CITY CRACKER

คุยกันหลังจบงานที่ห้างนิวเวิลด์ กับ ผศ. ดร. สุพิชชา โตวิวิชญ์ ว่าด้วยพลังของงานศิลปะ โลกดิจิตัล และโลกวิชาการ

เมื่อช่วงดีไซน์วีคที่ผ่านมา ห้างนิวเวิร์ลกลับมาปรากฏในหน้าฟีดบนโลกออนไลน์ของเรากันอีกครั้ง ตัวห้างเก่ากลายเป็นพื้นที่ที่มีความหมายใหม่ กลายเป็นพื้นที่ที่คนรุ่นใหม่เดินเข้าไปเยี่ยมเยียน โดยตัวงานนิทรรศการที่นิวเวิร์ลในปีนี้- อันเป็นปีแรกที่เปิดงานให้กับบุคคลภายนอกได้กลับไปสู่พื้นที่ความทรงจำกลางเมืองเก่าหลัง ก่อนหน้านี้เมื่อสองปีที่แล้วห้างแห่งนี้เคยเป็นตัวแทนของพื้นที่เสื่อมโทรม เป็นดินแดนลึกลับจนกระทั่งอาจารย์หน่อง – ผศ. ดร. สุพิชชา โตวิวิชญ์ ได้เข้าไปเปิดพื้นที่โดยเริ่มจากการรื้อฟื้นและรวมรวบความทรงจำของห้างนิวเวิร์ลจากคนในย่าน เป็นงาน New World x Old Town Part 1

การกลับมาของห้าวนิวเวิลด์ที่กลับมามีชีวิตอย่างน้อยก็ในความสนใจและพื้นที่ออนไลน์ผ่านงานนิทรรศการของอาจารย์หน่องนั้น ส่วนหนึ่งก็ดูจะสัมพันธ์กับการอนุรักษ์ที่มีนักออกแบบและนักวิชาการเข้ามามีส่วนร่วมในการชุบชีวิตหรือความสนใจกลับไปยังพื้นที่หนึ่งๆ และยิ่งถ้าเราดูความสนใจและการลงมือทำงานของอาจารย์หน่อง อาจารย์รุ่นใหม่ผู้มักจะมาพร้อมความสีสันและความสนุกสนานที่มีพื้นที่สามัญธรรมดา เช่น ตลาดดอกไม้ ห้างร้าง ย่านกินดื่ม แต่ทว่าด้วยความสนใจในฐานะอาจารย์ด้านสถาปัตยกรรมทำให้อาจารย์หน่องมักมองพื้นที่ของผู้คนเหล่านั้นเป็นส่วนหนึ่งของย่าน และใช้บทบาทอีกด้านของการเป็นนักออกแบบสร้างความเคลื่อนไหวขึ้นในพื้นที่เหล่านั้น

หลังจากความสำเร็จที่ห้างนิวเวิลด์ในเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพปีล่าสุด City Cracker จึงชวน ผศ. ดร. สุพิชชา โตวิวิชญ์ จาก Make It Happen laboratory ส่วนหนึ่งของ Urban Ally มานั่งคุยกันอีกครั้งหลังการจัดการงานใหญ่ผ่านพ้นไป ซึ่งเราได้ชวนอาจารย์กลับมาทบทวนบทบาทและความหมายของโลกวิชาการ ของงานออกแบบที่ตัวอาจารย์เองก็ได้ใช้ความชอบ ความสนุกสนานรวมถึงความสวยงามเพื่อดึงความสนใจกลับไปยังพื้นที่ที่มีศักยภาพ และมีความสำคัญกับชุมชนได้อย่างมีสีสัน โปรเจกต์ของอาจารย์จากปากคลองตลาด ถนนข้าวสาร มาจนถึงห้างร้าง ทำให้เราเห็นว่างานวิชาการและการอนุรักษ์อาจไม่ได้มีเฉดเดียว แต่กลับมีเฉดสีที่สดใส ไปจนถึงการเปิดรับพื้นที่ใหม่ๆ เช่นการที่อาจารย์ชวนคนมาสนุกกับพื้นที่ออนไลน์เพื่อรักษาความหมายของโลกออฟไลน์นั้น ในที่สุดแล้ว ประเด็นความทรงจำ การฟื้นฟูย่าน และแนวคิดเกี่ยวกับการอนุรักษ์อันหมายถึงโลกวิชาการและโลกแห่งความจริงนั้น สามารถเกื้อหนุนกันได้อย่างลึกซึ้ง ร่วมสมัยและน่ารื่นรมย์ไปพร้อมๆ กัน

