CITY CRACKER

ความเป็นมาจิตสำนึกสาธารณะ กระบวนการมีส่วนร่วมเพื่อพื้นที่สาธารณะ

ปัญหาสังคมนั้นมีอยู่มากมาย หลากหลายประเด็นและระดับ ซึ่งกลไกส่วนกลางของการแก้ไขปัญหาทางสังคมอย่างกรม กระทรวง หน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐอาจไม่สามารถแก้ไขจัดการได้อย่างครอบคลุม ในสถานการณ์แบบนี้ สังคมที่ผู้คนมีจิตสาธารณะ คิดถึงส่วนรวมก็จะพัฒนาวิธีการ ช่องทางอื่นๆ กันเองเพื่อช่วยเหลือเพื่อนร่วมสังคม เกิดเป็นงานการกุศลและกิจกรรมอาสาต่างๆ 

งานที่เกิดจากจิตสาธารณะในสังคมไทยนั้นมีมานานแล้ว เพื่อเป็นอีกช่องทางให้คนในสังคมสามารถช่วยเหลือ และร่วมกันแก้ไขปัญหา ซึ่งมีรูปแบบที่พัฒนาไปตามยุคสมัย เช่น ในยุคสังคมแบบจารีตที่มีบ้าน วัด และโรงเรียนเป็นสามเสาหลัก หลักปฏิบัติและกิจกรรมทางศาสนาเป็นกลไกหลักในการช่วยเหลือกันเองของผู้คน ในช่วงเวลาประมาณ 50-60 ปีก่อน ซึ่งเป็นช่วงที่มีการก่อตั้งมหาวิทยาลัยหลายแห่งพร้อมๆ กับการร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 ก็ทำให้เกิดแนวคิดการพัฒนาชนบทของกลุ่มนักศึกษา จนมีค่ายอาสาเกิดขึ้นมากมาย 

รูปทีมอาสาดับไฟป่า มูลนิธิกระจกเงา ภาพจาก : volunteerfireproject

ในเดือนธันวาคมปี 2004 ภายหลังการเกิดเหตุการณ์สึนามิ กลุ่มอาสาในประเทศไทยมากกว่า 20 องค์กรได้รวมตัวกันก่อตั้งเครือข่ายจิตอาสา ทำให้เกิดการร่วมมือกันระหว่างองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมมากขึ้น เพื่อจะช่วยเหลือ บรรเทา แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากภัยธรรมชาติครั้งใหญ่นั่นเอง

ส่วนในภาคธุรกิจ แม้จะมีการบริจาคเชิงการกุศลมาอย่างยาวนาน แต่โครงการ CSR นั้นพึ่งจะเกิดอย่างเป็นรูปธรรมภายหลังการประชุมนานาชาติ UN World Summit on Sustainable Development 2002 เมืองโจฮันเนสเบิร์ก เมื่อ 20 ปีก่อน ก่อนจะส่งต่อเข้ามาในประเทศไทยและเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายเมื่อประมาณ 15 ปีก่อนนี้เอง และปัจจุบันก็กลายเป็นมาตรฐานใหม่ในการดำเนินกิจกรรมพร้อมทั้งมีกลไกทางกฎหมายและการลดหย่อนภาษีคอยรองรับด้วย

เราจะเห็นได้ว่ารูปแบบ กลไก และช่องทางการช่วยเหลือกันเองของผู้คนนั้นมีการพัฒนา ปรับตัว เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เพื่อให้ตอบสนองกับรูปแบบของสังคมในขณะนั้นๆ พร้อมทั้งปัญหาที่สังคมกำลังเผชิญ ซึ่งในปัจจุบัน การดำเนินงานรูปแบบนี้กำลังถูกตั้งคำถามมากขึ้น

