CITY CRACKER

“ปีที่แล้วทำอะไร ปีนี้ก็ทำแบบนั้น” คุยเรื่องการแก้ปัญหาน้ำของรัฐไทย กับผศ.ดร.สิตางศุ์ พิลัยหล้า

หากพูดถึงบทบาทสำคัญๆ ของน้ำ กระทั่งแม่น้ำลำคลอง แน่นอนว่าคือการเป็นทรัพยากรสำคัญในการดำรงชีวิต ทั้งเป็นปัจจัยในการอุปโภคบริโภค เป็นเส้นทางคมนาคม กระทั่งเป็นทางระบายน้ำ แม้น้ำเป็นทรัพยากรที่ช่วยหล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนในเมือง แต่อีกด้านหนึ่งน้ำที่ควบคุมไม่ได้ก็สร้างผลกระทบกับความเป็นอยู่เช่นกัน โดยเฉพาะปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้ง ดังนั้นเพื่อสร้างสมดุลให้กับน้ำ และช่วยแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม การมีแผนรองรับสถานการณ์ว่าด้วยน้ำจึงเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องบริหารจัดการ

ปัญหาน้ำท่วม ความไม่สมดุลของน้ำกินน้ำใช้ หรือการสื่อสารระหว่างหน่วยงานและประชาชนนั้นเป็นปัญหาที่สะสมมาหลายปี ในทุกๆ ปี รวมถึงปีนี้และปีหน้า ประเทศไทยเองก็ได้มีแผนงานสำหรับบริหารจัดการน้ำ คือแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (ปี พ.ศ. 2561-2580) ซึ่งจากหลายๆ ปัจจัย เช่นสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงทำให้ภัยธรรมชาติรุนแรงและเกิดถี่ขึ้น ทำให้เห็นว่าแผนการบริหารจัดการดังกล่าวนั้นอาจไม่ตอบรับกับปัญหาหลากหลายมิติที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

เพื่อเข้าใจปัญหาและปรับการบริหารจัดการให้เข้าการกับภัยธรรมชาติที่เริ่มรุนแรงขึ้น City Cracker จึงชวน ผศ.ดร.สิตางศุ์ พิลัยหล้า อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มาพูดคุยเกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของรัฐไทย เข้าใจเงื่อนไขเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ ไปจนถึงข้อเสนอแนะสำหรับการบริหารจัดการน้ำเพื่อรับมือกับสภาวะปัจจุบัน

City Cracker: ปัญหาระบบระบายน้ำที่เก่ามากๆ น้ำไปไม่ถึงอุโมงค์ของกรุงเทพฯ ตอนนี้ยังเป็นปัญหาเดิมอยู่ไหม แล้วหน่วยงานมีการบริหารจัดการอย่างไร

อ.สิตางศุ์: การบริหารจัดการน้ำของกรุงเทพฯ เป็นแบบ Polder คือเป็นคัน มีลักษณะการจัดการน้ำด้วยการสูบผ่านปั๊ม เวลาฝนตกลงสู่พื้นถนนมันจะไหลลงสู่ท่อระบายที่อยู่ข้างถนน จากท่อระบายน้ำจะรวบรวมลงสู่คลอง จากคลองก็จะรวมลงสู่เจ้าพระยาและออกทะเล แต่การบริการจัดการตอนนี้ทุกระดับติดขัดไปหมด จินตนาการว่าน้ำฝนตกลงมาบนถนนปุ๊บ น้ำจะไหลลงไปที่ท่อรับน้ำที่อยู่ข้างๆ ก็จะโดนขยะไปหนึ่งชั้นที่มาปิดตรงช่องรับน้ำ ตรงนี้ทำให้เกิดน้ำท่วมไปแล้ว

ปัจจุบันการท่อระบายน้ำของกทม. มีประสิทธิภาพแค่ครึ่งเดียว เพราะมันมีทั้งดินทรุด ข้อต่อ ข้องอ หักเลี้ยว ใต้ดินมันอะไรต่อมิอะไรหักหลบกันเยอะมาก ซึ่งเหล่านี้ทำให้มีตะกอนและทรายไหลลงไปอยู่ในท่อ พอฝนตกลงมาก็ระบายไม่ทันและเกิดน้ำนอง พอน้ำไหลลงสู่คลองก็ต้องไปดูอีกว่าน้ำในคลองกับในแม่น้ำเจ้าพระยานั้นน้ำที่ไหนสูงกว่ากัน เพราะปกติน้ำในคลองจะต่ำกว่าเจ้าพระยาและจะต้องใช้การสูบลงสู่แม่น้ำ แต่จะทำได้อย่างไรก็ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของเครื่องสูบ จากนั้นเมื่อสูบลงเจ้าพระยาเสร็จ ตรงปากแม่น้ำกก็ต้องไปดูว่าน้ำในเจ้าพระยากับน้ำทะเล อะไรสูงต่ำกว่ากัน เพราะฉะนั้นถ้าพูดในภาพรวมคือระบบระบายน้ำของกทม. ตอนนี้จะดีไม่ดีอย่างไรขึ้นอยู่กับปั๊มเพราะเรามีปั๊มเป็นพระเอก

 

City Cracker: สำหรับพื้นที่อย่างกรุงเทพฯ นอกจากการมีตัวปั๊มและสร้างอุโมงค์ มีวิธีการแก้ไขยังไงเพื่อบรรเทาปัญหา

อ.สิตางศุ์: ของกทม. ถ้าเรายังแก้ปัญหาระบบระบายน้ำตั้งแต่เส้นเล็กสุดก่อนที่จะไปถึงเส้นใหญ่สุดคืออุโมงค์ ถ้าเรายังแก้ปัญหาเป็นลำดับไม่ได้ น้ำมันก็จะยังท่วมอยู่อย่างนี้ ที่ทำได้มากที่สุดก็คือการเพิ่มจุดสูบน้ำ ซึ่งจริงๆ แล้วสิ่งที่กทม. จะทำเพื่อบรรเทาได้ก็คือการหาแก้มลิงหรือหาพื้นที่หน่วงน้ำเพิ่ม ในหลายๆ พื้นที่ที่ระบบระบายน้ำมีปัญหา ถ้าเราไปใช้พื้นที่หน่วงน้ำมาช่วยมันก็จะช่วยได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็มีปัจจัยอีกว่าเราไม่มีพื้นที่ว่างสำหรับการทำพื้นที่หน่วงน้ำ ไม่มีพื้นที่ว่างที่เป็นสวนสาธารณะที่พอจะทำได้ แต่ถ้าเราไปจัดสรรพื้นที่สาธารณะให้มันสามารถเก็บน้ำได้เพิ่มขึ้น มันก็จะช่วยลดปัญหาน้ำท่วมของพื้นที่โซนนั้นไปได้