 

 

 

ด้วยโลเคชั่นและตัวอาคาร เราเรียนดีไซน์เรารู้สึกว่ามันน่าสนุก น่ารีโนเวต โลเคชั่นใกล้ข้าวสาร ใกล้วัด วัง พื้นที่กลางเมือง รถไฟฟ้าก็กำลังจะมา

 

 

City Cracker: ด้วยความที่ปีนี้งาน  ได้รับผลตอบรับดีมาก แล้วก็ไม่ได้ปีแรกที่มีการจัดงานในพื้นที่ห้างเก่าที่เคยเป็นไอคอนแห่งนี้ อยากให้อาจารย์อธิบายที่มาของโปรเจกต์นี้

โปรเจกต์ New World x Old Town Part 2: The Reflection from the Light Source ในปีนี้เป็นภาคต่อจากการจัดงานครั้งแรก เดิมทีมเราแพลนไว้ว่าจะจัดช่วงเดือนมกราคม 2565 แต่พอดีมีงาน ‘รวม-มิตร-เมือง’ ของ Urban Ally x Design Week ที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เข้าไปช่วยทาง CEA (Creative Economy Agency) จัดงานในเขตพระนครทั้งหมด เราอยากให้เขตพระนครของเรามีงานสนุกๆ เอิกเกริก เลยขยับวันที่ให้ไปเกิดขึ้นพร้อมดีไซน์วีค ถือว่าดีเหมือนกัน ได้สนุกๆ ไปด้วยกัน

สำหรับโปรเจกต์ New World x Old Town ครั้งแรกนั้น เริ่มต้นเมื่อสองปีที่แล้วที่อาจารย์และทีมงาน ซึ่งตอนนั้นมีแค่ลูกศิษย์ ศิษย์เก่า และน้องๆ จากชมรมเกสรลำพู เข้าไปขอเปิดตึกเพื่อทำนิทรรศการเล็กๆ แรกเริ่มเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Community-Based Design Studio ของทางคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ในตอนนั้นใช้งบของคณะ คนที่ลงมือทำก็เป็นนักศึกษาที่เป็นเด็กๆ เลย การที่เลือกเป็นตึกนิวเวิลด์มีหลายสาเหตุคือเจ้าของที่ดินเป็นเพื่อนสมัยเด็กของอาจารย์เอง หลังจากที่ทางครอบครัวของเพื่อนได้ที่ดินเป็นมรดกมาและคดีความต่างๆ ของผู้เช่าเดิมได้จบไปหมดแล้ว พอเราเห็นภาพที่เพื่อนโพสต์ลงในเฟซบุ๊ก เราก็อินบ็อกไปคุยเลยหลังจากไม่ได้คุยกันมา 20 กว่าปี

ในตอนนั้นตัวเองแทบไม่รู้จักกับตัวห้างเลย แต่ด้วยโลเคชั่นและตัวอาคาร เราเรียนดีไซน์เรารู้สึกว่ามันน่าสนุก น่ารีโนเวต โลเคชั่นใกล้ข้าวสาร ใกล้วัด วัง พื้นที่กลางเมือง รถไฟฟ้าก็กำลังจะมา เรารู้เท่านี้เลยชวนเพื่อนเจ้าของที่ดินมาคุยกับอาจารย์ที่คณะ เช่น เรื่องอาคาร เรื่องผังเมือง ด้วยความที่เพื่อนเองก็ไม่ใช่นักพัฒนา และในเบื้องต้นเขาเองก็ยังไม่ได้มีแผนพัฒนาที่ชัดเจน พอคุยกันเลยอยากเริ่มที่การเปิดพื้นที่ให้คนในย่านเข้ามาก่อน นั่นเลยเป็นจุดเริ่มต้นของ New World x Old Town ครั้งแรกเมื่อสองปีที่แล้ว เป็นงาน Lighting และนิทรรศการเล็กๆ

 

New World x Old Town Part 2 (bangkokpost.com)

 

City Cracker: ในงาน New World x Old Town ครั้งแรกเป็นอย่างไรบ้าง ที่อาจารย์เรียกว่าเป็นงานเล็กๆ

