CITY CRACKER

สถาปัตยกรรมเพื่อผู้หญิงและคนพลัดถิ่น ‘Yasmeen Lari’ สถาปนิกหญิง เจ้าของรางวัล RIBA 2023 ผู้ใช้งานออกแบบยกระดับคุณภาพชีวิตและแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมผ่านแนวคิดคาร์บอนเป็นศูนย์

ล่าสุดทาง The Royal Institute of British Architects หรือ RIBA ได้ประกาศผลรางวัล Royal Gold Medal 2023 โดยในปีนี้ผู้ที่ได้รับรางวัลทองคำนี้คือสถาปนิกหญิงชาวปากีสถาน Professor Yasmeen Lari วัย 79 ปี

เธอเป็นสถาปนิกหญิงที่ได้รับรางวัลนี้ไป โดยผลงานของ Yasmeen Lari ที่โดดเด่นจนได้รับคว้ารางวัลนี้มาครองคือ การออกแบบและสร้างที่พักอาศัยแบบ zero-carbon เพื่อผู้ประสบภัยธรรมชาติ ผู้ลี้ภัย หรือผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงที่พักอาศัยและสาธารณูปโภคได้ สำหรับเจ้ารางวัลนี้จะถูกให้ผู้รับในช่วงกลางปี 2023 โดยความพิเศษของรางวัลในปีนี้เป็นครั้งแรกที่ได้มีการเซ็นรับรองจากสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3

Yasmeen Lari ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับการออกแบบพื้นที่อยู่อาศัยในปากีสถานเป็นอย่างมาก ทั้งในแง่ของการปรับเปลี่ยนพื้นที่ให้เป็นชุมชนปลอดภัย น่าอยู่ อีกทั้งยังเอื้อให้ผู้อยู่อาศัยมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีมากขึ้น พร้อมส่งเสริมสุขภาวะต่างๆ และที่สำคัญคือการทำให้พื้นที่อยู่อาศัยไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยหลักการ zero-carbon

เพื่อให้เห็นภาพของบ้านที่ลดการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ แถมยังเอื้อให้ผู้คนที่วิถีการใช้ชีวิตที่ดีและเหมาะสมกับประเทศแถบเอเชียใต้มากขึ้น City Cracker ชวนทำความรู้จักกับสถาปนิกหญิงชาวปากีสถาน Yasmeen Lari ผ่านแนวคิดการทำงานและงานออกแบบที่ทำให้เธอได้รับรางวัล Royal Gold Medal 2023 ทั้งในแง่ของงานออกแบบแนวคิด บริบทการใช้งานของผู้คนและพื้นที่ ตลอดจนผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับชุมชนและโลก

 

© edition.cnn.com

สถาปนิกหญิงผู้ขับเคลื่อนความเท่าเทียมด้วยสถาปัตยกรรม

Yasmeen Lari เกิดที่ประเทศปากีสถาน ก่อนจะย้ายไปเรียนต่อที่ลอนดอน และกลับมาเปิดบริษัทสถาปนิกหลังเรียนจบ ในฐานะสถาปนิก Yasmeen ถือว่าส่งอิทธิพลให้แก่สถาปัตยกรรมทั้งในประเทศบ้านเกิดและโลก ทั้งงานออกแบบที่เน้นความเป็นมนุษย์มากขึ้น ยกระดับการแก้ไขปัญหาที่โลกกำลังเผชิญ ทั้งโลกร้อน มลพิษทางอากาศ การตัดไม้ทำลายป่า ไปจนถึงด้านสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจของกลุ่มหญิงสาวในแถบชนบทเมือง หลักอย่างหนึ่งในการออกแบบของเธอคือการพัฒนคุณภาพชีวิตของหญิงสาวในปากีสถานให้ดีขึ้น พร้อมๆ กับคำนึงถึงปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมของโลกในปัจจุบันด้วยเช่นกัน งานออกแบบของ Yasmeen จึงเป็นเสมือนการขับเคลื่อนด้านมนุษยธรรมและเฟมินิสต์ไปพร้อมๆ กัน โดยทางสถาปนิกได้ตั้งเป้าหมายว่างานของตัวเองจะสามารถขับเคลื่อนให้ไปสู่ความเท่าเทียม และเร่งแก้ไขปัญหาต่างๆ ด้วยงานออกแบบเป็นหลัก

 

© archdaily.com

 

ปรับพื้นที่ในครัวให้รักผู้หญิงและรักษ์โลกมากขึ้น

คำนิยามหนึ่งที่ทาง RIBA ได้ให้ไว้กับเธอคือ A Revolutionary Force in Pakistan หรือแรงขับเคลื่อนที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของประเทศปากีสถาน ทั้งในแง่ของสังคม การเข้าถึง และสิ่งแวดล้อม ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนสะท้อนให้เราเห็นภาพชัดขึ้นผ่านผลงานหลักที่ทำให้สถาปนิกหญิงจากปากีสถานคนนี้ได้รับรางวัล RIBA