บางแห่งถ้ามันไม่มีพื้นที่เหนือผิวดินที่จะทำได้ เราก็ต้องพิจารณาว่าจะทำเป็นอ่างเก็บน้ำไหม แล้วพื้นที่ตรงไหนที่ทำได้ เช่นรามคำแหงที่มีทั้งพื้นที่ในมหา’ลัยที่ใช้เป็นพื้นที่แก้มลิงบนดินได้ บางพื้นที่ก็อาจจะสามารถทำเป็นอ่างเก็บน้ำใต้ดินได้ด้วย ซึ่งแก้มลิงกทม. มีแผนที่จะทำ แต่ยังไม่ได้ทำสักที ยังไปไม่ถึงจุดนั้น เพราะได้งบมาก็อยากเอามาสร้างอุโมงค์ก่อน มาตรการแบบนี้ก็เลยเกิดทีหลัง และไม่เกิดสักทีในบางพื้นที่

ถ้าจะแก้ระบบท่อกรุงเทพฯ ท่อน้ำฝนกับท่อน้ำเสียของกรุงเทพฯ เป็นท่อเดียวกัน ต่อให้ฝนไม่ตก ในภาวะปกติเราก็มีน้ำอยู่ในท่ออยู่แล้ว พอฝนตกลงมาปุ๊บมันไม่ได้เป็นท่อว่างๆ ที่รอน้ำฝนแต่เป็นท่อที่มีน้ำเสีย ซึ่งน้ำฝนลงไปเติมได้อีกไม่ถึงครึ่งท่อหรอก ฉะนั้น ด้วยระบบท่อมันไม่ได้เอื้อในการป้องกันน้ำท่วมของกทม. และเป็นไปได้ยากมากที่เราจะแยกท่อน้ำเสียกับท่อน้ำฝนออกจากกัน แต่ไม่ใช่ว่าเป็นไปไม่ได้ถ้าคิดจะทำแต่ก็มีความยาก อย่างที่อาจรย์บอก อันนี้คือเรื่องระบบระบาย แต่ถ้าเรายังทำบนท่อเดิมก็ต้องมีการเพิ่มประสิทธิภาพ จะขุดลอกจะวางท่อเพิ่มจะอะไรยังไงก็แล้วแต่ อันนี้คือเรื่องที่หนึ่ง

เรื่องที่สองคือหาพื้นที่เก็บน้ำเพิ่มเติมในลักษณะของรัฐ คือที่ราชพัชดุทั้งหลายที่ที่เป็นสวนเป็นอะไรทั้งหลาย หามาเก็บเพิ่ม เก็บใต้ดินก็ได้ อันนี้คือฝั่งรัฐ สำหรับฝั่งประชาชนและผู้ประกอบการทั้งหลาย ถ้าเราไปใช้โมเดลสิงคโปร์ก็ได้ สิงคโปร์เขาบอกว่า ‘every drop matters’ ก็คือน้ำทุกหยดฝนทุกหยุดต้องเก็บไว้ แล้วเอาน้ำนั้นไปเข้าระบบผลิตใหม่ เอาไป reuse recycle ออกมาเป็นน้ำสะอาดเพื่อเอากลับมาใช้ในระบบ ปัญหาของสิงคโปร์คือเขาไม่มีน้ำดิบ แต่ปัญหาของเราคือน้ำท่วม เพราะฉะนั้นเราก็ควรจะเก็บฝนทุกหยดไว้ก่อน ช่วยกันหน่วง ถามว่าช่วยได้ยังไง อย่างสิงคโปร์ก็คือทุกอาคารเขาจะรับฝนจากหลังคา แล้วฝนบนหลังคาก็ไหลรวมลงมา ใต้อาคารเขาจะมีเหมือนเป็นอ่างที่สร้างเพื่อเป็นเก็บ เป็นสี่เหลี่ยมเป็นแทงค์ เป็นถังเก็บน้ำอยู่ใต้ดินบ้างอยู่ที่จอดรถบ้าง ซึ่งในคอนเซปต์เดียวกันนี้เราสามารถใช้ได้ และให้แต่ละอาคารหน่วงน้ำได้ คือฝนที่ตกลงมาเราสามารถรวมรวบแล้วเอามาเก็บในแทงค์หรือใต้ดินได้ และเราก็สามารถเอาน้ำนั้นมาใช้ประโยชน์ได้ทีหลัง

เมื่อก่อนเรามีโอ่งที่จะเอาไว้เก็บน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้ง ลองนึกภาพว่าถ้าทุกบ้านมีโอ่งและช่วยเก็บน้ำฝน แทนที่มันจะไหลไปอย่างรวดเร็ว มันก็ช่วยชะลอน้ำไว้ได้ ต่อให้ไม่ใช้ก็ตาม แต่ยังไงก็เอามารดน้ำต้นไม้ได้ มันก็คือการตัดยอดน้ำ ฝนตกลงมารอไว้ แทนที่จะไหลไปทั้งร้อย ไปกองแล้วไปท่วมนอกบ้าน แต่ละบ้านก็เก็บ 10 10 10 เก็บได้ 50 ก็คือพร่องน้ำไปได้ครึ่งหนึ่ง น้ำที่จะไปนองอยู่นอกบ้านเรามันก็แค่ 50 เท่านั้นเอง

ในระดับชุมชนเราช่วยได้ แต่มันไม่มีการรงณรงค์แบบนี้เราในฐานะประชาชนเองเราก็ดูดายเหมือนกันนะ เราก็ไม่ได้ทำอะไรที่ช่วยโลกช่วยกทม. เราก็ฝังว่ากทม. ก็ทำสิ แต่ทำไมระบบระบายมันไม่ไหล ทำไมขยะมันเต็มไปหมด เราเองก็ดูดายที่จะช่วยเป็นส่วนหนึ่งของกทม. ที่จะบรรเทาปัญหาน้ำท่วมเหมือนกัน อาจารย์ว่าเราทุกคนช่วยกันได้ต่อให้เราไม่มีนวัตกรรมอะไรเลย เรื่องพวกนี้เราช่วยกันได้ เรื่องเล็กๆ และพอเราช่วยกันเยอะๆ มันมีผลที่ดี