ตอนแรกที่อาจารย์ก็ไม่รู้จักนิวเวิลด์นะ อย่างที่บอกว่าเราทำจากสัญชาตญาณ แต่ปรากฏว่านิวเวิลด์มันคือห้างสำคัญ งานครั้งแรกตัวงานเป็นแค่การจัดแสงไฟ ไม่ได้คิดว่าจะเป็นงานศิลปะหรืองานดีไซน์จ๋าอะไร เราแค่เอาแสงสีมาทำให้พื้นที่พื้นที่ที่เคยถูกมองว่าเป็นที่ทิ้งร้าง เคยมีภาพที่เป็นดิสโทเปีย มีบ่อปลา เอามาทำให้พิเศษ น่ารื่นรมย์ขึ้น และไม่น่ากลัว ตัวงานออกมาเป็นงาน Lighting เล็กๆ ใช้โปรเจกเตอร์ของคณะไปฉาย เอาสายไฟ LED ไม่กี่บาทมาใช้ หัวใจสำคัญของงานครั้งแรกไม่ได้อยู่ที่ดีไซน์ แต่คือการเปิดประตูให้คนในย่านเข้ามาในพื้นที่ ได้เอาความทรงจำเกี่ยวกับนิวเวิร์ลมาเล่าให้เราฟัง

ในปีนั้นก็มีเสียงโอดครวญอยู่บ้างเพราะว่าเราเปิดแค่ให้คนในย่านเข้า ถ้าคนภายนอกจะเข้ามาในงานอาจต้องเป็นแขกของคนในย่าน หรือต้องมีความทรงจำเกี่ยวกับห้างอย่างใดอย่างหนึ่ง ตอนแรกอย่างที่บอกว่าเราเน้นที่การเปิดประตูให้คนในย่านก่อนไม่ได้อยากให้ถูกมองว่าจัดงานคูลๆ ชิคๆ มีคนข้างนอกเข้ามาเต็มไปหมดแล้วก็จบไปโดยคนในย่านไม่รู้เรื่องเลย แต่คนที่มีความทรงจำกับตึกนี้คือคนในย่าน

 

City Cracker: แต่นิวเวิร์ลมีความหมายกว่านั้น?

สองปีที่แล้วเราเลยได้รู้ว่าตึกนี้คือพารากอน คือเซ็นทรัล คือสยามเซ็นเตอร์ ตอนนั้นก็ตกใจเหมือนกันว่าห้างนี้เคยเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจ เป็น Light Source อันใหญ่ของย่านเลย สองปีที่แล้วเลยสนุกมาก ถ้าเป็นเชิงผลตอบรับมันก็ตอบโจทย์ที่เราตั้งไว้ทุกอย่าง เราอยากให้คนข้างในมาช่วยเราทำงาน เราไม่ได้เรียกว่านิทรรศการด้วยซ้ำ มันเป็นเหมือนเชิญคนเข้ามาเป็นแขกของบ้าน เหมือนเพื่อนที่เปิดบ้านแล้วเพื่อนๆ รอบๆ มาเล่าให้ฟังว่ามรดกทั้งตัวอาคารและพื้นที่ที่เค้าได้มามันคืออะไร และมีความหมายอย่างไรต่อย่าน

 

New World x Old Town Part 1 (art4d.com)

 

City Cracker: หลังจากสองปีที่เปิดพื้นที่เพื่อคนในย่าน New World x Old Town กลายเป็นงานสเกลใหญ่ขึ้นได้อย่างไร

สองปีผ่านไป อาจารย์ก็รับผิดชอบโครงการของคณะโครงการเดิมนี่แหละคือ Community- Based Design Studio คือเราทำหลายพื้นที่ ปีก่อนๆ มีทำโครงการ ‘ปากคลอง Strike Back’ ที่ย่านปากคลองตลาด และ ‘Khao San Hide and Seek | เข้าซอย ข้าวสาร’ ในช่วงโควิด ตอนทำที่ข้าวสารก็ยังทำงานกับทีมเกสรลำพู และมีการทำ Lighting พอปีนี้หลังโควิดดีขึ้นเราก็เลยไปชวน พี่พล หุยประเสิรฐ จาก HUI Team Design มาช่วยเป็น Exhibition Director ในงานนี้ อาจารย์เคยชวนพี่พลมาช่วยเป็นอาจารย์พิเศษในรายวิชาสถาปัตยกรรมชุมชน ได้ร่วมงานครั้งแรกที่ตลาดยอดพิมานในงาน ‘Form of Feeling @Flower Market’ ที่เอาดอกไม้มาจัดที่ตลาดยอดพิมาน เพราะตอนนั้นเห็นพี่เขาจัดนิทรรศการ ‘BOWKYLION x H.U.I The Forest Exhibition’ ซึ่งสนุกมาก อาจารย์ชอบมาก และเห็นพี่เขาทำคอนเสิร์ต ทำนิทรรศการก็เลยคิดว่าถ้ามีงานแบบนี้ที่ปากคลองน่าจะสนุก พอมาทำก็สนุกจริงๆ หลังจากคุยกันมาเรื่อยๆ ก็เลยมาถึงโครงการที่นิวเวิลด์ ทางพี่พลก็ใจดีมากรับปากว่าจะมาช่วย สุดท้ายพี่พลก็เลยรับบทเป็นคน curate และ direct งาน installation ทั้ง 10 ชิ้น ในงาน New World x Old Town part 2 ที่ผ่านมาเองทั้งหมด

