CITY CRACKER

Centre Pompidou อาคารสาธารณะแนวตั้งที่งามเมื่อมองอีกครั้ง ในความระลึกถึง Richard Roger

ถือเป็นข่าวเศร้ารับปลายปีกับรายงานการจากไปของริชาร์ด โรเจอร์ (Richard Roger) หนึ่งในสถาปนิกผู้ยิ่งใหญ่ของวงการสถาปัตยกรรมร่วมสมัย ทางครอบครัวแจ้งกับสื่อมวลชนว่า ริชาร์ด โรเจอร์ ได้จากไปอย่างสงบในช่วงเย็นของวันเสาร์ (18 ธันวาคม) ด้วยวัย 88 ปี โดยไม่ได้ระบุสาเหตุของการเสียชีวิต

ริชาร์ด โรเจอร์เป็นลูกครึ่งอังกฤษอเมริกัน เกิดที่ฟลอเรนซ์ในปี 1933 ก่อนที่ครอบครัวจะย้ายกลับมาใช้ชีวิตที่อังกฤษ ในแง่ชีวิตส่วนตัว โรเจอร์ถือว่าเกิดในครอบครัวที่เกี่ยวพันกับวงการสถาปัตยกรรม โรเจอร์เป็นญาติของ Ernesto Nathan Rogers สถาปนิก นักเขียนและการนักการศึกษาที่มีบทบาทของวงการ เช่นการเป็นบรรณาธิการของนิตยสาร Domus ในช่วงทศวรรษ 1940 ในช่วงต้นของชีวิตโรเจอร์ประสบปัญหาด้านการเรียนจนกระทั่งเข้าใจว่าตัวเขามีภาวะ Dyslexia คือมีภาวะทางสุขภาพที่ทำให้ปัญหาด้านการอ่านเขียน กระนั้นหลังโรเจอร์เลือกศึกษาด้านสถาปัตยกรรมที่ลอนดอนและได้รับทุนฟูลไบรท์ไปศึกษาระดับปริญญาโทต่อเนื่องที่มหาวิทยาลัยเยล (Yale University)

bangkokpost.com

 

เส้นทางอาชีพของริชาร์ด โรเจอร์ค่อนข้างเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางสถาปัตยกรรมร่วมสมัยที่ปฏิวัติวงการสถาปัตยกรรม ตัวเขาเองได้รู้จักและร่วมงานกับนอร์แมน ฟอสเตอร์ในช่วงที่อยู่ที่เยล การทำงานร่วมกับฟอสเตอร์ทำให้ทั้งเขาและฟอสเตอร์เป็นที่รู้จักในฐานะผู้นำด้านสถาปัตยกรรมไฮเทค หลังจากนั้นหนึ่งในผลงานสำคัญคือการชนะการประกวดแบบโปรเจกต์ Centre Pompidou (1971) ที่ปารีส และนับเป็นหนึ่งในสองผลงานชิ้นเอกร่วมกับ The Lloyd’s Building (1978) ที่ลอนดอน ตัวโรเจอร์เองได้รับรางวัลสำคัญทางสถาปัตยกรรมจากทั่วโลกรวมถึง Pritzker Prize ในปี 2007 รวมถึงได้รับยศอัศวินในปี 1991

ตัวอาคาร Centre Pompidou ถือเป็นตัวแทนที่สะท้อนชีวิต ตัวตน และความเคลื่อนไหวของทั้งการสร้างพื้นที่สาธารณะแบบของเมืองปารีส รวมถึงการเป็นส่วนหนึ่งของกระแสความเปลี่ยนแปลงของริชาร์ด โรเจอร์ในฐานะคลื่นและมุมมองใหม่ๆ ที่มีต่อสถาปัตยกรรมและพื้นที่สาธารณะ สำหรับ Centre Pompidou เอง แม้แต่การมองด้วยสายตาร่วมสมัย เราเองก็จะมองเห็นความคลุมเครือและความแปลกประหลาดของอาคารศูนย์วัฒนธรรมสมัยใหม่ที่เป็นพื้นที่สาธารณะแนวตั้ง มีลักษณะประหลาดคือเหมือนกับอาคารนั้นถูกกลับเอาโครงสร้างภายในออกมาไว้ภายนอก สีสันอันแปลกประหลาด ลักษณะการจัดวางพื้นที่ที่แม้ในทุกวันนี้ก็ล้ำสมัย ซึ่งอาคารนี้ชนะการประกวดแบบในทศวรรษ 1960 โดยปัจจุบันนับว่าเป็นหนึ่งในอาคารที่คนปารีสรักที่สุด ได้รับการนิยามจาก National Geographic ว่าเป็นตึกที่งามเมื่อมองอีกครั้ง (love at second sight)

dezeen.com

 