City Cracker: ปัญหาของการใช้งบประมาณหลักของกรุงเทพฯ อยู่ตรงไหน อะไรที่ทำให้เรายังติดขัดกันอยู่

อ.สิตางศุ์: อย่างปีก่อนๆ งบประมาณส่วนใหญ่ของกรุงเทพฯ คือเอาไปใช้สร้างอุโมงค์ แต่ไม่ได้พยายามแก้ปัญหาระบบระบาย เพราะการแก้ปัญหาระบบระบายมันยาก อาจต้องมีการเปิดผิวถนน หรือนอกเหนือจากการขุดลอกธรรมดาอาจต้องมีไปรบกวนพื้นที่จราจร เขาเลยเลือกไปทำสิ่งที่ง่ายกว่าแต่ใช้งบประมาณเยอะ อย่างเช่นการสร้างอุโมงค์ ในการสร้างอุโมงค์มันมีพื้นที่ชัดเจนว่าจะไปสร้างตรงไหน หรืออุโมงค์ใต้ทางน้ำเดิม แม่น้ำเดิม คลองเดิม มันก็ไม่ต้องไปกระทบพื้นที่อื่นมาก

อีกปัญหาของกทม.ที่เป็นปัญหาสำคัญคือแม้กระทั่งหน่วยงานภายใต้กทม. เองก็คุยกันยาก งานระบบระบายน้ำของกทม. จะมีสำนักระบายน้ำที่ดูเรื่องระบายน้ำ แต่สำนักระบายน้ำไม่สามารถที่จะเปิดหน้าดินเพื่อแก้ปัญหาระบบระบายของกทม.ได้ การที่จะไปเปิดหน้าดินขึ้นมาแล้วทำระบบระบายใหม่เป็นงานของโยธาฯ ซึ่งสำนักการโยธาและสำนักระบายคือคนละสำนักกัน สำนักระบายจะทำอะไรไม่ได้ถ้าการโยธาไม่ยอม แปลว่าเราจะไปรับปรุงระบบระบายได้เราต้องรอให้สำนักการโยธาเขาปรับปรุงทางอะไรสักอย่างของเขาก่อน การประสานงานภายในกทม.ยังมีปัญหา เลยทำให้การแก้ไขปัญหาพวกนี้ มันคือใครแก้ไขปัญหาตรงไหนได้ก็ไปแก้ตรงนั้นก่อน แต่มันเป็นท่อนๆ ที่ไม่ประกอบร่างสักที

ปัญหาก็วนอยู่ที่เดิม ฝนตกปุ๊ปก็กลัวท่วม ในขณะที่สำนักระบายก็พยายามเก็บขยะที่ปลายเหตุ ไปเก็บขยะที่อยู่ในคลอง ในแม่น้ำ แต่ส่วนที่เจ้าหน้าที่เก็บขยะไม่พอ รถเก็บขยะไม่พอ ถังขยะข้างถนนล้ม ใครเป็นคนจัดการ มันก็เป็นอยู่อีกสำนักหนึ่ง มันไม่เชื่อมต่อกัน ในสเกลเล็กอย่างกทม.ก็มีปัญหา สเกลใหญ่ของประเทศก็มีปัญหาเหมือนกัน เพราะแต่ละคนก็ทำแต่ละท่อนแล้วมันไม่ประกอบร่างกันสักที

 

City Cracker: ดังนั้นการเรียงลำดับความสำคัญของการจัดการน้ำในพื้นที่เมืองอย่างกทม. ควรเริ่มจากที่ตรงไหนก่อน

อ.สิตางศุ์: ถ้าในพื้นที่เมืองมันต้องทำควบคู่กันระหว่างเรื่องโครงสร้างและการสร้างความตระหนัก โอเคมันอาจจะมีอะไรบางอย่างที่ทำได้ก่อน แต่ถ้าให้แนะนำก็คือทำควบคู่กัน คือเพิ่มประสิทธิภาพระบบระบายน้ำ ตรงไหนที่เราสามารถปรับปรุง เปลี่ยนท่อ วางท่อใหม่ หรือทำท่อเพิ่มเพื่อระบายน้ำได้ดีขึ้นก็ทำ ส่วนตรงไหนที่มีพื้นที่พอสำหรับการทำแก้มลิงหน่วงน้ำ ก็ต้องทำ ซึ่งทั้งสองแบบเป็นเรื่องของโครงสร้างเหมือนกันที่ต้องทำร่วมกัน

อีกฝั่งหนึ่งจะเป็นมาตรการแบบที่ไม่ใช่โครงสร้าง ก็คือสร้างการตระหนัก สร้างการรับรู้ในเรื่อง resilience ประชาชนยังไม่มีตรงนี้ การยอมรับปรับตัว การที่จะอยู่กับมันให้ได้ยังไม่มี อย่างเรื่องน้ำกับขยะ จริงๆ มันมาด้วยกัน เพราะพอมีขยะก็จะไปสร้างปัญหาให้ระบบระบาย เราพูดกันมาตลอดในเรื่องขยะ ทั้งขยะชิ้นเล็กที่ไปอุดตันให้น้ำไหลลงไม่ได้ รวมทั้งขยะชิ้นใหญ่ที่ลงไปในคลอง เรื่องขยะกับน้ำมันเป็นเรื่องที่ต้องสร้างความตระหนักรู้ของประชาชนไปพร้อมๆ กันกับการจัดการของหน่วยงาน คือฝั่งของหน่วยงานต้องขุดลอกตามภารกิจของตัวเองอยู่แล้ว ในฝั่งประชาชนเราก็ต้องจัดการเรื่องขยะของตัวเองทั้งขยะในบ้านและขยะที่อยู่ตามริมถนน เรื่องพวกนี้บางทีเราไม่รู้ว่าเป็นปัญหาที่ทำให้เกิดน้ำท่วมรุนแรง

City Cracker: การสื่อสารของกทม.กับประชาชนเป็นอย่างไร ทำไมเราถึงได้รับข้อมูลครึ่งๆ กลางๆ