บรีฟที่ให้ไปสั้นมากคือ ‘ขอแมสๆ’ นอกจากบรีฟที่สั้นมากๆ เราก็มีโจทย์ของงานอยู่คือไม่อยากทำแบบนิวเวิลด์รอบแรก คราวนี้ไม่ได้อยากแค่เปิดให้สำหรับคนในย่าน งานรอบแรกของนิวเวิลด์ที่อินเทอร์เน็ตไม่ได้บันทึกไว้ เราบันทึกไว้แล้ว แต่งาน part 2 เราอยากให้คนอื่นที่เข้ามาได้เรียนรู้ย่าน ได้เกิดแรงบันดาลใจหรือกลับเข้ามาในย่านอีก คำว่าขอแมสๆ หมายถึงขอให้คนทั่วไปได้เข้ามาแล้วรู้สึกว่าได้รู้จักบางลำพูมากขึ้นนิดนึง หลังจากพูดคุยถึงจุดประสงค์ก็เลยได้เป็นงาน 10 ชิ้น ที่มีภาคีเข้ามาร่วมเยอะมาก คือ  Exhibition Director: พล หุยประเสริฐ, คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.ศิลปากร, ประชาคมบางลำพู, ชมรมเกสรลำพู, HUI Team Design, Saturate Designs, H-Lab, คณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, กลุ่มแสงปลากบ, L&E, Lightspace-TH, Mosaic Eins และกลุ่มสนใจ

 

New World x Old Town Part 21(art4d.com)

 

City Cracker: ถ้าเรามองตัวห้างเอง ตรงนี้มันก็สัมพันธ์กับย่านพระนครที่เคยเป็นศูนย์กลางมาก่อน ตรงนี้เป็นบทบาทที่งานวิชาการจะมาช่วยทำให้พื้นที่และย่านกลับมามีชีวิตได้ไหม

ใช่ค่ะ ก็เหมือนกับเมื่อก่อน เขตพระนครก็คือไข่แดงของกรุงเทพมหานคร แต่พอ CBD หรือเขตธุรกิจ ย้ายไป ศูนย์ราชการย้ายไป ย่านมันก็ซบเซาไปตามธรรมชาติของเมืองที่เมืองเก่ามันจะทรุดโทรมแล้วโดนทิ้ง ส่วนตัวอาจารย์ก็เป็นพวกประเภทชอบหาพื้นที่ที่มันมีศักยภาพ แต่มันยังไม่ได้ถูกไฮไลต์ออกมาชัดๆ

ในเชิงวิชาการตึกนิวเวิลด์นี้ถ้าฟื้นได้ ทั้งโลเคชั่น และการเป็นพื้นที่ทิ้งร้างหลายตารางเมตร มันช่วยย่านได้อยู่แล้ว อย่างสองปีที่แล้วที่เราจัดอีเวนต์แล้วคุยกับคนในย่าน รู้เลยว่าทุกคนอยากให้นิวเวิลด์กลับมามีชีวิต เพราะว่าตอนมันมีและแค่เห็นรูปก็รู้แล้วว่ามันเฟื่องฟูมาก อาจารย์เป็นโรคชอบเมืองเก่า เรียนศิลปากร แล้วก็สอนศิลปากร ก็อยู่แต่อย่างนี้และรู้สึกว่าไม่อยากให้เมืองเก่าร้าง นักท่องเที่ยวก็ได้กินแต่ข้าวไข่เจียว ในด้านหนึ่งเราก็เป็นนักวิชาการ และอีกแง่เราคือคนที่ยังอยู่ในย่านเมืองเก่า อยู่ในพื้นที่ที่พอจะเรียกว่าเป็นโลคอลในพื้นที่ที่คนอื่นเขาออกไปกันหมดแล้ว

