CITY CRACKER

Alternative Futures อนาคตเมือง อนาคตเรา ‘เราออกแบบได้’

เวลาจะมีการเลือกตั้ง หรือโครงการพัฒนาใดๆ โดยรัฐ เรามักจะได้ยินข้อเสนอของนักการเมืองที่จะมาวาดฝันถึงอนาคตที่จะเกิดขึ้น และอนาคตที่ไม่ได้เปิดช่องว่างของทางเลือกให้เราเท่าไหร่นัก 

 

พี่น้องครับ รัฐบาลมีโครงการจะพัฒนาเมืองให้มีความเป็นอยู่ที่ดี ท่านเห็นด้วยไหมครับ 

 

คำถามปลายปิดของการพัฒนาเมืองที่ไม่ได้มีทางเลือกอื่น นอกจากเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เป็นอนาคตที่เราไม่มีส่วนกำหนด แม้การพัฒนานั้นจะเป็นการพัฒนาด้วยเงินภาษีของเรา และเป็นการพัฒนาที่กำลังจะสร้างผลกระทบอย่างมหาศาลต่อคุณภาพชีวิตของเราต่อจากนี้ 

เพราะเมืองมีความหลากหลายซับซ้อนการ แสวงหาทางเลือกจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยให้ตอบโจทย์ผู้คนและธรรมชาติ ตลอดจนสถานการณ์ที่ปรับเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วกว่าที่ผ่านมา ในวันที่เมืองเต็มไปด้วยปัญหาที่รุมเร้าจาก โลกร้อน โรคระบาด ภัยพิบัติ จำนวนประชากรที่เปลี่ยน พฤติกรรมใหม่ๆ กระทั่งเทคโนโลยี ปัญหามากมายที่ยากจะคาดเดา ทำให้การพัฒนาที่ขาดทางเลือกและยึดโยงกับโครงสร้างของรัฐแบบ top down ตลอดจนยึดติดกับความเชื่อและวิธีคิดแบบเดิมๆ นั้นได้พิสูจน์แล้วว่านำมาซึ่งการพัฒนาที่ทำลายทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ ไปจนถึงสิ่งแวดล้อม กลายเป็นเมืองที่ไม่ยั่งยืนดังที่เรากำลังเผชิญกับผลลัพธ์ในทุกวันนี้ 

เมืองทุกวันนี้และอนาคตไม่ได้มีแแค่รัฐที่เป็นตัวขับเคลื่อน แต่มันขับเคลื่อนด้วยผู้คน เยาวชน เอกชน คุณป้าในชุมชน พี่วินมอเตอร์ไซค์ เทคโนโลยี กลุ่มความหลากหลายทางสังคม ฯลฯ ซึ่งการจะแสวงหาทางเลือกที่สอดคล้องกับความต้องการของคนแต่ละกลุ่ม ก็เริ่มจากการเชื่อมั่นก่อนว่าอนาคตเราออกแบบได้ ไม่ได้มีสูตรสำเร็จหรือทางเลือกเดียว แต่เป็นอนาคตที่เปิดกว้างต่อจินตนาการ ความรู้ใหม่ๆ และที่สำคัญคือการเอาความคิด ความเห็นมาสะท้อน มาสนทนา มาทดลองเพื่อแสวงหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ อย่างเปิดกว้าง เพื่อเป็นแนวทางที่เราทุกคนมีส่วนได้ในการกำหนดอนาคตเมืองและอนาคตเรา

ท่ามกลางระบบโครงสร้างของรัฐที่เป็นอุปสรรคและทัศนคติที่ปิดกั้นเพื่อไปสู่สิ่งเหล่านั้นอาจไม่ใช่ง่าย แต่ใช่ว่าเราจะไม่เห็นสัญญาณใหม่ๆ ที่กำลังเกิดขึ้น ด้วยการบีบคั้นของระบบรวมศูนย์ การเกิดขึ้นของโควิด-19 ตลอดจนปรากฏการณ์โลกรวนและสภาวะเศรษฐกิจ ตัวแปรเหล่านี้ได้ส่งผลให้เกิดการเร่งปฏิกิริยาต่อการแสวงหาทางเลือกเพื่อการอยู่รอดของเรากับเมือง 

เราจึงได้เห็นปรากฏการณ์ของการออกแบบเมืองในรูปแบบใหม่ๆ อย่างการระดมทุนทำพื้นที่สาธารณะ เปลี่ยนพื้นที่ร้างมาเป็นสวนขนาดเล็ก หรือฟาร์มในเมือง (urban farm)  

เราเห็นกระบวนการทดลองแบบ tactical urbanism ในการปรับเมืองให้น่าเดินขึ้นมีชีวิตชีวามากขึ้น 

เราเห็นการสร้างเมืองที่เน้นการเดินในระยะ 15 นาที เพื่อลดการใช้รถยนต์ 

เราเห็นการสร้างนโยบายสาธารณะที่มาจากประชาชนเพื่อเรียกร้องการมีอากาศสะอาด 

เราได้เห็นการหันมาใช้ธรรมชาติเยียวยาธรรมชาติในเมืองมากขึ้นผ่านการเพิ่ทพื้นที่สีเขียวและพื้นที่ป่าในเมือง 