อ.สิตางศุ์: ปกติเวลาที่อุตุฯ พยากรณ์เขาจะพยากรณ์ภาพใหญ่ทั้งประเทศ จะไม่ได้พยากรณ์พื้นที่ย่อยๆ เราอาจจะรู้ว่าโซนจังหวัดไหนที่ฝนจะตก แต่ไม่สามารถระบุลงไปได้ว่าจังหวัดนี้จะตกอำเภอไหน แต่กทม.จะมีหน่วยงาน ที่เรามีเรดาห์ของเราเอง ซึ่งต้องบอกได้ด้วยทรัพยากรที่เรามีเช่นดูข้อมูลเรดาห์หรือข้อมูลเมฆตรงนี้ เราบอกได้ว่าอีกชั่วโมงฝนมีแนวโน้มที่จะตกในเขตไหน เทคโนโลยีพวกนี้ทำได้ และถ้าข้อมูลเหล่านี้มีการสื่อสารออกไปให้ประชาชนที่อยู่กรุงเทพฯ อย่างถูกช่องทาง ประชาชนรับรู้ เราบอกว่าอีกสามชั่วโมงมีโอกาสที่จะเกิดฝนตกหนักในเขตพื้นที่รามคำแหงต่อเนื่องไปจนถึงพื้นที่ไหนๆ ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่นั้นให้เตรียมพร้อมที่จะรับเหตุการณ์

อันนี้ก็คือเรื่องต้นทาง แต่ทั้งนี้ต้องทำงานร่วมกันทั้งหมด ต้องโยงใยกัน แต่ละหน่วยงานมารับเรื่องไปจนสื่อสารถึงประชาชน และประชาชนก็สามารถมีส่วนร่วมได้ คือส่งข้อมูลกลับเข้ามาที่หน่วยงานรัฐ เป็นเหมือน two way communication ที่สามารถอัปเดตสถานการณ์ในพื้นที่กลับมาให้หน่วยงานรัฐได้ ซึ่งข้อมูลพวกนี้ก็จะเป็นประโยชน์กับหน่วยงานรัฐในการเอาไปปรับปรุงวิธีในการคาดการณ์ในอนาคตให้แม่นยำขึ้นได้เรื่อยๆ ด้วย มันต้องช่วยกันแต่ก็ต้องช่วยกันจริงๆ ไม่ใช่ใครคนใดคนหนึ่ง หรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แบบนั้นมันไม่ได้

City Cracker: แผนการบริหารจัดการน้ำของปี 65 จะเป็นอย่างไร

อ.สิตางศุ์: ในปีนี้ สทนช. ก็ทำหน้าที่ในภาพรวมเหมือนเดิม กรอบการทำงานในปีที่แล้วกับปีนี้ก็จะคล้ายๆ กัน คืออยู่ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) ของประเทศ ปีนี้เขาแบ่งเป้าหมายของงบน้ำออกเป็น 6 เป้าหมาย หนึ่งคือการจัดการน้ำอุปโภคบริโภคให้ถึงระดับชุมชน สองคือการสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต หรือจัดการน้ำเพื่อการเกษตร อุตสาหกรรม และรักษาระบบนิเวศ สามคือการจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย เป็นเรื่องการบรรเทาน้ำท่วมในพื้นที่เศรษฐกิจและพื้นที่ชุมชน สี่คือเรื่องการจัดการคุณภาพน้ำและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ เป็นการจัดการน้ำเสียและฟื้นฟูแหล่งน้ำทั่วประเทศให้มีคุณภาพอยู่ในระดับ 3 ที่เป็นระดับที่พอใช้ขึ้นไป ห้าคือการอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรม และป้องกันการพังทลายของดิน และหกคือการจัดการบริหารทรัพยากรน้ำครอบคลุมทุกลุ่มน้ำ เป็นเรื่องการวางแผนการจัดการลุ่มน้ำที่ประเทศไทยมีทั้งหมด 22 ลุ่มน้ำ ซึ่งเป้าหมายที่มีการของบประมาณมาณสูงที่สุดคือเป้าหมายที่ 2 และ 3 เป็นเรื่องของการจัดสรรน้ำเพื่อใช้ในภาคเกษตรและอุตสาหกรรม และการบรรเทาน้ำท่วมในพื้นที่ชุมชนและพื้นที่เศรษฐกิจ ซึ่งก็สะท้อนให้เห็นถึงการให้ความสำคัญในระดับชาติว่าเราให้ความสำคัญกับเรื่องของการหาน้ำมาใช้ให้พอ หรือก็คือปัญหาเรื่องน้ำขาดแคลนตามเป้าหมายที่ 2

City Cracker: อะไรคือปัญหาการในการบริหารจัดการน้ำของบ้านเรา

อ.สิตางศุ์: ความไม่สมดุลของการของน้ำและการใช้น้ำ และประเทศไทยก็แก้ปัญหานี้ด้วยการไม่สร้างสมดุลอย่างเดิม หนึ่งคือไม่จัดการการใช้น้ำให้สมดุลกับน้ำที่มี สองพยายามไปเอาน้ำจากแม่น้ำนานาชาติเข้ามาเติม เป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่ามีความขัดแย้งเรื่องการใช้น้ำว่าใครควรได้ความสำคัญมากกว่ากัน ตอนที่น้ำพอใช้มันไม่มีปัญหา แต่พอถึงหน้าแล้งก็จะมีคำถามว่าใครคือคนที่ควรจะได้น้ำก่อนระหว่างเกษตรกับอุตสาหกรรม ในขณะที่เกษตรเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลักของประเทศ อุตสาหกรรมเขาก็บอกว่าเขาก็เป็นกิจกรรมที่สร้างรายได้เป็นหลักที่สร้างรายได้ไม่น้อยไปกว่าเกษตร ตรงนี้มันเลยมีความขัดแย้งเรื่องการใช้น้ำ

พอมีความขัดแย้งแปลว่าเป็นเรื่องของความไม่สมดุล สิ่งที่ประเทศไทยทำเราไม่ได้กลับไปที่การสร้างสมดุล เราบอกว่าปัญหาเป็นเพราะไม่มีสมดุล แต่แนวทางที่เราแก้เราไม่ได้พยายามจะสร้างสมดุล ถ้าน้ำไม่พองั้นเราไปหาน้ำมาเติม ในความคิดอาจารย์คิดว่าไม่ใช่ การที่น้ำไม่พอคือน้ำต้นทุนในประเทศมันมีอยู่อย่างจำกัด ทีนี้ควรหาวิธีการใช้ให้มันอยู่ใต้ปริมาณน้ำที่มี อาจจะด้วยการประหยัดน้ำ ด้วยการใช้เทคโนโลยีในการใช้น้ำน้อยลง ทั้งในทางเกษตรหรือว่าอุตสาหกรรม