 

KhaoSan Hide and Seek Cr: Napon Jaturapuchapornpong

 

City Cracker: ตัวงาน คือพื้นที่ที่อาจารย์ดูมีความเฉพาะตัวอยู่ เช่น ทำตลาดดอกไม้ ทำย่านกินดื่มเช่นข้าวสาร จนมาทำห้างเก่าในมิติที่เชิงอนุรักษ์กับประเด็นเรื่องชุมชน อะไรคือเป้าหมายในการทำงานกับย่าน กับพื้นที่ที่มีมิติเก่าแก่

อาจารย์ชอบเรื่อง sense of place กับ sense of community เหมือนกับเวลาเราไปที่ไหน เรารับรู้บางอย่างว่า sense of place มันคืออะไร พอเราสัมผัสได้และเรามีความสุข สมมติไปลอนดอน ไป Columbia Road ที่เป็นย่านขายดอกไม้ พอเรานึกถึงภาพสถานที่นั้นแล้วภาพมันชัดสถานที่ที่ว่านั้นคืออันไหน มีลานขายของวินเทจ เวลาไปไหนแล้วรู้ว่าที่นั่นเป็นยังไงเรารู้สึกว่าสนุก

เรารู้สึกว่า sense of place ไม่ใช่การกลับไปเหมือนเดิม เช่น การเป็นย่านพระนครแบบเดิมในปีพ.ศ.นี้ก็คงไม่ใช่ ท่าช้างก็ไม่จำเป็นต้องกลับไปมีช้าง แต่จะทำยังไงเพื่อให้กลิ่นเดิมๆ ไม่ถูกลืม  พื้นที่เช่นพระนครที่เราเองมายุคหลัง เรายังรู้สึกว่าที่นี่มันไม่ควรตายและไม่ควรเป็นพิพิธพัณฑ์แช่แข็ง สะอาดขึ้นดี สว่างขึ้นดี แต่มันไม่ควรแช่แข็ง

 

condotiddoi.com

 

City Cracker: ตรงนี้เลยกลับมาที่เรื่องความเก่าความใหม่ กรณีเช่น New World x Old Town คนที่มาก็เป็นคนรุ่นใหม่ๆ การสร้างพื้นที่ที่ดูเหมือนเป็นการกลับไปสู่อดีตสุดท้ายกลายเป็นพื้นที่ที่มีคนใหม่ๆ คนใหม่ๆ

การพัฒนาย่านจะ nostalgia อย่างเดียวไม่ได้ สองปีที่แล้วโอเคเลย เราเองในฐานะคนข้างนอกและมีความรู้จากที่เรียนมา สองปีที่แล้วคือการเก็บ memory ของอดีตเลยว่าเมื่อก่อนห้างนี้เคยเป็นอะไร แต่ถ้าจะพัฒนาย่านเราจะคิดจากการเป็นคนในที่คิดว่ามันไม่ตายไม่ได้ การทำงานกับพี่พลก็เป็นการเรียนรู้ที่สำคัญ คำถามแรกของเขาคือ ‘ย่านนี้ยังไม่ตายเหรอ’

จากคำถามนั้นเราเองก็ทบทวนว่านั่นคือการมองจากคนส่วนใหญ่ แต่เราเองต้องโน้มน้าวมาให้ได้ก่อนว่าย่านบางลำพูยังมีของ พอพี่พลได้ลงพื้นที่ด้วยกันเขาก็บอกว่า “หน่อง พี่ว่าย่านนี้ไม่ได้สตรองที่ตัวย่าน สิ่งที่แข็งแรงของพื้นที่คือเรื่องเล่าของคน ภูมิปัญญาของคน” คือไปเห็นของแล้วได้เห็นว่าบางลำพูมีของ ความยากของย่านจึงอาจจะมองเห็นได้ยากกว่าย่านเช่นเจริญกรุงที่มีตึกแถวสมัยรัชกาลที่ 5 ตัวบางลำพูมองแวบแรกอาจจะไม่โรแมนติกอย่างนั้น