เราได้เห็นการใช้เทคโนโลยีผสานงานออกแบบเพื่อแก้ปัญหา PM 2.5 

เราเห็นการเดินสำรวจเมืองเพื่อทำฐานข้อมูลพื้นที่ว่างเพื่อวิเคราะห์ปัญหาและศักยภาพ 

เราเห็นความพยายามในกาสร้างแอปพลิเคชันเพื่อตรวจสอบการใช้งบประมาณของภาครัฐ 

เราเห็นการทำแพลตฟอร์มเพื่อทำให้ข้อมูลเมืองเข้าถึงได้โดยทุกคน 

เราเห็นการอพยพสู่ชีวิตชานเมืองและชนบทที่เทคโนโลยีและการเดินทางใหม่ๆ สามารถยึดโยงคนและงาน รวมถึงชีวิตทที่สมดุลไว้ด้วยกันได้ 

เราได้เห็นการสร้างกรีนจ็อบ (green job) มาทดแทนตำแหน่งงานเดิมที่ส่งเสริมการสร้างเสริมสิ่งแวดล้อม 

เราเห็นการสร้างที่อยู่อาศัยรูปแบบใหม่ๆ ที่จะตอบโจทย์ชีวิตคนจนเมืองมากขึ้น  

เราได้เห็นความพยายามสร้างมาตรการทางภาษี incentive เพื่อกระตุ้นให้ภาคเอกชนกันมาลงมุนในการสร้างเมืองที่ยั่งยืนมากขึ้น 

การเปลี่ยนแปลงที่กำลังก่อตัวขึ้น (weak signal) เหล่านี้กำลังบ่งชี้ว่า การพัฒนาเมืองรูปแบบเดิมๆ ที่เป็นสูตรสำเร็จได้หมดไปแล้ว และมีทางเลือกที่ตอบโจทย์มากกว่าการพัฒนาที่ผ่านมา ที่สำคัญมีผู้เล่นใหม่ๆ ที่มีศักยภาพและพร้อมมาสร้างเมืองให้ดีขึ้นอย่างที่รัฐทำเองไม่ได้มาก่อน -ที่รัฐเองต้องหันมาร่วมมือ แต่ความท้าทายคือทำอย่างไรเราถึงจะทำให้ weak signal เหล่านั้น มีพลังมากพอที่จะกลายเป็นกระแสหลักที่มาดึงสมดุลให้เมืองดีพอสำหรับทุกคน ลดช่องว่างและความเหลื่อมล้ำ ยั่งยืนทั้วต่อคนและธรรมชาติ และที่สำคัญให้การพัฒนาเมืองสามารถเกิดจากหน่วยย่อยๆ ในสังคมที่สามารถสร้าง หรือมีวิธีการ ตลอดจนคำตอบที่หลากหลายและเหมาะกับแต่ละคนแต่ละที่ได้ เพื่อให้เมืองรับมือกับอนาคตได้เต็มศักยภาพภาพอย่างที่ควรจะเป็น 

หลายคนกำลังเรียกร้องต่อการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่เป็นอุปสรรคสำคัญ คือปิดกั้น ไม่กระจายอำนาจให้กลุ่มก้อนทางสังคมมีพลังมากพอที่จะมาช่วยกันสร้างเมืองนี้ให้เติบโต ซึ่งเวลาที่สูญเสียไปทุกขณะนั้น กลไกเดิม วิธีการเดิม หรือทัศนคติเดิม อาจกำลังสร้างอนาคตของเมืองและคุณภาพชีวิตที่เราไม่ต้องการอยู่ ตอนนี้ถึงเวลาแล้วที่เราต้องมาร่วมกลั่นความคิดเพื่อส่งสัญญาณของอนาคตที่เราต้องการในมิติและแง่มุมต่างๆ เพื่อสร้างเป็นเป้าหมายใหม่ให้เราทุกคน ทั้งพลเมือง รัฐ เอกชน ประชาสังคม และภาคส่วนต่างๆ ให้หันมาขับเคลื่อนเมืองที่จะสร้างคุณภาพชีวิตให้เราทุกคนอย่างเท่าทัน เท่าเทียม และยั่งยืนเพราะอนาคตเมืองและอนาคตเรา ‘เราออกแบบได้’

City cracker ขอชวนทุกคน มาร่วมออกแบบอนาคตเมือง ผ่านการให้ความเห็นต่อประเด็นที่ท้าทายอนาคตเมืองทั้ง 10 ประเด็น

  1. Metaverse City
  2. 15 Minute City
  3. Health and Well Being City
  4. City and Wilderness
  5. Future of Workplace
  6. Adaptive Reuse City
  7. Future of Architecture 2022
  8. Mind Healing City
  9. Mix Used City
  10. Future of Green City
  11. Future of Mobility
  12. Future of Housing

พร้อมติดตามอ่านเทรนด์ของเมืองแห่งอนาคตที่กำลังลังจะเปลี่ยนไป ในเพจ City Cracker ไปพร้อมๆ กัน 

 

  • Yossapon Boonsom

    ภูมิสถาปนิกและนักรณรงค์เพื่อแม่น้ำ พื้นที่สาธารณะและเมืองสำหรับทุกคน ที่ปัจจุบันหันมาทำสื่อที่เพื่อสร้างความเข้าใจต่อการพัฒนาเมืองร่วมกัน ในบทบาทของบรรณาธิการบริหาร เพจ City Cracker

Share :