City Cracker: ประเทศอื่นแก้ไขปัญหาเดียวกันนี้ด้วยวิธีไหน

อ.สิตางศุ์: อย่างอิสราเอลที่ฝนน้อยกว่าเราไม่กี่รู้เท่า เขายังมีวิธีการจัดการน้ำที่มันพอ น้ำเป็นทรัพย์สิน ‘Every drops matters’ ซึ่งเราไม่มีแบบนั้น ของเราพอถึงหน้าฝนกลัวน้ำท่วมก็เร่งระบายๆ ใหญ่เลย พอถึงหน้าแล้งน้ำไม่พอทำยังไง ก็ฝันน้ำ มันเสียสมดุลไปหมด อย่างเป้าหมายที่ 2 ที่เน้นว่าการจัดการน้ำให้พอกับการใช้ ความเห็นของอาจารย์คือทำยังไงให้มีความสมดุลภายใต้น้ำที่มี อย่างที่บอกคือการลดการใช้น้ำในภาคส่วนที่ไม่จำเป็น ใช้เทคโนโลยีมาช่วยทั้งด้านเกษตรและอุตสาหกรรม

แอฟริกาใต้ตอนนี้ที่เขามีเคาต์ดาวน์ว่าน้ำในประเทศเหลือพอใช้อีกกี่วัน หรือในสิงคโปร์ที่มีนโยบายอาบน้ำไม่เกินเพลงจบ เปิดเพลง แต่ของเราไม่มีแบบนั้น เรายังรู้สึกว่ามันเหลือเฟือและยังรีบเร่งระบายลงทะเลอยู่ พอถึงจังหวะที่น้ำขาดแคลนเราก็อยากผันน้ำข้ามลุ่ม ถามว่าต้องเอาน้ำมาเติมเท่าไหร่ถึงจะเพียงพอกับการใช้ของเรา มีเท่าไหรมันก็ไม่พอถ้าเรารู้สึกว่ามันหามาเติมได้ขึ้นเรื่อยๆ ก็จะมีความอยากมากขึ้นเรื่อยๆ

City Cracker: ปัญหาการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำในภาพรวมของประเทศเราเป็นแบบไหน

อ.สิตางศุ์: ตอนนี้ภาพรวมการบริหารจัดการน้ำของเรามันยังเหมือนเดิมทุกๆ ปี เรามีมากกว่า 30 หน่วยงาน ภายใต้ 9 กระทรวงทั้งหมดนี้จะอยู่ในระดับเท่ากัน อย่างเช่นกรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมอุตินิยมวิทยา กรมเจ้าท่า กรมโยธาธิการและผังเมือง ทั้งหมดเป็นหน่วยงานระดับกรมแต่อยู่ต่างกระทรวง แต่ละคนจะทำงานตามพันธกิจของตัวเอง โดยที่เมื่อก่อนไม่มีใครคุมอยู่ข้างบน ในระดับนโยบายไม่มีใครคุมอยู่ ซึ่งหลุดจากกรมก็เป็นกระทรวง พันธกิจของกระทรวงแต่ละกระทรวงก็ไม่เหมือนกัน

เราไม่มีเจ้าภาพเรื่องการจัดการน้ำที่แท้จริง เลยนำมาสู่หน่วยงานที่เราคิดว่าจะให้เขามาทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพในการจัดการน้ำของประเทศ เรียกว่าสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ตอนนี้ถูกตั้งมาได้ 3 ปี โดยสทนช. นี้สังกัดสำนักนายก ทำหน้าที่เป็นผู้วางระเบียบดูแลหน่วยงานปฏิบัติด้านน้ำทั้งหมด และจะทำไปพร้อมกันภายใต้นโยบายชาติ

สทนช. มีหน้าที่ในการกำกับดูแลการทำงานของหน่วยงานปฏิบัติให้เป็นไปตามนโยบายด้านน้ำของประเทศ และมีหน้าที่พิจารณาเบื้องต้นในงบเพื่อไม่ให้ซ้ำซ้อนกัน เพราะที่ผ่านมาแต่ละหน่วยงานต่างของบ เช่นสมมติอาจารย์พูดว่างบผักตบอยู่กับใคร งบผักตบก็อยู่กับเจ้าท่า กทม. กรมชลประทาน อยู่เยอะมาก การมีสทนช. คือเขาจะเข้ามาทำหน้าที่ทั้งพิจารณาเรื่องงานและเรื่องเงิน จะเป็นแม่บูทุกอย่างเวลาที่เราจะพิจารณางบ เป็นหน่วยงานหลัก เป็นเจ้าภาพ หรือที่เรียกว่าเป็นแม่บู

City Cracker: หลังจากมีสทนช. การทำงานร่วมกันของแต่ละหน่วยงานมีมากขึ้น หรือยังแยกส่วนอยู่

อ.สิตางศุ์: ถ้าเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมหรือน้ำขาดแคลน หน่วยงานนี้จะเป็นคนพยากรณ์ให้ แต่ก็มีปัญหาอีกว่าเรามีหน่วยงานเยอะ แต่ละหน่วยงานมีชุดข้อมูลของตัวเองเพื่อตอบสนองพันธกิจของตัวเอง ลองนึกภาพว่าเราบอกให้ทุกหน่วยงานที่มีข้อมูลเอาข้อมูลมารวมกัน แต่ละหน่วยงานก็มีความหวงข้อมูลของตัวเอง ส่วนที่เอาออกมารวมก็เป็นส่วนหนึ่ง แล้วก็ไม่ใช่ทุกหน่วยงานที่จะเอาข้อมูลมารวมกัน ในทางปฏิบัติมันก็ทำไม่ได้

ถามว่าตรงนี้จะแก้ไขอย่างไร ระบบบริหารข้างบนคือนายกหรือรองนายกที่ดูแลเรื่องนี้จะต้องผลักดันให้เรื่องนี้เกิดขึ้นได้ ต้องใช้พลังเยอะในระดับหนึ่งในการที่จะรวบรวมข้อมูลมาไว้ด้วยกันให้ได้ ไม่อย่างนั้นมันก็จะเป็นแต่ละท่อนๆ ไม่มีคนมาบูรณาการข้อมูล ถามว่าตอนนี้เรามีไหม เราก็พยายามที่จะรวม แต่ก็ทำได้แบบกระท่อนกระแท่น

City Cracker: แต่ละหน่วยงานที่พูดถึงดูมีเยอะมากๆ แต่ทำไมปัญหาเหล่านี้ยังเกิดขึ้นอยู่

อ.สิตางศุ์: ใช่ๆ จนตอนนี้จะบรรลุธรรมแล้ว เราไม่ได้ขาดแคลนคนทำงาน เรามีคนทำงานเยอะไปหมด บางทีเยอะเกินจนมันซ้อนกันไปซ้อนกันมา แต่ปัญหาอยู่ที่เราไม่มีคนที่่มาบูรณาการภาพรวมทั้งหมด