อันที่จริงตอนงานครั้งแรกของนิวเวิลด์ อาจารย์ชาตรี ประกิตนนทการ มาที่งานแล้วก็พูดว่าการอนุรักษ์ตึกนี้เป็นความพยายามที่ประหลาดมาก เพราะตัวตึกเองไม่ได้มีความงามทางสถาปัตยกรรมไม่ว่าจะในมุมประเพณีหรือในมุมสถาปัตยกรรมโมเดิร์น ในแง่ประวัติศาสตร์พื้นที่เองตัวตึกเดิมก็มีปัญหาเช่นเรื่องกฎหมาย สร้างขึ้นไป 11 ชั้น แล้วถูกทุบลงมา ซึ่งอาจารย์ชาตรีเองก็มองในมุมการอนุรักษ์และพัฒนาคือไม่ใช่แค่เชิงคุณค่า แต่ในด้านหนึ่งตึกนี้มันเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่ดีมากของย่าน

 

City Cracker: พอคุยเรื่องการอนุรักษ์จริงๆ ตึกเช่นนิวเวิร์ลก็เลยดูจะทำให้เราทบทวนคอนเซปต์การอนุรักษ์ ตัวมันเองอาจจะมีความหมายอื่นๆ เช่นการเป็นพื้นที่ของย่านหรือความทรงจำ

อาจารย์เชื่อและคิดอย่างที่อาจารย์ชาตรีว่ามาเลย และอาจารย์ไม่ได้พยายามอนุรักษ์ตึกนี้และพัฒนาในฐานะที่มันมีคุณค่าทางสถาปัตยกรรม ไม่ว่าจะเป็นสถาปัตยกรรมประเพณีหรือสถาปัตยกรรมโมเดิร์น แต่เหมือนเรามองเห็นว่ามันมีศักยภาพบางอย่างอยู่และยังไม่ถูกนำไปใช้ ในแง่อาคารปัจจุบันก็ถูกทุบลงมาจนถูกต้องตามกฏหมายแล้ว เราไม่ได้มองว่าเป็นอะไรอย่างไร แต่มองว่าเรายังสามารถนำไปใช้หรือพัฒนาต่อไปสู่อะไรได้

กรณีของความเป็นพื้นที่ของความทรงจำ สิ่งหนึ่งที่เราแฮปปี้มากคือพอเราเสิร์ชกูเกิลคำว่า ‘นิวเวิลด์’ แล้วไม่ได้ขึ้นเป็นข่าวอาชญากรรมหน้าหนึ่งอย่างเดียวแล้ว ที่เป็นที่ร้าง ตึกร้าง พื้นถล่ม วังมัจฉา แต่มันกลายเป็นพื้นที่ที่คนเห็นว่าเคยเป็นห้าง พอเราจัดงานก็มีเรื่องราวอื่นๆ ของพื้นที่ที่สื่อเข้ามาฟังแล้วถ่ายทอดออกไป ตรงนี้ทำให้เกิด sense of place ขึ้น เราเองไม่ได้หยุดนิ่งอยู่กับอดีต เราอยากไปข้างหน้า ชวนคนข้างนอกเข้ามา

 

happeningbkk.com

 

City Cracker: กรณีของนิวเวิลด์ดูเหมือนว่าตัวพื้นที่ก็กลับมาเคลื่อนไหวอีกครั้ง หลังจากนี้การจะฟื้นฟูอย่างเป็นรูปธรรม อะไรคือโจทย์ต่อไป

ในแง่กิจกรรมและวิชาการเองอาจารย์สนุกมาก ในด้านธุรกิจเราอาจจะยังไม่เข้าใจมากนัก แต่เบื้องต้นก็เชื่อว่าในเชิงพื้นที่น่าจะได้ ใกล้ข้าวสาร ใกล้วัดพระแก้ว เป็นแหล่งท่องเที่ยว รถไฟฟ้ากำลังจะมา ในเชิงธุรกิจน่าจะได้แต่อาจจะต้องมีโมเดลธุรกิจที่ที่อาจจะไม่ได้เหมือนกลางเมือง สำหรับอาจารย์มองว่าโจทย์ของอาคารนี้มี 3 สเต็ป คือ 1. จากคนข้างใน 2. ดึงคนข้างนอกเข้ามาเรียนรู้ และ 3 คือหาความเป็นไปได้ที่จะให้อาคารที่ privately own แห่งนี้ ทำหน้าที่เป็นอาคารสาธารณะ ที่สามารถมีกำไรเลี้ยงดูตัวเองได้ และเปิดพื้นที่บางส่วนเพื่อเป็นพื้นที่เชิงทดลอง ให้เยาวชนในย่านได้เข้ามามีส่วนร่วมในการนิยาม sense of place ของห้างนิวเวิลด์และย่านบางลำพูแบบใหม่ไปด้วยกัน

 

ปากคลอง strike back (creativecitizen.com)

 