กลุ่มจิตอาสา “มหาสมุทรพาโทรล ไทยแลนด์” เก็บขยะบริเวณหาดดงตาล อ.สัตหีบ

การกุศลที่ขาดความเข้าใจ

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สังคมไทยมีการตื่นตัวทางการเมืองและประเด็นทางสังคมอย่างมาก ทำให้มีการตั้งคำถามถึงรูปแบบการดำเนินงานต่างๆ ที่เคยทำกันมา และกลุ่มงานอาสา งานการกุศลก็เช่นกัน มีการรวมกลุ่มพูดคุย แลกเปลี่ยน ถึงรูปแบบการดำเนินงานอาสาและงานการกุศลหลายครั้ง เช่น วงเสวนา ‘อาสา 4.0’ ที่มหาวิทยาลัยบูรพา เมื่อปี 2017 หรือ งานเสวนา ‘ค่ายอาสายังเป็นคำตอบของการพัฒนาอยู่หรือไม่?’ ที่จัดโดยคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งหนึ่งในประเด็นสำคัญที่ถูกหยิบยกขึ้นมาในงานเสวนาเหล่านี้คือ เรื่องความเข้าใจในปัญหา และต้องการของคนในพื้นที่

งานการกุศลบางครั้งอาจไม่ช่วยแก้ปัญหานั้นๆ อย่างยั่งยืน เช่น การสร้างฝายชะลอน้ำเพื่อการกุศลที่ไม่ได้ผ่านการสำรวจผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอย่างเพียงพอ ตลอดจนการก่อสร้างตัวฝายด้วยวัสดุที่ไม่เหมาะสม เมื่อเวลาผ่านไปอาจกลายเป็นตัวทำลายระบบนิเวศเสียเอง หรือโครงการบริจาคเสื้อผ้า ข้าวของที่ไม่ใช้แล้วให้กับชุมชนที่ห่างไกล สิ่งของเหล่านั้นส่วนหนึ่งก็ไม่ได้เป็นของที่ใช้งานได้จริง หรือเหมาะสมกับบริบทและปัญหาของพื้นที่นั้นๆ จนสุดท้าย เหลือทิ้งเป็นขยะในชุมชน

ตะกอนทรายทับถมหลังฝายที่สร้างจากกระสอบที่เริ่มผุพัง พื้นท้องน้ำกลายเป็นลานทราย ภาพจาก : siamensis

จิตสาธารณะ จิตใฝ่กุศลนั้นเป็นสิ่งดี แต่เมื่อ ‘ผู้ให้’ หรือผู้ทำโครงการไม่ได้เข้าใจจริงๆ ว่าปัญหาเป็นอย่างไร ผู้คนที่กำลังประสบปัญหาต้องการความช่วยเหลือในรูปแบบไหน ก็ทำให้ปัญหามีมากขึ้น ซึ่งสิ่งนี้สามารถแก้ไขได้ด้วยการทำกระบวนการมีส่วนร่วมที่มากขึ้น มีการพูดคุย รับฟัง สอบถามถึงความต้องการต่างๆ เพื่อให้เราที่เป็นฝ่าย “อยากให้” นั้นสามารถช่วยเหลือได้ในรูปแบบที่เหมาะสมและยั่งยืนจริงๆ 

ในการปฏิบัติจริง กระบวนการส่วนร่วมนั้นยังมีความกำกวม และมีหลายระดับมาก เช่น กระบวนการมีส่วนร่วมที่มีแค่การให้ข้อมูล กระบวนการมีส่วนร่วมที่มีการถามความคิดเห็นแบบปลายปิด (เลือกตอบระหว่างเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย) กระบวนการมีส่วนร่วมที่ผู้เข้าร่วมสามารถออกความคิดเห็นได้ หรือในระดับที่ยังเห็นได้ไม่บ่อยนัก คือกระบวนการมีส่วนร่วมที่ผู้เข้าร่วมมีส่วนร่วมในการตัดสินใจและดำเนินโครงการไปด้วยกัน ซึ่งเราเรียกกระบวนการมีส่วนร่วมแบบนี้ว่า กระบวนการร่วมคิดร่วมสร้าง (Co-Creation)

การรวมกลุ่ม พยายามสร้างกระบวนการ Co-Creation ที่ชุมชนป้อมมหากาฬ ปี 2016  ภาพจาก : เฟซบุ๊กชุมชนป้อมมหากาฬ