City Cracker: ในภาพรวมระดับประเทศ เดิมทีการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำของภาครัฐเขาทำยังไง

อ.สิตางศุ์: ในเป้าหมายที่ 1 เรื่องน้ำกินน้ำใช้ คือการลงทุนกับโครงการผันน้ำ ซึ่งมันใช้งบประมาณมหาศาลที่ทำบนความไม่แน่นอนและมีความเสี่ยงมาก ถ้าลองย้อนกลับไปดูข่าวของปีนี้ตอนมกราคมซึ่งเป็นหน้าแล้งน้ำ น้ำที่สถานีเชียงรายลดลงไปเป็นเมตรภายในวันเดียว เมื่อมิถุนายนก็มีเหตุการณ์แบบนี้อีก หรือย้อนไปปีที่แล้วก็มีเหตุการณ์แบบนี้ น้ำลดลงเป็นเมตรที่แม่น้ำโขง แปลว่ามันมีความไม่แน่นอนเกิดขึ้นในแม่น้ำ แต่เรากลับอยากไปลงทุนเพื่อเอาน้ำตรงนั้นเข้ามาในประเทศ

อย่างแม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำนานาชาติ สัดส่วนน้ำที่ลงไปอยู่ในแม่น้ำโขง สมมติคิดน้ำทั้งหมดเป็น 100% น้ำจากจีนลงไป16% น้ำจากประเทศไทยลงไป 18% แปลว่าจริงๆ แล้วน้ำของประเทศเราที่ปล่อยทิ้งและไม่ได้เก็บไว้ลงไปในแม่น้ำโขงมากกว่าน้ำจากจีน คำถามคือทำไมเราไม่พยายามจัดการในประเทศ หรือสร้างสมดุลในประเทศให้ได้ก่อนที่จะลงทุนมหาศาลเพื่อเอาน้ำนอกประเทศที่ไม่แน่นอนกลับมาใช้

ตามเป้าหมายที่ 2 ก็มีเรื่องดีๆ คือการทำแก้มลิงพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก พัฒนาชุมชน อันนั้นก็เป็นโครงการที่ดีซึ่งก็ควรจะสนับสนุนให้ทำทุกหมู่บ้านและท้องถิ่นให้เขาทำได้ทุกครัวเรือน แม้ว่าเราจะมีระบบชลประทานแต่เราก็ต้องสนับสนุนให้เกษตรกรทุกครัวเรือนมีแหล่งน้ำเป็นของตัวเองเพื่อการสนับสนุนการจัดการของภาครัฐ

เป้าหมายที่ 3 คือการบรรเทาน้ำท่วม งบที่ออกมากลายเป็นการสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมที่มีอยู่ตลอดสองข้างแม่น้ำ ในต่างประเทศอย่างญี่ปุ่นจะเห็นสองข้างแม่น้ำจะมี floodplain ในเวลาปกติ floodplain พวกนี้เขาจะใช้ทำกิจกรรมอื่นๆ ใช้เตะบอล ใช้เล่นกีฬา ใช้ปิกนิก ฯลฯ อันนี้ก็คือในภาวะปกติ แต่เมื่อไหร่เกิดน้ำไหลหลาก เกิดน้ำจะท่วม สองพื้นที่ข้างๆ ที่เราเรียกว่า flood plain จะเป็นพื้นที่สำหรับรับน้ำ น้ำจากแม่น้ำที่เอ่อขึ้นจะไปอยู่ใน floodplain ที่จะเป็นเหมือนขั้นบันไดขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง เหมือนเป็นแบบสี่เหลี่ยมคางหมูต่อกัน เร่ซึ่งที่เราเห็นต่างประเทศมันสวยและมีชีวิตชีวา แม้ว่าจะไม่เกิดภัยก็มีเรื่องกิจกรรม มีเรื่องการใช้งานของชุมชน

กลับมาดูไทย ถ้าเคยไปสุโขทัยกำแพงกันน้ำท่วมที่สุโขทัยตอนนี้กลายเป็นกำแพงที่เหมือนคอนโดสามชั้น มันเป็นเรื่องทัศนะอุจาด และเป็นเรื่องที่ตั้งอยู่ติดริมน้ำแต่ไม่มี floodplain จริงๆ สัณฐานของแม่น้ำเวลาที่น้ำมันไหลมา ถ้าเยอะมันจะเอ่อออกสองข้าง สมัยก่อนสองข้างจะเป็นไร่นา เป็นพื้นที่เกษตรกรรมซึ่งสามารถปล่อยให้น้ำท่วมได้ ถ้าน้ำท่วมรัฐก็ชดเชยดูแล และมันก็จะไม่เทลงที่ท้ายน้ำ แต่พอเรามีกำแพงทำให้น้ำจากต้นน้ำไหลลงไปที่ท้ายน้ำเลย ไม่สามารถนองมาสองข้างของแม่น้ำได้ ตัวน้ำเองก็จะไหลแรงขึ้นเร็วขึ้นจากต้นน้ำไปท้ายน้ำโดยไม่มีการแบ่งออกไปเก็บสองข้าง ไม่มีแก้มลิง ไม่มีเก็บอะไรเลย

บ้านเรามองว่าการป้องกันน้ำท่วมคือการสร้างโครงสร้างขึ้นมาป้องกัน แต่อะไรเหล่านี้ไม่ได้เข้ากับวิถีชีวิตและไม่ได้มีการศึกษาอย่างรอบครอบ ในต่างประเทศเขามี floodplain สองข้างได้ ทำไมของเราต้องไปสร้างชิดริมแม่น้ำแต่ไม่มี floodplain เป็นกำแพงแบบทื่อๆ จริงๆ มีวิธีที่ทำได้แต่เราจะทำรึเปล่า เราก็ไม่ได้คิดจะทำอีก เราก็ไปทำกำแพงบันไดกัดการกัดเซาะโดยที่เราไม่ได้คิดถึงระบบนิเวศ หาดทรายที่สวยงาม เหมือนเราไม่ได้เข้าใจธรรมชาติ ไม่ได้เข้าใจชีวิตของคนที่อยู่ตรงนั้น