ปารีสถือเป็นอีกหนึ่งสนามของสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ จากหอไอเฟล พีรมิดแก้วที่ลูร์ฟ โดยเจ้าอาคาร Centre Pompidou เป็นความคิดในการสร้างพื้นที่สาธารณะประกอบรวมถึงการเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการพัฒนาเมืองสมัยใหม่ Centre Pompidou เกิดจากความคิดในการสร้างพื้นที่ด้านวัฒนธรรมของ André Malraux รัฐมนตรีวัฒนธรรมคนแรกของฝรั่งเศส โดยพื้นที่ที่จะเป็นตัวแทนของวัฒนธรรมร่วมสมัยใหม่นี้จะต้องท้าทายการรวมศูนย์อำนาจของศิลปะและวัฒนธรรม ทั้งยังเป็นการปรับพื้นที่ลานจอดรถเดิมให้กลายเป็นพื้นศิลปะของมวลชนให้กลายเป็นตัวแทนของความร่วมสมัยด้วย

โครงการ Centre Pompidou เป็นอีกหนึ่งโครงการที่ใช้การประกวดแบบจนฝรั่งเศสได้ครอบครองหนึ่งในอาคารที่ปฏิวัติและกลายเป็นหมุดหมายด้านสถาปัตยกรรม ชัยชนะของริชาร์ด โรเจอร์ในการร่วมมือกับเรนโซ เพียนโนนั้น ถือว่าเป็นชัยชนะของคลื่นลูกใหม่ แบบของทั้งคู่เอาชนะคู่แข่งชั้นแนวหน้ากว่า 680 แบบ จาก 50 ประเทศทั่วโลก มีการเล่าว่าในวันรับรางวัล ทั้งคู่ในฐานะทีมผู้ชนะขึ้นรับรางวัลในชุด ‘แบบฮิปปี้’ ในกางเกงขายาวลายมิกกี้เม้าส์ ท่ามกลางคณะกรรมการที่แต่งกายอย่างประณีตในชุดสูทสากล

archive.curbed.com

 

แน่นอนว่าความฮิปปี้ไม่ได้เป็นแค่กิมมิก แต่ยังสัมพันธ์งานออกแบบที่กลายเป็นตัวตนของปารีสใหม่ อาคาร Centre Pompidou เป็นตัวแทนของความเป็นวัฒนธรรมร่วมสมัยที่แสดงเกือบทุกอย่างออกมาในพื้นที่กายภาพ นึกภาพว่าอยู่ๆ ปารีสในฐานะอู่อารยธรรมจะสร้างอาคารขึ้นใหม่ แต่อาคารนั้นกลับกลับเอาสิ่งที่ควรจะอยู่ด้านในออกมาไว้ด้านนอก ท่อสารพัดถูกเรียงอยากเป็นระเบียบ บันไดถูกแสดงไว้นอกอาคาร สีสันของท่องและเส้นสายก็สดใสอย่างแปลกประหลาด ความหมายถึงของพิพิธภัณฑ์ด้านวัฒนธรรมของปารีสใหม่นี้คือความเป็นเครื่องจักร การออกแบบพื้นที่ที่มีขนาดเท่าสนามฟุตบอลเรียงซ้อนกันขึ้นไปและมีความยืดหยุ่นในการใช้งาน รวมไปถึงตัวสถาปัตยกรรมที่เน้นองค์ประกอบของความเป็นวิศวกรรมตั้งแต่ต้น

archive.curbed.com

 

Centre Pompidou จึงค่อนข้างตามรอยหอไอเฟล ในดีไซน์สุดท้ายเมื่อนาย Georges Pompidou ประธานาธิบดีฝรั่งเศสที่ถือเป็นผู้ให้กำเนิดอาคารแห่งนี้ได้ดูก็บอกว่า ผู้คนจะต้องกรีดร้องเมื่อเห็นมัน (this will make them scream.) ซึ่งอาคารแห่งนี้เป็นอาคารที่กลายเป็นตัวแทนของความเป็นฝรั่งเศส มีงานเขียนเชิงวิชาการขึ้นโดยเฉพาะงานเขียนด้านประวัติศาสตร์และมรดกสถาปัตยกรรมของปงปิดูร์ของ Francesco Dal Co จากมหาวิทยาลัยเยล ซึ่งนักวิชาการผู้ศึกษาอาคารแห่งนี้ระบุว่า เป็นอาคารสัญลักษณ์แห่งชัยชนะของฝรั่งเศส (Glory of France) และเป็นอาคารที่ ‘ออกแบบโดยสถาปนิกอังกฤษและฝรั่งเศส ประกอบร่างโดยเยอรมัน’ ต่อมาทาง National Geographic นิยามอาคารแห่งนี้ว่าเป็นความรักเมื่อมองครั้งที่ 2 (love at second sight)

ในความระลึกถึง Richard Roger เจ้าของยักษ์ใหญ่ตนใหม่กรุงปารีสนับจากหอไอเฟล

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

https://www.bbc.com/news/uk-59715838

https://archive.curbed.com/2017/1/23/14365014/centre-pompidou-paris-museum-renzo-piano-richard-rogers

https://www.re-thinkingthefuture.com/rtf-design-inspiration/a1284-pompidou-center-france-10-things-you-did-not-know/

https://www.dezeen.com/2019/11/05/centre-pompidou-piano-rogers-high-tech-architecture/

https://3rdspaceproject.wordpress.com/2015/07/19/love-at-second-sight/

 

Share :