City Cracker: พออาจารย์พูดเรื่องอินเทอร์เน็ตเลยทำให้คิดว่าโปรเจกต์อื่นๆ ของอาจารย์ก็เน้นไปที่วิธีใหม่ๆ เช่นเล่นกับพื้นที่ออนไลน์บนพื้นที่กายภาพ สุดท้ายโลกออนไลน์กลายเป็นที่เก็บเรื่องราวมิติอื่นของพื้นที่นั้นๆ

อันนี้แหละคือ sense of place สำหรับอาจารย์ เราเล่นกับ sense of place สิ่งที่เราทำ เช่น เราทำเป็นแพล็ตฟอร์มตลาดดอกไม้ปากคลองออนไลน์ ใน www.flowerhub.space หรือ การทำ QR code ให้คนมาสแกนเล่น Instagram Filter ดอกไม้ในย่านปากคลองตลาด ในงาน ‘ปากคลอง strike back’ ทั้งหมดทำเพื่อให้คนอื่นมาปลั๊กอินแล้วทำอะไรของตัวเองต่อไป ตัวนิทรรศการงานต่างๆ ไม่ได้จบแค่พื้นที่กายภาพ การทำแพล็ตฟอร์มทำให้คนอื่นเห็นศักยภาพแล้วอยากเข้ามาทำอะไรของตัวเองต่อเนื่องไป การที่มีคนเข้ามาร่วมทำอะไรก็ทำให้ย่านอยู่ได้ ไม่ได้เป็นย่านที่ตกยุค ไม่ว่าจะเป็นปากคลองหรือบางลำพู ในแง่ของโลกดิจิตัล การเชื่อมต่อพื้นที่กายภาพกับพวกโลกเสมือน โลกออนไลน์ ทำให้คนรุ่นใหม่อาจไม่ต้องมาบางลำพูก็ได้แต่เขาเสิร์ชกูเกิล เข้าไปในแพล็ตฟอร์มที่มีกลิ่น มี sense of place มีราก แต่ทำให้มันป็อบขึ้นที่พอกูเกิลแล้วเขาก็ไปอ่านสตอรี่อื่นๆ ต่อได้

 

ไปรษณียคาร Bangkok Design Week 2022 (mgronline.com)

 

City Cracker: ตรงนี้ก็อาจจะกลับมาที่คำถามที่ว่า แล้วตกลงการทำนิทรรศการชั่วคราว ทำงานดีไซน์จะช่วยย่านได้ไหม การมีร่องรอยในออนไลน์ก็ดูจะเป็นประโยชน์ส่วนหนึ่ง

คุยถึงตรงนี้เลยนึกได้เรื่องดีไซน์วีค อาจารย์เคยถามคนในตลาดน้อยเหมือนกันว่าดีไซน์วีคมีส่วนช่วยมากไหมในการพัฒนาย่าน เขาตอบว่าก็มีส่วนช่วยมาก แต่มันก็เป็นช่วงเวลาสั้นๆ แค่ 2 อาทิตย์ในหนึ่งปี ตอนเราต้องมาทำในเขตพระนครเบื้องต้นเลยคืออาจารย์ก็คิดแค่ว่าจะทำให้ 2 อาทิตย์ของงานดีไซน์วีคนั้นให้มีประโยชน์ที่สุดได้อย่างไรบ้าง  พอทำจริงสิ่งที่เราพบว่าเป็นประโยชน์มากคือกระบวนการเรียนรู้จากการทำงานเพื่อให้เกิดกิจกรรมในช่วงเวลาสั้นๆ นี้ เช่น การที่ทีมของอาจารย์ได้ทำงานร่วมกับทีมของพี่พลและชมรมเกสรลำพู จากสองปีก่อน อาจารย์ทำกันเองเป็นงานไม่มืออาชีพ จนล่าสุดกลายเป็นงานสองสัปดาห์ที่มีความมืออาชีพมากขึ้นมาก จัดการงานใหญ่โตได้ สองสัปดาห์นี้แหละที่จะเป็นสิ่งที่เอาไปต่อยอดได้ ให้เด็กๆ เอาไปคิดต่อกับชุมชน อย่างปีนี้เราได้คณะดุริยางค์ศิลปากรมาช่วย ในการทำงานแต่ละครั้งเราก็หาเพื่อนร่วมแกงค์ไปเรื่อยๆ การเรียนรู้นี้ก็เลยสำคัญสำหรับอาจารย์เหมือนกัน

 

