CITY CRACKER

รำลึก Ricardo Bofill สถาปนิกหลังสมัยใหม่ผู้สร้างเขาวงกตอันฉูดฉาด ที่กลายเป็นฉากของ Squid Game

ถ้าเราพูดชื่อ Ricardo Bofill เราอาจนึกไม่ออกว่าสำคัญอย่างไร แต่ถ้าเปิดภาพบันไดที่เป็นฉากสำคัญของสควิดเกมคู่กับอาคารชื่อ La Muralla Roja อาคารสีแดงสดที่เมื่อมองจากด้านบนมีลักษณะสลับซับซ้อนเต็มไปด้วยบันไดเชื่อมต่อกันเหมือนกับเขาวงกต ตัวอาคารแห่งนี้เมื่อมองจากด้านบนแล้วทำให้การรับรู้ด้านมิติของเราแปลกไป ประกอบสีแดงสดที่ตัดกับท้องฟ้าและผืนทะเลนั้น พื้นที่ที่เป็นอาคารพักอาศัยที่ท้าทายด้วยงานออกแบบแบบหลังสมัยใหม่นี้จึงกลายเป็นทั้งไอคอนทางสถาปัตกรรม และกลับไปปรากฏตัวอีกครั้งในฐานะฉากของเรื่องราวเหนือจริงในเกมเอาชีวิตรอดของเกาหลี

Ricardo Bofill ถือเป็นสถาปนิกคนสำคัญของโลก เป็นสถาปนิกชาวสเปนที่จัดได้ว่าสร้างสรรค์งานสถาปัตยกรรมแนวหลังสมัยใหม่ (postmodernism) งานของ Bofill มีความโดดเด่นในแง่ของพื้นที่และหน้าตาอาคารที่แปลกประหลาด มีการใช้รูปทรงเรขาคณิต ใช้สีสันที่ฉูดฉาด และที่สำคัญคือมักจะมีผลกับการมองเห็นของเรา เป็นความงามของอาคารที่ชวนให้พิศวง โดยตัวริคาโดเองได้สร้างสรรค์อาคารไว้กว่าพันหลัง และมีจำนวนมากในผลงานที่ขึ้นหิ้งเป็นงานสำคัญของกระแสศิลปะและงานสถาปัตยกรรมหลังสมัยใหม่ของยุโรป

สำหรับริคาโดแล้วถือว่าเป็นคนที่มีภูมิหลังและได้รับแรงส่งเสริมในทางสถาปัตยกรรมตั้งแต่เด็ก ตัวริคาโดเกิดในปี 1931 ในครอบครัวคาตาลันชนชั้นกลาง พ่อของริคาโดทำงานด้านพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และเป็นผู้รับเหมาเอง ในช่วงวัยเด็กของเขาจึงได้เดินทางไปยังพื้นที่ต่างๆ เช่นการไปใช้ชีวิตที่แคว้นอันดาลูซิอา พื้นที่ชายฝั่งทางตอนใต้ในการปกครองของสเปน ในดินแดนที่มีรากฐานทั้งสถาปัตยกรรมเมดิเตอเรเนียนของสเปน และอารยธรรมเก่าแก่ของแขกมัวร์ สถาปัตยกรรมสเปนพื้นถิ่นที่เต็มไปด้วยเส้นทางซับซ้อน ลักษณะเป็นนามธรรมและมีความเรียบง่ายนั้นได้กลายเป็นแรงบันดาลใจสำคัญของงานเมื่อโบฟิลได้กลายเป็นสถาปนิกเต็มตัว

 

en.ara.cat

 