City Cracker: ตอนนี้อะไรคือเรื่องเร่งด่วนที่ต้องแก้ไขมากที่สุดในการจัดการน้ำ

อ.สิตางศุ์: การจัดการน้ำมันมี 2 ภาวะ คือภาวะปกติกับภาวะวิกฤติ ปกติคืออย่างในบ้านเราแต่ละหน่วยงานจะทำงานตามความฟังก์ชันของตัวเอง กรมไหน หน่วยงานไหน มีหน้าที่อะไรเขาก็ทำงานไปตามพันธกิจของตัวเอง ถ้าไม่มีอะไรก็จะไม่มีอะไร จะดูราบรื่นปกติดีไปเรื่อยๆ มีการใช้งบปกติ มีการพัฒนาปกติ แต่เวลาที่ไม่ปกติหรือเวลาที่เกิดภาวะวิกฤตขึ้นมา สมมติว่าน้ำจะท่วมกรุงเทพฯ พรุ่งนี้เพราะคืนนี้มีพายุฝนตกหนัก ท่วมตั้งแต่ภาคเหนือไล่ลงมาเหมือนปี 54 ถ้าถามว่าใครคือเจ้าภาพเรื่องการจัดการน้ำท่วมตอนนี้นึกออกไหม เราจะยังนึกไม่ออกว่าใครคือเจ้าภาพ เพราะฉะนั้นคำถามที่ถามว่าเรื่องเร่งด่วนในการจัดการน้ำตอนนี้คือเรื่องไหน อาจารย์ว่าเป็นเรื่องการเตรียมความพร้อมที่จะรับมือกับพวก Extreme Weather และ Extreme Event

ถ้าเป็นเรื่องเร่งด่วนเราต้องทำความเข้าใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกตอนนี้ สมมติว่ามันเกิดขึ้นในประเทศเรา เราจะรับมืออย่างไร แนวทางการปฏิบัติต้องไม่ใช่แค่เขียนอยู่ในกระดาษ อาจจะต้องมีการซ้อม ไม่อย่างนั้นก็จะเหมือนกับตอนที่เกิดเหตุน้ำท่วมขึ้นในประเทศที่มันอลหม่านไปหมด แล้วเราก็ไม่รู้ว่าใครต้องทำอะไร คือความช่วยเหลือทุกอย่างระดมมาที่หน้างานจนจัดระเบียบไม่ได้

City Cracker: ทำไมการเตรียมพร้อมเพื่อรับมือ Extreme Weather หรือ Extreme Event ถึงเร่งด่วนที่สุด

อ.สิตางศุ์: เมื่อก่อนที่เราเคยคาดการณ์ว่าโลกร้อนขึ้นจะทำให้น้ำแข็งขั้วโลกละลาย ทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ตอนนี้กลายเป็นว่าทุกอย่างมันเกิดเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งสิ่งที่เราควรจะทำอย่างเร่งด่วนคือเราต้องรับมือกับมันให้ได้ เพราะตอนนี้ทุกอย่างมันเกิดขึ้นกระทันหันหมดเลย ปัจจุบันทันด่วนหมด แม้กระทั่งในหลายประเทศที่เขามีความเจริญมากกว่าเรา แต่จะเห็นว่าพอมันเกิดขึ้นแล้วเราไม่ได้มีความพร้อมที่จะรับมือ หรือจีนที่เรื่องเทคโนโลยีเขาระดับโลกมากๆ หรือประเทศฝั่งตะวันตกอย่างเยอรมันหรืออะไรก็แล้วแต่ ประเทศพวกนี้เทคโนโลยีเขาดีกว่าเรามากยังไม่พร้อมเลย

อย่างข่าวว่าฝนตกหนักแล้วลงไปท่วมรถไฟใต้ดิน อาจารย์ก็มีคำถามว่าทำไม ระบบพยากรณ์ของเขามันต้องดีสิ ทำไมเขาไม่รู้ล่วงหน้าว่าฝนจะตก แล้วตกหนักขนาดนั้น หรือมีน้ำป่าไหลหลากมากขนาดนั้น ทำไมการเตรียมความพร้อมของเขามันไม่ได้ ทำไมยังมีคนไปติดในรถไฟใต้ดิน ซึ่งหากลองนึกภาพว่าเกิดเรื่องแบบนั้นขึ้นในประเทศเรา มันคือหายนะชัดๆ หนึ่งคือเราไม่ได้คาดการณ์ว่ามันจะเกิด ซึ่งมันก็คาดการณ์ยากอยู่แล้ว สองคือเราไม่เคยเตรียมความพร้อมในเหตุการณ์ลักษณะนั้น ถึงแม้ว่าเราจะมีน้ำท่วมน้ำแล้งเกิดขึ้นบ่อยๆ แต่ว่าในสเกลที่เป็น Extreme เราไม่คาดคิดว่ามันจะเกิดในเร็วๆ นี้

City Cracker: บ้านเรามีการเตรียมพร้อมกับ Extreme Weather หรือ Extreme Event มากน้อยแค่ไหน

อ.สิตางศุ์: อย่างที่อาจารย์บอกว่าบ้านเรามีมากกว่า 30 หน่วยงาน ภายใต้ 9 กระทรวงที่ทำงานเกี่ยวข้องกับเรื่องน้ำ ในการจัดการของเขาเหมือนกับว่าปีที่แล้วทำอะไร ปีนี้ก็ทำแบบนั้น สองสามปีที่แล้วทำอะไร ตอนนี้ก็ยังทำแบบเดิม หน่วยงานที่ทำโครงการขนาดใหญ่ยังมุ่งที่จะทำโครงการขนาดใหญ่ หน่วยงานไหนที่เคยทำเขื่อนป้องกันน้ำท่วม ก็ยังจะทำเขื่อนป้องกันน้ำท่วม หน่วยงานไหนที่ทำเรื่องขุดลอกตอนนี้ ก็ยังทำเรื่องขุดลอก แต่เราไม่ได้มองไปว่าตอนนี้ทั้งโลกเขามีอะไร เขาตื่นตัวเรื่อง climate change เขาตื่นตัวเรื่อง extreme event เรื่อง extreme weather แต่ว่าเรายังไม่ตื่นเลยนะ (ขำ) เรายังทำทุกอย่างเหมือนเดิม การใช้งบประมาณก็ยังเหมือนเดิม เราไม่ได้มองว่ามันเกิดอะไรในโลก