City Cracker: ชอบที่อาจารย์บอกว่าต่อให้เป็นสองอาทิตย์ที่ดีที่สุด

เราไม่ต้องไปตั้งแง่ว่ามันแค่สองอาทิตย์ แต่จะทำยังไงให้มันมีประสิทธิภาพที่สุด ดีกว่าไม่ทำอะไร ที่สำคัญอีกอย่างคือใช้มันเป็นข้ออ้างในการชวนคนมานั่งคุยกัน

มีกรณีหนึ่งคือไปรษณียาคาร ก่อนนั้นอาจารย์ร่วมกับทีมนักออกแบบ Cloud-floor ได้ไปทำไฟตรงทางเดินเชื่อมจากคลองโอ่งอ่าง ไปยังสะพานสกายพาร์คพระปกเกล้า เราก็ไปเห็นตึกริมแม่น้ำนี้เข้า ตัวตึกสวยมองเห็นได้จากสกายพาร์ค ตัวอาคารก็มีเรื่องราวคือถูกสร้างขึ้นใหม่ ตอนนี้สร้างเป็นตึกเล็กๆ ตัวตึกนี้เราเลยได้เรียนรู้มหาศาล ไปดูว่าใครเป็นเจ้าของ ตัวตึกไปเกี่ยวกับกทม. กทม. บอกของกรมทางหลวงชนบท กรมทางหลวงชนบทบอกไปรษณีย์เพิ่งให้มาสวนเป็นของ กทม. เราได้เรียนรู้เรื่องการประสานงานและการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เยอะมาก

แล้วการมีดีไซน์วีคคือหน่วยงานต่างพร้อมที่จะเข้ามาช่วยเหลือ เพราะเหมือนว่าพอมันชั่วคราว มันแค่แป๊บเดียว ขอใช้แค่ชั่วคราวนะ ทำชั่วคราว ดูไม่จริงจังมาก ไม่ต้องพิจารณาอย่างหนักหน่วง ตรงนี้เราก็ใช้ความชั่วคราวให้เป็นประโยชน์

 

พระนคร-บางลำพู (mgronline.com)

 

City Cracker: จากงานล่าสุดดูเหมือนว่าจากพื้นที่ย่อยๆ เริ่มกลายเป็นว่าต้องดูการพัฒนาหรือการฟื้นฟูระดับย่านเช่นพระนครแล้ว รู้สึกว่ายากไหม

ก็ไม่ทั้งหมด อาจารย์ดูแค่นี้แหละ ออกมาจากมหาลัยเลี้ยวซ้ายไปบางลำพู เลี้ยวขวาไปปากคลอง แต่เวลาอาจารย์ทำอะไร อาจารย์คิดเสมอว่ามันจะต้องโยง แต่ถ้ายังโยงไม่ได้ก็อาจจะยังไม่พูด เพราะว่าพูดแล้วมันก็ยังโยงไม่ได้

แต่หลายครั้งจะชอบโดนแซวเหมือนกันว่าอาจารย์ชอบจัดอีเวนต์…ก็จัดจริง (หัวเราะ) แต่มันก็มีประโยชน์ เราได้โยงไปเครือข่ายต่างๆ ได้ทดลองสร้างแพลตฟอร์มต่างๆ อย่างที่ว่าไป และเมื่อกาลเทศะเหมาะสม เราก็พยายาม scale up หรือขยายผลของงานอยู่เรื่อยๆ

 

City Cracker: สุดท้ายแล้วงานวิชาการและงานออกแบบส่งผลกับการพัฒนาพื้นที่ย่านจริงๆ ได้

อาจารย์คิดว่าช่วยได้ งานศิลปะและงานออกแบบช่วยได้จริงๆ ในความรื่นรมย์ มันทำงาน มันไม่ใช่แค่งานที่เป็นนามธรรม ไม่ใช่การมาแสดงอีโก้ของศิลปินหรือนักออกแบบอะไร แต่มันคือการเอากระบวนการสร้างงานออกแบบและงานศิลปะ เป็นเครื่องมือในการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของคน คล้ายๆ กับเป็น Participatory Placemaking ชวนผู้คนมาช่วยกันร่วมสนุก ร่วมทดลอง ร่วมคิด เกิดแรงบันดาลใจ และหวังว่าจะเกิดการพัฒนาใหม่ ๆ จากกลุ่มคนอื่นๆ ที่ base on ความเข้าใจในย่าน มาช่วยกันฟื้นฟูย่านเก่าต่อไป

 

Share :