ริคาโดได้รับการศึกษาด้านสถาปัตยกรรมจากมหาวิทยาลัยศิลปะและการออกแบบเจนีวา (Geneva University of Art and Design) หลังจากจบการศึกษาก็ได้ออกมาตั้งสตูดิโอของตัวเองเมื่อตอนอายุได้ 23 ปี ด้วยความกล้าหาญในงานออกแบบ งานของเขาจึงเต็มด้วยความแปลกประหลาด หนึ่งในสิ่งที่โบฟิลมองเห็นสถาปัตยกรรมคือความเป็นองคาพยบ สถาปัตยกรรมเป็นเหมือนกับอวัยวะที่มีชีวิต เป็นงานออกแบบที่มีภาษาและเปิดโอกาสให้เกิดภาษาใหม่ๆ โดยนิยามาสถาปัตยกรรมว่าเป็นการจัดการของพื้นที่ (the organization of a space) จึงทำให้ความเป็นสถาปัตยกรรมแตกต่างจากงานก่อสร้างโดยทั่วไป

ถ้าเรามองในแง่ของการจัดการพื้นที่และการสร้างภาษาที่อาจจะท้าทายการใช้งานพื้นที่แบบเดิม- หรืออาจเป็นตีความ รื้อสร้างพื้นที่แบบใหม่ขึ้นจากสถาปัตยกรรมเดิม ตัวงานของโบฟิลนั้นก็ดูจะตอบสนองกับความคิดดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม แน่นอนว่างานของโบฟิลกลายเป็นงานขึ้นหิ้งจำนวนมาก แต่หนึ่งในงานสำคัญๆ ที่สร้างชื่อนั้นกลับเป็นงานประเภทที่พักอาศัยระดับอพาร์ตเมนต์หรือบ้านพักของรัฐ โดยเฉพาะ Walden 7 ที่เป็นงานสร้างชื่อ หรือ La Muralla Roja ไปจนถึง Kafka’s Castle ตัวอาคารขนาดใหญ่เหล่านี้ล้วนเป็นอาคารที่เหมือนหลุดออกจากโลกใบนี้ แต่ในแง่ของการใช้งาน โบฟิลกลับมีการจัดการพื้นที่การใช้งานผ่านลาน บันได หลังคา ทางเดินโดยตีความและเชื่อมต่อพื้นที่ต่างๆ เข้าด้วยกันจนเกิดเป็นภาษาของอาคารในรูปแบบที่แปลกตา

ความเหนือจินตนาการและการได้รับอิทธิพลจากงานในจินตนาการดูจะเป็นหนึ่งในจุดเด่นของงานของโบฟิล อาคารหลายอาคารของเขาได้รับแรงบันดาลใจจากนวนิยายไซไฟ จากการตั้งชื่อเราก็จะเห็นความลุ่มลึกและการตีความความหมายของโลกในงานเขียนเช่น Walden 7 ก็ได้รับแรงบันดาลใจจากงานเขียน Walden ของเดวิธ เทอร์โร ตัวอาคารหน้าตาประหลาดนี้เป็นการปรับโรงงานซีเมนต์เก่าสร้างเป็นอาคารพักอาศัย ในอาคารหน้าตาประหลาดนี้โบฟิลกำลังพูดถึงปัญหาของพื้นที่เมือง โดยสร้างอาคารขนาดใหญ่ที่มีลานอยู่ตรงกลางพร้อมระเบียง ตัวอาคารจะเป็นเหมือนอพาร์ตเมนต์เล็กๆ ที่เชื่อมต่อกันอย่างซับซ้อนด้วยสะพานและระเบียง ตัวอาคารซับซ้อนนี้เน้นการสร้างจุดเชื่อมต่อที่มีพื้นที่สาธารณะและพื้นที่สีเขียว ตามชื่องาน Walden วรรณกรรมอเมริกันที่ว่าด้วยการหนีออกจากเมืองไปใช้ชีวิตกลางธรรมชาติ

Walden 7, Spain, 1975

 

อาคารหน้าตาประหลาดของโบฟิลนั้นจึงเป็นการแสดงศักยภาพของสถาปัตยกรรมคือไม่ใช่แค่การพูดภาษาอันพิเศษขึ้นด้วยสี รูปทรง แต่ยังเป็นการออกแบบพื้นที่ที่แก้ปัญหาและเสนอการอยู่อาศัย รวมถึงเป็นการขยายจินตนาการของเราต่อพื้นที่กายภาพ ต่อจินตนาการที่เรามีกับสิ่งปลูกสร้างของเรา ดังนั้นแล้วงานของริคาโด โบฟิลจึงกลายเป็นงานที่กลับสร้างแรงบันดาลใจให้กับโลกจินตนาการเช่นหนังฮอลีวูด กลายเป็นฉากในฮังเกอร์เกม และแน่นอนกำแพงสีแดง เส้นทางบันไดและดาดฟ้าเพดานของ La Muralla Roja ก็กลายเป็นภาพสำคัญของโลกอันกลับด้านที่ผู้คนไปล้มตายเพื่อเงินจากสควิดเกม