เหตุการณ์ Extreme Event หรือ Extreme Weather ตอนนี้สเกลมันไปไกลเกินกว่าที่จะคาดการณ์ได้ เวลาที่พูดถึงการคาดการณ์ภัย ปกติจะใช้ชุดข้อมูลย้อนหลังอย่างน้อย 30 ปีมาวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ไปข้างหน้า แต่ตอนนี้พอเกิดปรากฏการณ์ climate change ที่ย้อนหลังแค่ประมาณ 10 ปี การจะเอาข้อมูลย้อนหลัง 30 ปีมาคิดมันไม่ได้แล้ว ฉะนั้นเราจะเอาชุดข้อมูลทั้งหมดมารวมกันแล้วเหมารวมว่าเป็นชุดข้อมูลที่จะพยากรณ์ต่อไปข้างหน้าไม่ได้

แม้กระทั่งต่างประเทศที่เทคโนโลยีเขาดีมาก climate change ที่เขาวิเคราะห์ได้ ยังทำให้คาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตยาก ยิ่งเป็นอนาคตอันใกล้ยิ่งคาดการณ์ยากเข้าไปใหญ่ อย่างเหตุการณ์น้ำท่วมจีน เขาเองก็คงรู้ว่าฝนจะตก แต่ด้วยอะไรไม่รู้ที่ทำให้การคาดการณ์มันผิดเพี้ยนไป อาจารย์คิดว่าด้วยเทคโนโลยีที่มีในต่างประเทศ ของเราก็ควรต้องมีด้วย แต่ตอนนี้ความแม่นยำเราก็ยังไปไม่ถึงจุดนั้น และด้วยสถานการณ์ตอนนี้เลยต้องมีอะไรที่ก้าวล้ำอีก ซึ่งต่างประเทศเขาก็ต้องไปอีกก้าวหนึ่งเหมือนกัน

City Cracker: สุดท้ายในมุมมองของอาจารย์เห็นควรว่างบประมาณนี้ควรไปแก้ปัญหากับสิ่งไหน

อ.สิตางศุ์: ในสเกลกรุงเทพฯ นอกเหนือจากพยายามหาพื้นที่แก้มลิงเพื่อหน่วงน้ำ และการพยายามเพิ่มประสิทธิภาพระบบระบาย คิดว่าควรไปลงทุนกับการพยากรณ์และระบบสื่อสารกับประชาชน ถ้าเราพยากรณ์ดีต่อให้ภัยจะเกิดแต่ประชาชนรู้ตัวทัน เราก็จะจัดการกับมันได้ การส่งต่อข้อมูลในทุกๆ ระดับมันจะช่วยได้ ภัยธรรมชาติยังไงก็เกิดแต่ว่าเมื่อเกิดจะทำยังไงให้เราได้รับความเสียหายน้อยที่สุด เราต้องเตรียมความพร้อมทั้งในแบบระยะยาวและระยะสั้น

ส่วนภาพใหญ่ของประเทศที่มันมีหลายเป้า ก็ต้องทำทุกเป้าไปพร้อมๆ กัน ส่วนข้อมูลก็ต้องทำ ส่วนของน้ำกินน้ำใช้ก็ยิ่งต้องทำ เรามีน้ำก็อกที่เปิดมาแล้วไหลแต่ไม่ใช่ทุกที่ที่เป็นแบบนี้ มันยังมีที่ที่เปิดออกมาแล้วไม่มีน้ำกินน้ำใช้ ซึ่งก็ต้องทำ อีกอันคือการสร้างสมดุลการใช้น้ำ คือพัฒนาและบริหารจัดการน้ำภายใต้ศักยภาพของน้ำต้นทุนที่มี แต่ไม่ใช่การหาน้ำมาเติมเรื่อยๆ แบบไม่มีที่สิ้นสุด ต้องสร้างสมดุลให้ได้ ทำให้น้ำต้นทุนกับน้ำที่ต้องการใช้สมดุลกัน ไม่ใช่ไปพยายามเอาน้ำนอกประเทศมาเติม การผันน้ำข้ามลุ่ม ข้ามไปข้ามมา อาจารย์ไม่เห็นด้วย มันคือการเอาน้ำของคนอื่นมาใช้ แล้วการแก้ปัญหาน้ำต้องย้ำว่าการแก้ปัญหาไม่ใช่การแก้หนึ่งไปอีกหนึ่ง คือแต่ละพื้นที่ต้องแก้ปัญหาของตัวเองให้จบภายในพื้นที่ของตัวเอง ภายในลุ่มน้ำของตัวเองโดยไม่สร้างปัญหาใหม่ให้ลุ่มอื่น

ด้วยเรื่องที่เราพูดไปทั้งหมด เราควรจะพัฒนาบ้านเมืองโดยดูจากบริบทที่เป็นปัจจุบัน เราควรมองความเป็นไปในปัจจุบัน คือเรียนรู้จากอดีตได้ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องเรียนรู้จากปัจจุบัน แล้วเอาทั้งอดีตและปัจจุบันไปเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคต ด้วยการคิดใหม่ทำใหม่ บางอย่างมันต้องออกนอกกรอบ บางอย่างมันก็คือทำตามวิธีโบราณ ดังนั้นเราต้องผสมผสานกัน

อาจารย์มีความเป็นห่วงทั้งหน่วยราชการที่ยังยึดติดกับวิธีเดิมๆ ของตัวเอง และคำว่ามีส่วนร่วมที่ไม่เคยเกิดขึ้นจริง อีกเรื่องที่เป็นห่วงก็คือเรื่องน้ำหรือเรื่องภัยธรรมชาติ เป็นเรื่องที่เวลาเกิดขึ้นแล้วมันไม่ได้เลือกปฏิบัติ มันส่งผลกระทบต่อเราทุกคน มากบ้างน้อยบ้างตามแต่ว่าเราไปอยู่ตรงไหน เพราะฉะนั้นการแก้ปัญหาพวกนี้ต้องช่วยกัน ภาครัฐไม่ควรดูแคลนวิธีของประชาชน อย่างวิธีชาวบ้านหรือนักวิชาการเสนอ กระทั่งภาคประชาชนเองก็ไม่ควรดูดายว่าสิ่งเหล่านี้เป็นของภาครัฐ เราควรร่วมกันในหลายๆ มิติ แล้วใช้นวัตกรรมที่มีให้เป็นประโยชน์

City Cracker: เหมือนกลับไปตอบที่ว่าการทำงานของรัฐไทยไม่บูรณาการ แล้วทำยังไงบ้านเราถึงจะทำได้ ?

อ.สิตางศุ์: เปลี่ยน mindset คือเริ่มจากการเปลี่ยน mindset ก่อน ทั้งหมดที่พูดมาจะไม่เกิดอะไรขึ้นเลยถ้า mindset เดิมเราไม่เปลี่ยน

Share :