งานออกแบบด้วยแนวคิดคาร์บอนเป็นศูนย์สำหรับผู้พลัดถิ่น ผู้หญิง และผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่อยู่อาศัยได้ ด้วยบริบทพื้นที่ของเมืองแถบนั้นที่ผู้หญิงจะต้องทำครัวและอาหารสำหรับครอบครัว จึงนำมาสู่งานออกแบบพื้นที่ครัวที่เหมาะสมมากขึ้น คือใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในด้านของการก่อและฉาบปูน ยกระดับของส่วนเตาขึ้น ให้อากาศถ่ายเทและปลอดโปร่งมากขึ้น อีกทั้งยังเลือกใช้วัสดุและการออกแบบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อลดการใช้เชื้อเพลิงไปในปริมาณที่มากกว่าครึ่ง รวมถึงพัฒนาแนวคิดด้านการใช้ขยะเกษตรที่เหลือจากแต่ละครัวเรือนมาต่อยอดให้เกิดประโยชน์มากขึ้นด้วย

เปิดพื้นที่สาธารณะเพื่อการพบปะของผู้หญิง

หากมองในแง่ของวัฒนธรรม ผู้หญิงปากีสถานส่วนใหญ่มักใช้ชีวิตในบ้านเป็นหลักเพื่อดูแลบ้านและครอบครัว ซึ่งนอกจากงานออกแบบบ้านและครัวสำหรับผู้หญิงในปากีสถานแล้ว Yasmeen มองเห็นถึงความสำคัญของการเข้าถึงพื้นที่สาธารณะและสาธารณูปโภคของผู้หญิงมากขึ้น อีกทั้งยังต้องการปรับเปลี่ยนให้กลุ่มหญิงสาวให้ออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านได้มากขึ้น เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตทั้งในแง่กายภาพและจิตใจมากขึ้นอีกด้วย

สถาปัตยกรรมเท้าเปล่า หรือ Barefoot Social Architecture คือชื่อของแนวทางการออกแบบที่เธอได้ให้ไว้ ที่ต้องการจะลดการแยกตัวของผู้หญิงที่อยู่อาศัยเพียงแตในบ้านให้ออกมาพบปะและพูดคุยกับผู้คนด้านนอกมากขึ้น ผ่านหนึ่งในโปรเจกต์อย่าง The Pakistan Chulah คืองานออกแบบพื้นที่เป็นเสมือนศูนย์กลางที่ได้เชิญชวนให้เหล่าหญิงสาวได้เข้ามาเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายทอดงานฝีมือแบบดังเดิม เพื่อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนภายในพื้นที่มากขึ้น หรือการสร้างอิฐด้วยตัวเองเพื่อใช้ในพื้นที่บ้านของตนเอง ศูนย์กลางนี้จึงเป็นเสมือนพื้นที่การเรียนรู้และสังสรรค์ของกลุ่มผู้หญิง พร้อมกับเรียนรู้และทำความเข้าใจแนวคิด zero carbon ไปด้วยในเวลาเดียวกัน เพื่อนำมาสู่ความยั่งยืนของแต่ละหมู่บ้านต่อไปในอนาคต

 

© architectural-review.com

 

ออกแบบพื้นที่พักชั่วคราวสำหรับผู้ประสบภัยทางธรรมชาติ

ปัจจุบัน โลกเรากำลังเผชิญกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ มากมาย หนึ่งในนั้นคือเรื่องของภัยพิบัติที่เพิ่มมากขึ้น หนึ่งผลงานที่โดดเด่นคือการออกแบบสถาปัตยกรรมเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยตั้งแต่เริ่มเปิดบริษัทในปี 1980 ทางตัวสถาปนิกได้ออกแบบบ้านและเชลเตอร์หลายหลังด้วยคอนเซปต์ที่ทุกคนสามารถสร้างเองได้ และยั่งยืน เพื่อใช้สำหรับในช่วงเกิดภัยธรมชาติ โดยเมื่อนับรวมมาจนถึงปัจจุบัน เชลเตอร์และที่อยู่อาศัยเหล่านั้นสามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากน้ำท่วมและแผ่นดินไหวที่้ปากีสถาน ไปได้กว่า 36,000 ครอบครัว

แม้ว่าสถาปนิกหญิงชาวปากีสถานคนนี้ไม่ได้มองตัวเองในฐานะ Ecofemnism แต่จากผลงานที่ผ่านมาก็อาจพูดได้ว่าผลงานส่วนใหญ่ของ Yasmeen Lari จนนำมาสู่รางวัล RIBA 2023 คือการพัฒนาสถาปัตยกรรมที่มุ่งเน้นไปด้านคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก ทั้งยังส่งผลกระทบในวงกว้างอีกด้วย

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

archdaily.com/1000149

archdaily.com/999188

edition.cnn.com

 

  • Pharin Opasserepadung
  • Nawin Deangnul

    ช่างภาพผู้อยากให้เรื่องเที่ยวและเรื่องงานเป็นเรื่องเดียวกัน

Share :