ร่วมคิดร่วมสร้างสังคม

กระบวนการ Co-Creation นั้นถูกบุกเบิกขึ้นเมื่อประมาณ 20 ปีก่อน โดยศาสตราจารย์ด้านธุรกิจการตลาดจากมหาวิทยาลัย University of Michigan Business School 2 คน โดยมีการตีพิมพ์หนังสือ The Future of Competition: Co-Creating Unique Value with Customers ในปี 2004 ซึ่งอธิบายถึงการสร้างคุณค่าของผลิตภัณฑ์ในยุคปัจจุบันที่ผู้ใช้งานเป็นศูนย์กลาง ซึ่งต้องอาศัยรูปแบบของการสร้างปฏิสัมพันธ์ต่างๆ เช่น การสนทนา การแลกเปลี่ยนข้อมูลและทรัพยากร การเรียนรู้ร่วม ตลอดจนการทดลองและพัฒนาแบบไปด้วยกัน

อาจกล่าวได้ว่า กระบวนการ Co-Creation นั้นคือกระบวนการทำงานที่พัฒนาจากแนวคิดการมีส่วนร่วมและการมีผู้ใช้งานเป็นศูนย์กลาง โดยเปลี่ยนจากการเก็บข้อมูลและความคิดเห็นจากผู้ใช้ จากนั้นทีมงานนำข้อมูลต่างๆ กลับมาออกแบบ เป็นให้ผู้ใช้งานเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในทีมงานด้วย ร่วมคิด ร่วมสร้าง ร่วมพัฒนา และที่สำคัญคือ ร่วมเป็นเจ้าของไปด้วยกัน 

เปิดสวนผักคนเมืองเชียงใหม่ สวนผักชุมชนจากพื้นที่ทิ้งขยะ ด้วยกระบวนการ Co-Creation ภาพจาก : ChiangmaiUrbanFarm

กระบวนการแบบนี้ยังเปิดโอกาสไปสู่การพัฒนารูปแบบใหม่ๆ ของงานการกุศล ซึ่งรูปแบบและกลไกของงานการกุศลและงานอาสาในปัจจุบันที่มุ่งเน้นการบริจาคทรัพย์สินเป็นหลักยังไม่ครอบคลุมอีกด้วย เช่น การ Co-Creation กับชุมชนเมืองเก่าเพื่อสร้างรูปแบบการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่เข้าใจวิถีของผู้คนจริงๆ การ Co-Creation กับกลุ่มผู้พิการและผู้สูงอายุเพื่อออกแบบระบบขนส่งมวลชนของเมือง หรือการ Co-Creation กับชุมชน เอกชน รวมถึงภาครัฐส่วนท้องถิ่น เพื่อสร้างและบริหารจัดการพื้นที่สาธารณะของชุมชนร่วมกัน เป็นต้น

การมีโครงการแบบนี้ยังจะเป็นการสร้างพื้นที่กลางที่ปลอดภัยให้กับสังคม ทำให้คนที่แตกต่างหลากหลายสามารถพูดคุยกัน ทำงานร่วมกัน และร่วมกันแก้ไขปัญหาสังคมไปด้วยกันได้ ซึ่งจะนำไปสู่สังคมที่คนมีจิตสำนึกสาธารณะต่อไป

เราเชื่อมั่นว่า ในอนาคตอันใกล้ Co-Creation จะเป็นกระบวนการสำคัญในการแก้ไขปัญหาต่างๆของสังคมและสร้างจิตสำนึกสาธารณะ ในทุกๆ มิติ ไม่ใช่แค่มิติที่เป็นโครงการเล็กๆ แต่โครงการหรือพื้นที่สาธารณะจากกระบวนการ Co-Creation นั้นสามารถประยุกต์ไปได้ถึงระดับโครงสร้างสังคมและระดับนโยบาย เพื่อให้เราทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการ Co-Create สังคมที่เราอยู่ได้จริงๆ อย่างเท่าเทียมกัน

สามารถไปทำความรู้จักโครงการที่ใช้กระบวนการ Co-Creation ได้ที่เพจ  https://web.facebook.com/cocreateourcity

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

https://tcdc.groov.asia/method/co-creation-full.html

https://thematter.co/social/seminar-university-volunteer-camp/

https://prachatai.com/journal/2017/12/

https://www.bbc.com/thai/international

http://www.siamensis.org/article/

https://www.posttoday.com/social/general/

https://www.thaicsr.com/2005/09/

https://asacrew.asa.or.th/feature19/

Graphic Design by Prapawit Intun
Share :