมือระดับน้ำที่สูงขึ้น โดยมีความพยายามจะทำให้พื้นที่รองรับน้ำสามารถใช้งานเป็นพื้นที่สาธารณะของชุมชนได้ด้วย และในทางกลับกัน ก็อยากจะพัฒนาพื้นที่กิจกรรมทางสังคมที่มีอยู่เดิม เช่นลานกิจกรรมหรือตลาดให้มีศักยภาพในการรองรับน้ำด้วยนั่นเอง การจะทำให้ชุมชนยังสามารถคงอยู่ในพื้นที่ได้นั้น นอกจากจะมีโครงสร้างพื้นฐานที่ช่วยรองรับน้ำแล้วชุมชนยังต้องการความมั่นคงทางเศรษฐกิจ อาหาร และพื้นที่สำหรับดำเนินกิจกรรมตามวิถีชุมชน ทำให้วิธีคิดแบบนี้มีความท้าทายที่น่าสนใจอย่างมากหากนำไปใช้จริง
แนวทางของกลุ่ม C: รักษาและพัฒนา Culture hotspot กลุ่มนี้เล็งเห็นว่าในพื้นที่ที่กำหนดให้มีพื้นที่ทางวัฒนธรรมที่สำคัญหลายแห่งโดยเฉพาะศาสนสถาน จึงมองสิ่งนี้เป็นโอกาสในการพัฒนาย่านชุมชนโดยมีพื้นที่ทางวัฒนธรรมเป็นศูนย์กลาง โดยมี green infrastructure เป็นตัวช่วยรองรับน้ำ การเพิ่มพื้นที่สีเขียวทั้งบนผิวดินและในแนวตั้งจะช่วยรองรับน้ำฝนและชะลอการไหลของน้ำก่อนเข้าสู่ระบบระบายน้ำของเมือง ซึ่งมีพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ของย่านอย่างสวนลุมพินีและสวนเบญจกิติเป็นพื้นที่รองรับน้ำ พื้นที่สีเขียวเหล่านี้ยังช่วยให้พื้นที่ทางวัฒนธรรมของชุมชนมีร่มเงา อากาศเย็นสบาย กลายเป็นพื้นที่ทางสังคมของทั้งคนในพื้นที่และผู้มาเยือน
วิธีแก้ปัญหาของแต่ละเมือง
ในช่วง Q&A มีคำถามที่น่าสนใจมากคำถามหนึ่ง นั่นคือ เรามีคู่มือหรือแนวทางปฏิบัติสำหรับการพัฒนาเมืองเพื่อรับมือปัญหาน้ำท่วมไหม ซึ่งคำตอบของเราคือ คู่มือสำเร็จรูปนั้นไม่มีหรอก แน่นอนว่าองค์ความรู้ ข้อมูล Big Data ต่างๆ นั้นมีอยู่ แต่สิ่งสำคัญจริงๆ คือ เราจะนำความรู้และข้อมูลเหล่านั้นไปปรับใช้ตามเงื่อนไข ลักษณะเฉพาะของพื้นที่ สังคม ผู้คน นโยบาย สร้างสรรค์ออกมาเป็นวิธีแก้ปัญหาของแต่ละเมืองอย่างไรต่างหาก
เหมือนการนำเสนอแนวทางของทั้งสามกลุ่มที่ใช้ข้อมูลชุดเดียวกัน แต่ก็มีจุดมุ่งเน้นแตกต่างกัน อีกทั้งยังมีประเด็นยิบย่อยที่น่าสนใจมากมาย ทำให้เราเห็นว่า การออกแบบ พัฒนา และสร้างเมืองที่สอดรับกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไปนั้นยังมีความเป็นไปได้อีกมากมายหลายแบบ และทำให้เรายิ่งเข้าใจว่าการเปิดพื้นที่ สร้างวงสนทนาที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งรัฐบาล เอกชน นักลงทุน นักออกแบบ และคนในชุมชนจะสามารถพูดคุยและหาทางออกร่วมกันได้ เหมือนที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรม workshop ของเราทำในครั้งนี้นั้นสำคัญขนาดไหน
Bangkok Climate Adaptation อาจจะเป็นกิจกรรมเล็กๆ ที่จัดขึ้นแค่สองวัน ผู้เข้าร่วมไม่มีโอกาสได้เจอหน้ากันจริงๆ และต้องเข้าร่วมผ่านระบบ zoom เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของไวรัส โควิด-19 แต่ถึงอย่างนั้น เราเชื่อว่าบทสนทนา ประเด็นที่น่าสนใจ และความเป็นไปได้ใหม่ที่เราค้นพบระหว่างทำ workshop นั้นจะเป็นอีกหนึ่งในส่วนเล็กๆ ในการผลักดันให้เมืองของเรากลายเป็น Adaptive city ในอนาคตอย่างแน่นอน
Illustration by Supatsorn Boontumma