สำหรับ La Muralla Roja ถือเป็นอีกหนึ่งงานสำคัญและแสดงให้เห็นอิทธิพลและการตีความภาษาของสถาปัตยกรรมเดิมขึ้นใหม่ ชื่ออาคารหมายถึงกำแพงสีแดง ตัวอาคารเป็นอาคารที่พักอาศัยที่ประกอบด้วยกลุ่มอพาร์ตเมนต์ที่กระจายตัว แต่ความพิเศษของอาคารคือการใช้ลักษณะสถาปัตยกรรมของอาคารที่เรียกว่า casbah คือเป็นสถาปัตยกรรมเก่าของสเปนและอาหรับในเมดิเตอเรเนียน 

 

La Muralla Roja, Spain, 1973

 

Casbah หรือ Qasbah เป็นอาคารประเภทป้อมปราการที่มีที่มาจากวัฒนธรรมอาหรับ นึกภาพอาคารป้อมปราการสูงๆ ที่มีดาดฟ้าและบันไดกลางทะเลทราย ตัวอาคารพักอาศัยนี้จึงออกแบบจากวัฒนธรรมผสมของสเปนและอาหรับที่โบฟิลได้แรงบันดาลใจมา ตัวอาคารทอดขึ้นเหมือนกับภูเขา พื้นที่ดาดฟ้าและพื้นที่ส่วนกลางอื่นๆ เชื่อมต่อกันด้วยสะพาน กำแพงสีแดงสดตัดด้วยพื้นสีฟ้า ในความสลับซับซ้อนถ้าเรามองจากด้านบนเราจะเห็นว่าตัวอาคารถูกกวางเป็นทรงกางเขนแบบกรีก (Greek cross) เป็นเหมือนเครื่องหมายบวกที่เชื่อมลานและพื้นที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่อาบแดด ดาดฟ้าสำหรับการพักผ่อน สระว่ายน้ำเข้าเป็นกลุ่มเพื่อการใช้งานของผู้พักอาศัย

Castell de Kafka, Spain, 1968

 

ริคาโด โบฟิลจึงเป็นหนึ่งในสถาปนิกที่พาเราไปสำรวจขอบเขตใหม่ๆ ของสถาปัตยกรรมในฐานะการจัดการพื้นที่ ของการพูดภาษาใหม่ๆ ของการถอดรื้อภาษาดั้งเดิมและประกอบขึ้นเป็นภาษาใหม่โดยที่ยังรักษาความสำคัญของการใช้พื้นที่และการอยู่อาศัยอันเป็นหัวใจของสถาปัตยกรรม เป็นผู้สร้างจินตนาการให้กลายเป็นพื้นที่จริง และพื้นที่จริง อาคารสีสันฉูดฉาด พื้นที่ที่เชื่อมต่อกันอย่างประหลาดแต่มีความหมายนั้นก็กลับเข้าไปสู่ในดินแดนของความฝัน ของศิลปะแขนงอื่นอีกครั้ง

ริคาโด โบฟิลได้รับการแถลงจากสตูดิโอ Ricardo Bofill Taller de Arquitectura (RBTA) ว่าเขาได้เสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 14 มกราคมที่ผ่านมา ด้วยวัย 82 ปี แด่ผู้สร้างพื้นที่จากโลกแห่งความฝัน และพื้นที่นั้นก็กลับเข้าสู่ดินแดนแห่งจินตนาการของเราอีกครั้ง

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

dezeen.com

news.tvs-24.com

stirworld.com

archdaily.com

archdaily.com

publicdelivery.org

 

Share :